แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 949

ถ. อาจารย์ถามว่า จิตอยู่ที่ไหน ตามปกติที่เราศึกษาที่ได้เรียนมา ก็เข้าใจว่า จิตส่วนใหญ่อยู่ที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าสังเกตจิตในขณะนั้น ก็ไปรู้ที่หทยวัตถุ น่าจะเป็นอย่างนั้น

สุ. ซึ่งไม่สามารถจะรู้ลักษณะของจิต เพราะอะไร เพราะขณะนั้นพยายามที่จะรู้ตรงส่วนของกายที่คิดว่าเป็นหทยวัตถุ เมื่อเป็นอย่างนั้น คือ การพยายามไปเพ่ง ไปจ้องส่วนที่เป็นรูป ไม่ใช่เป็นการพิจารณารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้ท่านผู้ฟังไปเลือกจะรู้จิตนั้นตรงนี้ จะรู้จิตนี้ตรงนั้น แต่ว่าสภาพของจิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เมื่อไร ขณะไหน ขณะเห็นต้องมี จิตแล้ว ถ้าไม่มีจิตเห็นไม่ได้ ซึ่งขณะที่เห็นนั่นเองเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ จึงสามารถรู้ว่า จิตไม่ใช่รูปธรรม

ในขณะที่ได้ยิน เสียงปรากฏ จิตเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน เพราะว่า เสียงปรากฏจึงเป็นภายนอก จิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ที่กำลังรู้เสียง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียงปรากฏ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพรู้ คือ ในขณะนั้นสติระลึกรู้ว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียง

ต้องไปหาโสตปสาทหรือเปล่า ขณะที่กำลังพิจารณาว่าเป็นสภาพรู้ ถ้ากำลังพากเพียรที่จะหาโสตปสาท นามธรรมที่ได้ยินเสียงก็ดับไปนานแล้ว เหลือแต่ตัวตนที่วุ่นวายเหลือเกิน คือ พยายามจดจ้องว่าโสตปสาทอยู่ตรงไหน และจะรู้ไหมว่า โสตปสาทอยู่ตรงไหนถ้าได้ยินไม่เกิดขึ้น แต่เวลาที่สภาพที่ได้ยิน คือ เสียงปรากฏ ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาค้นหาโสตปสาท เพราะขณะนั้นเสียงปรากฏ ไม่ใช่โสตปสาทปรากฏ ที่เสียงปรากฏก็เพราะว่ามีสภาพรู้เสียง เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือว่าเป็นเราได้ยิน จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เสียงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งกำลังปรากฏกับจิตที่รู้เสียง กับสภาพที่รู้เสียง กับธาตุที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้น

โสตปสาทไม่ปรากฏ ทำไมจะพากเพียรขวนขวายวุ่นวายที่จะไปจดจ้องที่ โสตปสาท ได้ยินดับไปแล้ว เสียงดับไปแล้ว แต่โสตปสาทไม่ปรากฏ

. ตามวิถีจิต ท่านบัญญัติไว้ว่า มีปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถี เมื่อครู่อาจารย์บอกว่า เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ จิตอื่นทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น ทางปัญจทวารวิถี นับตั้งแต่ภวังคจิตทั้ง ๓ ขณะ

สุ. นั่นไม่ใช่วิถีจิต ต้องตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ภวังคจิตทั้งหมดเป็น วิถีวิมุตติ พ้นจากวิถี

ถ. หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิต และจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ทั้งหมดนี้ มีจักขุวิญญาณดวงเดียวเท่านั้นเกิดที่ จักขุปสาท จิตอื่นๆ ในวิถีนั้นเกิดที่หทยวัตถุอย่างนั้นหรือ

สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การเกิดดับของจิตเป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่น จักขุวิญญาณ จิตที่กระทำกิจเห็น ที่กำลังเห็นในขณะนี้ จิตที่เห็นเกิดที่จักขุปสาท และดับไปอย่างรวดเร็ว จิตอื่นต่อมาเกิดที่หทยวัตถุ ดูยังกับย้ายได้ใช่ไหม จาก จักขุปสาทไปที่หทยวัตถุ แต่ไม่ต้องย้าย เพราะสภาพรู้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพียงเกิดขึ้นรู้และดับไป

ที่ร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีรูปซึ่งเป็นปสาทต่างๆ จักขุปสาทอยู่ที่กลางตา โสตปสาทอยู่กลางหู ฆานปสาทอยู่ที่กลางจมูก ชิวหาปสาทอยู่ที่กลางลิ้น กายปสาทซึมซาบอยู่ในส่วนที่สามารถจะรับกระทบกับสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ไม่ใช่ว่ามีจิตรออยู่ที่หนึ่งที่ใดพร้อมที่จะเกิด แต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นจิต อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นกระทำกิจและดับไป และเฉพาะจิตเห็นที่กำลังเห็นนี้ เกิดที่จักขุปสาท

. ทำไมแบ่งเป็นปัญจทวาร กับมโนทวาร ทั้งๆ ที่จิตเกิดในที่ที่เดียวกัน

สุ. คำว่า ทวาร หมายความถึงทางรู้อารมณ์ แต่คำว่า วัตถุ หมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต คำว่า วิถีจิต หมายความถึงจิตทั้งหมดที่ไม่ใช่ภวังค์ เพราะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด จึงชื่อว่า วิถีจิต

เวลาที่มีการเห็น ไม่ใช่มีเฉพาะเห็น หลังจากเห็นแล้ว ยังมีความรู้สึกยินดี ชอบใจ เป็นโลภะ หรือว่าเป็นโทสะ หรือว่าเป็นกุศลในสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ว่าไม่ใช่จักขุวิญญาณ แต่ว่าจิตที่เกิดต่อจากนั้นก็รู้ในสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่าไม่เห็น

เวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ถึงแม้ว่าไม่ใช่จักขุวิญญาณ เป็นจิตที่ชอบใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ นั่งเฉยๆ ไม่ใช่มีแต่เห็น เห็นดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปก็ยังเกิดขึ้นพอใจ หรือไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น จิตที่พอใจหรือไม่พอใจ ไม่ใช่จักขุวิญญาณที่เห็น แต่เป็น จักขุทวารวิถีจิต เพราะเหตุว่าอาศัยตาเกิดขึ้นพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา

นี่เป็นความหมายของทวาร และวิถีจิต

แต่คำว่า วัตถุ หมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิด ไม่เกี่ยวกับทวาร ทวารเป็นทางที่จะให้จิตรู้อารมณ์ต่างๆ

นี่เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้กล่าวถึง เพราะตอนนี้เป็นเพียงการแสดงชื่อต่างๆ ของจิต เพื่อที่จะให้ไตร่ตรองพิจารณาระลึกได้ในขณะที่จิตกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังปรากฏ กำลังเกิดขึ้น

. เรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตทั้ง ๘๙ เป็นอารมณ์ของ สติปัฏฐานได้ อยากจะรู้ว่า ภวังคจิตไม่ได้ขึ้นสู่วิถี ขณะที่นอนหลับ ภวังคจิตไม่ปรากฏ จะรู้ได้อย่างไร

สุ. เวลานี้ภวังคจิตก็เกิดคั่น มีภวังคจิตเกิดคั่นก่อนที่จิตจะคิดถึงสิ่งที่เห็น คิดถึงรูปร่างสัณฐาน เพราะฉะนั้น ขณะนี้จิตไม่ได้เห็นตลอดเวลา และไม่ใช่ว่า ได้ยินตลอดเวลา ไม่ใช่ได้กลิ่นตลอดเวลา ไม่ใช่ลิ้มรสตลอดเวลา ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสตลอดเวลา ไม่ได้คิดนึกอยู่ตลอดเวลา

นี่เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่ทุกคนมีกาย มีกายปสาทซึมซาบอยู่ ที่จะกระทบอ่อนหรือแข็งที่ส่วนหนึ่งส่วนใด เย็นหรือร้อนที่ส่วนหนึ่งส่วนใด ตึงหรือไหวที่ส่วนหนึ่งส่วนใด แต่มีใครรู้แข็งตลอดเวลาบ้าง มีใครรู้อ่อน รู้ไหว รู้เย็น รู้ร้อนตลอดเวลาบ้าง

กำลังเห็นอาจจะเข้าใจว่า เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะใดที่ได้ยินเสียง ต้องรู้แล้วว่า ขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นไม่มีเห็น ตามความเป็นจริง แต่เพราะว่าจิตเกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน รูปก็เกิดดับเร็วมาก แต่จิตเกิดดับเร็วกว่านั้น

รูปๆ หนึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น เวลาที่รูปหนึ่งปรากฏ และจิตเกิดดับสืบต่อกัน ทำให้ดูเสมือนว่า รูปก็ไม่ดับ และจิตที่กำลังรู้รูปนั้นก็ไม่ดับ นี่เป็นความรวดเร็ว แต่สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นสีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏไม่ได้

โดยเหตุผล จริงไหม เพราะว่าเพียงชั่วขณะที่เสียงเท่านั้นปรากฏ สีสันวัณณะจะไปอยู่ในเสียงที่กำลังปรากฏเป็นเสียงได้อย่างไร หรือในขณะที่สีสันวัณณะกำลังปรากฏ ในขณะนั้นเสียงจะมาปรากฏอยู่ในสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ในขณะที่เข้าใจว่าทั้งเห็นและได้ยิน ความจริงแล้ว จิตเห็นเกิดขึ้นและดับไปเร็วมาก มีภวังคจิตคั่น คือ ในขณะนั้นยังไม่มีการได้ยิน หรือยังไม่มีการคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้ทราบว่า มีภวังคจิตเกิดคั่นในขณะที่กำลังเห็น และในขณะที่กำลังคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น และในขณะที่กำลังได้ยิน และขณะที่กำลังคิดนึกถึงสิ่งที่ได้ยิน ภวังคจิตเกิดคั่นอยู่ตลอดเวลา โดยการศึกษา โดยการพิจารณา เป็นความจริงหรือไม่จริง ชั่วขณะที่คั่นอยู่นี่ จริงหรือไม่จริง

จริง เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้นพร้อมสติที่ระลึก จนกระทั่งประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ย่อมตรงกับลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะในขณะที่ได้ยินเสียง ดูเสมือนว่าเสียงต่อกันไปยาว แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สามารถที่จะหยุด ตัดเป็นขณะๆ ได้ ท่านที่ใช้เครื่องอัดเทปก็คงจะทราบได้ว่า สามารถที่จะหยุดเสียง ตัดให้ขาดได้ และก็ต่อได้ เพราะว่ามีช่องว่างคั่นอยู่ ขณะที่กำลังไม่ได้ยินเสียง ขณะนั้นเป็นภวังคจิตที่คั่นระหว่างขณะที่ได้ยิน แต่ละขณะๆ มีภวังคจิตคั่น

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ระหว่างคำว่า ใน กับ ขณะ มีช่องว่างไหม มีหรือ ไม่มี ใน - ขณะ มีช่องว่างแล้วตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่า ใน กับ ขณะ ไปติดกัน รวมกันเป็นขณะเดียวกัน ใน - ขณะ มีช่องว่าง ขณะที่เป็นช่องว่างนั้น คือ ภวังคจิต ซึ่งตามความเป็นจริง ถ้าจะขยายช่องว่างนั้นออกจะมีจิตเกิดดับหลายขณะทีเดียว ทั้งทางปัญจทวารวิถีและทางมโนทวารวิถี

นี่เป็นเหตุที่จะต้องศึกษาสภาพธรรมตามความเป็นจริง และอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น ก็คือการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน จนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น เกื้อกูลแก่การที่สติจะระลึกถูกต้องขึ้น และปัญญาจะอบรมเจริญขึ้น จนกระทั่งสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง

เวลาที่มีภวังคจิตคั่น ลักษณะขณะนั้นไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เพราะว่าเสียงไม่ได้ปรากฏสืบต่อกันโดยไม่มีอะไรคั่น เพราะฉะนั้น ช่องว่างในขณะนั้น สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และสภาพธรรมปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ต้องอบรมเจริญนานไหม นานก็ไม่เป็นไร ในเมื่อเป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ และเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ได้ ถ้าปัญญาไม่สามารถจะรู้ได้ พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานและสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลให้เข้าใจถูกขึ้น ให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลาย เพื่อเวลาที่สติเกิดระลึก จะได้มีกำลังที่จะละคลายการที่เคยยึดถือสภาพที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา

. คำว่า จิต ที่พูดกันนี้ กับคำว่า สัญญา เป็นคำเดียวกัน หรือไม่ใช่

สุ. ไม่ใช่คำเดียวกัน เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ที่ปรากฏ สัญญาเป็นลักษณะของเจตสิกที่จำ หรือหมายรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ

. รู้สึกว่าใกล้กันมาก

สุ. ต่อไปจะรู้ลักษณะของจิตและเจตสิกแต่ละประเภท

ทั้งๆ ที่เป็นจิตซึ่งทุกคนมี และเข้าใจบ้างแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงใช้คำอื่น ที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตนั้นยิ่งขึ้น

ข้อความต่อไป

ที่ชื่อว่า มนายตนะ อธิบายในคำว่ามนายตนะนั้น มนะ พึงทราบว่า อายตนะ เพราะความหมายว่า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ จริงดังนั้น ธรรมมีผัสสะ เป็นต้น ย่อมเกิดในมนะนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก ย่อมประชุมที่มนะโดยเป็นอารมณ์ แม้เพราะความหมายว่า เป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุแห่งผัสสะ เป็นต้น โดยอรรถว่า เป็นสหชาตปัจจัย

จะเข้าใจลักษณะของจิตเพิ่มขึ้น โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ

ถึงรูปจะมีก็จริง ถึงเสียงจะเกิดขึ้นก็จริง ถึงกลิ่นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นก็จริง ถึงรสต่างๆ จะมีก็จริง ถึงเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งต่างๆ จะมีก็จริง แต่ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ไม่เป็นบ่อเกิด ไม่เป็นที่ประชุม ไม่เป็นที่อาศัยของธรรมเหล่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้ เสียงก็ปรากฏไม่ได้ กลิ่นก็ปรากฏไม่ได้ รสต่างๆ ก็ปรากฏไม่ได้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปรากฏไม่ได้

สีสันวัณณะข้างหลังมี ปรากฏไหม ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ได้ประชุม ไม่ได้กระทบสัมผัสกับจิต ซึ่งจิตนั้นเองเป็นที่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นเหตุที่จะให้สภาพธรรมทั้งหลายปรากฏ เพราะจิตเป็นสภาพรู้

สีข้างหลังมี แต่ไม่กระทบกับจักขุปสาท ไม่กระทบกับจิต จิตเห็นไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สีสันวัณณะต่างๆ จึงไม่ปรากฏ

จักขุปสาทรูปมี เพราะเหตุว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทเกิดดับๆ สืบต่ออยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ทำให้เป็นคนตาบอด กรรมก็จะเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทเกิดดับๆ สืบต่อกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะมีการเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ สีสันวัณณะปรากฏ ให้ทราบว่า ขณะนั้นจิตเป็นมนายตนะ เป็นที่อยู่อาศัย เป็น บ่อเกิด เป็นที่ประชุม เพราะว่ารูปนั้นต้องกระทบกับจักขุปสาทและกระทบกับจิต จิตเห็นจึงจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เสียงต้องกระทบกับโสตปสาทและกระทบกับจิต จิตได้ยินจึงจะเกิดขึ้นรู้เสียงที่ปรากฏได้

เพราะฉะนั้น มนายตนะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุมของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี กล่าวว่า แม้เพราะความหมายว่า เป็นเหตุ เพราะเป็นเหตุแห่งผัสสะ เป็นต้น

ปรมัตถธรรม ๓ แล้ว เพราะผัสสะไม่ใช่จิต ผัสสะเป็นเจตสิก ๑ ใน ๕๒ ประเภท ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม

เปิด  269
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566