แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 960

ทุกท่านกำลังกินยาพิษ เพราะฉะนั้น ก็แสวงหายาที่จะรักษายาพิษ ถ้ารู้ ถ้าไม่รู้ก็ยังคงกินยาพิษ สะสมยาพิษ ซึ่งเวลาที่ให้ผลก็จะให้ผลเป็นโทษภัยทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ แต่เมื่อรู้ว่าเป็นยาพิษ ก็แสวงหายาที่จะรักษายาพิษ ซึ่งมีชนิดเดียว คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น น่าหนักอกหนักใจไหม แต่ถ้ารู้ ก็ดีกว่าไม่รู้

นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทและเห็นโทษของอกุศลว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีหนทางที่จะพ้นจากการสะสมของอกุศล เพราะกุศลอื่นๆ ก็เกิดน้อย แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็สามารถเกิดแทนอกุศล โวฏฐัพพนวิถีจิตโยนิโสมนสิการ และมหากุศลก็เกิดพร้อมด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

จิตที่ทำชวนกิจ เป็นชวนวิถีสั่งสมสันดาน ถ้าเป็นอกุศลก็สั่งสมโดยการเกิดซ้ำ ๗ ครั้ง ถ้าเป็นกุศลก็สั่งสมโดยการเกิดซ้ำ ๗ ครั้ง เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลจึงมีอัธยาศัยต่างๆ กัน แม้แต่พระอรหันต์ ก็ไม่เหมือนกัน การสะสมของจิตของแต่ละบุคคลนี้ละเอียดมาก พระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน เป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ กัน เช่น ท่านพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะในทางอิทธิปาฏิหาริย์ ท่านพระมหากัสสปะเป็นเอตทัคคะ ในการรักษาธุดงค์และสรรเสริญธุดงค์ ท่านพระอนุรุทธะเป็นเอตทัคคะในทางจักขุทิพย์

นี่เป็นการสั่งสมของชวนวิถี ซึ่งต่างกันไปในทางกุศล ฉันใด ในทางอกุศลก่อนที่ท่านจะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็มีการสะสมที่ต่างๆ กัน เหมือนท่านผู้ฟังในขณะนี้ คิดไม่เหมือนกัน พูดไม่เหมือนกัน กาย วาจาไม่เหมือนกัน ตามการสะสม เพราะฉะนั้น การสะสมที่ชวนวิถีจิตก็สะสมไปทุกขณะ จนกระทั่งเป็นอุปนิสัยต่างๆ การกระทำกิริยาอาการทางกาย ทางวาจาต่างๆ

บางท่านแม้เห็นพระอรหันต์ ก็ยังสันนิษฐานอาการที่ปรากฏภายนอก และเกิดการดูหมิ่นขึ้น เช่น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ เวลาที่เห็นท่านพระมหากัจจายนะลงมาจากภูเขาก็กล่าวว่า ท่านผู้นี้มีอาการเหมือนลิง การสั่งสมของชวนวิถีจิตของวัสสการพราหมณ์ที่สำคัญตน แม้ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้วัสสการพราหมณ์ไปขอให้ท่านพระมหากัจจายนะอดโทษให้ แต่การ สั่งสมมานะทำให้วัสสการพราหมณ์ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงพยากรณ์ว่า เมื่อวัสสการพราหมณ์สิ้นชีวิตลงจะต้องเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ วัสสการพราหมณ์ก็ให้คนไปปลูกกล้วยซึ่งเป็นอาหารของลิงไว้ พร้อมที่จะไปเกิดเป็นลิง

เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ให้เห็นโทษของการสะสมของทางฝ่ายอกุศลว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ การสะสมของจิตแต่ละขณะ โดยความสามารถของชวนวิถีซึ่งเกิดซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง ทำให้แต่ละบุคคลมีกาย มีวาจาต่างๆ กัน เป็นวาสนา

คำว่า วาสนา หมายความถึงการสะสมจนชิน จนกระทั่งเป็นอาการที่ปรากฏ ไม่ใช่ความหมายในภาษาไทยที่หมายความถึง ความเป็นใหญ่เป็นโต แต่ว่า วาสนา หมายความถึง การสะสมจนกระทั่งเป็นสิ่งที่เคยชินเป็นประจำทางกาย ทางวาจา

และผู้ที่จะละวาสนาได้มีบุคคลเดียวเท่านั้น คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์องค์อื่นดับกิเลสได้ หมดกิเลส ไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ ที่จะเกิดอีกเลย แต่ยังไม่สามารถละวาสนาได้ เพราะการสั่งสมเนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

วิถีจิตทั้งหมด ๗ วิถี

เริ่มจาก อาวัชชนวิถีจิต เป็นวิถีจิตที่ ๑

ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็น ทวิปัญจวิญญาณ ดวงหนึ่งดวงใด คือ จะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏ ที่กระทบกับปสาทนั้นเป็นอารมณ์อะไร เป็นวิถีจิตที่ ๒

เมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้น รับอารมณ์ต่อจากวิญญาณวิถีจิตที่ดับไป

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์ และดับไป

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนวิถีจิต กระทำกิจกำหนดอารมณ์ที่ปรากฏ เพื่อกุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดต่อ และดับไป

วิถีที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต

ชวนะ โดยศัพท์แปลว่า ไปอย่างเร็ว หรือจะใช้คำว่า แล่นไปในอารมณ์ ก็ได้ เป็นกุศลจิตก็ได้ เป็นอกุศลจิตก็ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็น พระอรหันต์ ดับกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว เพราะฉะนั้น จิตที่ทำชวนกิจ สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์จึงเป็นกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากหรือผลข้างหน้า

วิถีที่ ๗ คือ ตทารัมมณวิถีจิต บางครั้งก็ใช้คำว่า ตทาลัมพนวิถีจิต จิตดวงนี้กระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เพราะอารมณ์นั้นยังไม่ดับไป

ถ้านับรูปๆ หนึ่งที่กระทบทวาร ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ ตั้งแต่อตีตภวังค์เป็นขณะ ที่ ๑ ภวังคจลนะเป็นขณะที่ ๒ ภวังคุปัจเฉทะเป็นขณะที่ ๓ อาวัชชนะเป็นขณะที่ ๔ ทวิปัญจวิญญาณเป็นขณะที่ ๕ สัมปฏิจฉันนะเป็นขณะที่ ๖ สันตีรณะเป็นขณะที่ ๗ โวฏฐัพพนะเป็นขณะที่ ๘ ชวนะอีก ๗ ขณะเป็นขณะที่ ๑๕ อารมณ์ยังไม่ดับไป ยังเหลืออีก ๒ ขณะ ซึ่งวิสัยของผู้ที่เป็นกามบุคคล เวลาที่ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และรูปนั้นยังไม่ดับ จะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อ ซึ่งจิตที่กระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนะชื่อว่า ตทารัมมณวิถีจิต หรือตทาลัมพนวิถีจิต ก็หมดวิถีของจิต หลังจากนั้นไปเป็นภวังคจิตเกิดต่อ จนกว่าวิถีจิตต่อไปจะเกิดขึ้น

อย่าลืม ขณะใดที่เป็นภวังคจิต โลกนี้ไม่ปรากฏ ความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องราวของบุคคลต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกนี้ไม่ปรากฏ ขณะที่เป็นภวังคจิต

เวลาที่นอนหลับสนิท ไม่มีความรู้ความจำเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับโลกนี้ และถ้าจุติจิตเกิด กระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ วิถีจิตต่อไปจะเป็นเรื่องของโลกอื่น แต่เพราะยังไม่จุติ แม้ว่าภวังคจิตนั้นจะไม่มีเรื่องราว ต่างๆ ความคิด ความทรงจำเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ และเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกนี้ แต่ว่าเวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้น ก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะมีการเห็นรูปารมณ์ของโลกนี้ หรือ สัททารมณ์ คือ เสียงต่างๆ ของโลกนี้ หรือคันธารมณ์ คือ กลิ่นต่างๆ ของโลกนี้ หรือรสารมณ์ คือ รสต่างๆ ของโลกนี้ หรือโผฏฐัพพารมณ์ คือ สิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่กระทบสัมผัสของโลกนี้

เพราะฉะนั้น ให้เห็นความเป็นไปของขณะจิตว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และเมื่อรูปที่กระทบกับจักขุปสาทดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ ในขณะที่เป็นภวังคจิต โลกนี้ไม่ปรากฏ เพราะขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย

นี่เป็นวิถีทางทวารทั้ง ๕ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น ต่อจากนั้นมโนทวารวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์เดียวกับที่ปัญจทวารวิถีเพิ่งจะรับรู้ที่ดับไป เกิดต่อ

สำหรับมโนทวารวิถีจิต มีวิถีจิตไม่มากเท่ากับทางปัญจทวารวิถี เพราะอารมณ์ไม่ได้กระทบกับปสาท จึงไม่มีอตีตภวังค์ แต่ว่าก่อนที่จะมีการรำพึงถึงอารมณ์ที่รับทาง มโนทวารวิถี จะต้องมีภวังคจลนะเกิดขึ้นและก็ดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้นและก็ดับไป ต่อจากนั้นมโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้น

ถ้าเป็นทางมโนทวาร จิตที่ทำอาวัชชนกิจไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตคนละดวง แม้ว่ากระทำกิจอาวัชชนะ แต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งกระทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร คือ ทางทวารทั้ง ๕ ไม่สามารถกระทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารได้

ทางมโนทวารวิถี จิตที่กระทำอาวัชชนกิจมี ๑ ดวง ชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต รำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร ไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ใดมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จริงไหม ในวันหนึ่งๆ นึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด เวลาที่เกิดการนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นเพราะมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนเป็นวิถีจิตที่ ๑ ทางมโนทวารวิถี รำพึงถึงอารมณ์นั้น เมื่อดับไปแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ นึกถึงอารมณ์นั้นหรือว่าเรื่องนั้นด้วย กุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิต เป็นโลภมูลจิต ก็เกิดขึ้นและดับไปๆ ๗ ครั้ง หรือว่า ๗ ขณะ ถ้าเป็นโทสมูลจิต ก็เกิดขึ้นและดับไปๆ ถึง ๗ ขณะเหมือนกัน ถ้าเป็นกุศลก็เช่นเดียวกัน เกิดและดับไปๆ ๗ ขณะ ต่อจากนั้นถ้าเป็นอารมณ์ที่แรง ตทารัมมณจิตก็เกิดต่อ

เพราะฉะนั้น สำหรับทางมโนทวารวิถี จะมีวิถีจิตเกิดเพียง ๓ วิถีเท่านั้น คือ อาวัชชนวิถี ชวนวิถี และตทารัมมณวิถี

สำหรับวิถีจิต ๗ วิถี เป็นได้เฉพาะทางปัญจทวาร ทีละทาง คือ ถ้าเป็น จักขุทวารวิถี ทั้งหมด ๗ วิถี ต้องเป็นจักขุทวารวิถี คือ รู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ถ้าเป็นโสตทวารวิถี ที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ วิถีจิตทั้ง ๗ ก็เป็นโสตทวารวิถี ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

. วิถีจิตทั้งหมดมี ๔ วาระ มีตั้งแต่ตทาลัมพนวาระ ชวนวาระ โวฏฐัพพนวาระ และโมฆวาระ ด้วยเหตุอะไรจึงต้องมี ๔ วาระ เป็นไปได้อย่างไร

สุ. ท่านผู้ฟังถามถึงวาระ คือ การเกิดของวิถีจิตในการรู้อารมณ์แต่ละอารมณ์ ซึ่งในบางวาระวิถีจิตก็เกิดทั้ง ๗ วิถี ในบางวาระวิถีจิตก็เกิด ๖ วิถี ในบางวาระวิถีจิตก็เกิด ๕ วิถี และในบางวาระวิถีจิตก็ไม่เกิดเลย มีแต่อตีตภวังค์ และ ภวังคจลนะเท่านั้น

เพราะว่าเวลาที่รูปเกิด กระทบกับปสาทและภวังค์ เป็นอตีตภวังค์ กระทบอีก เป็นอตีตภวังค์อีก ยังไม่มีภวังคจลนะ ยังไม่ไหวที่จะรับรู้อารมณ์ที่กระทบ หรือว่าบางครั้งเวลาที่รูปกระทบกับปสาท กระทบกับอตีตภวังค์ และเป็นปัจจัยให้ภวังค์ไหว ที่จะรับรู้อารมณ์ใหม่ แต่ก็สายไป เพราะรูปนั้นดับ เนื่องจากเวลาที่กระทบ เวลา ที่ไหว ล่วงไปหลายขณะ คือ ไม่มีกำลังที่จะเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ในขณะนั้น

คนที่นอนหลับสนิท เขย่าแล้วก็ยังไม่ตื่น เขย่าแรงๆ ก็ยังไม่ตื่นอีก เพราะอะไร เพราะอาวัชชนจิตไม่เกิด มีแต่อตีตภวังค์และภวังคจลนะ จึงเป็นโมฆวาระ คือ วิถีจิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ

และเวลาที่อตีตภวังค์เกิดแล้ว ภวังคจลนะเกิดแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว ปัญจวิญญาณดวงใดดวงหนึ่งเกิดแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว แต่ชวนจิตไม่เกิด เพราะอะไร เพราะรูปดับไปก่อน จึงชื่อว่า โวฏฐัพพนวาระ

ดีไหม ไม่ทันให้ชวนวิถีจิตเกิด

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า เวลาที่อารมณ์กระทบปสาทแต่ละครั้งแล้ว วิถีจิตต้องเกิดตลอดไปทั้ง ๗ วิถี บางวิถีก็เป็นโมฆวาระ วิถีจิตไม่เกิดเลย บางวิถีก็เป็นโวฏฐัพพนวาระ คือ เมื่อโวฏฐัพพนจิตเกิดและดับไป อารมณ์ก็ดับไป ชวนจิตจึงไม่เกิด บางวิถีชวนจิตเกิดและดับไปๆ ๗ ครั้ง อารมณ์ก็ดับ ตทาลัมพนวิถีจิตจึงเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นชวนวาระ

และในบางวาระ เวลาที่ชวนจิตเกิดดับ ๗ ครั้ง แต่อารมณ์ยังไม่ดับ จึงเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การรู้อารมณ์ของวิถีจิตในวาระนั้น จึงเป็นตทาลัมพนวาระ

เป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาที่ใช้ศัพท์ต่างๆ ก็อาจจะทำให้สงสัยว่า หมายความถึงอะไร แต่เป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ว่าเป็นชีวิตจริงๆ แต่ละขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก

ขณะนี้ทุกท่านกำลังเห็น ทราบถึงวิถีจิตได้แล้วโดยการฟังว่า มีจิตอะไรเกิดบ้าง อาวัชชนจิตต้องมี วิญญาณวิถีจิตต้องมีที่กำลังเห็น หลังจากนั้นสัมปฏิจฉันนจิตต้องมี สันตีรณจิตต้องมี โวฏฐัพพนจิตต้องมี ชวนจิตต้องมี นี่เป็นความสำคัญที่สุด เวลาที่ชวนวิถีจิตเกิด ที่จะเตือนให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า ชวนวิถีจิตที่เกิดในขณะที่เห็น เป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล สำคัญไหม สั่งสมสันดานตนเอง ไม่ใช่ว่าหายไปไหน แต่ละขณะจิตที่เกิด

การศึกษาโดยละเอียดถึงชาติทั้ง ๔ ของจิตทำให้รู้ว่า ขณะใดเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า และขณะใดเป็นแต่เพียงผลของเหตุที่ได้กระทำแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น สำหรับการศึกษาเรื่องจิต และวิถีจิต หรือจิตที่พ้นวิถีก็ตาม จะต้องทราบด้วยว่า จิตนั้นเป็นชาติอะไร

เช่น ปฏิสนธิจิต ทุกท่านทราบแล้วว่า เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งในกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วในอดีต เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตเพียงชั่วขณะเดียวที่ทำกิจปฏิสนธิในภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง จะทำกิจปฏิสนธิอีกไม่ได้ ทำได้เพียงขณะแรกขณะเดียวที่เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้น และก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย

เมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นชาติวิบากดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทันที ทำกิจภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิต ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิต เพราะกรรมไม่ได้กระทำเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไปเท่านั้น แต่กรรมยังทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำภวังคกิจสืบต่อ

สำหรับภวังคจิตดวงแรกที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ชื่อว่าปฐมภวังค์ ภวังค์ดวงต่อๆ ไปนับไหวไหมว่า ถึงภวังค์ดวงที่เท่าไรแล้วในขณะนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย

เปิด  218
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566