แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 953
การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ และสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรม จะเห็นได้ว่า ไม่ผิดจากชีวิตปกติประจำวัน เพราะแม้ในขณะนี้เอง จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย
เมื่อไรจะรู้อย่างนี้
นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เพราะเกิดขึ้นแล้วจึงปรากฏ ทุกอย่างที่ปรากฏในขณะนี้ เกิดขึ้นแล้ว และสติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ในลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เข้าใจผิดว่า จิตสั่ง ไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตาม
เสียงปรากฏ มีสภาพที่รู้เสียง สีสันวัณณะต่างปรากฏ มีสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ กลิ่นปรากฏ มีสภาพรู้ คือ จิตกำลังรู้กลิ่น คิดนึกเกิดขึ้น มีจิตที่กำลังรู้คำที่กำลังคิดแต่ละคำๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สั่ง
การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องตรงตามลักษณะที่แท้จริงของ สภาพธรรม ถ้าเข้าใจผิด จะเกิดสติที่จะระลึกรู้ไหมในขณะที่กำลังเห็น ถ้าเข้าใจผิด สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงไหม
และถ้าสติยังไม่เกิด ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานก็พากเพียรโดยการฟัง โดยการพิจารณารู้ว่า จุดประสงค์ในชีวิต คือ เป็นผู้ที่มั่นคงในการศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขณะไหน เป็นผู้ที่มีความอดทน มีวิริยะ มีความเพียรที่จะไม่เร่งรัด หรือว่าไม่ต้องการผลอย่างรวดเร็วจนกระทั่งไปพากเพียรทำอย่างอื่น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดแล้วจึงได้ปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง
ท่านผู้ฟังก็ได้ทราบความหมายของคำว่าอารมณ์แล้วว่า หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ และได้ทราบแล้วด้วยว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์
สำหรับปัจจัย ๒๔ ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าจะเรียนเป็นขั้นตอน ก็อาจจะต้องพากเพียรจดจำว่า มีปัจจัยอะไร กี่ปัจจัย แยกอย่างไร ขณะไหน แต่ถ้าเริ่มรู้ แม้ในขั้นต้น เช่น จิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จิตรู้โดยพยัญชนะ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เป็นอารัมมณะ หมายความถึงเป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่จิตรู้ เช่น เสียงปรากฏเวลาที่จิตได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น เสียงนั้นเป็นอารมณ์ เป็นปัจจัยหนึ่งของจิตที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง แม้ว่าในจิตดวงนั้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย แต่เมื่อจิตนั้นรู้เสียง มีเสียงเป็นอารมณ์ เสียงนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้เสียง เสียงนั้นจึงเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ชื่อว่า อารัมมณปัจจัย
สิ่งใดๆ ทั้งหมดที่เป็นอารมณ์ เป็นปัจจัยของจิต เพราะจิตจะปราศจากอารมณ์ไม่ได้ เมื่อจิตเกิดขึ้น จิตต้องรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เช่น เสียงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นได้ยินหรือว่ารู้เสียง เสียงเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของเสียงต่างๆ ทีละอย่าง เพราะฉะนั้น เสียงเป็นอารัมมณปัจจัยของจิตที่ได้ยินเสียงนั้น
ถ. ผัสสเจตสิกไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาหรือรู้เลยว่า เป็นผัสสะ แต่ว่าเจตสิกดวงอื่นๆ ยังพอจะเข้าใจ จะเป็นเมตตา หรือหิริโอตตัปปะ เราก็พอจะรู้ พอที่จะเข้าใจว่าเป็นเจตสิก เพราะว่าสังเกตได้ แต่ผัสสะ ผมไม่มีทางที่จะรู้นอกจากจะคิดว่า เป็นผัสสะ
สุ. โสตปสาทรูป เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่กระทบเสียง ถ้าไม่มีรูปนี้ เสียงย่อมปรากฏไม่ได้ ถูกไหม
ถ. ถูก
สุ. โดยเหตุผล เสียงไม่ใช่โสตปสาทรูป โสตปสาทรูปเป็นรูปที่รับกระทบเฉพาะเสียงเท่านั้น แต่ไม่มีการได้ยินอยู่ตลอดเวลา บางทีคนหนึ่งได้ยิน แต่อีกหลายคนไม่ได้ยิน หรือว่าบางทีหลายคนได้ยิน แต่คนหนึ่งไม่ได้ยินแม้ว่าจะนั่งอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้เพราะในขณะใดที่ผัสสะกระทบกับเสียงเท่านั้น โสตวิญญาณที่เกิดกับผัสสะนั้นจึงรู้เสียงที่ผัสสะกระทบ ถ้าผัสสะไม่กระทบเสียง โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมจิตที่กำลังรู้เสียง และนามธรรมนั้นเป็นสภาพที่กระทบเสียง จิตจึงเกิดขึ้นรู้เสียงในขณะนั้นพร้อมกับเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น
ถ. ก็ต้องคิดเป็นเหตุเป็นผลอยู่ดี สมมติว่าเสียงวิทยุเกิดขึ้นตลอดเวลา ปสาทรูปเราก็มีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่า คลื่นเสียงหรือเสียงนั้นมากระทบกับปสาทรูปของเราอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเราได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้างใช่ไหม
สุ. ขณะนี้ผัสสะกำลังกระทบใช่ไหม เวลาที่มีเสียงปรากฏ ถ้าผัสสะไม่กระทบ เสียงปรากฏไม่ได้เลย จะมีการได้ยินเสียงไม่ได้เลย
ถ. ก็คงต้องคิดอีก เพราะไม่มีทางที่จะพิจารณาได้เหมือนเจตสิกตัวอื่นๆ
สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไปพยายามรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ เวลาที่เสียงปรากฏ สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของเสียง หรือน้อมรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่รู้เสียง เพราะถ้าไม่มีสภาพที่รู้เสียง เสียงนั้นปรากฏไม่ได้ แต่ไม่ใช่ไปนึกถึงผัสสเจตสิก
เพราะฉะนั้น บางท่านเวลาพูดถึงวิปัสสนาหรือบางท่านอาจจะใช้คำว่า สติปัฏฐาน แต่ส่วนมากที่พูดว่า ทำวิปัสสนา ก็มักจะพูดว่า เวลาที่ผัสสะกระทบกับ รูปารมณ์ หรือเวลาที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท หรือเวลาที่รูปารมณ์ผัสสะ กับจักขุปสาท ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมในขณะนั้น เพราะเป็นการนึกถึงเรื่องของผัสสะที่ไม่ปรากฏ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ และสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็กำลังเห็น ซึ่งควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือว่านามธรรมที่กำลังเห็น แต่ไม่ใช่ไปพยายามรู้ผัสสะ
ถ. ผมก็คิดว่า รู้ไม่ได้ ก็ไม่ได้คิดว่าจะไปรู้ แต่รู้สึกว่าจะเข้าใจยาก ขอเรียนถามต่อไปว่า ถ้าเป็นบุคคลธรรมดายังไม่รู้แจ้งในธรรม ปัญญาเจตสิกไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยใช่ไหม ถึงแม้ว่าเราจะมีสติและเจริญวิปัสสนา เราพิจารณาอารมณ์ในปัจจุบัน แต่ความเป็นตัวตนยังมีอยู่ ยังเป็นปุถุชน เราไม่มีโอกาสที่จะรู้เจตสิกตัวนี้ ใช่ไหม
สุ. ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาเจตสิกที่กำลังรู้และเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังในขณะนี้ ไม่ใช่เราเข้าใจ ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า ในขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับมหากุศล เพราะฉะนั้น มหากุศลดวงนั้นมีชื่อว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะประกอบด้วยปัญญา
ในขณะที่กำลังฟัง พิจารณาถูกต้อง และเข้าใจในเรื่องของจิต ในเรื่องของนามธรรม ในเรื่องของรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญากำลังเข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นขั้นหนึ่ง และถ้าบุคคลใดสติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่มีความเข้าใจในลักษณะของเหตุและผล เช่น เรื่องของกรรมและผลของกรรม เรื่องของกุศลธรรมว่าเป็นกุศลธรรม เรื่องของอกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม ในขณะนั้นก็เป็นปัญญาขั้นที่เข้าใจในเหตุและผล ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้น และเข้าใจเรื่องของกรรมบ้าง หรือ ผลของกรรมบ้างในขณะนั้น
ถ. สติปัฏฐานเกิดกับจิตทุกประเภทใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่ สติปัฏฐานไม่เกิดกับอกุศลจิต ไม่เกิดกับกุศลญาณวิปปยุตตจิต สติปัฏฐานเป็นขณะที่กุศลญาณสัมปยุตต์เกิดขึ้น มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่ขั้นศีล ไม่ใช่ ขั้นความสงบ
ถ. ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีปัญญา
สุ. เริ่มจะเจริญขึ้น
ถ. ขณะนั้นจิตรู้อารมณ์ เจตสิกต่างๆ ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกับจิต และปัญญารู้ …
สุ. ปัญญาก็ศึกษา พิจารณา รู้ในสภาพรู้ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้
ถ. สมมติว่า ขณะนั้นปัญญาศึกษา ศึกษาว่า
สุ. น้อมไปรู้โดยการสังเกตหรือพิจารณา ไม่ได้คิด เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ แม้แต่การที่จะเข้าใจความหมายของปัญญาขั้นต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นการฟังหรือการพิจารณา แต่เป็นขั้นที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และสังเกตสำเหนียก น้อมไปทีละเล็กทีละน้อยที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังรู้ เพราะถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ สิ่งต่างๆ ปรากฏไม่ได้
ถ. เสียงกระทบโสตปสาททำให้รู้
สุ. ได้ยินเสียงนั้น
ถ. รู้ว่าเป็นเสียง
สุ. มิได้ คำว่าได้ยินเสียง คือ รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ
ถ. กระทบกับผัสสะแล้ว จิตก็รู้
สุ. ได้ยิน
ถ. สติปัฏฐาน ๔ ก็ว่า เธอย่อมพิจารณาจิตในจิตเนืองๆ เมื่อจิตเรารู้แล้ว จะต้องพิจารณาอย่างไรอีก เมื่อจิตเรารู้เสียง รู้สี ตาเห็นสี หูได้ยินเสียง จิตเรารู้แล้ว เราจะพิจารณาอย่างไรต่อจึงจะเป็นพิจารณาจิตในจิตอยู่เนืองๆ
สุ. เวลานี้มีสภาพรู้ไหม
ถ. มี
สุ. ขณะไหน ต้องรู้ด้วยว่า เมื่อมีนั้น เป็นขณะไหน
ถ. ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน
สุ. กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ธรรมดาหลงลืมสติ แต่เวลาที่จะพิจารณาจิต หมายความว่า ในขณะที่เห็น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ระลึกได้ที่จะรู้ว่า มีสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ
ถ. ใช้สติ หรือใช้ปัญญา
สุ. ใช้ไม่ได้ สติเกิดจึงระลึก กระทำกิจของสติ ถ้าสติไม่เกิด ผัสสะก็กระทำกิจของสติไม่ได้ เพราะผัสสะเพียงกระทบกับอารมณ์ แต่สติเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ เมื่อมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อมีการฟังเรื่องของการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีความจำที่มั่นคง ไม่ลืมสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกในขณะที่กำลังเห็น และค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นสภาพรู้ ที่กำลังเห็นนี่เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่รูปธาตุ แต่เป็นนามธาตุ เป็นเพียงอาการรู้ หรือธาตุรู้ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ บ่อยๆ เนืองๆ นี่คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ลักษณะต่างๆ ของจิตประการต่อๆ ไป คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดที่สอดคล้องกัน ที่เมื่อพิจารณาแล้วจะตรงกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดต่างๆ ซึ่งไม่พ้นจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังปรากฏ คือ กำลังเห็นขณะนี้ กำลังได้ยินขณะนี้ กำลังคิดนึกขณะนี้
ทุกคนอาจจะพูดได้ว่า ท่านมีกุศลจิต และก็รู้ด้วยว่า ท่านมีอกุศลจิต แต่ขณะไหน เมื่อไร บอกไม่ได้ หรืออาจจะบอกรวมๆ ไปว่า ในขณะที่ให้ทานเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่จริงๆ แล้วขณะไหนเป็นกุศลจิต เพราะจิตเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว
ในขณะนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต
นี่เป็นการที่จะรู้ลักษณะของจิตซึ่งเคยเรียนหรือเคยได้ยินชื่อ ไม่ใช่เพียงขั้นนึกว่า ต้องเป็นกุศลจิต หรือว่าต้องเป็นอกุศลจิต แต่ว่าเป็นการรู้ลักษณะของกุศลจิตในขณะที่กุศลจิตกำลังเกิดขึ้นปรากฏ หรือว่าเป็นการรู้ลักษณะของอกุศลจิตในขณะที่อกุศลจิตกำลังปรากฏ กำลังมี กำลังเกิดขึ้น จึงเป็นการรู้ลักษณะ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ชื่อ