แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 958

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ลืมตาตื่นขึ้นเห็น ก็เป็นเพราะว่ากรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดและก็ดับไป เกิดขึ้นและก็ดับไปตลอดเวลา และมีรูปารมณ์กระทบจักขุปสาท แต่ว่าขณะนั้นจิตยังไม่เห็น เพราะกำลังเป็นภวังค์อยู่ ขณะใดที่รูปารมณ์เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาท ขณะนั้นกระทบกับภวังค์ แสดงให้เห็นว่า รูปที่เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาทพร้อมกับภวังคจิต ซึ่งภวังคจิตที่ถูกกระทบนั้นชื่อว่า อตีตภวังค์

ยังเป็นภวังค์อยู่ จึงไม่ใช่วิถีจิต อย่าลืมว่า จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จึงจะเป็นวิถีจิต ถ้าจิตใดยังเป็นภวังค์อยู่ จิตนั้นไม่ใช่วิถีจิต

เพราะฉะนั้น เวลาที่อารมณ์เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาททางตา หรือว่าเสียงเกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาททางหู กระทบภวังค์ ยังไม่ได้ยิน จะได้ยินทันทีไม่ได้ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ทันทีที่รูปเกิดขึ้นกระทบโสตปสาท ขณะนั้นกระทบภวังค์เท่านั้น ยังไม่ได้ยิน และภวังคจิตที่สัททรูปคือเสียงกระทบพร้อมกับ โสตปสาท ภวังค์นั้นชื่อว่า อตีตภวังค์

ที่ใช้คำว่า อตีตภวังค์ เพื่อแสดงให้รู้ว่ารูปจะดับเมื่อไร คือ อายุของรูปๆ หนึ่งจะมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ซึ่งเวลาที่รูปเกิด กระทบกับโสตปสาทกระทบกับภวังค์ จะใช้คำว่า ภวังค์เฉยๆ ก็ได้ แต่จะไม่รู้ว่ารูปจะดับเมื่อไร เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้รู้ว่า รูปนั้นเกิดเมื่อไรและจะดับเมื่อไร ทันทีที่รูปนั้นเกิดและกระทบกับโสตปสาท กระทบกับภวังค์ จึงหมายเอาภวังค์ที่ถูกกระทบว่า เป็น อตีตภวังค์ เพื่อที่จะแสดงอายุของรูปว่า เมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแล้ว รูปก็ดับไป แต่ยังไม่เห็น เพราะจิตเกิดดับเร็วมาก และทันทีที่กระทบ ก็ต้องกระทบภวังค์

เมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไป ไหว ซึ่งเรียกว่า ภวังคจลนะ ที่จะรู้อารมณ์ใหม่ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินอะไรเลย แต่เมื่อมีอารมณ์กระทบกับปสาท ก็ต้องกระทบภวังค์ ภวังคจิตที่ถูกระทบดับไปแล้ว ภวังค์ดวงต่อไปก็ไหว หมายความว่า เริ่มที่จะรู้ถึงอารมณ์ที่ปรากฏ ที่กระทบ แต่ในขณะนั้นยังไม่เห็น ไม่ได้ยิน ยังไม่ใช่วิถีจิต ยังเป็นภวังคจิตอยู่

เมื่อภวังคจิตซึ่งเป็นภวังคจลนะดับไป ก็ยังมีภวังคจิตเกิดสืบต่ออีก ๑ ดวง เป็นดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่อของจิตที่เร็ว ยับยั้งไม่ได้เลย จิตจะเกิดขึ้นและดับไปๆ ตามกำลังตามปัจจัย ซึ่งเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคจิตที่เกิดต่อเป็นภวังคุปัจเฉทะ คือ เป็นภวังคจิตดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ หมายความว่า หลังจากนั้นแล้ว วิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็นแต่ละครั้ง ให้ทราบว่า อารมณ์กระทบภวังค์ มีอารมณ์จริงๆ ถ้าเป็นทวารทั้ง ๕ คือ ทางตา มีรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ถ้าเป็นทางหู ที่กำลังได้ยินในขณะนี้ เสียงกระทบกับโสตปสาท ถ้าเป็นทางจมูก กลิ่นก็กระทบกับฆานปสาท ถ้าเป็นทางลิ้น รสก็กระทบกับกับชิวหาปสาท ถ้าเป็นทางกาย เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ก็กระทบกับกายปสาท

เมื่อภวังคุปัจเฉทจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดต่อ จิตใดก็ตามที่ ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต เป็นวิถีจิต

จิตทุกดวงที่เกิดขึ้น ทำกิจการงานตามเหตุตามปัจจัยและดับไป แต่เวลาที่ ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตดวงแรกที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ กระทำอาวัชชนกิจ เป็นภาษาบาลี แปลโดยศัพท์หมายความถึง รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

จิตที่ทำอาวัชชนกิจ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตดวงหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง กระทำอาวัชชนกิจ คือ รำพึงหรือนึกถึงอารมณ์ที่ปรากฏ ที่ทวาร ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ถึงแม้ว่ารสกระทบกับ ชิวหาปสาท แต่ยังไม่ได้ลิ้ม เพราะเมื่อเกิดกระทบกับชิวหาปสาท กระทบกับภวังค์ เป็นอตีตภวังค์ ดับไป เป็นภวังคจลนะ ดับไป เป็นภวังคุปัจเฉทะ ดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้น รำพึง คือ คิดถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวาร แล้วแต่ว่า จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตดวงนี้เกิดขึ้นคิดถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร และเพราะสามารถรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดได้ทั้ง ๕ ทวาร จิตดวงนี้จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

เหมือนคนที่รู้ว่าแขกมา แต่ยังไม่เห็นแขก เพียงแต่รู้ว่า มีแขกมา แต่ยังไม่รู้ว่าใคร ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้น ทุกท่านมีแขกมาเสมอ ใช่ไหม เวลานี้มีแขกมาหาหรือเปล่า แขกมาหรือยัง มาหรือไม่มา

ทางตา สีสันวัณณะเป็นแขก เราอาจจะคิดถึงคนใช่ไหมว่า วันนี้แขกมา แต่ว่าทางตาที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแขก ทางหูที่ได้ยิน เสียงเป็นแขก เมื่อครู่นี้ก็ไม่ได้มา อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ในขณะที่ได้ยินเสียง เสียงเป็นแขก จิตเกิดขึ้นรู้แขกที่มาหาว่าเป็นเสียง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู

โดยสมมติบัญญัติ คนมาหา แขกมาหา โดยปรมัตถ์ รูปมาหา เสียงมาหา กลิ่นมาหา รสมาหา เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวมาหา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตอนนี้รู้จักคนที่มาหาดีหรือยัง ซึ่งแท้ที่จริงไม่ใช่คน อารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตาเป็นแขกประเภทหนึ่ง เสียงต่างๆ ที่ปรากฏทางหูเป็นแขกประเภทหนึ่ง กลิ่นที่ปรากฏทางจมูกเป็นแขกประเภทหนึ่ง รสที่ปรากฏทางลิ้น ซึ่งแต่ก่อนก็เป็นอาหารรสนั้น รสนี้ รสชา รสกาแฟ แต่เดี๋ยวนี้พอรสปรากฏ รู้เลยว่าเป็นแขก เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางลิ้น

เพราะฉะนั้น มีแขกอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ชอบแขกไหม ท่านที่เป็นผู้ใหญ่บางท่านก็รู้สึกเหงา เพราะตลอดชีวิตมาท่านก็พบปะบุคคลนั้นบุคคลนี้ ระหว่างที่ยังไม่ใช่ผู้ที่สูงอายุก็มีการพบปะบุคคลมากหน้าหลายตา มีการรื่นเริงสนุกสนานกับญาติ มิตรสหาย เวลาที่ท่านสูงอายุขึ้น แขกซึ่งเป็นคนในความรู้สึกของท่านก็ลดน้อยลง เพราะไม่ได้กระทำการงานอาชีพใดๆ บางท่านเวลาที่ถามท่านว่า ท่านชอบอะไรมากที่สุด ท่านบอกว่า ชอบคน คือ ชอบให้คนมาหา เพื่อที่จะได้เพลิดเพลิน มีการสนทนาคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว ทุกคนมีแขกอยู่ตลอดเวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

ชอบแขก หรือไม่ชอบแขก คิดดูดีๆ ชอบไหม ชอบ อยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้ามีแขกมา โลภมูลจิตก็เกิดพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

. ที่ว่ามีแขกมาหา เป็นคำของพระพุทธเจ้า หรือว่าอาจารย์เปรียบเทียบ

สุ. คงจะไม่ได้ใช้คำว่า แขก แต่อาจจะใช้คำอื่น ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไป

ถ้าเป็นคำอื่นที่ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ว่าจะช่วยให้เข้าใจได้ จะยอมรับไหม เพราะถ้าศึกษาต่อไป ก็อาจจะอยู่ตอนหนึ่งตอนใดในพระไตรปิฎก แม้ว่าพยัญชนะอาจจะคล้ายคลึง เพราะแขกมีหลายประเภท ใช่ไหม จริงหรือไม่จริง แขกคนนี้ไม่อยากเจอ ไม่อยากให้มาหา แขกบางคนก็รอ เมื่อไรจะมา ถูกไหม

เพราะฉะนั้น แขกก็มีประเภทต่างๆ ถ้าเป็นโจร คงไม่มีใครต้องการแขกชนิดนั้น แต่ถ้าเป็นญาติสนิทมิตรสหาย ก็รอว่าเมื่อไรจะมา เพราะฉะนั้น แขกก็มีหลายประเภท

แต่ตามความเป็นจริง รูปเป็นเพียงรูปธรรม ไม่ได้มีเจตนาหวังดีหวังร้ายอะไรกับใคร เพราะรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ เสียงที่กำลังปรากฏเป็นแต่เพียงรูปธรรม เพราะฉะนั้น แขกที่เป็นโจร หรือแขกที่เป็นญาติ จะเป็นในขณะไหน เพราะรูปธรรมเป็นเพียงรูปธรรม กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดขึ้นในขณะที่มีอารมณ์นั้นปรากฏ อารมณ์กำลังปรากฏ ถ้าพอใจในอารมณ์นั้น โจรอยู่ที่นั่น เพราะเป็นอกุศลธรรม ไม่เป็นมิตรกับใคร แต่กุศลเหมือนญาติสนิท ซึ่งจะคอยเกื้อกูลอุปการะช่วยเหลือ ไม่ว่าจะยามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกัน อกุศลเป็นโทษ ไม่เป็นมิตร เป็นโจร

เวลาที่ท่านผู้ฟังคิดถึงโจรผู้ร้าย มีความรู้สึกว่าน่ากลัว ไม่อยากที่จะให้เป็นแขกเลย แต่ว่าโจรมาพร้อมกับอกุศลจิต เพราะเหตุอยู่ที่ตัวท่าน ขณะใดที่เห็นและเกิดความยินดีพอใจเป็นโลภะ หรือโทสะ นั่นเป็นต้นเหตุที่จะให้มีแขกที่เป็นโจรข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหน แต่ขณะใดที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และกุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีญาติสนิทมิตรสหาย พร้อมที่จะเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า เพราะกุศลนั้นเป็นเหตุ เป็นมิตรสหาย เพราะฉะนั้น ย่อมนำมาซึ่งมิตรสหายข้างหน้า คือ กุศลจิตย่อมนำมาซึ่งกุศลวิบากข้างหน้าด้วย

เพราะฉะนั้น เหตุไม่ได้อยู่ที่คนอื่นเลย รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น เสียงที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้ที่ต้องการให้ใครได้ยิน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ให้คนนี้ได้ยิน ให้คนนั้นไม่ได้ยิน เสียงเป็นเพียงรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะกระทบกับ โสตปสาทเป็นแขกของใคร

บางคนนอนหลับสนิท ไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องซึ่งน่ากลัว เพราะฉะนั้น ฟ้าร้องก็ไม่เป็นแขกของคนนั้น แต่เป็นแขกของคนที่สะสมอกุศลจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงประเภทนั้นเกิดขึ้น ก็เป็นแขกของคนนั้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่คนอื่นนำมาให้ แต่ว่ากรรมของตนเองนำมาให้ เพราะฉะนั้น จะต้องทราบว่า แขกซึ่งทุกคนคิดว่า เป็นคน แท้ที่จริงแล้วก็เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในวันหนึ่งๆ

ถ้าระลึกรู้อย่างนี้ สติจะเกิดขึ้นบ้างไหม กำลังมีแขกแล้ว ไม่รู้เลยว่า แขกไหนจะมา เสียงอะไรจะเกิดปรากฏ หรือว่ากลิ่นอะไร หรือว่ารสอะไร หรือว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งประเภทไหน เป็นแขกจริงๆ เพราะไม่รู้ นั่นคือวิถีจิต

ซึ่งวิถีจิตทั้งหมด มี ๗ ประเภท

ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรก ทำอาวัชชนกิจ คือ รำพึงหรือคิดถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวาร แต่ว่ายังไม่ได้กระทำกิจเห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น เวลาที่วิถีจิตทางหนึ่งทางใดไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จะเกิดขึ้น ต้องมีจิตที่กระทำอาวัชชนกิจ คือ รำพึงหรือว่าคิดถึงอารมณ์ที่ปรากฏก่อนวิถีจิตอื่นๆ ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ก็เป็นวิถีจิตแรก

ถ้าเป็นทางทวารทั้ง ๕ จิตที่กระทำกิจนี้เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งอาจจะใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนวิถีจิต ก็ได้ เพื่อจะให้รู้ว่าเป็นวิถีจิต และถ้าแยกเป็นแต่ละทวาร คือ ขณะที่เกิดทางตา ก็เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต ทางหูเป็นโสตทวาราวัชชนจิต ทางจมูกเป็นฆานทวาราวัชชนจิต ทางลิ้นเป็นชิวหาทวาราวัชชนจิต ทางกายเป็น กายทวาราวัชชนจิต และเมื่อจิตดวงนี้กระทำอาวัชชนกิจได้ทั้ง ๕ ทวาร จึงเรียกรวมว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

สำหรับทางใจ ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดคิดนึกเรื่องราวต่างๆ จะต้องมีอาวัชชนจิต คือ การรำพึงหรือนึกถึงเรื่องนั้น ซึ่งเป็นจิตดวงหนึ่งที่กระทำกิจนึกถึงเรื่องทางใจ จิตนี้ชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า วิถีจิตที่กระทำอาวัชชนกิจมี ๒ ดวง คือ จิตที่กระทำอาวัชชนกิจทางทวารทั้ง ๕ ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้นกระทำกิจคิดถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตดวงนี้ไม่กระทำกิจทางมโนทวาร แต่เวลาที่มีการคิดนึก จะต้องมีจิตที่ทำอาวัชชนกิจเกิดก่อน คือ คิดถึงเรื่องนั้นก่อนที่จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต จิตดวงนั้นที่กระทำกิจอาวัชชนะทางมโนทวารทวารเดียว ชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต

ขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม มี ถ้าไม่มีก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

ขณะนี้มีมโนทวาราวัชชนจิต ไหม มี ทุกครั้งที่จะคิดถึงเรื่องต่างๆ ทางใจ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนวิถีจิตอื่น

. พระอรหันต์มีภวังคจิตหรือเปล่า

สุ. มี

. จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที ใช่ไหม

สุ. สำหรับพระอรหันต์ไม่มี มิฉะนั้นก็ไม่ต่างกับบุคคลอื่น

. พูดถึงปุถุชนธรรมดา ถ้าจุติแล้วปฏิสนธิทันที สัญญา ความจำ น่าจะจำได้บ้างว่า ในภพภูมิที่แล้วเกิดเป็นอะไร

สุ. ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว กระทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จะจำอะไร

. อย่างที่มีข่าวว่า บางคนอาจจะระลึกชาติได้ จะเป็นไปได้อย่างไร

สุ. บางคน ใครรู้

. ที่มีข่าวมาก็น่าสงสัย

สุ. ข่าวก็เป็นข่าว ความจริงก็เป็นความจริง ผลทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ ถ้าเหตุถูกต้อง ผลที่ถูกต้องก็เกิดขึ้น ถ้าเหตุผิดคลาดเคลื่อน จะเป็นผลที่ถูกต้องไม่ได้

ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เชื่อง่าย หรือว่าเชื่อยาก ถ้าใครบอกว่า เขาระลึกชาติได้ เชื่อไหม ถ้าใครบอกว่า เขาเป็นพระอรหันต์ เชื่อไหม ทำไมจะเชื่อง่ายๆ ต้องพิจารณาถึงเหตุก่อนว่า เหตุอย่างนั้นสมควรจะให้ผลอย่างนั้นเกิดขึ้นได้หรือเปล่า ถ้าเขาว่าๆ จะไปบังคับให้เขาว่าอย่างอื่นก็ไม่ได้ เขาจะว่าอย่างไร เขาก็จะว่าอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าเรื่องของท่านผู้ฟัง เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา และเป็นผู้ที่หนักแน่นในเหตุผลจริงๆ

เปิด  237
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565