แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 961

สุ. ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าวิถีจิตจะเกิด วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนจิต มี ๒ ดวง

จิตที่กระทำอาวัชชนกิจทางทวารทั้ง ๕ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต

จิตที่กระทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร คือ มโนทวาราวัชชนจิต

ทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นกิริยาจิต หมายความว่า ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต เพราะฉะนั้น อาวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ไม่ได้สั่งสมสันดานตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิตหรืออาวัชชนจิต ไม่ได้สั่งสมสันดาน

หลังจากที่อาวัชชนจิตดับไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นซึ่งเป็นจักขุวิญญาณ ก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้ได้เห็นอารมณ์ที่ดีเป็นอิฏฐารมณ์ หรือว่าอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเป็นอนิฏฐารมณ์

หรือทางหู โสตวิญญาณก็เป็นวิบากจิต ไม่มีใครรู้ว่า ต่อไปโสตวิญญาณจะได้ยินเสียงอะไร แล้วแต่เหตุในอดีตทั้งสิ้น ทางจมูก ฆานวิญญาณที่รู้กลิ่นก็เป็นวิบากจิต ทางลิ้น จิตที่ลิ้มรส ชิวหาวิญญาณก็เป็นวิบากจิต ทางกาย จิตที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งเป็นกายวิญญาณ ก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมซึ่งกระทำให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากอาวัชชนจิต เมื่อดับไปแล้วก็เป็นอนันตรปัจจัยทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดรับรู้อารมณ์นั้นต่อ

สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไป กรรมเดียวกันนั้นเองทำให้สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นกระทำสันตีรณกิจ

เพราะฉะนั้น ในวิถีจิต จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก ไม่ได้สั่งสมสันดาน เพียงแต่เกิดขึ้นกระทำกิจและดับไป ต่อจากนั้น โวฏฐัพพนจิต ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งกระทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร แต่กระทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เป็นกิริยาจิต ไม่ได้สั่งสมสันดาน เกิดขึ้นและดับไป

เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อ คือ ชวนวิถีจิต กระทำกิจแล่นไปในอารมณ์ เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ซึ่งขณะนั้นสั่งสมสันดานตน

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ทราบไหมว่า กำลังสั่งสมสันดานอยู่ แล้วแต่ว่าจะสั่งสมสันดานที่เป็นอกุศล หรือว่าจะสั่งสมสันดานที่เป็นกุศล ทราบหรือยัง ทราบโดยการฟัง แต่ที่จะให้ทราบจริงๆ ต้องเป็นในขณะที่สติปัฏฐานเกิด และระลึกรู้ลักษณะของจิต จึงจะรู้ว่า ขณะที่เป็นกุศล ต่างกับขณะที่เป็นอกุศล

ในคราวก่อนท่านผู้ฟังถามว่า ที่ว่ามีแขกมา เป็นคำในพระไตรปิฎก หรือ ในอรรถกถาหรือเปล่า

ใน อัฏฐสาลินี อุปมาการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ ว่า

พระราชาพระองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนพระแท่นบรรทม มหาดเล็กของพระองค์นั่งถวายอยู่งานนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คน ยืนเรียงลำดับอยู่ ที่นั้นยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่ง ถือบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาท จึงได้ให้สัญญาณ เขาจึงเปิดประตูดูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยามคนที่ ๑ รับ เครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่ ๒ คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา พระราชาได้เสวย

อุปมาไว้โดยละเอียด แต่อย่าคิดเป็นเรื่องว่า มีพระราชาพระองค์หนึ่งที่บรรทมหลับอยู่จริงๆ เพราะจิตเกิดขึ้นทีละดวง ทีละขณะ ขณะที่เป็นภวังคจิต ก็เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นกระทำภวังคกิจ ขณะนั้นจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะคิดอะไรไม่ได้เลย เพราะเกิดขึ้นกระทำภวังคกิจและดับไป แต่คำอุปมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นการที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ว่า ขณะที่อารมณ์กระทบกับปสาท อารมณ์เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ถือเครื่องบรรณาการมาที่ประตูวัง ซึ่งในอัฏฐสาลินีอุปมาว่า นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร จักขุวิญญาณเป็นนายทวารหูหนวกอยู่ที่ประตู ไม่สามารถได้ยินเสียงเคาะที่ประตู

หน้าที่ของจักขุวิญญาณไม่ใช่ได้ยินเสียงเคาะ แต่ที่ได้ยินเสียงนั้น เป็นมหาดเล็กผู้ถวายอยู่งานนวดที่พระยุคลบาทของพระราชา ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นผู้ที่รู้ว่า มีคน มีแขกมาที่พระทวาร เพราะฉะนั้น ก็ให้สัญญาณ คือ รำพึงถึงและก็ดับไป ให้สัญญาณแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นกระทำกิจเห็นที่จักขุปสาท ต่อจากนั้น ทหารยามคนที่ ๑ ก็รับเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่ สัมปฏิจฉันนจิต ส่งให้คนที่ ๒ คือ สันตีรณจิต คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คือ โวฏฐัพพนจิต คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา คือ ชวนจิต พระราชาได้เสวย

มีคำอธิบายว่า ข้อเปรียบเทียบนี้แสดงเนื้อความอะไร แสดงเนื้อความว่า อารมณ์มีกิจ คือ หน้าที่เพียงกระทบปสาทเท่านั้น

คนบ้านนอกไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระราชา แต่ว่าเครื่องราชบรรณาการส่งต่อจาก คนที่ ๑ ให้คนที่ ๒ ให้คนที่ ๓ และจึงถึงพระราชา

เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเท่านั้นที่กระทำกิจเห็น อารมณ์อยู่ที่ทวาร อารมณ์สามารถเพียงกระทบปสาทเท่านั้น แต่ว่าจิตรู้อารมณ์สืบต่อกัน อารมณ์ไม่ได้ข้ามพ้น หรือว่าล่วงล้ำปสาทไปที่อื่นเลย อารมณ์จะเลยปสาทเข้าไปที่ไหนได้ไหม เป็นรูปที่กระทบปสาท

ถ้าเป็นรูปารมณ์ ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ มีกิจเพียงกระทบปสาทเท่านั้น นี่เป็นคำอุปมาที่จะให้พิจารณา ให้เข้าใจโดยละเอียดถึงกิจแต่ละกิจ ของวิถีจิตแต่ละขณะว่า จักขุวิญญาณกระทำกิจเห็น เหมือนนายทวารซึ่งเปิดประตูดู ทำกิจที่นั่น สัมปฏิจฉันนะเป็นทหารยามคนที่ ๑ ที่รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่ ๒ เพราะจักขุวิญญาณกระทำกิจเห็นและดับไป จักขุวิญญาณกระทำกิจของสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ จักขุวิญญาณจะรับอารมณ์ไม่ได้ เพราะจักขุวิญญาณกระทำทัสสนกิจได้อย่างเดียว คือ เห็นที่ประตู แต่ว่าสัมปฏิจฉันนะเป็นทหารยามคนที่ ๑ กระทำกิจรับ และส่งให้คนที่ ๒ คือ สันตีรณะ ซึ่งสันตีรณะก็ส่งให้โวฏฐัพพนะ โวฏฐัพพนะก็ส่งให้พระราชา พระราชาก็เสวยเครื่องราชบรรณาการนั้น

เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า เสพ ที่ใช้คำว่า เสวย เพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ ถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งกระทำชวนกิจเวลาที่มีอารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นจิตที่อิ่มด้วยโลภะ หรือว่าอิ่มด้วยโทสะ หรือว่าอิ่มด้วยโมหะ หรือว่าอิ่มด้วยกุศล เพราะกระทำกิจแล่นไปในอารมณ์ ไม่ใช่เพียงเห็น ไม่ใช่เพียงรับ ไม่ใช่เพียงพิจารณา ไม่ใช่เพียงตัดสิน กิจทั้งหมดกระทำหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้น หรืออกุศลเกิดขึ้นซ่องเสพอารมณ์นั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นวิถีจิตที่อิ่มจริงๆ เพราะว่าเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้นถึง ๗ ขณะ

กำลังอิ่มไหม ทางตาต้องดูนานๆ หรือเปล่าถึงจะอิ่ม

ทางหู ถ้าเป็นโมฆวาระก็ไม่ได้ยินเสียง เสียงกระทบ แต่ไม่ได้ยิน หรือถ้าเป็นโวฏฐัพพนวาระ กุศลอกุศลก็ยังไม่เกิด อิ่มไหม ยังไม่ได้รับประทาน ไม่อิ่ม แต่พอถึงชวนจิต เสพอารมณ์นั้น เป็นจิตประเภทเดียวกันที่เกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง คือ ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

โดยปัจจัย ชวนวิถีสั่งสมสันดานตนโดยสามารถของชวนจิต เพราะมี อาเสวนปัจจัย กระทำกิจเสพอารมณ์นั้นซ้ำถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ก็มีกำลังที่จะทำให้วิบากซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าเป็นกุศลก็ดี แต่ถ้าเป็นอกุศล ไม่ทราบว่า รู้ตัวหรือเปล่าว่า สั่งสมอกุศลประเภทใดมากมาย หนาแน่น พอกพูน ทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้น ก็หลงเลย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

แต่เวลาที่เป็นภวังคจิต ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจก็ไม่ได้นึกคิด เพราะถ้าคิดนึกหรือฝัน ก็เป็นมโนทวารวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต

เวลาที่เป็นภวังค์จริงๆ โลกนี้ไม่ปรากฏ ความสำคัญที่คิดว่า เป็นบุคคลนี้ในโลกนี้ และจะอยู่ในโลกนี้อีกนานสักเท่าไร เป็นไปในขณะที่นึกคิดถึงเรื่องในโลกนี้ ซึ่งเป็นวิถีจิต แต่เวลาที่เป็นภวังคจิต ไม่มีการรู้อารมณ์ต่างๆ ของโลกนี้ โลกนี้จึงไม่ปรากฏ แต่ในขณะนั้น มีอนุสัยกิเลส ไม่ใช่ว่าไม่มีกิเลส เพราะกิเลสมี ๓ ขั้น คือ อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ๑ ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลาง ๑ และ วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ ๑

อนุสัยกิเลสซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมนอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นปรากฏกระทำกิจการงาน ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสอย่างกลาง เกิดขึ้นกระทำกิจที่ชวนวิถี วีติกกมกิเลส กิเลสอย่างหยาบ ซึ่งไม่พ้นจากชวนวิถี

เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตเท่านั้นที่จะมีอนุสัยกิเลส หลังจากที่วิถีจิตเกิดขึ้นแล้ว จะไม่เป็นอนุสัยอีกต่อไป แต่จะเป็นปริยุฏฐานกิเลส หรือวีติกกมกิเลส

ให้ทราบว่า เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ลิ้มรสที่ปรากฏทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย หรือว่าจะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ทางใจ ขณะนั้นมีการสั่งสมสันดานตน เพราะเป็นชวนวิถี และขณะนั้นไม่ใช่อนุสัยกิเลส ถ้าเป็นอกุศลก็เป็นปริยุฏฐานกิเลส กิเลสอย่างกลาง หรือวีติกกมกิเลส กิเลสอย่างหยาบ ซึ่งกระทำให้ล่วงทุจริตทางกาย ทางวาจา

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เห็น ไม่ใช่อนุสัยกิเลส เวลาที่ชวนวิถีจิตเกิด จะต้องเป็นปริยุฏฐานกิเลส หรือวีติกกมกิเลส แต่ไม่รู้ตัวใช่ไหมว่า สั่งสมสันดานตลอดทุกขณะที่ชวนวิถีจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

ถ้าท่านผู้ฟังตื่นขึ้นมารู้สึกสดชื่น จิตใจสบาย ดี หรือไม่ดี

ดี ดีแน่นะ ดูเหมือนว่าท่านปรารถนาแต่ความรู้สึกสบาย วันไหนตื่นขึ้นมาอ่อนเพลีย จิตใจอาจจะเศร้าหมอง ขุ่นมัว ไม่ทราบว่าวันนี้เป็นอะไรไม่ค่อยจะแช่มชื่น ขณะนั้นไม่ชอบ เพราะลักษณะของโทสมูลจิตซึ่งประกอบด้วยโทมนัสเวทนา เป็นสภาพความรู้สึกของจิตที่เสีย โทมนัสเวทนาในขณะนั้นทำให้สภาพของจิตปรากฏเป็นจิตที่เสีย

ทุกท่านปรารถนาที่จะตื่นขึ้นมาสดชื่น ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็รู้สึกว่าวันนี้สบายใจ ชอบไหมอย่างนี้ ปกติชอบ แต่ให้ทราบว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด หรือถ้ากุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นสั่งสมสันดานของความพอใจในสภาพของจิตที่สบาย แช่มชื่น เป็นโลภมูลจิต ขณะนั้นสะสมอกุศลสันดานทีละเล็กทีละน้อยๆ อย่างบางเบา จนกระทั่งไม่รู้สึก เพราะฉะนั้น ปริยุฏฐานกิเลสก็มีขั้นที่ว่า จะเป็นปริยุฏฐานกิเลสอย่างบางเบา หรือว่าอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าจำแนกแล้ว อกุศลธรรมทั้งหมด คือ อกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ก็มีถึง ๙ กอง ขั้นละเอียด ขั้นกลางขั้นต่างๆ และขั้นหยาบ

เพราะฉะนั้น การที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ได้ฟังเรื่องของจิตอย่างละเอียดถึงวิถีจิตต่างๆ ในขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย การคิดนึก ซึ่งเป็นชีวิตปกติประจำวัน ให้ทราบว่า เพื่อประโยชน์ คือ ให้รู้ตัวเองว่า มีอกุศลที่สั่งสมมามากสักแค่ไหน ถ้า สติปัฏฐานไม่เกิดมีใครจะบอกได้ไหมว่า อกุศลลดน้อยลง เนื่องจากปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลนั้นจะลดน้อยลงได้อย่างไร แม้แต่เพียงตื่นขึ้นมาสบาย วันนี้สดชื่น ก็ไม่รู้แล้วว่า ขณะนั้นสั่งสมสันดานที่เป็นความพอใจ และสั่งสมมาเท่าไรแล้วที่จะพอใจอย่างนี้ โดยไม่เห็นว่าเป็นโทษ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด

การสั่งสมสันดาน ทีละเล็กทีละน้อย ทีละวิถีไป แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี และในภพนี้ ในชาตินี้มากสักเท่าไร ในภพก่อนๆ ชาติก่อนๆ มากสักเท่าไร ถ้ายังไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ภพต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้นอีกมากสักเท่าไร และการที่จะให้ปัญญารู้แจ้ง อริยสัจธรรมที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท จะเร็วหรือจะช้า

ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปทำ เดือนสองเดือนเป็นพระอริยบุคคล โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่ลักษณะของสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ยังไม่รู้ว่ามีลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็ย่อมมีไม่ได้

พระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อให้เป็นบุคคลผู้ไม่ประมาทที่จะรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่การสั่งสมสันดาน ทุกท่านก็จะรู้ได้ว่า แต่ละท่านที่ต่างกันไป เพราะอกุศลชวนวิถีหรือกุศลชวนวิถีเกิดมากกว่ากัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ

เปิด  228
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565