แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 963

. ตรงนี้ก็น่าคิด จริงอยู่ วิการรูปทั้ง ๓ จะแยกออกจากมหาภูตรูปไม่ได้

สุ. ลองเปรียบเทียบกับไตรลักษณ์ การเกิดขึ้นและดับไป ไม่ว่าจะเป็นรูปปรากฏทางตา มี และหามีไม่ คือ ดับไป เสียงที่ปรากฏทางหู มี และหามีไม่ คือ ดับไป การเกิดดับเป็นลักษณะของรูปธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ว่า สภาพธรรมนั้นไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่าลักขณรูป คือ การเกิดดับ แยกออกไปจากรูปทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก แต่ว่าลักษณะเกิดนั่นเอง เป็นลักษณะเกิดของรูปหนึ่งรูปใดที่เกิด ฉันใด วิการรูปก็ไม่ได้แยกไปจากมหาภูตรูป เพราะฉะนั้น จะไปรู้ลักษณะของวิการรูปลอยๆ ก็เหมือนกับการไปคิดว่า สภาพธรรมเกิดดับ โดยที่ไม่สามารถจะบอกได้ว่า รูปใดเกิด รูปใดดับ หรือว่านามใดเกิด นามใดดับ

เมื่อจะพูดถึงลักษณะของรูปที่เกิด ก็ต้องเป็นรูปชนิดหนึ่งชนิดใดเกิด เมื่อจะพูดถึงลักษณะของนามที่เกิด ก็ต้องเป็นนามลักษณะหนึ่งลักษณะใดเกิด ฉันใด เมื่อจะพูดถึงวิการรูป คือ ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานของมหาภูตรูป ก็ต้องมีลักษณะของมหาภูตรูปปรากฏ แต่ว่าประกอบด้วยความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน ซึ่งแยกกันไม่ได้

. ตรงนี้ ฟังแล้วยังงงๆ

สุ. อะไรเกิด ถ้าเสียงเกิด เสียงดับ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ไม่เกิดและจะมีการเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ต้องมีลักษณะว่า เสียงเกิด เสียงดับ กลิ่นเกิด อะไรดับ กลิ่นดับ รสเกิด อะไรดับ รสดับ ฉันใด เวลาที่มหาภูตรูปเกิด ประกอบด้วยวิการรูป

. มหาภูตรูปก็ดับ พร้อมทั้งวิการรูป

สุ. ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน มหาภูตรูปเป็นมหาภูตรูป

. ผมไปพบพระสูตรๆ หนึ่ง พระผู้มีพระภาคสอนบุคคลให้บรรลุเป็น พระอนาคามี และจึงสอนพระอนาคามีคนนั้นทำฌาน มีในทีฆนิกาย ท่านสอนให้ พระอนาคามีคนนั้นทำอภิญญาทั้ง ๖ และท่านก็บรรลุอภิญญาทั้ง ๖ ด้วย

สุ. แต่ก่อนไม่เคยบรรลุหรือ

. แต่ก่อนไม่บรรลุ บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม พระผู้มีพระภาคก็สอนให้ท่านซึ่งเป็นปริพาชก เจริญสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้น

สุ. พระพุทธเจ้าจะสอนให้บรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผล หรือว่าจะสอนให้ทำฌาน

. สอนทั้งหมด สอนให้ทำฌานจนกระทั่งทำอิทธิฤทธิ จนกระทั่งวิชชาสุดท้าย คือ อาสวักขยญาณ สอนทั้งหมด และคนนั้นก็บรรลุทั้งหมดด้วย

สุ. ถ้าอย่างนั้น พระอนาคามีทั้งหลาย ก็บรรลุอิทธิฤทธิและอรหัตตมรรค อรหัตตผลทั้งหมด

. ก็แล้วแต่ ถ้าคนนั้นไม่ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคไม่ได้สอน เขาอาจจะไม่ทำก็ได้

สุ. และสมัยนี้ล่ะ

. พูดถึงเฉพาะองค์นี้ องค์นี้เข้าไปทูลถาม

สุ. สมัยนี้ล่ะ จะเอาอย่างไหน

. สมัยนี้ ก็เอาทั้ง ๒ อย่าง

สุ. ได้ไปเฝ้าแล้วหรือ

. ก็ท่านแสดงไว้

สุ. และตรัสให้เจริญแล้วหรือ ถ้าเช่นนั้นพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะทั้งหลายอยู่ที่ไหน

. ถ้าเขาไม่ทำฌาน เขาก็ต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะได้

สุ. ดีกว่าเป็นพระอนาคามีไหม เป็นพระอรหันต์กับพระอนาคามี อะไรจะดีกว่ากัน

. ปัญญาพระอรหันต์สูงกว่า

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นพระอนาคามีแล้ว ควรจะปฏิบัติอะไร

. ปฏิบัติทั้ง ๒ อย่าง

สุ. ถ้าไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง

. อย่างเดียวก็ยังดี

สุ. ถ้าไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง เอาอย่างเดียว เอาอะไร

. ขอให้ได้เถอะ ดีทั้งนั้น

สุ. อะไร

. ทำอิทธิฤทธิได้ก็ดี หรือจะรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจธรรมเป็น พระอรหันต์ก็ดี

สุ. พระอนาคามีทั้งหลาย ท่านคิดอย่างนี้หรือเปล่า

. ไม่ใช่

สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องใคร่ครวญธรรมมากจริงๆ มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่วันหนึ่งๆ สติปัฏฐานก็เกิดน้อย นี่เป็นความจริง และท่านผู้นั้นก็กล่าวว่า จะเสียหายอะไร ถ้าจะไปเจริญ สมถภาวนา น่าคิดไหม

. น่าคิด ก็ไม่น่าจะเสียหาย เพราะสมถภาวนาก็เป็นกุศลขั้นสูง

สุ. แต่ขอให้คิดถึงชวนวิถีจิต ซ่องเสพอกุศลมามากเท่าไร ไม่ว่าจะเป็น โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต มานะ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ อกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นและก็ดับไป และการที่จะดับอกุศลเหล่านั้นได้ทั้งหมด ด้วยสมถะหรือว่า ด้วยปัญญา

ในเมื่อวันหนึ่งๆ สติปัฏฐานไม่ได้เกิด ก็เลยคิดว่าจะไปทำสมถะ ใช้คำว่า เจริญ หรือทำสมถะ จะเสียหายอะไร แต่อย่าลืมว่า ที่สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะขาดปัจจัยที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และที่ว่าต้องการเจริญสมถะ ผิดหรือถูกท่านไม่พูดถึง ท่านกล่าวว่า สมมติว่าถูกก็แล้วกัน คือ สมมติว่าถูก แต่จริงๆ แล้วที่จะให้ถูก ท่านผู้ฟังควรที่จะพิจารณาว่า ลักษณะของจิตที่สงบต้องปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ประกอบด้วยสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล จึงจะค่อยสงบขึ้นได้ แต่ท่านกลับกล่าวว่า ช่างเถอะ ข้อปฏิบัตินั้นไม่ต้องกล่าวว่า ผิดหรือถูก ให้สมมติว่าถูก

แต่อย่าลืมว่า การอบรมเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่เรื่องวันเดียว สองวัน ไม่ใช่เรื่องเดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง อาจจะเป็นตลอดชีวิต ก็ยังไม่สามารถที่จะบรรลุถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิได้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องอาศัยการเจริญอบรม

สติปัฏฐานก็ต้องอาศัยการเจริญอบรม แต่เพราะเหตุใดจึงไม่คิดถึงประโยชน์ของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อรู้ว่าสติปัฏฐานเกิดน้อย แต่ต้องการที่จะเจริญสมถะ และเวลาที่ซักไซ้ไล่เลียงท่าน ท่านก็บอกว่า สงบแล้วสติปัฏฐานจะได้เกิด เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ทำไมถึงคิดว่าสติปัฏฐานจะเกิดเวลาที่สงบแล้ว ในเมื่อไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สติไม่มีกำลังพอที่จะไประลึกได้ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

และเวลาที่ต้องการจะสงบ และก็รู้ว่าจะต้องอบรมนาน ในระหว่างที่อบรมที่จะให้สงบ สติปัฏฐานไม่ได้เกิดเลย แต่ถ้าวิริยะ แทนที่จะเป็นวิริยะที่จะให้สงบ เป็นวิริยะที่จะศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติปัฏฐานย่อมค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าจะมีกำลัง และเมื่อมีกำลังแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความสงบขั้นใด สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละ ซึ่งข้อแรกจะต้องละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน และในขณะที่ต้องการให้สงบ จะด้วยการท่องบ่นหรือว่าจะด้วยการกระทำอย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นยังไม่พอใจในความสงบขั้นนั้น ต้องการให้สงบขึ้นอีกๆ เพราะสติปัฏฐานยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจว่าต้องให้สงบเสียก่อน สติปัฏฐานจึงจะเกิด เวลาที่สงบนิดหนึ่ง สติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ต้องการให้สงบกว่านั้น เพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่สติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด ก็ต้องการให้สงบมากกว่านั้นอีก เพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งสติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด เพราะสติปัฏฐานเป็นเรื่องละด้วยการอบรมเจริญ การศึกษา การพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น อย่าหวังว่า เมื่อสงบแล้วสติปัฏฐานจะเกิด แต่ไม่ว่าจะสงบถึงขั้นไหน สติปัฏฐานย่อมเกิดได้ ถ้าได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจนมั่นคงแล้ว

เรื่องของสมถภาวนา ไม่ใช่เรื่องของวันหนึ่งหรือ ๒ – ๓ ชั่วโมง หรือเดือนหนึ่ง ที่จะสงบจริงๆ ต้องหลายวัน หลายอาทิตย์ หลายเดือน หลายปี และอาจจะตลอดทั้งชาตินี้ เพราะฉะนั้น ในระหว่างนั้น วิริยะแทนที่จะเพียรเพื่อให้สงบ แต่เป็นวิริยะที่เป็นสัมมาวายาโม ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการอบรมเจริญสั่งสมสันดานที่ชวนวิถี ซึ่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะความสงบไม่ว่าจะเป็นขั้นอุปจารสมาธิหรือว่าอัปปนาสมาธิ ขั้นรูปฌานต่างๆ ถึงขั้นอรูปฌาน ก็ไม่สามารถรู้ความจริงว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

อย่าลืม การซ่องเสพทีละเล็กทีละน้อย แทนที่จะอบรมเจริญสติที่ชวนวิถี ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เวลาที่อกุศลจิตเกิด ไม่ชอบอกุศล ก็ไปพยายามทำให้สงบ แทนที่กุศลจิตจะเกิดเพราะอาศัยการฟังเรื่องมหาภูตรูป ๔ เป็นนักเล่นกล และเรื่องของจิตประการต่างๆ เรื่องของวิถีจิตทั้งหมด และต่อไปก็เป็นเรื่องของปัจจัยต่างๆ

ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล หรือว่าเพื่อให้ไปทำความสงบ

ธรรมเป็นประโยชน์ต่อพุทธบริษัท เพราะว่าขณะที่ท่านผู้ฟังกำลังฟัง ชวนวิถีกำลังสั่งสมสันดานที่เป็นกุศล เพื่อที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และปัญญาจะเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ นี่เป็นการ สั่งสมสันดานที่ชวนวิถีฝ่ายกุศล

. การสั่งสมสันดาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ในเรื่องของการเจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน จุดประสงค์ในการเจริญสมถะเพื่อจะให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล

สุ. นี่ถูกต้อง เพราะเหตุไรจึงทรงแสดงมรณสติ เพราะถ้าหลงลืม โลภะก็เกิด แต่เวลาที่ทรงแสดงมรณสติ ไม่ใช่เพื่อที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิ แต่เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้บุคคลทั้งหลายเจริญสมถะและวิปัสสนา อย่าลืมด้วยว่า สมถะขั้นไหน

เวลาที่เกิดโทสมูลจิต สติจากการฟังพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ ที่ได้ทรงแสดงไว้ มีปัจจัยเกิดระลึกได้ เป็นกุศล สงบ พอไหมแค่นั้น ที่สติปัฏฐานจะศึกษา รู้ลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือว่ายังไม่พอ จะต้องไปทำให้สงบอีก มากกว่านั้น

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจุดประสงค์ที่ทรงแสดงเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนาว่า เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อให้บรรลุฌานจิต หรือว่าเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าในภพชาติใดไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสได้เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อาจจะเป็นโอกาสที่จะได้เจริญ สมถภาวนาเท่านั้น แต่ในภพชาติใดที่มีโอกาสอบรมเจริญสติปัฏฐาน ทำไมจะละทิ้งโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐาน ซ่องเสพ สั่งสมสันดานที่ชวนวิถีเวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏ ชวนวิถีสั่งสมสันดานที่เป็นกุศล

นี่เป็นหนทางเดียวที่จะอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะสามารถมีปัจจัยให้ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น แทงตลอดประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

. พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้พระอนาคามีทำฌานจนกระทั่งได้อิทธิฤทธิ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยวิชชา ๓ แต่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงทั่วไป เมื่อพระผู้มีพระภาคทราบทราบถึงอินทรีย์ของสัตว์โลกทั้งหลายว่า บุคคลใดสามารถบรรลุสมาบัติขั้นต่างๆ สามารถทำอิทธิฤทธิ พร้อมทั้งอินทรีย์บารมีแก่กล้า บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ พระองค์ก็ทรงแสดงให้ปฏิบัติทั้งหมด จนกระทั่งผลสุดท้าย ปริพาชกคนนี้ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งวิชชา ๓ พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้พระอริยบุคคลทำฌานมีจริงๆ ในพระสูตร

สุ. ถ้าท่านผู้ฟัง ท่านหนึ่งท่านใดสามารถที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ระหว่างที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านจะทำอะไรก็ไม่ขัดข้อง ถ้าท่านสามารจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ถ้าท่านยังไม่มีปัจจัยที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ควรจะอบรมปัญญาซึ่งเกิดยาก

สติปัฏฐานทุกท่านก็กล่าวว่าเกิดยาก แต่ว่าไม่ใช่สุดวิสัยที่จะเกิด และไม่ใช่ว่าให้ท่านทอดทิ้งหน้าที่ว่า เมื่อเกิดยาก ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดเมื่อไร แต่การฟังธรรมจะอุปการะเกื้อกูล เป็นปัจจัยให้เห็นคุณประโยชน์ และให้รู้ว่าสติปัฏฐานเป็นอนัตตา เมื่อมีปัจจัยจากการฟัง เข้าใจ และเห็นประโยชน์ ก็จะฟังมากขึ้น พิจารณามากขึ้น สติก็จะค่อยๆ เกิด แต่อย่าหวังมากว่า จะให้เกิดนานอย่างนั้น นานอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อสติเกิดแล้ว ประโยชน์ คือ ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกท่านต้องตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริงว่า เพิ่ม หรือว่ายังไม่เพิ่ม ถ้ายังไม่เพิ่ม ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ

เพราะฉะนั้น การพูดเรื่องการเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ก็เพื่อเป็นปัจจัยที่จะให้เกิด สติปัฏฐานเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เพื่อไปทำอย่างอื่น เพราะสติปัฏฐานเกิดยาก ถ้าท่านไปทำอย่างอื่น มีใครที่สติปัฏฐานจะเกิดบ้างไหม พักไว้ก่อน หมดเลย ไม่มีทางที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และการที่ท่านจะไปทำความสงบ ผิดหรือถูก นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณา มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการสั่งสมสันดานที่เป็นทิฏฐิ ความเห็นผิด ถือเอาลักษณะของอกุศลเป็นกุศล และยังเพิ่มความยากแก่การที่จะละคลาย หรือว่าดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

เปิด  264
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565