แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 966

. สมมติว่าถือไมโครโฟนอันนี้แข็ง แต่รูปไมโครโฟนปรากฏทางใจว่า ลักษณะนี้ ขณะนี้เรากำลังระลึกว่าแข็ง ไม่ใช่รู้สภาพปรมัตถ์ แต่รู้บัญญัติอารมณ์ นี่เรียกว่า วิถีตัวตน หรือจะเป็นวิถีจิตอะไร ผมยังไม่เข้าใจ

สุ. เป็นมโนทวารวิถี

ถ. ถ้าหากเป็นปรมัตถ์ตลอดสาย ขณะนั้นมโนทวารก็คงจะเป็นปรมัตถ์เช่นเดียวกับที่รู้ทางปัญจทวาร

สุ. ถ้าเป็นทางปัญจทวารวิถี จะไม่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานหนึ่ง สัณฐานใดที่สำคัญหมายยึดว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เวลานี้ที่กำลังเห็น คิดนึกด้วยหรือเปล่า คิดนึกก็มี เพราะฉะนั้น เมื่อ ปัญจทวารวิถีเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว มโนทวารวิถีก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ นี่เป็นเหตุที่จำได้ถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และแม้ไม่เห็น มโนทวารวิถีก็ยังนึกได้ ถึงสิ่งที่เคยเห็น เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตเกิดโดยที่ไม่มีปัญจทวารวิถีจิตเกิดก่อนได้ แต่ไม่ว่าปัญจทวารวิถีจิตวิถีใดเกิด ดับไปแล้ว ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากทางปัญจทวารวิถี เช่น ทางหู เวลาที่โสตทวารวิถีจิตเกิด และดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีจะจิตเกิดรับรู้เสียงที่โสตทวารวิถีเพิ่งได้ยินต่อ

เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีเกิดมากกว่าทางปัญจทวารวิถี ด้วยเหตุนี้การทรงจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็นทางตา การทรงจำเรื่องราวคำพูดต่างๆ ที่ได้ยินจากเสียงทางหู การทรงจำเรื่องราวของกลิ่นต่างๆ การทรงจำเรื่องราวของรสต่างๆ การทรงจำเรื่องราวของการกระทบสัมผัสต่างๆ จึงทำให้ทุกท่านเข้าใจไปว่า มีคนจริงๆ มีสัตว์ จริงๆ มีวัตถุต่างๆ จริงๆ เพราะทางมโนทวารวิถีเกิดมากกว่าทางปัญจทวารวิถี แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ทางปัญจทวารวิถีไม่เกิด มโนทวารวิถีก็ยังเกิดได้มาก เช่น ในขณะที่ฝัน

. ผมอ่านในพระไตรปิฎก กล่าวถึงสภาวะ เป็นรูปปรากฏทางกายที่แข็ง ผมก็ระลึกพระไตรปิฎกที่กำลังจับอยู่นี้ ขณะนั้นภาวะที่แข็ง ความเป็นอนัตตาไม่ปรากฏ แต่เล่มพระไตรปิฎกไปปรากฏทางใจ คล้ายๆ จะเห็นภาวะนี้อยู่แล้ว

สุ. อย่าเอาคล้ายๆ ดีกว่า อย่าไปรู้ชัดวิถีอะไรจนกว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารก่อน

ที่จะต้องแยกลักษณะของนามธรรมรูปธรรมออกแต่ละทวาร แสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมนาน และต้องเป็นการศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกอย่างต้องตรงตามความเป็นจริง สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ก็จะเพิ่มความรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นเพียงลักษณะที่มีจริง และเพียงปรากฏเท่านั้น นั่นเป็นทางตา ส่วนทางใจที่รับรู้ต่อ ก็สามารถที่จะนึกถึงรูปร่างสัณฐาน จดจำส่วนสัดต่างๆ ของสีซึ่งต่างกัน ทำให้เกิดความทรงจำว่า เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นได้

แสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ความรู้นั้นต้องประจักษ์แจ้งจริงๆ ในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทางมโนทวารวิถี จึงจะเป็นการแยกขาด เพราะมโนทวารวิถีคั่นทุกปัญจทวารวิถี เมื่อจักขุทวารวิถีดับไปแล้ว มโนทวารวิถีเกิดต่อ จึงสามารถที่จะประจักษ์ความดับไปของรูปารมณ์ได้ และรู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางมโนทวาร เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่รวมกันทุกทวารจนกระทั่งเป็นสัตว์ เป็นบุคคลขึ้นได้

การศึกษาปริยัติธรรมมีประโยชน์ที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายโดยละเอียด ที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละทวาร ทีละทาง จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและในลักษณะของรูปธรรม แต่ต้องรู้ความต่างกัน มิฉะนั้นต้องรวมกัน เช่น ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่ทราบว่าเป็นรู้แข็งหรือแข็ง เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดทางมโนทวาร ขณะนั้นจึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่สิ่งใดทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงแข็งซึ่งเกิดดับ

สำหรับการที่จะเข้าใจเรื่องการสั่งสมสันดานตนเองโดยสามารถของชวนวิถี จะต้องเข้าใจในเรื่องชาติของจิต ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องจิตประเภทใดก็ตาม ก็ควรที่จะทราบด้วยว่า จิตนั้นเป็นชาติอะไร

วิถีจิตในขณะที่กำลังเห็นเป็นจักขุทวารวิถี กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นโสตทวารวิถี กำลังได้กลิ่นเป็นฆานทวารวิถี กำลังลิ้มรสเป็นชิวหาทวารวิถี กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นกายทวารวิถี และมโนทวารวิถีที่กำลังคิดนึก กำลังรู้เรื่องต่างๆ ก็ควรที่จะได้ทราบวิถีจิตทั้งหมดว่า เป็นจิตชาติอะไรด้วย

วิถีจิตแรกทางปัญจทวารวิถี แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถี หรือโสตทวารวิถี หรือฆานทวารวิถี หรือชิวหาทวารวิถี หรือกายทวารวิถี ก็ต้องเกิดขึ้นทีละวิถี และ ทีละขณะ เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว วิถีที่ ๑ ทางปัญจทวาร คือ อาวัชชนวิถี ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง เป็นชาติกิริยา ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก

ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงลักษณะของจิตที่เป็นกิริยาจิตว่า

เป็นกิริยา คือ เป็นเพียงการกระทำ

ข้อความต่อไป แสดงลักษณะของกิริยาจิตที่ต่างกันโดยกิจว่า

ก็ในบรรดากิริยาจิตทุกดวงทีเดียว กิริยาจิตดวงใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นย่อมไม่มีผล เหมือนดอกไม้ลม

มาจากศัพท์ว่า วาตปุปฺผํ ซึ่งมูลฎีกาแก้ว่า โมฆปุปฺผํ หมายถึง ดอกไม้ที่ไร้ผล

ดอกไม้ซึ่งไร้ผลมีไหม ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อมีดอกแล้วจะต้องมีผลเสมอไป และดอกไม้บางชนิดมีดอกจริง แต่ว่าเมื่อร่วงหล่นไปแล้วก็ไม่มีผล กิริยาจิตก็เช่นเดียวกัน กิริยาจิตดวงใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นย่อมไม่มีผล เหมือนดอกไม้ลม และกิริยาจิตที่ไม่ถึงชวนะ คือ ไม่เป็นชวนวิถีจิตมี ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง เป็นอาวัชชนจิต กระทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร และ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง กระทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร และทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร ส่วนกิริยาจิตอื่นซึ่งถึงความเป็นชวนะ เป็นจิตของพระอรหันต์นั้น ข้อความใน อัฏฐสาลินี อุปมาว่า

กิริยาจิตดวงใดถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นก็ไม่มีผล เหมือนดอกของต้นไม้ที่มีรากขาดเสียแล้ว จึงเป็นแต่เพียงการกระทำเท่านั้น เพราะเป็นไปด้วยอำนาจให้สำเร็จกิจนั้นๆ

เป็นการแสดงลักษณะที่ต่างกันของกิริยาจิตที่ไม่ถึงความเป็นชวนะ และที่ถึงความเป็นชวนะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิต แต่ว่ามีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิต กิริยาจิตอื่นทั้งหมด ซึ่งต่อไปจะทราบว่ามีกี่ดวง เป็นของพระอรหันต์ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์มีกิริยาจิตที่ไม่ถึงชวนะ ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต และมีชวนวิถีที่เป็นกิริยาจิตเท่านั้น เพราะ พระอรหันต์ดับกุศลและอกุศลหมด จึงไม่มีชวนวิถีจิตที่เป็นกุศลและอกุศล

จิตทั้งหมดจำแนกออกได้เป็น ๔ ชาติ คือ เกิดเป็นกุศลประเภทหนึ่ง เกิดเป็นอกุศลประเภทหนึ่ง เกิดเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมประเภทหนึ่ง เกิดเป็นกิริยา เป็นเพียงการกระทำ ไม่ใช่ผลของกรรม และไม่ใช่กรรม คือ ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล และไม่ใช่วิบาก อีกประเภทหนึ่ง

ถ้าได้ทราบเรื่องชาติของจิตจะทราบว่า ขณะใดเป็นเหตุ ขณะใดเป็นผล และขณะใดไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล

ปุถุชนมีจิต ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

พระโสดาบันบุคคลมีจิต ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

พระสกทาคามีมีจิต ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

พระอนาคามีมีจิตกี่ชาติ ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

แต่พระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ วิบากและกิริยา

เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณวิถีเกิดในจักขุทวารวิถี เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรมที่ทำให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จักขุวิญญาณก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จักขุวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบาก

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีจักขุปสาท แต่จักขุวิญญาณเห็นอารมณ์ต่างกันตามกรรม ไม่มีใครทำให้ แต่กรรมของตนเองเป็นปัจจัยทำให้วิบาก คือ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

ถ้าเป็นทางหู หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงเป็นชาติวิบาก แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

ทางจมูกก็เช่นเดียวกัน บางครั้งได้กลิ่นซึ่งไม่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็น ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก แต่ขณะใดที่ได้กลิ่นที่หอม น่าพอใจ ขณะนั้นเป็น ฆานวิญญาณกุศลวิบาก

ถ้าเป็นทางลิ้น ก็เช่นเดียวกัน ได้รสที่กลมกล่อม รสที่ประณีตในขณะใด ขณะนั้นเป็นชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าได้รสที่ไม่ประณีต เผ็ด ขม ขื่น ฝาด ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นชิวหาวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบาก

ทางกายก็เช่นเดียวกัน มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอยู่เสมอ ถ้าขณะใดกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งเกินไป กระด้าง แรง ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก ถ้าขณะใดกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นกุศลวิบาก

เพราะฉะนั้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ได้แก่

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

โสตวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

ฆานวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

กายวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง เป็นวิบาก

. เรื่องของวิบากจิต ฟังดูแล้วคล้ายๆ กับบังเอิญ หรือจงใจให้เกิดก็ได้ เช่น อยากจะดูอะไรสวยๆ ก็ไปดูด้วยตัวเอง ได้เห็นของสวยๆ อยากดมกลิ่นหอมๆ ก็ไปซื้อน้ำหอมดีๆ มาดม อย่างนี้ก็เป็นกุศลวิบากตลอด ตั้งใจให้เป็นก็ได้ และอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น เราเดินผ่านร้านขายดอกมะลิ กลิ่นดอกมะลิหอมๆ ก็โชยมา วิบากโดยที่ไม่ตั้งใจให้เกิดก็เกิดได้ ผมก็งงๆ อยู่ อย่างคนมีเงิน เขาร้อน ก็ไปซื้อแอร์มาติด กายวิญญาณกระทบกับสิ่งที่พอใจ ถ้าเราเดินไป บังเอิญร้อนมาก ก็เข้าไปใต้ร่มไม้ รู้สึกว่า บางครั้งบังคับให้เกิดก็ได้

สุ. ไม่ได้มีกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้วหรือ คิดถึงแต่ปัจจุบัน คล้ายๆ กับอยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นตัวเราที่จะทำได้ แต่ขอให้ย้อนนึกไปถึงว่า ไม่มีกรรมในอดีตบ้างหรือ ปราศจากกรรมที่ได้กระทำแล้วหรืออย่างไรจึงกล่าวว่า สามารถที่จะ ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รสตามปรารถนาได้

. คล้ายๆ กับบังคับให้เกิดได้ หรือโดยบังเอิญ โดยธรรมชาติก็ได้

สุ. เพราะว่าไม่รู้ปัจจัยของจิตแต่ละขณะที่จะเกิดขึ้น

. อยากกินผลไม้อร่อยๆ ก็ไปซื้อ มังคุดกิโลละ ๑๐ กว่าบาทก็อร่อยแล้ว บังคับให้เกิดก็ได้ หรือโดยที่เราบังเอิญเดินไป มีเพื่อนมาเลี้ยงเรา

สุ. ดูเสมือนว่าเกิดมาโดยปราศจากกรรมในอดีต จึงมีความเป็นตัวตนที่สามารถจะกระทำอย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ แต่อย่าลืมว่า กรรมในอดีตมีมากมาย นับไม่ถ้วนที่กระทำแล้ว และไม่ใช่มีแต่กุศลกรรมอย่างเดียว หรือไม่ใช่มีแต่อกุศลกรรมอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมีทั้งกรรมในอดีตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เมื่อได้ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมใด วิบากประเภทนั้นก็เกิดขึ้น อย่าลืม เมื่อได้ปัจจัยของกรรมใดที่จะให้วิบากประเภทใดเกิดขึ้นทางทวารไหน วิบากนั้นก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น แต่ไม่ใช่เรา

ตั้งแต่ปฏิสนธิ บังคับได้ไหม ปฏิสนธิบังคับไม่ได้ ฉันใด ทุกขณะที่เกิดขึ้นก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด ฉันนั้น เพราะเมื่อปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมและยังมีกรรมในอดีตที่พร้อมจะให้ผลอีกตลอดในชีวิตนี้ และในชาติต่อๆ ไปด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ได้กระทำกรรมไว้เลย มีกรรมพร้อมที่จะให้วิบากจิตเกิดในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไปด้วย

เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียดเป็นเหตุที่จะให้เข้าใจได้ว่า ขณะใดเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว และขณะใดเป็นกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า นี่เป็นประโยชน์ของการรู้เรื่องชาติของจิต ซึ่งต้องไม่สับสน

เวลาที่จักขุวิญญาณเห็นเป็นวิบากจิต เวลาที่โสตวิญญาณได้ยินเป็นวิบากจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นวิบากของกรรมใด เมื่อกรรมใดได้ปัจจัยพร้อมที่จะให้วิบากเกิดขึ้นทางไหน วิบากก็เกิดขึ้นทางนั้น

มีมังคุดเน่าบ้างหรือเปล่า หรือว่าอร่อยทั้งหมด

. ดีก็ไม่ทั้งหมด เน่าก็ไม่เน่าทั้งหมด แต่ก็ได้กินแต่สิ่งที่ดีๆ

สุ. โดยที่ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยเลยว่า ทำไมชิวหาวิญญาณจึงได้ลิ้มรสนั้น ถ้าไม่มีกรรมในอดีตแล้ว จะไม่มีทางที่จะได้ลิ้มรสอย่างนั้น

ข้อความใน อัฏฐสาลินี ใน นิกเขปกัณฑ์ ติกนิกเขปกถา กล่าวถึงวิบากว่า

วิบากที่ถึงขณะแล้ว ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว ที่ยังไม่ถึงแต่ย่อมจะถึงโดยแน่นอน ก็มี

เพราะฉะนั้น วิบากมี ๒ อย่าง เช่นเดียวกับกรรมที่มี ๒ อย่าง คือ กรรมที่มีผลแน่นอน ๑ และกรรมที่มีผลไม่แน่นอน ๑

วิบากมี ๒ อย่าง คือ วิบากแห่งกรรมซึ่งได้โอกาสแล้ว หมายความว่า กรรมได้กระทำแล้ว ที่ถึงขณะแล้ว ๑ ที่ยังไม่ถึง ๑ ซึ่งวิบากที่ยังไม่ถึง ได้แก่ วิบากแห่งกรรมที่มีผลแน่นอน แต่ว่ายังไม่ถึง

เปิด  230
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566