แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 968

ตทาลัมพนวิถีจิต มีความละเอียดมาก เพราะแล้วแต่ปฏิสนธิจิตว่า ปฏิสนธิด้วยจิตดวงใด ประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา

เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจก็มีมากน้อยตามประเภทของปฏิสนธิจิต ถ้าเป็นปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นมหากุศลชั้นยอดเยี่ยม ก็มีวิบากที่กระทำตทาลัมพนกิจได้มาก และวิบากจิตที่กระทำตทาลันพนกิจนั้น รับอารมณ์ตามชวนะ แล้วแต่ว่า ชวนะที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นจะมีเวทนาอะไร เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ตทาลัมพนจิต คือ วิบากจิต ก็มีหลายประเภทซึ่งจะเกิดขึ้นตามชวนวิถี

เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ประกอบกับการเจริญสติปัฏฐานว่า ขณะใดสติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิตใด ตามที่ได้ทราบลักษณะของจิตแล้ว ประการที่ ๑ ที่ว่า เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ขณะเห็น รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทุกอย่าง จนสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็เช่นเดียวกัน ๒

อรรถของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า สั่งสมสันดานด้วยสามารถของชวนะ ก็ได้ทราบเรื่องของวิถีจิตต่างๆ พอที่จะรู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นเป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้จิตที่เป็นชาติวิบากที่เห็น หรือว่าชาติกุศล อกุศลประการต่างๆ ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

. ชื่อของวิถีจิต ทำไมต่างกับชื่อของจิต คือ จิตโดยพิสดารแล้วมีถึง ๑๒๑ ดวง หรือ ๑๒๑ ประเภท ไม่มีชื่อว่า อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ จนถึงตทาลัมพนะ ชื่อต่างๆ เหล่านี้ไม่มีในจิตทั้ง ๑๒๑ ประเภท ทำไมเป็นอย่างนั้น

สุ. โดยกิจ จิตทำกิจใด ก็เรียกชื่อของจิตที่ทำกิจนั้นโดยกิจ เหมือนอย่างคนที่ทำนา ก็เรียกว่าชาวนา จะชื่ออะไรก็ได้ ใช่ไหม ชาวนาแต่ละคนก็มีชื่อของตนเอง แต่ขณะใดที่ทำนา ก็ชื่อว่าชาวนา ขณะใดที่ร้องเพลง ก็ชื่อว่านักร้อง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่กิจการงานว่า ขณะนั้นกระทำกิจอะไร

. หมายความว่า เป็นกิจของจิต เช่น ภวังคจิต ก็กระทำกิจเป็นภวังค์ บางคนศึกษาแล้วก็งง ในเมื่อจิตทั้งหมดโดยพิสดารมี ๑๒๑ ประเภท ทำไมไม่มีชื่อภวังค์ และจิตทั้งหมดโดยย่อมี ๘๙ จำแนกโดยชาติ มี ๔ ชาติ ถ้าจำแนกโดยภูมิ มีกี่ภูมิ

สุ. ยังไม่กล่าวถึงภูมิ จะกล่าวถึงภูมิเมื่อถึงอรรถของจิตประการต่อไป ที่กล่าวถึงชาติในขณะที่กล่าวถึงวิถีจิต ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา ได้เห็นความสำคัญว่า เวลาที่จิตรู้อารมณ์เป็นวิถีจิต ไม่ใช่เป็นแต่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น แต่ว่าวิถีจิตที่รู้อารมณ์ครั้งหนึ่งๆ วาระหนึ่งๆ นั้น มีทั้งจิตที่เป็นชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา อย่างรวดเร็ว

ขณะเห็นวาระหนึ่ง คือ ครั้งหนึ่ง แม้จิตจะมี ๔ ชาติ แต่วาระหนึ่งๆ มีเพียง ๓ ชาติ คือ กิริยาจิต วิบากจิต และกุศลจิต หรือกิริยาจิต วิบากจิต อกุศลจิต เพราะกุศลและอกุศลเกิดพร้อมกันในวาระเดียวกันไม่ได้

เวลาที่รู้ว่า จิตมีจำนวนเท่าไร อะไรบ้าง ยังต้องรู้ถึงกิจการงานของจิตแต่ละประเภทที่รู้ชื่อว่า จิตชื่อนั้นกระทำกิจอะไรในขณะไหนด้วย และเรียกชื่อของจิตที่กระทำกิจนั้นตามกิจ เช่น ขณะที่เกิดเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเกิดในสุคติภูมิหรือว่าในทุคติภูมิ ถ้าเกิดในทุคติภูมิ ในอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ แต่อกุศลวิบากที่ไม่ได้กระทำกิจปฏิสนธิก็มี ไม่ใช่ว่าเป็นอกุศลวิบากแล้วจะต้องทำปฏิสนธิกิจทุกดวง สำหรับอกุศลวิบากใดที่ทำกิจปฏิสนธิก็ชื่อว่า ปฏิสนธิจิต และอกุศลวิบากใดทำกิจภวังค์ก็ชื่อว่า ภวังคจิต

จักขุวิญญาณทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ ทำภวังคกิจไม่ได้ แต่ว่าทำทัสสนกิจได้ จึง ชื่อว่าจักขุวิญญาณ เพราะเป็นจิตที่รู้แจ้งทางตา ก็เรียกชื่อตามประเภทของจิตและกิจ

น่าสงสัยไหมว่า ทำไมจิตจึงมี ๔ ชาติ ไม่ใช่ ๕ ชาติ เพราะมีจิตที่เป็นกุศลชาติ ๑ อกุศลชาติ ๑ แต่วิบากมีชาติเดียว และกิริยาอีก ๑ ชาติ เป็น ๔ ชาติ

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่มี ๕ ชาติ ในเมื่อเหตุมี ๒ คือ ชาติกุศล เป็นเหตุหนึ่ง ชาติอกุศลเป็นเหตุหนึ่ง เพราะฉะนั้น ชาติวิบากก็ควรจะมี ๒ ด้วย คือ มีอกุศลวิบากชาติหนึ่ง กุศลวิบากชาติหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริงที่จิตมี ๔ ชาติ ก็เพราะเหตุว่า วิบากจิตเองไม่ชื่อว่า เป็นธรรมชาติเลว ปานกลาง หรือประณีต

สำหรับจิตที่เป็นกุศลและอกุศล ต่อไปจะทราบว่า มีประเภทต่างๆ มากมาย เช่น ต่างกันโดยกรรม กรรมทางตาก็มี ทางหูก็มี ทางจมูกก็มี ทางลิ้นก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี ต่างกันโดยความเป็นขั้นทานก็มี ต่างกันโดยความเป็นขั้นศีลก็มี ต่างกันโดยความเป็นขั้นการอบรมเจริญปัญญา เช่น ขั้นฟังธรรม ขั้นแสดงธรรม ขั้นอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสมถะและสติปัฏฐานคือวิปัสสนาก็มี และยังต่างกันโดยทวาร เช่น กระทำโดยกาย หรือว่ากระทำโดยวาจา หรือว่ากระทำโดยใจ และยังต่างกันด้วยอธิบดี คือ สัมปยุตตธรรมหรือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมชาติที่เป็นเหตุ คือ กุศลและอกุศลมีประเภทต่างๆ มากมาย แต่ว่าความต่างทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีในวิบากจิตที่จะให้ประกอบด้วยทาน ศีล เป็นบุญกิริยาวัตถุต่างๆ เพราะวิบากเป็นธรรมที่ไม่มีวิบาก วิบากเองเป็นเพียงผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่ง มีโอกาสปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นเป็นผลของกรรม ตัววิบากเองเป็นผลของกรรม ซึ่งไม่มีวิบาก เพราะวิบากไม่ทำให้เกิดวิบาก

เห็นในขณะนี้ เป็นวิบากจิต เกิดแล้วเพราะอดีตกรรมเป็นปัจจัย แต่การเห็นจะทำให้เกิดวิบาก คือ ให้เกิดการเห็นอีกไม่ได้

ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังรู้เสียง เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดการได้ยิน แต่ว่าโสตวิญญาณที่ได้ยินเสียงจะทำให้เกิดวิบากข้างหน้าไม่ได้

เพราะฉะนั้น วิบากไม่ทำให้เกิดวิบาก และไม่สามารถที่จะยังกายวาจาให้ไม่ประกอบด้วยธรรม เช่น กรุณา มุทิตา หรือว่าวีรตีซึ่งเป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะได้

วิบากไม่ชื่อว่าเป็นธรรมชาติที่เลว ธรรมชาติที่ปานกลาง ธรรมชาติที่ประณีต แต่ว่าวิบากแห่งกรรมเลวจัดเป็นเลว วิบากแห่งกรรมปานกลางจัดเป็นปานกลาง วิบากแห่งกรรมประณีตจัดเป็นประณีต เพราะฉะนั้น วิบากเป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเป็นผลของเหตุที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ตัววิบากเองไม่ชื่อว่าเป็นธรรมชาติเลว ปานกลาง ประณีต และไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก

. จิตทั้งหมดมี ๔ ชาติ อยากทราบว่า ชาติอะไรได้แก่จิตกี่ดวง

สุ. ยังไม่กล่าวถึง เวลาที่ศึกษาจิตประเภทใดต่อไปข้างหน้าจะแสดงว่า จิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร แต่เท่าที่กล่าวถึง เช่น ปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก ภวังคจิตเป็นชาติวิบาก อาวัชชนจิตเป็นชาติกิริยา ชวนวิถี สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็เป็นกุศลหรืออกุศล และตทาลัมพนะเป็นชาติวิบาก

นี่เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร คือ ทางใจ เป็นมโนทวารวิถี ถ้าเป็นทางปัญจทวาร วิถีจิตแรก คือ อาวัชชนวิถีจิตเป็นกิริยาจิต ทวิปัญจวิญญาณวิถีจิตเป็นวิบากจิต สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบากจิต สันตีรณจิตเป็นวิบากจิต โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต ชวนวิถีเป็นกุศลหรืออกุศล และตทาลัมพนวิถีจิตเป็นวิบากจิต

. ตทาลัมพนะ ต่างกับทวิปัญจวิญญาณที่เป็นวิบากจิตอย่างไร

สุ. ต้องคิดถึงกิจของจิตจึงจะเข้าใจ จักขุวิญญาณทำกิจเห็น สัมปฏิจฉันนะไม่เห็น แต่รับอารมณ์ คือ รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ สันตีรณะพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ โวฏฐัพพนะกำหนดชวนวิถีที่จะเกิด และชวนวิถีที่เกิดก็เสพหรือแล่นไปในอารมณ์ ส่วนตทาลัมพนะเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนะ

จิตที่ทำตทาลัมพนกิจมีถึง ๑๑ ดวง แล้วแต่ปฏิสนธิจิตว่า ปฏิสนธิจิตของใคร เป็นจิตดวงใด สามารถที่จะมีจิตเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจได้กี่ดวง ปฏิสนธิจิตมีความสำคัญมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลอดชีวิตของบุคคลนั้น กรรมใดสามารถที่จะให้ผลแค่ไหน ขั้นไหน

ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นวิบากของกุศลกรรมอย่างยอดเยี่ยม ย่อมมีวิบากจิตหลายดวงที่จะกระทำตทาลัมพนกิจต่อจากชวนวิถี แต่ถ้าวิบากจิตของใคร ไม่ใช่ผลของกุศลกรรมชั้นยอดเยี่ยม ก็จะมีวิบากจำนวนน้อยที่จะกระทำตทาลัมพนกิจต่อจากชวนวิถี เพราะฉะนั้น เรื่องของตทาลัมพนะ ไม่ควรที่จะกล่าวถึงในตอนนี้

เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นวิบากจิต ต่อจากนั้นเป็นภวังค์ และต่อจากนั้นไปจะมีการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การได้กลิ่นบ้าง การลิ้มรสบ้าง การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เป็นวิบาก หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องแสวงหาวิบากไหม ลองคิดดู

. ถ้าชวนะเป็นกุศล ตทาลัมพนะก็จะต้องเป็นกุศลวิบาก หรือถ้าชวนะเป็นอกุศล ตทาลัมพนะก็จะต้องเป็นอกุศลวิบาก ใช่ไหม

สุ. อารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ ชวนะเป็นกุศล ตทาลัมพนะไม่มีปัญหาเลย ต้องเป็นกุศลวิบาก

. ผมสงสัยว่า ชวนะเนื่องกับตทาลัมพนะอย่างไร

สุ. เวลาที่ได้ยิน จะเป็นเสียงที่ดีหรือไม่ดีก็จบเรื่องของอดีตกรรม เพราะทำให้วิบากเกิดขึ้นแล้ว ก็หมดเรื่อง แต่ชวนวิถี เวลาที่เห็นครั้งหนึ่ง ได้ยินครั้งหนึ่ง เป็นกุศลหรืออกุศล นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า

เพราะฉะนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องรู้ชาติของวิถีจิตว่า วิถีจิตใดเป็นชาติอะไร เพื่อที่จะรู้ว่า วิถีจิตใดเป็นวิบากก็เป็นเพียงขณะที่เกิดรับผลของอดีตกรรม ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากอีก

วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากจิต สันตีรณะเป็นวิบากจิต ตทาลัมพนะเป็น วิบากจิต เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ความละเอียดว่า ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และขณะใดเป็นกิริยา เพื่อที่จะไม่หลงปรารถนายึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป

จะเห็นสิ่งที่ดีสักเท่าไร เพชรนิลจินดา แก้วแหวนเงินทอง สีสันวัณณะที่ น่าพอใจสักเท่าไร จักขุวิญญาณซึ่งเป็นวิบากเกิดแล้วก็ดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้ว ก็ดับไป สันตีรณะเกิดแล้วก็ดับไป ตทาลัมพนะเกิดแล้วก็ดับไป เท่านั้นเอง ดับจริงๆ แต่เพราะไม่รู้ว่าเป็นสิ่งซึ่งเกิดดับ เพราะถึงแม้ว่าความชราจะปรากฏกับรูป แต่นามธรรมไม่เคยปรากฏว่าชรา ใช่ไหม

แต่รูปบางรูป ใครเห็นความชราบ้าง เช่น เพชร มีใครเห็นความชราของเพชรบ้าง เมื่อไม่เห็นความชราของเพชร เห็นทีไรก็ยังคงพอใจในแสงสีของเพชร และกำหนดราคาของความพอใจไว้ด้วยว่า มีความพอใจในเพชรนั้นสูงต่ำแค่ไหน ถ้าราคาสูงมากก็แสดงว่า โลภะสูงมากตามกำลังของโลภะ ถ้าราคานิดหน่อยก็แสดงว่า โลภะกำหนดราคาตามความพอใจในวัตถุนั้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งความชราของเพชรไม่ได้ปรากฏ แต่ความชราของรูปร่างกายของสัตว์บุคคลปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นรูปสีสันวัณณะที่น่าพอใจ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก ตทาลัมพนะเป็นวิบาก และก็หมด ไม่มีการเห็นสิ่งนั้นจนกว่า วิถีจิตจะเกิดอีก

เพราะฉะนั้น ควรจะรู้ว่า วิบากจิตทางตา เห็นขณะใดเป็นผลของอดีตกรรม พร้อมทั้งวิบากจิตซึ่งเป็นวิถีอื่นๆ ด้วย

ทางหู ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ ก็เพียงชั่วขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตได้ยินเสียงนั้น และดับหมดจริงๆ แต่ว่ากุศลและอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิด มีความพอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมากมาย ที่ว่ามาก ก็คือเกิดอีก และก็เกิดอีกๆ

โดยขั้นของการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่สามารถที่จะดับอกุศลได้ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นเพียงจักขุวิญญาณ การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม แต่ก็ยับยั้งความพอใจ คือ โลภะ ไม่ให้เกิดไม่ได้ในขณะที่เห็นสิ่งที่พอใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจธรรมที่ปรากฏให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ซึ่งการรู้ธรรมโดยละเอียด เห็นโทษของอกุศลมากขึ้น จะทำให้อบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้นทุกขั้น เพราะรู้ตัวว่าเป็นผู้ที่มีกิเลสมากเหลือเกิน

เปิด  254
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566