แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 972

. ตัณหามี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แต่ส่วนใหญ่ผมได้ยินพระท่านพูดว่า กามตัณหา เป็นความยินดีติดใจในกามอารมณ์ ขณะที่มีความยินดีติดใจในกามอารมณ์ ขณะนั้นเป็นกามตัณหา ส่วนภวตัณหา มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ขณะนั้นเป็นภวตัณหา สำหรับวิภวตัณหา คือ ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เช่น ไม่อยากเป็นคนหูหนวก ตาบอด ง่อยเปลี้ยเสียขา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นวิภวตัณหา ผมเห็นว่า พูดเช่นนี้ไม่ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ อยากให้อาจารย์แสดงว่า ตัณหาทั้ง ๓ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างไร

สุ. โดยสั้นๆ กามตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภวตัณหามี ๒ ได้แก่ ความยินดีพอใจในภพ ๑ ความยินดีพอใจที่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง คือ สัสสตทิฏฐิ ๑ สำหรับวิภวตัณหา หมายความถึงความยินดีพอใจในอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าสูญ นี่เป็นตัณหา ๓ ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก

ขณะนี้กำลังถึงลักษณะของจิต อรรถที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะ บางขณะเป็นกิเลส บางขณะเป็นกรรม และบางขณะเป็นวิบาก

ถ้าเข้าใจชัดเรื่องของวิถีจิต จะเป็นปัจจัยทำให้สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของกิเลส กรรม และวิบากได้ เช่น ขณะที่เห็น ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบากจิต แต่ว่าจักขุวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก โวฏฐัพพนะไม่ใช่วิบาก กุศลและอกุศลไม่ใช่วิบาก ตทาลัมพนะเป็นวิบาก

มีประโยชน์อะไรที่จะรู้อย่างนี้ หรือว่าไม่มีประโยชน์ เสียเวลา ทำไมจะต้องรู้ถึงความละเอียดว่า ในการเห็นครั้งหนึ่งๆ ขณะใดเป็นวิบาก และขณะใดไม่ใช่วิบาก

เพราะธรรมที่เป็นเหตุไม่ใช่ธรรมที่เป็นผล อกุศลทั้งหลายหรือกุศลก็ตามเป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นวิบากจิต ขณะนั้นเป็นผลซึ่งเกิดเพราะเหตุ ไม่ใช่เป็นตัวเหตุ ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ถ้ารู้ว่าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมในอดีต ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น จะคิดไหมว่า มีตัวตนที่สามารถที่จะบันดาลให้วิบากใดๆ เกิดขึ้นก็ได้ จะคิดอย่างนั้นไหมถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่เห็นไม่ว่าจะเห็น สิ่งใดก็ตามเป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเหตุในอดีตมีพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้วิบากเกิดขึ้นในขณะใด วิบากจิตก็เกิดขึ้น เช่น ในขณะนี้ เป็นต้น เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีปัจจัยในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับ แต่ให้ทราบว่า วิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย

ถ้ามีความรู้จริงๆ อย่างนี้ จะเห็นความเป็นอนัตตาในขณะที่เห็น ในขณะที่ ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และจะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ในขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นกระทำกิจทางหนึ่งทางใด รู้ว่านั่นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นผลของกรรมในอดีต เพราะฉะนั้น จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งจะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนั้นได้ว่า เป็นสภาพธรรมประเภทที่เกิดขึ้นเพราะได้ปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง เป็นผลของกรรม

มีท่านผู้ใดกลัวว่าวิบากจะไม่เกิดขึ้นบ้างไหม หรือว่าจะหมดวิบากแล้ว ไม่ต้องกลัวเลย ไม่ว่าวันไหนทั้งสิ้น จะเป็นวันนี้ เย็นนี้ พรุ่งนี้ วันต่อๆ ไป เดือนต่อๆ ไป ปีต่อๆ ไป ชาติต่อๆ ไป ไม่ต้องห่วงเรื่องที่วิบากจะไม่เกิด เพียงแต่ว่าวิบากที่จะเกิดนั้นจะเป็นวิบากประเภทไหน เป็นผลของกรรมอะไร ซึ่งในชาตินี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์วิบากแล้วใช่ไหมว่า แต่ละคนมีวิบากของกุศลกรรม หรือว่ามีวิบากของอกุศลกรรม มากน้อยแค่ไหน

. ผมคิดว่า ตามความจริง การทำบาปผลจะต้องมี ทั้งนี้เพราะเรามีพื้นในเรื่องการศึกษาธรรมบ้าง แต่ถ้าเราพิจารณาถึงบุคคลทั่วๆ ไปที่เขาศึกษาบ้าง ไม่ได้ศึกษาบ้าง หรือศึกษานิดๆ หน่อยๆ เขาจะต้องปฏิเสธว่า ผลกรรมไม่มี เช่น ท่านพระองคุลีมาลเถระท่านทำบาปตั้งมากมาย แต่ผลที่สุดบาปนั้นไม่ได้ให้ผลเลย เพราะฉะนั้น เขาอาจจะเข้าใจเหมาๆ หรือว่าสรุปรวมๆ อย่างนี้ ที่ผมพูดนี้ผมหมายถึงว่า ไม่อยากจะเอาตัวรอดคนเดียว คือ คิดถึงคนอื่นที่ทำให้บ้านเมืองเรายุ่งอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ก็เพราะเขามีความคิดทำนองนี้ จะทำอย่างไรกับคนพวกนี้ ซึ่งทำให้บ้านเมืองเรายุ่งไม่สิ้นสุดเสียที อย่างน้อยก็ให้ค่อยยังชั่วลงบ้าง

สุ. ยาก เพราะเพียงแต่จะให้ผู้ใดสนใจ แม้แต่จะรับฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ ก็ยากแล้ว เพราะว่าบางท่านอาจจะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ บางท่านอาจจะเห็นว่าคร่ำครึ ไม่ทันสมัย แต่ความเป็นจริงแล้วไม่รู้เลยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องของธรรม ซึ่งเกิดปรากฏทุกยุค ทุกกาลสมัย

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่หวังดีต่อคนอื่น ก็ศึกษาให้มากๆ จนกระทั่งเข้าใจละเอียด สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ประพฤติปฏิบัติตามได้จริงๆ เพิ่มขึ้น เป็นตัวอย่างของบุคคลอื่น และถ้าสามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นในด้านใด รวมทั้งการแสดงธรรมด้วยตามกาลเทศะที่สมควรก็จะเป็นประโยชน์ แต่สำหรับตัวท่านผู้ฟังเอง เชื่อแน่ ในเรื่องของกิเลส กรรม

. บ้านผมไม่กินเหล้า เพื่อนผมที่กินเหล้าผมไม่เชิญเข้าบ้าน และผมปรารถนาว่า ภพต่อไปผมจะปฏิสนธิอยู่ในที่ที่ไม่มีเหล้า อย่างนี้ผิดหรือถูกครับ

สุ. เลือกไม่ได้ แล้วแต่เหตุ

. ถ้าเราพยายามอยู่ในศีล ๕ นำศีล ๕ มาเป็นแนวทางของชีวิต พยายามทำทานอย่างที่ผมฟังอาจารย์บรรยายทางวิทยุ จะพอประมาณได้ไหมว่า ในสัมปรายภพ พ่อของผมจะต้องไม่เป็นคนขี้เมา ถ้าผมปรารถนาที่จะเป็นนักศึกษา พ่อผมชาติหน้าจะต้องเป็นนักศึกษาที่ยิ่งๆ ขึ้นไป ผมปรารถนาในการที่จะได้สร้างทาน เกิดชาติหน้าจะได้ไม่ต้องไปทำมาหากิน เพราะว่าวิบากเตรียมพร้อมที่จะให้ผล หรืออย่างที่มีคนบอกผมว่า ทานจะเป็นบันไดแรกที่จะถึงพุทธธรรม ถ้ายึดอย่างนี้เป็นแนวแล้ว เราจะสามารถกำหนดวิบากของเราในชาติต่อไปได้หรือไม่

สุ. ไม่มีใครสามารถพยากรณ์กรรม และการให้ผลของกรรมได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

. ถ้าเช่นนั้น ความปรารถนาที่เราจะสร้างกุศลกรรม ความปรารถนาที่จะหนีอกุศล จะไม่เป็นปัจจัยเพียงพอที่จะให้เรารู้ว่า วิบากของเราคืออะไรหรือ

สุ. ท่านผู้ฟังถามว่า จะไม่เป็นปัจจัยเพียงพอ ใช่ไหม ไม่มีใครรู้ว่า เพียงพอหรือไม่ เพียงความปรารถนาอย่างนี้ กับการทำกุศลอย่างนั้น จะเพียงพอที่จะให้สามารถสมปรารถนาหรือไม่ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

. ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่ผิดศีล อย่างน้อย ๕ เราก็ควรที่จะได้รับอานิสงส์ตามที่พระท่านพูด โภคสัมปทา

สุ. สำหรับตัวท่านผู้ฟังเองก็พอที่จะเห็นว่า มีเหตุที่จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่หลง ไม่มัวเมาในของมึนเมาต่างๆ แต่สำหรับครอบครัว ตระกูล วงศาคณาญาติในภพหน้า ในชาติหน้า ใครจะทราบ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใดเท่านั้นเอง

. เรามีเจตสิกอยู่ ๕๒ พยายามทิ้งอกุศลเจตสิก ๑๔ ตัวให้หมด ไม่พอหรือ

สุ. เวลานี้ทิ้งอกุศลอะไร

. อย่างน้อยที่สุด ผมนั่งกับอาจารย์ในห้องนี้ ผมก็พยายามจะทิ้ง

สุ. จะทิ้งอะไร

. โมหะยังไม่หมด เพราะยังปรารถนาภพหน้าอีก เชื่ออาจารย์ว่า เท่านี้ยังไม่พอ ยังต้องเกิดอีกหลายชาติ แต่อย่างน้อยที่สุดขอให้พบพระธรรม

สุ. ฟังพระธรรม และอบรมเจริญปัญญา ปัญญาจะทำกิจของปัญญา และกุศลอื่นๆ จะทำกิจของกุศลอื่นๆ แต่ไม่มีใครที่จะสามารถพยากรณ์ได้ เพราะว่าไม่สามารถที่จะล่วงรู้ถึงความเพียงพอของกรรมว่า จะเป็นปัจจัยพอที่จะให้ได้สมความปรารถนานั้นๆ หรือเปล่า

. จุติจิตดับลงเดี๋ยวนี้ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทันที ภายในเสี้ยวของวินาที

สุ. เร็วกว่านั้นอีก คือ ไม่มีอะไรคั่นเลย

. เพราะฉะนั้น กรรมใดๆ ที่จบลงที่จุติจิตนี้ จะส่งผล เป็นวิบากใน วันหน้า ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่กรรมเฉพาะในชาตินี้ กรรมในอดีตอนันตชาติก็สามารถที่จะให้ผลได้ ถ้าพร้อมด้วยปัจจัย

. ถ้าอย่างนั้น ผมยอมรับว่า สิ่งที่เราจะกำหนดได้ คือ กรรมของชาตินี้เท่านั้น ชาติก่อนหมดปัญญาแล้ว

ผู้ฟัง ตามความเห็นของผม ผมว่าน่าจะได้ คือ ถึงแม้ว่ากรรมนี้ กรรมดีของท่านในชาตินี้อาจจะยังไม่มากพอ แต่ว่าก็น่าจะได้ เพราะถ้าเราคิดถึงว่า กรรมในชาติก่อนๆ ตามหลักของกรรมที่ว่า เมื่อสะสมมาในชาติก่อนๆ เมื่อมาเกิดในชาติปัจจุบัน ผลของการสะสมกรรมดีในชาติก่อนๆ จะต้องเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เราต้องทำความดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การที่เราได้ทำดีในชาตินี้ อาจจะไม่ใช่เกิดจากความคิดของเราที่เกิดขึ้นเอง แต่เป็นการกระตุ้นของกรรมที่กระทำดีมาในชาติก่อนๆ เพราะฉะนั้น ผมว่าน่าจะสำเร็จได้ตามที่ท่านต้องการ

สุ. มโนรถปุรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ ได้แสดงปริยายแห่งพระอภิธรรม ซึ่งได้จำแนกกรรมไว้ ๑๖ ประการว่า กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่จะให้ผลได้นั้น ต้องถึงพร้อมด้วยสมบัติและวิบัติ คือ

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง อันคติสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผล มีอยู่

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง อันอุปธิสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผล มีอยู่

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง อันกาลสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผล มีอยู่

กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง อันปโยคสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผล มีอยู่

หมายความถึง อกุศลกรรมที่ไม่มีโอกาสจะเกิดได้ เวลาที่บุคคลนั้นถึงพร้อมด้วยคติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ หรือปโยคสมบัติ

ส่วนอกุศลกรรมบางอย่าง อาศัยคติวิบัติ ย่อมให้ผล มีอยู่

อาศัยอุปธิวิบัติ ย่อมให้ผล มีอยู่

อาศัยกาลวิบัติ ย่อมให้ผล มีอยู่

อาศัยปโยควิบัติ ย่อมให้ผล มีอยู่

นี่เป็นทางฝ่ายอกุศลกรรม ๘

ทางฝ่ายกุศลกรรมโดยนัยเดียวกัน เวลาที่ไม่ให้ผลก็เพราะว่า คติวิบัติห้ามไว้ ๑ อุปธิวิบัติห้ามไว้ ๑ กาลวิบัติห้ามไว้ ๑ ปโยควิบัติห้ามไว้ ๑ รวมเป็น ๔

ส่วนกุศลกรรมที่จะให้ผลนั้น ต้องอาศัยคติสมบัติ ๑ อุปธิสมบัติ ๑ กาลสมบัติ ๑ ปโยคสมบัติ ๑

การที่กรรมจะให้ผลได้ต้องประกอบด้วยสมบัติหรือวิบัติ คือ คติสมบัติ หรือ คติวิบัติ ๑ อุปธิสมบัติหรืออุปธิวิบัติ ๑ กาลสมบัติหรือกาลวิบัติ ๑ ปโยคสมบัติหรือ ปโยควิบัติ ๑

สำหรับคติสมบัติ คือ การเกิดในภพภูมิที่ดี คือ สุคติภูมิ และคติวิบัติ คือ การเกิดในภพภูมิที่เป็นทุคติภูมิ เป็นอบายภูมิ

ทุกท่านจะต้องตายและปฏิสนธิทันทีหลังจากที่จุติจิตดับ แต่ไม่มีใครรู้ว่า คติ คือที่ที่ท่านจะไปจะเป็นคติไหน จะเป็นสุคติ หรือทุคติ ขณะนี้ท่านปรารถนาที่จะเกิดในสกุลซึ่งไม่มีเหล้า ไม่มีสุรายาเมา นี่เป็นความปรารถนา แต่ว่าท่านยังไม่จุติ เพราะฉะนั้น ยังมีเวลาเหลือ ซึ่งไม่ทราบว่า ก่อนที่จะถึงจุติจะมีชวนวิถีอะไรๆ เกิดบ้าง และเวลาที่จุติจิตดับไปแล้ว ก็ยังไม่ทราบว่า กรรมใดจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิในภูมิใด

ถ้ากุศลกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ เป็นคติสมบัติ สามารถที่จะได้วิบากต่างๆ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่ารื่นรมย์ต่างๆ แล้วแต่ว่าในชาติต่อไปท่านจะมีความพอใจในสิ่งใด เพราะยังไม่ได้ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ท่านไม่ชอบสุรายาเมา ท่านเห็นว่าเป็นของมึนเมาทำให้ขาดสติ แต่ว่าท่านยังมีความยินดีพอใจในอะไรอยู่ ที่ไม่ใช่ความพอใจในรสของสุรา เพราะท่านยังไม่ใช่เป็นผู้ที่ดับสิ้นความพอใจทั้งหมดของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะฉะนั้น ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีความติด ความปรารถนา ความพอใจที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่น่าพอใจ นี่เป็นความปรารถนาของทุกคนที่ยังมีกิเลส

เปิด  221
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565