แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 974

การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่มีปัจจัยที่โลภะจะเกิดเป็นประจำเป็นปกติ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นก็ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติ ไม่ใช่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะหมดโลภะ ไม่มีโลภะเลย มีแต่กุศลทั้งนั้น เป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือว่า เวลาปกติอย่างนี้อย่างหนึ่ง และก็ไปทำวิปัสสนาจากหน้ามือเป็นหลังมืออีกอย่างหนึ่ง ไม่มีโลภะเกิดขึ้นเลย ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ย่อมไม่เห็นว่า ตามปกติโลภะย่อมเกิด

การจะละโลภะจึงไม่ใช่ละโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บรรลุความเป็นพระอนาคามีทันที แต่ละโลภะที่เกิดพร้อมสักกายทิฏฐิที่ยึดถือการเห็นว่า เป็นเราเห็น เวลาที่ได้ยินเกิดขึ้นก็ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพที่ได้ยินว่า เป็นเราได้ยิน

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาต้องละกิเลสตามลำดับขั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น ดับสักกายทิฏฐิเป็นสมุจเฉท ไม่มีการเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ยังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังมีโลภมูลจิตซึ่งเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่เกิดกับมิจฉาทิฏฐิใดๆ เลย แต่ยังเป็นโลภมูลจิต จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี จึงจะดับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ เป็นเรื่องจริง

. พระโสดาบันละกิเลส ๓ อย่าง คือ ราคะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ความหมายจริงๆ ลึกซึ้งแค่ไหน

สุ. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หาใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ชื่อว่ารูปารมณ์ ที่ทรงบัญญัติว่ารูปารมณ์ หมายถึงสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตาแก่จักขุวิญญาณ หรือจักขุทวารวิถีจิต รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ยาวหรือสั้น ลองคิดดูว่า รูปารมณ์ วัณณะ สิ่งที่ปรากฏทางตา ยาวหรือสั้น

รูปารมณ์ หรือวัณณะ รูปายตยนะ ยาวหรือสั้นไม่ได้ แต่อาศัยวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งเป็นเครื่องกำหนดวัดว่า ยาวหรือสั้น

จะต้องเข้าใจลักษณะของรูปารมณ์ หรือรูปายตนะ หรือวัณณะว่า ที่เคยเข้าใจมานั้นถูกหรือผิด ที่เห็นเป็นโต๊ะและกำหนดหมายรู้ว่ายาวหรือสั้น แท้ที่จริงแล้ว รูปายตนะ คือ สี สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสี เป็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ยาว ไม่สั้น รูปารมณ์ หรือรูปายตนะ หรือวัณณะ ยาวสั้นไม่ได้ แต่เพราะอาศัยปฐวีธาตุ เพราะฉะนั้น อาศัยธาตุซึ่งเป็นที่ตั้งของรูปายตนะหรือรูปารมณ์นั่นเองเป็นเครื่องกำหนดว่ายาวหรือสั้น แต่รูปายตนะไม่ยาว ไม่สั้น ถูกไหม ใครจะคิดอย่างนี้บ้าง แต่ ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดในกาย ในสิ่งที่ประชุมรวมกัน ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ ซึ่งลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้ารูปารมณ์ หรือรูปายตนะ หรือสีสันวัณณะต่างๆ ไม่ปรากฏ จักขุวิญญาณจะไม่มี ไม่มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือถ้าจะกล่าวโดยนัยอ้อม คือ จักขุวิญญาณไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ซึ่งหมายถึงว่าจักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเมื่อจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่จริง เป็นสัจธรรม เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และต้องระลึกที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ยาว ไม่สั้น แต่ว่าอาศัยวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งเป็นเครื่องกำหนดความยาว ความสั้น เพราะฉะนั้น ตัวสีสันวัณณะจริงๆ เป็นแต่เพียงรูปซึ่งสามารถปรากฏทางตาเท่านั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุใดๆ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ

และจักขุวิญญาณที่เพียงเห็น ก็ไม่รู้ว่ากำลังเห็นอะไร เพราะจักขุวิญญาณทำกิจเพียงเห็นเท่านั้นเอง แต่การที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่ใช่จักขุทวารวิถี ต้องเป็นมโนทวารวิถี หลังจากที่จักขุทวารวิถีดับไปแล้ว

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมโดยละเอียด มีประโยชน์เกื้อกูลแก่การที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่คลาดเคลื่อน

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังค์ ปาปิจฉตานิทเทส มีข้อความที่อธิบายความปรารถนาลามก ซึ่งทำอาการต่างๆ ให้พวกมนุษย์เลื่อมใสว่า

... แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ ดังนี้ เป็นต้น ด้วยคำว่า เมื่อเราตรวจดูหมวด ๓ แห่งธรรม อันยังสัตว์ให้เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกายอยู่ มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ ชื่อว่าปริยัติ ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

นี่คือผู้ที่มีปัญญาทราม แต่ด้วยความปรารถนาลามกก็ปรารถนาจะให้บุคคลอื่นเห็นว่าตนเป็นผู้มีปัญญา เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ชื่อว่าปริยัติ ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ เพราะแสดงว่า ตนเองปฏิบัติ และ มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ นี่เป็นผู้ที่มีปัญญาทราม แต่ปรารถนาจะให้คนอื่นเห็นว่า ต้องปฏิบัติและสละปริยัติ เพราะ การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

ข้อความต่อไปมีว่า

ดังนี้ ย่อมแสดงซึ่งความที่ตนเป็นคนมีปัญญามาก โดยการกล่าวอย่างนั้น ... ก็เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมทำลายพระศาสนา ชื่อว่ามหาโจรเช่นกับบุคคลนี้ย่อมไม่มี เพราะว่าบุคคลผู้ทรงพระปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ หามีไม่

ท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ของการศึกษาปริยัติ หรือเห็นว่าไม่สมควรจะศึกษา

. คำพูดอย่างนี้ผมได้ยินมามาก และเพิ่งจะรู้ว่า ผู้ที่พูดเช่นนี้เป็นมหาโจรปล้นพุทธศาสนา มีพระสายกัมมัฏฐานมากรูปที่กล่าวว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์จะต้องปฏิบัติอย่างเดียว ปริยัติทำให้พ้นทุกข์ไม่ได้ คำพูดอย่างนี้มีอยู่ในพระสายกัมมัฏฐานมากมาย และท่านพูดบ่อยด้วย

สุ. จากข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังค์ ปาปิจฉตานิทเทส อธิบายความปรารถนาลามกที่เป็นเหตุให้ทำอาการต่างๆ ให้พวกมนุษย์เลื่อมใส ตามที่ได้กล่าวถึงแล้วในข้อที่ว่า

... แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ ดังนี้ เป็นต้น ด้วยคำว่า เมื่อเราตรวจดูหมวด ๓ แห่งธรรม อันยังสัตว์ให้เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกายอยู่ มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ ชื่อว่าปริยัติ ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

มีท่านที่กล่าวอย่างนี้ แต่ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ เป็นผู้ที่มีปัญญาทราม

มีใครที่คิดว่า ท่านรู้ทุกอย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยไม่ต้องศึกษาบ้างไหม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหมที่ใครจะกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ยากและบรรลุได้เร็ว แต่ผู้ที่มีปัญญาทรามก็กล่าวว่า เราย่อมสละปริยัติ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ที่กำลังเกิดดับ ลองคิดดู ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น สภาพธรรมที่แท้จริงที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และกำลังเกิดดับ ในขณะที่กำลังเห็น เมื่อศึกษาเรื่องวิถีจิตก็ทราบว่า ขณะเห็นเป็นวิบากจิต เมื่อจักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตและ สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา ต่อจากนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าไม่ใช่กุศลต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือถ้าไม่ประกอบด้วยโลภะและโทสะ ก็เป็นโมหมูลจิต รู้ไหมที่กำลังเห็นนี้ รู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ปรากฏกับจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นการเห็นสิ่งที่ปรากฏ และสภาพรู้ก็ดับ สิ่งที่ปรากฏก็ดับ และไม่ใช่มีแต่เห็น ที่คิดว่าเห็น แท้ที่จริงมีกุศลหรืออกุศลซึ่งเป็นชวนวิถีเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรม รู้ชัดว่าเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ การที่จะประจักษ์ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ รู้ว่าไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ และทั้งนามธรรมและรูปธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะมีใครบอกว่า ไม่ยาก และสามารถรู้ได้เร็ว ถ้าใครกล่าวอย่างนั้น จะเป็นผู้ที่มีปัญญา หรือว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาทราม

โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ใช่ยุคสมัยของผู้ที่สามารถจะบรรลุเร็วที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถจะได้ยินได้ฟังพระธรรมเพียงสั้นๆ ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม แทงตลอดในลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว

ถ้าเป็นในลักษณะนั้น บุคคลนั้นเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลหรือวิปัญจิตัญญูบุคคล แต่ยุคนี้สมัยนี้เป็นสมัยของอุคฆฏิตัญญูบุคคลและวิปัญจิตัญญูบุคคลหรือเปล่า ซึ่ง ทุกท่านก็ทราบได้ แม้แต่เพียงได้ยินคำว่านามธรรม สภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ในขณะที่เห็นในขณะนี้เอง ในขณะที่ได้ยินในขณะนี้เอง ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ในขณะกำลัง คิดนึก เพียงแต่ที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้จริงๆ ทีละอย่างโดยไม่ปรากฏรวมกัน ก็ต้องอาศัยการฟังและพิจารณา เมื่อเข้าใจแล้ว สติจะค่อยๆ เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าจะสามารถระลึกได้มากทันทีเลย

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเป็นการฟัง ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นอาหารให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลซึ่งไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูและไม่ใช่วิปัญจิตัญญู แต่สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล คือ ผู้ที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยช้า ไม่ใช่โดยเร็ว

แต่ละวิปัสสนาญาณที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอบรมเจริญนานจริงๆ กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑ ซึ่งเป็นการประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งเป็นนามธาตุ เป็นรูปธาตุ ทางมโนทวารทีละลักษณะ หมดความสงสัยในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร และวิปัสสนาญาณไม่ใช่มีแต่เพียงนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งแสดงให้เห็นกำลังของกิเลสที่สะสมมามาก ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ที่กำลังเผชิญหน้าในขณะนี้

ทุกคนมีตาที่กำลังเห็น กำลังเผชิญหน้ากับปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังได้ยิน เสียงเป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็น สภาพธรรมที่ปรากฏ กำลังเผชิญหน้ากับเสียง มีสภาพรู้เสียงในขณะที่เสียงปรากฏ แต่โมหเจตสิกหรืออวิชชาเป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้แม้สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาสำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่อดทนและรู้จริงๆ ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ถ้าใครกล่าวว่าง่าย ผู้นั้นพูดผิดหรือพูดถูก

อกุศลมีมากมายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของความต้องการ เรื่องของโลภะ ในลาภบ้าง ในยศบ้าง ในสักการะบ้าง ในชื่อเสียงบ้าง ด้วยความยึดมั่นในความเป็นตัวตน ต้องการทุกอย่างเพื่อตัว แม้แต่การที่จะให้บุคคลอื่นกล่าวชม ก็เป็นสิ่งที่พอใจ แสดงให้เห็นความยึดมั่นในขันธ์ ซึ่งได้แก่นามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของเรา

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ต้องเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา ไตร่ตรอง เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะผู้ที่ไม่ใช่สาวก ฟังแล้วไม่ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น แต่ละท่านต้องพิจารณาว่า ท่านอยู่ในประเภทไหน คือ เป็นผู้ที่เพียงฟังและสนใจ หรือว่านอกจากจะฟัง พิจารณา เข้าใจ สนใจแล้ว ยังน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย

เปิด  257
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565