แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 979

สำหรับวิบาก ได้แก่ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นเพราะกัมมปัจจัย ไม่มีใครบันดาลได้ แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น มีการได้ยินเกิดขึ้น มีการได้กลิ่นเกิดขึ้น มีการลิ้มรสเกิดขึ้น มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเกิดขึ้น

ใครไม่ให้เห็นได้ถ้าในขณะนี้เห็นแล้ว มีการได้ยินแล้วมีใครจะไม่ให้ได้ยินได้ ไม่มีใครสามารถเป็นตัวตนที่จะบังคับ ที่จะยับยั้งได้ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า จิตและเจตสิกที่กำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นวิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน โดยเป็นวิปากปัจจัย จำเป็นต้องเกิดเป็นวิบาก เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นกุศลก็ไม่ใช่ เพราะในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม จิตที่เกิดพร้อมเจตสิกเป็นวิปากปัจจัยของเจตสิก เจตสิกที่เกิดพร้อมจิตเป็นวิปากปัจจัยของจิต ทั้งจิตและเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นวิบากทั้งสอง และเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยต่างก็เป็นวิปากปัจจัยแก่กันและกัน

รูปไม่ใช่วิบาก รูปเกิดขึ้นเพราะกรรม แต่เพราะรูปไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น รูปไม่ใช่วิบาก แต่ที่เห็นนี้เป็นสภาพรู้ จึงเป็นวิบากของนามธรรมซึ่งเป็นกรรม เพราะฉะนั้น ต้องแยกว่า กัมมปัจจัยเป็นอดีตปัจจัย แต่วิปากปัจจัยเป็นปัจจัยในปัจจุบันกาล เพราะเกิดพร้อมกัน เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พร้อมกันทั้งจิตและเจตสิก

นี่คือขณะที่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า เป็นผลของกรรม คือ เป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกิเลส ไม่ใช่เป็นกรรม

ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ไม่พร้อม กรรมดับไปก่อน เป็นปัจจัยในอดีต ที่ว่าเป็นปัจจัยในอดีต คือ ปัจจัยนั้นต้องดับก่อน ไม่ใช่เกิดพร้อมกับปัจจยุปบัน

ปัจจัยมีคำที่คู่กัน คือ ปัจจัย ปัจจยุปบัน

ปัจจัยธรรม คือ ธรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

ปัจจยุปบัน คือ สภาพธรรมที่เกิดเพราะมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จิตและเจตสิกที่ทำกิจที่เกิดขึ้นเห็นเป็นจักขุวิญญาณ พร้อมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ๗ ดวง จิตและเจตสิกเป็นวิปากปัจจัยซึ่งกันและกัน เพราะมีกัมมปัจจัยที่เป็นอดีตปัจจัย ทำให้วิปากปัจจัยเกิดขึ้น

วิปากปัจจัยเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจัยโดยเป็นปัจจุบัน เพราะเกิดพร้อมกัน เป็นวิบากที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเดียวกัน

. พรุ่งนี้เป็นวันสารทจีน ซึ่งจะมีการนำข้าวของสิ่งต่างๆ มีเป็ด ไก่ เป็นต้น ไปบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หรือว่าไปไหว้เจ้า ไหว้ผีอะไรต่างๆ การกระทำเช่นนี้ ผู้ที่เขาไหว้ได้มารับประทานอาหารที่เขานำมาเซ่นสรวงนั้นหรือเปล่า

สุ. ไม่เห็นด้วยตาแน่นอน ใช่ไหม

. ใช่

สุ. อยู่คนละภพคนละภูมิ เพราะฉะนั้น อาหารที่จะบริโภคก็ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ มนุษย์ก็บริโภคอาหารของมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานแต่ละประเภทก็บริโภคอาหารของสัตว์เดรัจฉานแต่ละประเภท เทพก็บริโภคอาหารของเทพ พรหมไม่ต้องบริโภคอาหารเลย

. มีพวกเปรตบริโภคซากศพ ศพที่ตายใหม่ๆ บางครั้งเปรตไปกินซากศพ

สุ. เห็นไหม

. มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

สุ. แต่ยังไม่เคยปรากฏว่า มีใครเห็นเปรตกำลังกินเลือดหนองของซากศพ และเวลาที่จะให้เปรตนั้นพ้นจากการเป็นเปรต ก็โดยการถวายทานและอุทิศส่วนกุศลให้เปรตอนุโมทนา ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ตั้งแต่ครั้งที่ได้เสด็จไปโปรด พระเจ้าพิมพิสาร และญาติในอดีตของพระเจ้าพิมพิสารที่เป็นเปรตก็ได้มารอคอยที่จะรับส่วนกุศล แต่ในวันแรกพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า การที่จะให้อดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารพ้นจากภูมิของเปรตได้ ก็โดยการที่ถวายทาน และอุทิศส่วนกุศลให้ญาติเหล่านั้นอนุโมทนา

เพราะฉะนั้น วิธีที่จะทำให้บุคคลซึ่งเกิดในภูมิเปรตสามารถที่จะพ้นจากภูมิของเปรตได้ ก็โดยการกระทำกุศล และอุทิศส่วนกุศลให้ญาติเหล่านั้นอนุโมทนา นี่เป็นข้อความที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

. เปรตกินซากศพ

สุ. ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องถวายทาน และอุทิศส่วนกุศล ก็ไปเลือกกินเอาตามใจชอบ

. ข้อนี้ก็ไม่ทราบ เพราะว่าได้ยินมาว่า เปรตมีหลายชนิด มีถึง ๑๖ ชนิด

สุ. ถ้าเป็นเปรตที่กินพวกน้ำเลือด น้ำหนองของซากศพ นำเอาอาหารไปตั้งให้จะกินได้ไหม เพราะนั่นไม่ใช่อาหารของเปรต แม้แต่เสื้อผ้าที่มนุษย์สวมใส่ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เปรตจะใช้สอยได้ แต่สิ่งที่เปรตจะใช้สอยในภูมิของเปรต ก็โดยการถวายทานและอุทิศส่วนกุศลให้ เมื่อเปรตอนุโมทนาก็จะได้รับผลของกุศลจากการอนุโมทนาของตนเอง

. การที่ทรงแสดงอย่างนี้จะขัดกันหรือเปล่า คือ ในพระวินัยปิฎก มีภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้า เห็นซากศพตายใหม่ๆ มีผ้าพันไว้ ภิกษุนั้นจะถือเอาผ้าของซากศพนั้นมาใช้ เปรตก็ขอร้องว่า อย่าเอาไปเลย เพราะเปรตสิงสถิตอยู่ในซากศพนั้น ภิกษุนั้นไม่ฟังเสียง ดึงเอาผ้านั้นออกมาและก็เดินไป ซากศพนั้นลุกขึ้นตามภิกษุนั้น ภิกษุก็เดินเข้ากุฏิ ปิดประตู ซากศพนั้นจึงล้มลงไป เปรตสิงอยู่ในซากศพนั้น ถ้าไม่ได้กินซากศพ เปรตจะอยู่ในซากศพนั้นทำไม

สุ. เป็นเรื่องของภิกษุนั้นกับเปรตนั้น ไม่เกี่ยวกับท่านผู้ฟัง ก็ไม่ต้องสนใจ ใส่ใจในสิ่งซึ่งไม่เกิดกับท่าน แต่ว่าสิ่งใดที่ท่านสามารถจะกระทำได้ เช่น กระทำทานอุทิศส่วนกุศลให้ นั่นเป็นสิ่งที่สมควร ไม่เช่นนั้นท่านผู้ฟังจะไปแสวงหาซากศพมาบริจาคให้เปรตหรือ

. ไม่ใช่ แต่อยากทราบว่า การเซ่นสรวงนั้นเปรตจะได้รับไหม

สุ. วิธีที่แน่นอน คือ กระทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ซึ่งบุคคลที่อนุโมทนาย่อมได้ผลของกุศลจิตที่อนุโมทนานั้น เป็นของที่แน่นอน

. พระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้ว่า การเซ่นสรวงนั้นมีผล

สุ. โดยวิธีไหน

. ก็ไม่ทราบ

สุ. ที่ทรงแสดงไว้ชัด คือ กระทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้ แม้เทพ เพราะเทวดามีอาหารทิพย์ ไม่ต้องการอาหารอย่างมนุษย์ และเสื้อผ้าของมนุษย์ที่ว่าสวยงามอย่างมาก เทียบกับของเทพหรือเทวดาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งซึ่งเทวดาไม่บริโภค ไม่ใช้ ไปให้ แต่ว่าสิ่งที่เทวดาจะชื่นชมอนุโมทนา คือ คุณความดีที่ทุกท่านกระทำ

ผู้ที่เกิดเป็นเทพ เป็นผลของกุศลกรรม กุศลกรรมที่เล็กน้อยจะทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่มีรูปงาม ถ้ากุศลกรรมที่มากกว่านั้นอีก ก็จะทำให้เป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือว่าคหบดีมหาศาล ถ้ากุศลกรรมยิ่งกว่านั้นอีก ก็จะทำให้เกิดเป็นเทพในสวรรค์ชั้นต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดเป็นเทพในสวรรค์ชั้นต่างๆ มีกุศลมากกว่าผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ เมื่อท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ได้ผลของกุศลกรรม ก็ย่อมชื่นชมยินดีในกุศลกรรมของบุคคลอื่นซึ่งกระทำและอุทิศส่วนกุศลให้ นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเทพไม่ต้องการอาหารของมนุษย์ ไม่ต้องการเสื้อผ้า สิ่งที่มนุษย์ถือว่าเลิศหรือว่าสวยงามมากมาย เพราะของเทพประณีตยิ่งกว่านั้น

. ตามประเพณีโบราณทั้งประเพณีจีน ประเพณีไทย การเซ่นสรวงก็ดี การเจือจานอาหารก็ดี เสื้อผ้าทั้งหลาย ก็เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา และกระทำสืบๆ กันไป เป็นอปริหานิยธรรม ๗ ประการที่ว่า ไม่บัญญัติอะไรขึ้นมาใหม่และไม่ล้มเลิกที่บัญญัติอยู่แล้ว คือ ประเพณีมีมาอยู่แล้วก็อย่าให้หมดไป ขอให้ภิกษุทั้งหลายมีการประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมพร้อมกัน ทั้ง ๗ ประการนี้ ก็มีความเจริญอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การรักษาประเพณีของเก่าๆ ก็ทำให้ชนชาตินั้นๆ มีความเจริญขึ้นอย่างเดียว

สุ. การกระทำกุศลและอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นประเพณีเก่ามาตั้งแต่ครั้ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับพระเจ้าพิมพิสารที่ควรจะกระทำสืบๆ ต่อๆ กันมา และสืบๆ ต่อๆ กันไป เพราะปรากฏในพระไตรปิฎกโดยตรง และเรื่องการอุทิศส่วนกุศลให้กับเทวดา ก็มีข้อความว่า

การเซ่นสรวงหรือการบูชานั้น ด้วยการกระทำกุศล และอุทิศส่วนกุศลให้เทพอนุโมทนา

ท่านผู้ฟังยังไม่ได้เป็นเทพ แต่เวลาที่คนอื่นกระทำกุศล ท่านผู้ฟังรู้สึกชื่นชมยินดี อนุโมทนาไหม

ถ้าใครก็ตามจะฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ และนำมาบูชา ท่านผู้ฟังชื่นชมยินดีอนุโมทนาไหม

ยังไม่ได้เป็นเทพเลย แต่ก็ทราบว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควร อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นการฆ่าไก่ ฆ่าเป็ด ก็กระทำกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด และอุทิศส่วนกุศลให้อนุโมทนา ย่อมน่าอนุโมทนามากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเทพ เป็นผู้ที่เกิดในภูมินั้นด้วยกุศลกรรม ย่อมยิ่งเห็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว และย่อมอนุโมทนาในกุศลกรรมของบุคคลอื่น และก็เป็นประเพณีเก่า คือ การกระทำกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นอนุโมทนา

. ที่ท่านอาจารย์บอกว่า เทพได้รับเพราะอนุโมทนาที่เรากระทำบุญไป อย่างพวกที่ไปเกิดในอบายต่างๆ เกิดเป็นเปรต อสุรกาย จะได้รับส่วนกุศลที่เราอุทิศไปหรือเปล่า

สุ. เวลาที่เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ย่อมได้รับผลของกุศลที่อนุโมทนา เป็นกุศลของตนเองที่อนุโมทนา ถ้าไม่อนุโมทนา ก็ไม่ได้รับผล เพราะไม่เกิดกุศลจิต

. ที่จะอนุโมทนาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ที่รับใช่ไหม

สุ. แน่นอน

. เหตุที่เขาไม่อนุโมทนานั้นเพราะอะไร หรือได้รับนั้นเพราะอะไร

สุ. เพราะอกุศล

. อกุศลของเขา หรือของเรา

สุ. อกุศลของใครก็ของคนนั้น การอุทิศส่วนกุศลเป็นเจตนาที่เป็นกุศล เพื่อให้บุคคลที่ล่วงรู้ในกุศลนั้นอนุโมทนา แต่เขาจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา ไม่ใช่เรื่องของเรา บังคับเขาไม่ได้ และไม่ต้องคิดถึงภูมิเปรต แม้แต่ในภูมิมนุษย์ด้วยกันนี้ จะบังคับให้คนอื่นอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ฟังได้ไหม

. ไม่ได้

สุ. ก็เหมือนกัน

. สรุปแล้ว การที่เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ตายแล้ว เขาจะได้รับหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใช่ไหม

สุ. ได้กล่าวถึงแล้วว่า บุคคลใดอยู่ในฐานะที่จะรับได้ บุคคลใดไม่อยู่ในฐานะที่จะรับได้

. ผู้ที่อยู่ในอบาย คงจะรับไม่ได้

สุ. พวกเปรตรับได้ถ้าอนุโมทนา ในนรกไม่ได้ สัตว์เดรัจฉานไม่ได้ หรือถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ไม่ได้

. เมื่อไม่ได้ กุศลเหล่านี้ไปตกอยู่ที่ไหน

สุ. กุศลกรรม ได้แก่ เจตนาที่เป็นกุศล เป็นเหตุที่จะให้ได้รับผล ผู้อุทิศมีกุศลเจตนา เพราะฉะนั้น ย่อมได้รับผลของเจตนาที่เป็นกุศลนั้น

. ทีนี้วิธีการอุทิศ เช่น การกรวดน้ำ หรือการกล่าวคำอุทิศในใจ ผลของ ๒ อย่างนี้ แตกต่างกันไหม

สุ. ถ้าประกอบทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้น

. มากขึ้นทั้ง ๒ ประการ

สุ. เพราะว่าประกอบทั้งกาย วาจา และใจ

ในคราวก่อนกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๓ มีข้อความว่า ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่เห็นยาก เพราะเป็นการกระทำที่สำเร็จเสร็จสิ้นแล้วในอดีต และให้ผลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นวิบากให้ละเอียดขึ้น

ธรรมชาติที่เป็นวิบาก ได้แก่ นามธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย

โดยทั่วไป เวลาที่มีใครประสบเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดมักจะพูดกันว่า เป็นกรรมของคนนั้น แต่ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ควรบอกว่า เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วของบุคคลนั้น ซึ่งจะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นกรรม เพราะถ้าจะพูดสั้นๆ บางคนที่ไม่คุ้นเคยกับธรรมก็จะเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน เอากรรมมาเป็นวิบาก หรือว่าเอาวิบากนั่นเองเป็นกรรม

การศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เป็นจิต ซึ่งเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก จะทำให้เห็นชัดตามความเป็นจริงว่า ถ้าปราศจากทวาร คือ ทางรับอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะไม่มีวิบากเกิดขึ้นรับผลของกรรมเลย

ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมไม่มีทางที่จะรับผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจสภาพของธรรมที่เป็นวิบาก ที่เป็นผลของกรรมให้ชัดเจน จะต้องระลึกรู้ในขณะที่มีการเห็น

วิบาก คือ ในขณะที่เห็น เวลานี้ยังไม่มีการประสบเหตุการณ์ใดๆ จะเป็นอุบัติเหตุ หรือว่าลาภ ยศ อะไรก็ตามแต่ แต่ว่าเป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวันเกิดขึ้นพิเศษต่างหากไปจากปกติในชีวิตประจำวัน หรือแม้ว่าในขณะที่เป็นชีวิตปกติประจำวัน ตามธรรมดาๆ อย่างเวลาที่ตื่นขึ้น ก็มีการเห็น มีการได้ยิน ซึ่งต้องไม่ลืมว่า เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม อย่าไปคิดถึงว่าเป็นวิบากเฉพาะเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าได้ลาภ หรือว่าเสื่อมลาภ หรือว่าเป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์เท่านั้น

ถึงแม้เป็นเหตุการณ์ปกติ การเห็นตามธรรมดา การได้ยิน การได้กลิ่น การ ลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ขณะนั้นทั้งหมด สติสามารถที่จะระลึกรู้ สภาพธรรมที่เป็นวิบากจริงๆ มิฉะนั้นแล้วท่านก็จะถือว่า เหตุการณ์ใหญ่ๆ เป็นวิบาก

อย่างเวลาที่ประสบอุบัติเหตุ ท่านก็บอกว่า เป็นกรรม ซึ่งความจริงเป็นผลของกรรม ทางไหน ไม่ได้มีการแยกออกมาเลยใช่ไหม กล่าวรวมๆ กันว่า เป็นผลของ อดีตกรรม แต่การเป็นผู้ที่จะรู้สภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ว่า เป็นวิบากทุกขณะที่เห็น ไม่ว่าจะเห็นอะไร จะเป็นอุบัติเหตุ หรือว่าเสื่อมลาภ หรือว่าได้ลาภ เป็นสุข เป็นทุกข์ประการใดก็แล้วแต่ แต่ไม่ว่าขณะใดก็ตามที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นวิบาก ขณะใดก็ตามที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นเป็นวิบาก

เพราะฉะนั้น วิบากเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามเหตุในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งยากแก่การที่จะรู้ได้ว่า เห็นๆ อย่างนี้เป็นผลของอดีตกรรมอะไร หรือว่าได้ยินเสียงระฆังบ้าง เสียงเด็กเล่นฟุตบอลบ้าง จะเป็นผลของอดีตกรรมอะไร

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565