แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 983

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องของวิบากว่า หมายเฉพาะสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเท่านั้น ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ ติกนิกเขปกถา เรื่องวิปากติกะ ขยายความวิบากธรรม มีข้อความว่า

เฉพาะนามธรรมที่มีอารมณ์เท่านั้น ตรัสเรียกว่าวิบาก เพราะเป็นเหมือนกับกรรม

เวลาที่กรรมให้ผล ทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกับรูป แต่เฉพาะจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเท่านั้นที่เป็นวิบาก รูปเป็นผลของกรรมจริง แต่รูปไม่ใช่วิบาก เพราะ นามธรรมที่มีอารมณ์เท่านั้น ตรัสเรียกว่าวิบาก เพราะเป็นเหมือนกับกรรม

อุปมาเหมือนผลไม้ ซึ่งเหมือนกันกับพืช ฉะนั้น จริงอยู่ เมื่อพืชข้าวสาลีอันเขาหว่านแล้ว แม้ในเมื่อออกหน่อและใบเป็นต้นแล้ว เขาก็ยังไม่เรียกว่า ผลข้าวสาลี แต่เมื่อใดรวงข้าวสาลีเป็นของสุกงอมแล้ว เมื่อนั้นข้าวสาลีซึ่งเหมือนกันกับพืชนั่นแหละ เขาย่อมเรียกว่า ผลข้าวสาลี ดังนี้ ส่วนหน่อ และใบ เป็นต้น เขาเรียกว่า พืชอันบังเกิดแต่พืช ดังนี้ แม้รูปก็เช่นนั้นเหมือนกัน ควรจะเรียกได้ว่า กัมมชะ เกิดแต่กรรม

นี่เป็นความต่างกันของคำว่า วิบาก กับคำว่า กัมมชรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย

กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก และรูป แต่ว่ารูปไม่ใช่วิบาก เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย จึงเป็นกัมมชะ ได้แก่ รูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย สำหรับจิตและเจตสิกนั้นเป็นวิบาก เพราะเหมือนกันกับกรรม โดยเป็นนามธรรมเหมือนกัน สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้เช่นเดียวกับนามธรรมซึ่งเป็นกรรม

ท่านผู้ฟังคงจะสงสัยว่า ทำไมทรงแสดงแยกไว้โดยละเอียด เพราะว่าแม้รูปก็เกิดขึ้นเพราะกรรม แม้วิบากจิตและวิบากเจตสิกก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ทำไมต้องแยกว่า รูปไม่ใช่วิบาก ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า ทรงแสดงให้เห็นความต่างกันอย่างชัดเจนของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม และสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม และประจักษ์ในลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่นามธรรม เพราะว่าเวลานี้ยังไม่ประจักษ์ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม อาจจะเป็นความเข้าใจเพราะว่าได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมมากพอสมควร แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงไว้ทุกประการ เพื่อที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลให้อบรมเจริญปัญญา จนกว่าสามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม และในลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่นามธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ไม่ใช่ทรงแสดงโดยไม่ให้ประพฤติปฏิบัติตาม แต่ว่าทรงแสดงเพื่อทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น และกำลังฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ก็เพื่อให้สติระลึก จนกว่าจะรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

วันนี้เป็นโอกาสพิเศษ ซึ่งไม่ได้มีมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ท่านผู้ฟังทุกท่านคงจะคุ้นเคยกับหนังสือที่คุณนีน่า วัน กอร์คอมเขียน คือ เรื่องธรรมทัศนะในชีวิตประจำวัน และธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้พิมพ์หลายครั้ง และทุกคนที่ได้อ่านก็มีความเข้าใจดี เห็นว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์มาก และก็ส่งต่อๆ กันให้เพื่อนฝูงมิตรสหายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อ่าน ซึ่งทุกท่านก็เห็นว่ามีประโยชน์มาก คุณนีน่าเคยอยู่เมืองไทยเมื่อ ๑๐ ปีก่อน เป็นผู้ที่สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะจากเมืองไทยไปแล้วก็ไม่ได้ขาดความสนใจ ยังคงมีความสนใจศึกษาธรรมอยู่ตลอดเวลา และได้เขียนเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่อง ซึ่งยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย และยังไม่ได้พิมพ์ ก็คงต้องแล้วแต่โอกาส

ในวันนี้คุณนีน่าได้มาที่นี่ เพราะเหตุว่าสามีของคุณนีน่าจะไปประเทศอินโดนีเซีย จะไปเป็นเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ที่นั่น และก่อนที่จะไปที่นั่นก็มาแวะที่กรุงเทพเพื่อจะได้พักผ่อน และมีโอกาสที่จะศึกษาและทำประโยชน์ในทางธรรม

สำหรับในวันนี้ทุกท่านก็คงได้เห็น ได้พบแล้วทั้งคุณนีน่าและสามี สำหรับท่านทูตเอง ทุกท่านคงจะอนุโมทนาที่ท่านเป็นผู้ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ภรรยาได้ศึกษาธรรม และเป็นกำลังใจอย่างดี แม้ในการประชุมที่ศรีลังกาหรือที่อินเดีย ท่านก็เป็นผู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้คุณนีน่าได้ไปทำประโยชน์ที่นั่นทุกครั้ง ตั้งแต่การประชุมที่ศรีลังกาครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ แม้ในการไปอินเดียในคราวก่อนคุณนีน่าก็ได้ไปด้วย เพราะสามีเห็นว่า เป็นประโยชน์ และสำหรับตัวของท่านทูตเองนั้น ก็สนใจในธรรม แต่เนื่องจากผู้ที่อยู่ในวงการทูต มีเวลาน้อย เพราะมีหน้าที่การงานมาก และยังต้องพบปะช่วยเหลือบุคคลต่างๆ ในวงการที่ทำงานอยู่ แต่แม้กระนั้นตอนเช้าๆ เวลารับประทานอาหาร ท่านก็ฟังเทปที่ภรรยาอัดธรรมไว้ให้ หรือว่าอ่านหนังสือที่ภรรยาเขียน โดยเฉพาะเวลาที่ภรรยาไปต่างประเทศ ก็ฟังเทปและอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้น ก็เป็นท่านทูต ชาวต่างประเทศซึ่งสนใจในธรรม เท่าที่ทราบในขณะนี้ก็คงจะเป็นผู้เดียว แต่ว่าทั้งนี้ให้เห็นว่า เมื่ออดีตกาลอาจจะเป็นเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี ทุกท่านจะอยู่ที่ไหนไม่มีใครทราบ ใช่ไหมว่า ในอดีตอาจจะเคยได้อยู่ที่เขตแดนพระวิหารเชตวัน ได้ฟังธรรมที่นั่น หรือมีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม ความสนใจและการสะสมในอดีตเป็นเหตุให้ทุกท่านเห็นว่า ชีวิตของแต่ละคนต่างกันไป โดยที่ไม่เลือกผิวพรรณวรรณะ ไม่เลือกชาติ ไม่เลือกศาสนาใดๆ เลย แต่ย่อมเป็นไปตามการสะสม

เพราะฉะนั้น สำหรับชาวไทยเรา ก็จะได้เห็นสหายธรรมต่างประเทศที่มีความสนใจในธรรม และได้ทำประโยชน์ให้กับพระศาสนาหลายท่าน มีคุณนีน่า วัน กอร์คอม และอีกหลายๆ ท่าน เป็นตัวอย่าง และในวันนี้คงจะเป็นโอกาสเดียวที่คุณนีน่าจะได้พบกับทุกท่านที่นี่ เพราะว่าในวันเสาร์นี้จะไปอินโดนีเซียแล้ว ขอเชิญท่านที่ใคร่จะทราบเรื่องความสนใจของคุณนีน่า หรือว่าถ้ามีปัญหาธรรมใดๆ ที่คิดว่า การฟังสหายธรรมย่อมเป็นประโยชน์ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ขอเชิญคุณนีน่า

นีน่า ดิฉันมีความรู้สึกว่า ทุกคนมีความสนใจจริงๆ ในธรรม ในสติปัฏฐาน ในชีวิตประจำวันที่คุณสุจินต์พูดตลอดเวลาทั้งวิทยุและที่นี่ด้วย ได้พบกับคุณสุจินต์หลายปีมาแล้ว คุณสุจินต์สอนให้ดิฉันรู้เรื่องการปฏิบัติตามธรรมชาติ ไม่ต้องทำอะไรพิเศษ ไม่ต้องบังคับอะไร ดิฉันคิดว่า ดี เพราะว่าชีวิตของดิฉันมีธุระมากเสมอ และนั่งนานๆ ในห้อง สำหรับดิฉันไม่ชอบเลย และไม่เห็นว่ามีประโยชน์ เพราะฉะนั้น เรียนอภิธรรมก่อน เพราะว่าพระอภิธรรมเป็นเรื่องของความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ เรื่องจิตเจตสิกรูปว่า มีจิต เจตสิก รูป ตลอดเวลา พูดหลายครั้งเรื่องสติ

แต่สำหรับทุกคนและสำหรับดิฉันด้วย ไม่ง่ายเลย สติเป็นอะไร สติรู้อะไร ปัญญาเป็นอะไร ปัญญารู้อะไร อารมณ์ของสติเป็นปรมัตถสัจจะ มีนามและรูป เช่น ได้ยินเสียง เห็นสี มีตลอดเวลา แต่เราไม่รู้มากเรื่องนี้ มีอวิชชามาก มีสติเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ตอนแรกไม่แน่ใจ อะไรกำลังปรากฏ เราคิดเรื่องนามและรูป ทีละเล็กทีละน้อย เข้าใจว่ามีเสียงเดี๋ยวนี้ ใช่ไหม เสียงกำลังปรากฏ เราคิดเรื่องเสียง เสียงรถยนต์ รถยนต์เป็นสมมติสัจจะ ความคิดเรื่องรถยนต์ รถยนต์ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่คิดเป็นธรรมชาติ ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความคิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะ ต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิดเรื่อง แต่มีลักษณะ เดี๋ยวนี้เห็น ถ้ารู้ว่าเห็นคน เป็นความคิดเรื่องสมมติสัจจะ มีอะไรที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้เห็น มีอะไรที่ถูกเห็นด้วย เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะ ต้องอดทนมาก ต้องเจริญปัญญาหลายชาติ ไม่ใช่ในชาติเดียว ผู้มีพระภาคเจริญสติปัฏฐานหลายๆ ชาติ ถ้าเริ่มเข้าใจลักษณะอะไรปรากฏ รู้ละเอียดยังไม่ได้ ต้องเจริญทีละเล็กทีละน้อย แต่เริ่มเข้าใจได้

ถ้าเริ่มเข้าใจ สติเป็นอะไร เจริญได้ เช่น มี ๖ ทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลักษณะปรากฏโดยทวารเดียว หลายลักษณะในเวลาเดียวกันรู้ไม่ได้ ลักษณะเดียวรู้ได้แต่ไม่ต้องบังคับสติ บังคับสติไม่ได้ ถ้าจงใจไม่ใช่สติจริงๆ เป็นการติดในสมมติที่เรามีเรื่องสติ แต่สติเกิดเองได้ถ้าฟังเรื่องธรรมบ่อยๆ รู้เรื่องพระอภิธรรมด้วย และพิจารณา และเริ่มปฏิบัติได้ พูดเรื่องธรรม ยากจริงๆ

ผู้ฟัง ดิฉันเคยอ่านหนังสือของคุณนีน่า วัน กอร์คอม โดยอาจารย์สุจินต์ท่านได้พิมพ์ แปลเป็นภาษาไทย รู้สึกยินดีและซาบซึ้ง อยากพบ และวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ได้พบ ดิฉันได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์หลังจากคุณนีน่า ฟังแล้วก็ได้นำไปปฏิบัติ ก็รู้สึกว่าได้รับประโยชน์ ได้รับความเข้าใจมากพอสมควร อ่านหนังสือของท่านแล้วก็ยินดี รู้สึกอยากจะพบท่าน และก็ได้พบสมประสงค์ ขอแสดงความยินดีแทนเพื่อนสหายธรรมทุกคน ที่มีเพื่อนเป็นเครือญาติในพระพุทธศาสนา ที่ได้ประพฤติธรรมร่วมกัน และเรามีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ ศึกษาพระธรรมของ พระพุทธองค์ที่ปรินิพพานไปนานแล้ว แต่ว่าเราทุกๆ คนจะมีความรู้สึกอย่างเดียวกันว่า พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเป็นเครื่องอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก โดยไม่เลือกชาติ เลือกชั้น สภาพธรรมทั้งหมดทุกอย่างที่ปรากฏมีเหมือนกันหมด เป็นความจริง เพราะว่าเราสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน ภาษาไหน จิต เจตสิก เราทุกคนก็มี และที่คุณนีน่าได้กล่าวไปสักครู่นี้ อาจจะฟังยากสำหรับบางท่าน แต่สำหรับดิฉันพอประมวลเข้าใจว่า ทุกอย่างที่ปรากฏกับเราเดี๋ยวนี้ มีสติรู้

. ทำไมคุณนีน่าจึงสนใจในพระพุทธศาสนา และอยากให้คุณนีน่าบรรยายถึงสภาวะของสติและปัญญาว่า เป็นสภาวะอย่างไร มีลักษณะอย่างไร

นีน่า สติเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดขึ้นกับโสภณจิตเท่านั้น สติเป็นเจตสิกอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ สติไม่ใช่ปัญญา มีลักษณะเดียวที่ปรากฏในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่รวมกัน ไม่ใช่สมมติบัญญัติ เช่น ลักษณะแข็ง แข็งเท่านั้นเองเวลาแข็งปรากฏ ไม่คิดเรื่อง แต่มีลักษณะแข็งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดเรื่องที่ไหนที่ปรากฏ แต่แข็งเท่านั้น สติรู้ แต่ปัญญาเข้าใจลักษณะ ถ้ามีสติรู้ลักษณะแข็งในเวลาเดียวกันปัญญาเข้าใจลักษณะธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่สติที่เข้าใจลักษณะธรรมชาติของแข็ง แต่เป็นปัญญาที่เข้าใจ และปัญญาเจริญได้เวลามีสติ แต่เป็นนิดเดียวเท่านั้น

เดี๋ยวนี้อาจจะมีสตินิดเดียว ต่อจากนั้นอาจจะไม่มีเลยตลอด ๑ ชั่วโมง หรือ ๒ ชั่วโมง แต่ไม่เป็นไร เพราะถ้าเป็นสติจริงๆ ที่รู้สึกตัว และมีปัญญาที่เริ่มจะเข้าใจ ไม่ใช่แน่ใจเรื่องลักษณะ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าตอนแรกแข็งปรากฏ จะมีนามธรรมที่รู้แข็งด้วย รู้สึกอะไรด้วย แต่สติรู้สึกตัวในลักษณะเดียวเท่านั้น จะมีความสงสัยว่าเดี๋ยวนี้เป็นนามหรือเป็นรูปที่ปรากฏไหม ไม่แน่ใจ แต่ถ้าปัญญาเจริญขึ้นๆ ไม่มีความสงสัย สำหรับทุกคนยังไม่มีความแน่ใจ นามและรูปต่างกัน ถ้าอย่างนั้นเราต้องรู้ว่าปัญญาไม่ค่อยชัด จะชัดในตอนแรกไม่ได้เลย แต่ความสำคัญอยู่ที่ปัญญาเริ่มเข้าใจถูกต้อง นี่เป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่มีสติตลอดวัน ดีมาก สบาย เงียบ อย่างนี้ไม่ใช่เลย ความเข้าใจถูกต้องที่เจริญทีละเล็กทีละน้อย นี่สำคัญที่สุด ไม่ต้องบังคับไม่ให้คิด เพราะมีเหตุปัจจัยให้คิด ทุกสิ่งมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เป็นความจริง ความคิดมีลักษณะ อาจจะปรากฏเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ อาจจะกำลังคิดถึงธรรม ความคิดมีลักษณะที่ รู้ได้ ทุกอย่างที่เป็นความจริง ไม่ต้องคิดว่าโลภะไม่ดี ไม่ต้องรู้โลภะ ต้องรู้โลภะด้วย เราทุกคนบอกว่า มีโลภะ เพราะว่ารสอร่อย สามีและดิฉันรับประทานอาหารที่ร้านอาหารอร่อยมาก มีโลภะ แต่ถ้าเราบอกว่าโลภะ เรายังไม่รู้ลักษณะของโลภะ มีคนที่คิดว่า นั่งวิปัสสนา รูปนั่ง นี่ไม่ใช่ลักษณะเลย เป็นเรื่องที่คิดเท่านั้น

เปิด  257
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565