แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 988

สำหรับวิคตปัจจัย ก็คือจิตนั่นเอง แต่มีอรรถว่า ธรรมที่อุปการะโดยความเป็นผู้ปราศไป ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย สำหรับนัตถิปัจจัย คือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น แต่ความไม่มีนั้นต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่มีโดยเป็นวิคตปัจจัย คือ โดยความเป็นผู้ปราศไป ไม่ใช่ไม่มีโดยไม่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่มีเพราะเกิดแล้วปราศไป

ขณะที่ไม่มีเป็นปัจจัยหนึ่ง คือ นัตถิปัจจัย ขณะที่ปราศไปเป็นวิคตปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็คล้ายคลึงกัน แต่สำหรับรูปธรรมไม่ใช่ทั้งนัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย เนื่องจากว่า รูปธรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน คือ เพราะกรรมเป็นสมุฏฐานพวกหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง เพราะจิตเป็นสมุฏฐานก็ประเภทหนึ่ง เพราะอุตุเป็นสมุฏฐานก็ประเภทหนึ่ง เพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็ประเภทหนึ่ง

แต่ไม่ใช่ว่า รูปธรรมรูปหนึ่งรูปใดดับไปแล้ว จะเป็นปัจจัยโดยให้รูปธรรมอื่นเกิดต่อโดยอนันตรปัจจัย หรือสมนันตรปัจจัย หรือนัตถิปัจจัย หรือวิคตปัจจัย นี่เป็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

. ฟังแล้ว ๒ ปัจจัยนี้ก็ไม่มีอะไรต่างกัน นัตถิปัจจัย กับวิคตปัจจัย

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนธรรมดาก็จะแสดงเพียงปัจจัยเดียวใช่ไหม แต่เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า นัตถิปัจจัย คือ ความไม่มี นั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น ส่วนวิคตปัจจัย คือ ความเป็นผู้ปราศไป ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่มีแล้วปราศไป หมดไป ต้องในขณะนั้น

. นัตถิปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับไป ที่ดับไปก็บอกว่าไม่มี วิคตปัจจัยฟังดูแล้วก็เหมือนกัน ทรงแสดงไว้เราก็ยังไม่เข้าใจ อาจารย์ก็อธิบายแล้ว เราก็ยังไม่เข้าใจ ยังคิดว่า เหมือนกัน

สุ. ถ้าอย่างนั้นคงต้องกล่าวถึงอีก ๒ ปัจจัยซึ่งคู่กัน คือ อัตถิปัจจัย คู่กับนัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัยคู่กับวิคตปัจจัย แต่สำหรับอัตถิปัจจัยนั้น นามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรมโดยที่ต้องเกิดพร้อมกัน เพราะสภาพธรรมหนึ่งมีจึงเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งมีขึ้น หรือเกิดขึ้นร่วมกัน นั่นเป็นอัตถิปัจจัย และสำหรับ อัตถิปัจจัยนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมก็เป็นอัตถิปัจจัยด้วย เช่น เมื่อมหาภูตรูปหนึ่งมหาภูตรูปใดเกิดขึ้น มีขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูป ๓ เกิดขึ้น มีขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับอัตถิปัจจัย ได้แก่ นามธรรมก็ได้ รูปธรรมก็ได้

แต่สำหรับนัตถิปัจจัยนั้น เป็นเฉพาะนามธรรมอย่างเดียว นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้น จะต้องเห็นว่า โดยความมีและโดยความไม่มีอย่างหนึ่ง โดยความปราศจากไปและโดยความไม่ปราศจากไปอีกอย่างหนึ่ง

มี กับ หมด เหมือนกันไหม

ถ. ไม่เหมือน

สุ. เมื่อไม่เหมือน อัตถิปัจจัย เพราะธรรมอย่างหนึ่งมี จึงเป็นปัจจัยให้มีธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ มี

ส่วนหมด คือ สภาพธรรมหนึ่งหมดไป ปราศไป จึงเป็นปัจจัยให้ธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

ถ้าเข้าใจว่าคล้าย ก็ดี จะได้ไม่ลืม เมื่อนึกถึงนัตถิปัจจัย ก็จะได้นึกถึง วิคตปัจจัยด้วย เมื่อนึกถึงอัตถิปัจจัย ก็จะได้นึกถึงอวิคตปัจจัยด้วย

ผู้ฟัง ที่อาจารย์อธิบายรู้สึกว่า ตรงๆ อยู่แล้ว คือ จิตดวงแรกมี จิตดวงต่อไปจึงจะมี และตัดตอนมาว่า จิตดวงแรกที่มีแล้วต้องหมดไป จิตดวงต่อไปจึงจะเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตดวงแรกมี จิตดวงต่อไปจะมาเกิดทับกัน เป็นไปไม่ได้ จิตดวงแรกมี จะเกิดดวงที่ ๒ ต้องให้ดวงแรกดับก่อน ดวงที่ ๒ จึงเกิดได้ เรื่องของปัจจัยยากที่สุดเลย

สุ. ถูกต้อง

. อนันตรปัจจัย มีอาจารย์ท่านหนึ่งอุปมาไว้ว่า จิตดวงหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้น อุปมาเหมือนคลื่นในแม่น้ำ เวลาเรือยนต์แล่นไป คลื่นลูกหนึ่งดับไป ทำให้คลื่นอีกลูกหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากกลางแม่น้ำ มาถึงริมฝั่ง ข้ออุปมานี้จะใช้ได้หรือเปล่า

สุ. ท่านผู้ฟังก็พิจารณาเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และให้สติระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม นั่นเป็นประโยชน์ของการฟัง ไม่ว่าจะฟังอุปมาใดๆ ก็ตาม ประโยชน์ คือ เพื่อให้เข้าถึงอรรถ ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอรรถ ซึ่งเป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ มีข้อความว่า

อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ทราบถึงความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งทรงแสดงไว้โดยประการต่างๆ

ใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่กล่าวถึงเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่า

การแสดงธรรมโดยประเภทต่างๆ ย่อมนำมาซึ่งการแยกความเป็นกลุ่มก้อน และเพื่อปฏิสัมภิทาญาณ

สภาพธรรมที่รวมกันอยู่ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ถ้าไม่ทรงแสดงโดยละเอียด โดยแยกเป็นนามธรรมประเภทต่างๆ รูปธรรมประเภทต่างๆ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะถ้าสภาพธรรมยังรวมกันก็ย่อมยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เช่น จิตเกิดพร้อมกับเจตสิก จิตก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เจตสิกแต่ละประเภทก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ ถ้าไม่แยกว่า สภาพของจิตเป็นอย่างไร สภาพของเจตสิกแต่ละประเภทเป็นอย่างไร ก็ยังรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นนามธรรมซึ่งยึดถือว่าเป็นเรา แต่ว่าตามความเป็นจริง จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกไม่ใช่จิต

เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูป ก็ย่อมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันโดยหลายปัจจัย แม้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ ขณะใดที่เกิดขึ้น จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คือ มีสิ่งที่จิตกำลังรู้ แม้ว่าลักษณะของจิตจะเป็นอย่างนั้น แต่จิตซึ่งเป็นนามธรรมนั่นเองก็เป็นปัจจัยให้แก่เจตสิก และรูปที่เกิดร่วมกันได้

เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และเป็นปัจจัย ซึ่งกันและกัน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดโดยประเภทใหญ่ๆ มีถึง ๒๔ ปัจจัย แต่ยังไม่จำเป็นที่จะกล่าวถึงปัจจัยทั้ง ๒๔ ปัจจัยในตอนนี้ เพราะว่ากำลังศึกษาลักษณะต่างๆ ของจิต เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของจิตเท่าที่สามารถจะระลึกได้ เนื่องจากว่าเมื่อมีความเข้าใจในลักษณะอาการต่างๆ ของจิต ไม่ว่าจิตจะมีประเภทต่างๆ กันอย่างไร สติย่อมสามารถมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกได้ว่า ขณะใดเป็นจิต เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งลักษณะของจิตที่เป็นนามธรรมก็เป็นปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดร่วมกันโดยสัมปยุตตปัจจัย เพราะว่าจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมนั้น เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันโดยสัมปยุตตปัจจัย

จะต้องเข้าใจความหมายด้วยเวลาที่ใช้คำว่า สัมปยุตต์ ไม่ว่าจะเป็นสัมปยุตตธรรม หรือสัมปยุตตปัจจัยก็ตาม เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เป็นสภาพรู้เหมือนกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และเกิดที่เดียวกัน ในภูมิซึ่งอาศัยรูปเกิดขึ้น จิตจะเกิดขึ้นตามลำพังโดยไม่มีรูปเป็นที่เกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าขณะใดที่จิตเกิดขึ้น สัมปยุตตธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต ก็คือ เจตสิก และเจตสิกเมื่อเกิดร่วมกับจิต เจตสิกแต่ละชนิดก็เป็นสัมปยุตตธรรม เป็นสัมปยุตตปัจจัยให้สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันนั้น เกิดร่วมกัน โดยเป็นธาตุรู้อารมณ์เดียวกัน

นี่เป็นความต่างกันของรูปธรรมและนามธรรม เพราะรูปธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันจริง แต่รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ไม่รู้อารมณ์เลย แต่นามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดกว่า เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่มีรูปอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นสุขุมรูปที่ละเอียดสักเพียงไร ก็ไม่ใช่ลักษณะของนามธรรม เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เป็น ธาตุรู้เป็นอาการรู้นั้น ไม่ปะปนกันกับรูป แม้ว่ารูปนั้นจะเป็นสุขุมรูป

เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจถึงอรรถของสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นเพียงอาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และในขณะที่จิตเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมกัน เป็นสัมปยุตตธรรม

สำหรับปัจจัย ๒๔ ปัจจัยที่เป็นนามธรรมล้วนๆ คือ นามธรรมเป็นปัจจัยแก่เฉพาะนามธรรมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับรูปธรรม ได้แก่ อนันตรปัจจัย ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วว่า หมายถึงจิตที่เกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมที่ชื่อว่า อนันตระ เพราะว่าความมีระหว่างคั่นแห่งธรรมเหล่านี้ไม่มี

ความหมายของอนันตรปัจจัย คือ ความมีระหว่างคั่นแห่งธรรมเหล่านี้ไม่มี เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า อนันตระ

พิสูจน์ได้ใช่ไหม จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นและดับไป และเกิดสืบต่อ และก็ดับไป และก็เกิดสืบต่อ และก็ดับไป ความมีระหว่างคั่นแห่งธรรมเหล่านี้ไม่มี รวดเร็วมาก จนกระทั่งไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมซึ่งเป็นจิตและเจตสิก เพราะว่าไม่มีระหว่างคั่น สภาพธรรมที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น สภาพธรรมนั้นเป็นอนันตรปัจจัย

เป็นชีวิตปกติธรรมดานี่เอง เพียงเข้าใจถึงสภาพรู้ซึ่งเป็นจิตและเจตสิกว่า เป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับไปแล้วทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่น ซึ่งรูปธรรมไม่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถยับยั้งการเกิดขึ้นของนามธรรมซึ่งเป็นจิตและเจตสิกได้ เพราะว่าจิตและเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย

โดยเหตุผลท่านผู้ฟังคงจะทราบว่า มีจิตดวงเดียวเท่านั้นที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัย คือ จุติจิตของพระอรหันต์ ดับปัจจัยทั้งหมด ไม่สามารถทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นเป็นผลได้เลย แต่ตราบใดที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ จิตอื่นๆ ทั้งหมดเป็น อนันตรปัจจัย และสำหรับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ย่อมเป็นอนันตรปัจจัยด้วย เพราะเป็นสัมปยุตตธรรม เป็นนามธรรมเช่นเดียวกัน และเป็นสมนันตรปัจจัยด้วย นี่แสดงถึงลักษณะพิเศษของนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม

ถ้ามีความเข้าใจในลักษณะพิเศษของนามธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่รูปธรรม เพราะว่ารูปธรรมดับไปแล้วก็จริง แต่การดับของรูปธรรมนั้นไม่เป็นปัจจัยให้รูปธรรมต่อไปเกิดขึ้น รูปธรรมแต่ละรูปธรรมย่อมเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานบ้าง เพราะจิตเป็นสมุฏฐานบ้าง เพราะอุตุเป็นสมุฏฐานบ้าง เพราะอาหารเป็นสมุฏฐานบ้าง แต่รูปที่ดับไม่ได้เป็นอนันตรปัจจัยให้รูปต่อไปเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมล้วนๆ เป็นปัจจัยแก่นามธรรมโดยเป็น อนันตรปัจจัย ๑ และโดยเป็นสมนันตรปัจจัย ๑

ความหมายของสมนันตรปัจจัย คือ ธรรมที่สามารถให้จิตตุปปาท คือ จิตเกิดขึ้น อันเหมาะสมแก่ตนเกิดขึ้นในลำดับของตนๆ คือ เกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่นด้วยดี

เวลาที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว ต้องมีจิตเกิดต่อจากจักขุวิญญาณแน่นอน ที่กำลังเห็นนี้ เป็นจิตที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จิตนี้ไม่เที่ยง ทั้งๆ ที่ดูเสมือนว่า การเห็นในขณะนี้ไม่ดับ แต่ให้ทราบว่า ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมโดย แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะรู้ว่า เมื่อจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วดับทันที แต่จักขุวิญญาณเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น และจักขุวิญญาณเป็นสมนันตรปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้น โดยจิตอื่นจะเกิดคั่นไม่ได้เลย จะให้จิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณเป็นโสตวิญญาณ หรือว่าเป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิตไม่ได้ เพราะว่าจักขุวิญญาณเป็นสมนันตรปัจจัย คือ เป็น ธรรมที่สามารถให้จิตอันเหมาะสมแก่ตนเกิดขึ้นในลำดับของตน คือ ให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่นด้วยดี

มีใครสามารถที่จะแยกช่องว่างของจิตได้ไหม

บางท่านเข้าใจว่า เวลาที่ตายแล้วยังไม่เกิด ยังหาที่เกิดอยู่ หรือว่ายังเป็นวิญญาณที่ล่องลอย นั่นเป็นเพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่ทุกคนกำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริงว่า ขณะที่จิตเกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใดและก็ดับไปทันทีทุกขณะ โดยไม่มีช่องว่างที่จะคั่นว่า เมื่อจิตดวงนี้ดับไปแล้ว อีกนานกว่าจิตดวงต่อไปจะเกิดขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ในขณะนี้เอง จิตเกิดดับสืบต่อจนไม่สามารถที่จะเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของจิตได้ เพราะไม่มีช่องว่างที่จะปรากฏให้เห็นได้ว่า ขาดตอน

ไม่มีระหว่างคั่นเลย จึงชื่อว่า อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย เพราะจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อกันเป็นลำดับ ซึ่งเป็นไปตามจิตนิยาม คือ ธรรมเนียมหรือสภาพธรรมของจิต ที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนอย่างกับพืช ก็มีพีชนิยาม เช่น ดอกทานตะวันก็จะต้องเป็นทานตะวันอยู่เสมอ จะมีใครไปเปลี่ยนแปลงพีชนิยามของดอกไม้ชนิดนั้นไม่ได้ ฉันใด จิตนิยามก็เป็นธรรมเนียม เป็นธรรมชาติของจิตซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น คือ ต้องเกิดขึ้นตามลำดับ เพราะจิตแต่ละดวงเป็น สมนันตรปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นในลำดับของตนๆ

แม้ว่าจะฟังแล้วก็เข้าใจ ก็จะต้องค่อยๆ พิจารณาตามไปแต่ละประเภท แต่ละทวาร เพื่อให้รู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่จิตขณะเดียวกัน ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน แต่ที่ยังไม่ประจักษ์ความไม่ใช่ตัวตน ความเกิดขึ้นและดับไป ก็เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น เพราะจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัยและเป็นสมนันตรปัจจัย หมายความว่า เป็นปัจจัยให้กับจิตดวงต่อไปเกิดขึ้นในลำดับของตนๆ คือ ไม่มีระหว่างคั่นด้วยดี ไม่ใช่ลักลั่นสับสน แต่ต้องเป็นไปตามปัจจัยว่า เมื่อจักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้น เพราะจักขุวิญญาณเป็นสมนันตรปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิด เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเป็นสมนันตรปัจจัยให้สันตีรณจิตเกิด โดยลำดับ ใครจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า นี่คือธาตุรู้ นี่คือลักษณะของจิต ซึ่งนอกจากจะเป็นสภาพรู้แล้ว จิตแต่ละดวงยังเป็นปัจจัยอะไรบ้าง สำหรับนามธรรมเท่านั้นล้วนๆ ซึ่งความจริงจิตก็เป็นปัจจัยแก่รูปธรรมด้วย และรูปธรรมก็เป็นปัจจัยแก่นามธรรมด้วย แต่ที่จะให้เห็นความต่างกันว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จึงยกแต่เฉพาะสภาพของนามธรรมซึ่งสามารถเป็นปัจจัยแก่นามธรรมด้วยกันโดยที่ไม่เป็นปัจจัยแก่รูป ซึ่งได้แก่ อนันตรปัจจัยไม่เป็นปัจจัยแก่รูป สมนันตรปัจจัยไม่เป็นปัจจัยแก่รูป

เปิด  309
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566