แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 991

ถ. สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมแต่ไม่รู้ลักษณะของสติ ผู้ที่หวังดีถ้าไม่มีจิตวิทยาไปบอกว่า คุณยังไม่รู้จักลักษณะของสติ ก็จะทำให้ผู้นั้นโกรธ เขาเพียงรู้จักชื่อสติ สติเป็นชื่อ แต่สติก็มีลักษณะของสติ ถ้าพูดถึงลักษณะเขาก็ว่าเขารู้อีก สติก็แปลว่า ระลึกรู้ เขาก็อ้างว่ารู้อีก กิจของสติ ระลึกรู้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมไม่ละเอียด จะเข้าใจผิด ที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก็เป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ผมถามว่า คุณรู้จักลักษณะของสติหรือเปล่า บางคนเขาก็ว่า ขณะนี้กำลังฟังธรรม กำลังเรียนธรรม คิดว่ามีสติ ส่วนใหญ่ก็ตอบโดยเดาๆ เอา ซึ่งแสดงว่าไม่รู้จักลักษณะของสตินั่นเอง

สุ. สติมีหลายขั้น สติที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในสมถะคือความสงบของจิต เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นสติปัฏฐาน แต่ว่าที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ต้องเป็นขั้นสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป

ถ้าเป็นสติขั้นสมถภาวนา ก็เป็นปัญญาขั้นที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะที่สามารถจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต จึงอบรมเจริญกุศลจิตจนกระทั่งเป็นความสงบที่มั่นคงขึ้นได้ เพราะถ้าไม่ใช่กุศลจิตจะไม่สงบ อาจจะพอใจ แต่ไม่ใช่สงบ เช่น คนที่ชอบอยู่คนเดียว และก็ได้อยู่คนเดียว สงบ หรือไม่สงบ ถ้าชอบ ถ้าพอใจ เป็นอกุศลจิต เป็นโลภมูลจิต เป็นความติด เป็นความยินดีที่จะอยู่คนเดียว ในขณะนั้นไม่สงบ ถึงจะอยู่คนเดียวแต่ก็ไม่สงบ

เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของจิตซึ่งมีทั้งหมด ๘๙ ประเภท หรือว่าโดยพิเศษ ๑๒๑ ประเภท ทรงจำแนกออกเป็น ๔ ชาติ คือ เป็นกุศลประเภทหนึ่ง เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง เป็นวิบากคือผลของกุศลและอกุศลประเภทหนึ่ง และเป็นกิริยาประเภทหนึ่ง ก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา อกุศลก็ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา วิบาก ก็ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่กิริยา กิริยาก็ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ซึ่งแสนยากที่จะรู้ ถ้าบุคคลใดไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะจิตที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา เกิดดับสลับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา ถ้าสติไม่ระลึกทันทีที่ลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ ซึ่งสั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าจะศึกษาปรมัตถธรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ว่าจะได้ยินชื่อจิตใดก็ตามต้องรู้ว่า จิตนั้นเป็นชาติอะไร เพราะจิตทุกดวงต้องเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา ชาติหนึ่งชาติใด

จิตที่เป็นกุศล อย่าลืมว่า ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา จิตที่เป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม จิตนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา การอบรมเจริญปัญญาต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้นจะหลงทาง การปฏิบัติจะผิด จะคลาดเคลื่อน เพราะแท้ที่จริงไม่ใช่กุศล ไม่สงบ ก็เข้าใจว่า เป็นสมถภาวนา หรือเป็นวิปัสสนาภาวนา แต่ที่จริงเป็นอกุศล เป็นมิจฉามรรค ไม่ใช่สัมมามรรค

เพราะฉะนั้น จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะได้รู้ว่า จิตดวงใดเป็นชาติอะไร เพื่อการไม่สับสนที่สติจะระลึกรู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นจิตดวงใด ต้องทราบว่า เป็นอกุศล หรือกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา

ผู้ฟัง ดิฉันสนใจที่อาจารย์กล่าวเมื่อครู่นี้ ที่กล่าวว่า พูดถึงความโกรธ ก็ยังไม่รู้ลักษณะของความโกรธ แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้น หมายเฉพาะที่จะให้สนใจพิจารณาจิตขณะนั้นที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับขณะที่กล่าวถึงความโกรธ

สุ. ระลึกรู้ลักษณะสภาพที่กำลังโกรธ

ถ. เกี่ยวกับความโลภ โลภะ เช่น เวลาที่รับประทานอาหารเคยสนทนากันในวงอาหารว่า อาหารอย่างนี้อร่อยดีนะ เป็นที่พอใจ สนทนากันไป รับประทานกันไป แต่นั่นเป็นการสนทนาถึงความอร่อย ความพอใจ แต่ยังไม่ใช่การมีสติรู้ลักษณะของโลภะที่เกิดขึ้นกับใจเราแท้ๆ ซึ่งเป็นความยินดีพอใจในรสอาหารขณะที่รสอาหารกำลังผ่านเข้าไปในลำคอ และมีสติระลึกรู้ อย่างนี้ก็ย่อมต่างกับขณะที่สนทนาถึงใช่ไหม

สุ. เหมือนเห็น ทุกคนก็ไม่สงสัย ถ้าบอกว่าเห็น ใช่ไหม ก็กำลังเห็นนี่ แต่รู้หรือเปล่าว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

เหมือนกับเวลาโกรธ ก็บอกว่าโกรธๆ แต่ว่ารู้ลักษณะอาการของสภาพที่โกรธ ที่เผา ที่เร่าร้อน ที่ประทุษร้าย ที่หยาบกระด้างในขณะนั้นหรือเปล่าว่า เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนี้

ถ. ชวนจิตขณะแรกที่เกิด เมื่อขณะที่ ๒ เกิดขึ้น ทวนมาถึงทวิปัญจะ หรือเปล่า ดับแค่ไหน

สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ทาง วิถีจิตแรก คือ อาวัชชนวิถี วิถีจิตที่ ๒ แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ เป็นต้น วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนะ วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณะ วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนะ วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถี ๗ ขณะ

ถ. ชวนะดวงแรกนับทวนจากทวิปัญจะหรือเปล่า ที่เกิดดับ ๗ ครั้ง

สุ. ทวนอย่างไร อย่าลืมว่า ปกติเป็นภวังคจิต ยังไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ในขณะที่เป็นภวังคจิต แม้เกิดมาแล้วก็ตาม ขณะใดที่เป็นภวังคจิต ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของโลกนี้ เวลาที่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของโลกนี้ ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีจิต

ถ้าเห็นสิ่งในโลกนี้ เป็นวิถีจิตทางตา เริ่มด้วยวิถีจิตที่ ๑ ปัญจทวาราวัชชนจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณเกิดขึ้นต่อ เป็นวิถีจิตที่ ๒ วิถีจิตที่ ๓ สัมปฏิจฉันนจิต ดับไป วิถีจิตที่ ๔ สันตีรณจิต ดับไป วิถีจิตที่ ๕ โวฏฐัพพนจิต ดับไป วิถีจิตที่ ๖ ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ ดับไป วิถีที่ ๗ ตทาลัมพนจิต ดับไป และจะเกี่ยวข้องกับปัญจทวาราวัชชนะอะไรอีก

ถ. ขณะที่กุศลหรืออกุศลกำลังเกิดระหว่างชวนจิต

สุ. จะพูดถึงทวารไหน ปัญจทวารหรือมโนทวารวิถี ชวนวิถีจิตเกิดได้ทั้งปัญจทวารและมโนทวารวิถี เพราะฉะนั้น จะพูดถึงวิถีไหน

ถ. สมมติว่าจักขุวิญญาณ

สุ. จักขุทวารวิถีจิต เริ่มด้วยวิถีจิตที่ ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ดับไป วิถีจิตที่ ๒ จักขุวิญญาณ ดับไป วิถีจิตที่ ๓ สัมปฏิจฉันนะ ดับไป วิถีจิตที่ ๔ สันตีรณะ ดับไป วิถีจิตที่ ๕ โวฏฐัพพนะ ดับไป วิถีที่ ๖ ชวนวิถีจึงเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือมหากุศลจิต หรือมหากิริยาจิต เป็นชวนวิถีจิตทั้ง ๗ ขณะ

ถ. ทั้ง ๗ ขณะ ไม่ได้ทวนกลับมาถึง

สุ. ไม่เข้าใจคำว่า ทวนกลับ

ถ. หมายความถึงความโลภหรือความโกรธก็ต้องอาศัยจักขุ

สุ. เวลานั้นพอใจในสิ่งที่เห็น เพราะว่ารูปทางตายังไม่ดับ

ถ. โวฏฐัพพนะดับไปหมดแล้ว เหลือแต่ชวนะเท่านั้น

สุ. จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จะไปเอาสัมปฏิจฉันนะมาบวกอีกได้อย่างไร จะย้อนไปหาสันตีรณะอีกได้อย่างไร

ถ. ตามที่เข้าใจนึกว่า เจ็ดขณะนี้ ชวนดวงที่ ๑ ถึงดวงที่ ๗ แต่ละดวงต้องอาศัยกุศลหรืออกุศล

สุ. มิได้ ชวนวิถีจิตเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ทำชวนกิจ และเป็นวิถีจิต เพราะรู้อารมณ์ของโลกนี้ทางหนึ่งทางใด ไม่ใช่ภวังค์ คำว่า วิถีจิต หมายความว่า ไม่ใช่ภวังคจิต ที่ใช้คำว่า วิถี หมายความว่า ไม่ใช่ภวังคจิต

ถ. จักขุปสาทอะไรๆ ก็ดับไปหมดแล้ว ตอนที่ชวนะเกิดขึ้น อาศัยกุศล

สุ. จักขุปสาทยังไม่ดับ เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จักขุปสาทรูปเกิดพร้อมกับอตีตภวังค์ ๑ ขณะ ยังไม่ดับ ขณะที่ ๒ ภวังคจลนะ ขณะที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทะ จักขุปสาทรูปก็ยังไม่ดับ ต้องถึง ๑๗ ขณะของจิต รูปๆ หนึ่งจึงจะดับ

เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไร ขอให้ถาม ก่อนที่จะไปต่อ ซึ่งโดยมากจะติดพยัญชนะ ภาษาบาลี

ถ. อตีตภวังค์ กับภวังค์อื่นๆ เหมือนกันไหม

สุ. อตีตภวังค์เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า มีอารมณ์กระทบกับภวังค์นั้น

ถ. แต่โดยสัมปยุตตธรรมเหมือนกัน คือ โดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

สุ. ภวังค์ เหมือนกันหมด

ถ. เหมือนกันหมด ต่างกันที่อตีตภวังค์กระทบรูป

สุ. อตีตภวังค์เป็นชื่อที่หมายให้รู้ว่า มีอารมณ์กระทบกับทวาร ทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร

ถ. สมมติว่า กระทบกับจักขุปสาท

สุ. ขณะใดที่รูปารมณ์กระทบจักขุปสาท ขณะนั้นเป็นอตีตภวังค์ เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า ภวังค์นั้นเป็นขณะที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ถ้าไม่ใช้คำว่า อตีตภวังค์ จะรู้ได้อย่างไรว่ากระทบเมื่อไร

ไม่ว่าจะเป็นภวังค์ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ก็คือภวังคจิตดวงหนึ่งดวงใดที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต และเป็นประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิจิต ต่างกันที่ว่า ปฏิสนธิจิตทำปฏิสนธิกิจ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ส่วนภวังคจิต แม้ว่าจะเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตทุกประการ ก็ไม่ได้กระทำปฏิสนธิกิจ แต่ทำภวังคกิจ คือ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นตลอดไปจนกระทั่งถึงจุติจิต ซึ่งเป็นจิตประเภทเดียวกับภวังคจิตนั่นเอง แต่ไม่ได้กระทำภวังคกิจอีกต่อไป แต่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้น จึงเป็นจุติจิต

ถ. คำว่า นามกาย หมายถึงอะไร

สุ. กาย แปลว่า กลุ่ม หรือหมู่ของนาม คือ ของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เพราะจะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และจะมีเจตสิกเกิดตามลำพังเจตสิกเดียวไม่เกิดกับจิตและเจตสิกอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น นามกาย คือ หมู่ของนาม หรือกลุ่มของนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน

ถ. จิตร่วมด้วยได้ไหม

สุ. ร่วมด้วย เพราะนามธรรมที่เกิดแล้ว ก็หมายความทั้งจิตและเจตสิก

ถ. อาจารย์ยังไม่ได้พูดถึงว่า กุศลจิตมีเท่าไร อกุศลจิตมีเท่าไร วิบากจิตและกิริยาจิตมีเท่าไร

สุ. ขอให้เข้าใจประเภทก่อน และเข้าใจด้วยว่า เป็นสิ่งที่รู้ยาก ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตจริงๆ โดยมากมักจะถามกันว่า ทำอย่างนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คิดอย่างนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะรู้ได้อย่างไร จิตเกิดไปแล้วดับไปแล้ว และกุศลจิต อกุศลจิตก็เกิดดับสลับกันรวดเร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาโดยเหตุโดยผลจริงๆ ย่อมจะถือกุศลเป็นอกุศลก็ได้ หรือย่อมจะถืออกุศลเป็นกุศลก็ได้

ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะถ้าประมาทจะเข้าใจสภาพธรรมผิด ซึ่งจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ผิด และจะทำให้เข้าใจว่า พ้น คือ หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว แต่ว่าผิด เป็นมิจฉาวิมุติ มิจฉาญาณ เพราะไม่สามารถทำให้ดับกิเลสได้จริงๆ นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลและอกุศลเป็นเรื่องที่สำคัญ สำคัญถึงแค่ไหน สำคัญถึงขั้นที่ควรจะประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลว่าต่างกับจิตที่เป็นอกุศล มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเข้าใจว่าเป็นกุศล ซึ่งความจริงไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น แทนที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะละอกุศล ก็กลับเพิ่มอกุศล เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะรู้ชื่อว่า จิตมีกี่ดวง หรือกี่ประเภท อย่างไร แต่ควรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังเกิดขึ้น พร้อมสติสัมปชัญญะ

ที่มีท่านผู้ฟังถามเรื่องถวายไข่พระแก้วมรกตว่า เป็นกุศลหรืออกุศล นี่ก็เป็นคำถามหนึ่งในหลายๆ คำถามว่า อย่างนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อย่างนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องพิจารณาไหมจึงจะทราบว่า เป็นกุศลหรืออกุศล หรือว่าตอบได้ง่ายๆ

ถ. ผมจะตอบตามที่ได้อ่านของคุณนีน่า ซึ่งท่านพูดเป็นคติดีว่า ขณะที่เอาไข่ไปถวายพระแก้วนั้นไม่ได้บุญ ไม่เป็นกุศล แต่ที่เป็นบุญจริงๆ ก็ขณะที่ กราบไหว้พระแก้ว ขณะนั้นเป็นบุญ จิตเป็นกุศล เพราะขณะนั้นอ่อนน้อมต่อผู้ควรที่อ่อนน้อม

สุ. พระแก้วมรกตชอบไข่หรือ น่าคิดไหม คนที่จะเอาไข่ไปถวาย ควรที่จะเริ่มคิดว่า ทำไมถึงจะถวายไข่ ต้องมีเหตุมีผล อยู่ดีๆ เอาไข่ไปถวาย ก็ต้องหมายความว่า ผู้นั้นเข้าใจว่าพระแก้วมรกตชอบไข่

ถ. เป็นอย่างนั้น

สุ. ถูกหรือผิด พระแก้วมรกตชอบไข่

ถ. ผิด

สุ. เพราะฉะนั้น จะเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ. ขณะที่เอาไข่ไปถวาย ขณะนั้นไม่เป็นกุศล เมื่อไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศลเท่านั้น แต่ขณะที่เป็นกุศลจริงๆ คือ ขณะที่กราบไหว้ ขณะนั้นเป็นกุศล

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ต้องมีเหตุผล มีพระแก้วมรกต แต่ต้องรู้ว่า คืออะไร

ถ. ถ้าไม่นึกว่า พระแก้วมรกตชอบไข่ ก็ไม่เอาไข่ไปถวาย ถ้าไม่เอาไข่ไปถวาย ก็ไม่มีโอกาสที่จะกราบพระแก้ว

สุ. ดูเหมือนจะไม่ได้บุญ ใช่ไหม ถ้าไม่ถวายไข่ แต่ความจริง คิดดีๆ ว่า เป็นบุญหรือเป็นอกุศลที่เข้าใจว่า พระแก้วมรกตชอบไข่

ถ. เรื่องนี้นานมาแล้ว เมื่อก่อนผมอยู่บ้านนอก เข้ามากรุงเทพไปหางานทำ ได้ยินพวกเขาบอกว่า ให้บนพระแก้วมรกตด้วยไข่ ข้าวเหนียวปั้นจิ้ม และปลาร้า ตอนนั้นเกิดความโลภอยากจะได้งานทำ ก็เลยบนหลวงพ่อ และได้จริงๆ ด้วย ตอนหลังพอมาศึกษาอย่างนี้แล้ว รู้สึกละอายเหลือเกิน แต่ที่บ้านของผมเขายังทำอยู่เรื่อย บนอยู่เรื่อย จะไปห้ามเขาก็ไม่ได้

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาโดยละเอียดเป็นขั้นตอนจริงๆ ว่า พระแก้วมรกตคืออะไร เพราะว่าผู้ที่ถวายไข่ถือว่า พระแก้วมรกตเป็นบุคคลจึงได้ชอบไข่ ไม่ใช่เป็นเครื่องที่เตือนให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในความรู้สึกของบุคคลที่เอาไข่ไปถวายพระแก้วมรกต ยึดถือพระแก้วมรกตเป็นบุคคลที่ชอบไข่ ถูกหรือผิด ต้องพิจารณาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรทั้งสิ้น

เปิด  265
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565