แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 996

บุคคลใด ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนาจนถึงความสงบขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นที่ไม่รับรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกถึงเรื่องต่างๆ ที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เคยกระทบสัมผัส ซึ่งเป็นชีวิตปกติประจำวัน เป็นกามาวจรจิต ตราบใดที่ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ตราบนั้นยังไม่ถึงรูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ประเภทหนึ่ง เป็นรูปาวจรจิต หรือเป็นฌานจิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์อีกประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรจิต

บุคคลใด ถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณเป็นลำดับขั้นเกิดขึ้น แต่ว่ายังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน ตราบนั้นก็ยังไม่ใช่โลกุตตรจิต ยังไม่ขึ้นถึงโลกุตตรภูมิ ก็ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตจะต่างกันเป็นระดับขั้นถึง ๔ ขั้น คือ เป็นกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ทุกท่านก็ทราบดีว่า จิตของท่านในวันหนึ่งๆ เป็นจิตขั้นไหน หรือภูมิไหน ซึ่งเชื่อว่ายังไม่พ้นจากกามาวจรภูมิ เพราะต้องถึงฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์จึงจะเป็นรูปาวจรจิต และต้องถึงฌานจิตที่มีอรูปเป็นอารมณ์จึงจะเป็นอรูปาวจรจิต หรือต้องประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน เป็นโสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต จึงจะเป็นโลกุตตรจิต เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบเรื่องของจิตตามลำดับขั้น โดยเฉพาะเรื่องของจิตซึ่งเป็นไปเป็นประจำทุกๆ วัน คือ กามาวจรจิต

สำหรับกามาวจรจิตมีถึง ๔ ชาติ เพราะกามาวจรจิตที่เป็นอกุศลก็มี กามาวจรจิตที่เป็นกุศลก็มี กามาวจรจิตที่เป็นวิบากก็มี และกามาวจรจิตที่เป็นกิริยาก็มีเพราะฉะนั้น ทุกท่านกำลังมีจิตที่เป็นขั้นกามภูมิ คือ กามาวจรจิต และในวันหนึ่งๆ ก็มีทั้งอกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต ส่วนกุศลจิตของใครจะเกิดมากน้อยเท่าใดนั้น แต่ละท่านก็คงจะทราบว่า เป็นกุศลที่เกิดขึ้นเป็นไปในทาน หรือว่าเป็นไปศีล หรือว่าเป็นไปในความสงบ หรือว่าเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสติปัฏฐาน

และให้ทราบว่า กามาวจรจิตมีทั้ง ๔ ชาติ คือ ที่เป็นอกุศลก็มี ซึ่งก็คงจะมากด้วยในชีวิตประจำวัน ส่วนที่เป็นกุศลนั้นก็มี ซึ่งแต่ละท่านก็ทราบดีว่า วันหนึ่งเกิดบ้างไหม หรือว่าเกิดบ่อยไหม และเป็นไปในกุศลประเภทไหน สำหรับวิบากและกิริยาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกขณะที่มีการเห็นต้องมีกิริยาจิตเป็นวิถีจิตแรกเกิดก่อน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และก่อนที่จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน คือ มโนทวาราวัชชนจิต ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร หรือทำอาวัชชนกิจทาง มโนทวาร

วิบากจิต คือ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก่อนที่วิบากจิตจะเกิดขึ้นรับผลของกรรมทางหนึ่งทางใด กิริยาจิตต้องเกิดก่อน และก่อนที่จิตจะเป็นกุศลและอกุศลแต่ละครั้ง กิริยาจิตก็เกิดก่อน

ในขณะนี้ กิริยาจิตเป็นวิถีจิตแรกก่อนที่จะเห็น ขณะเห็นเป็นวิบากจิต ดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อเป็นวิบากจิตและดับไป สันตีรณะจิตเกิดต่อเป็นวิบากจิตและดับไป โวฏฐัพพนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารเกิดต่อ เป็นกิริยาจิตและดับไป เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟังและเข้าใจ ขณะที่เข้าใจไม่ใช่ตัวตน เป็นกามาวจรกุศลจิต หรือใช้คำว่า มหากุศลก็ได้ เพราะเป็นกุศลที่มีอารมณ์ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ซึ่งกุศลอื่นจะมีอารมณ์มากมายอย่างกามาวจรกุศลไม่ได้ เพราะรูปาวจรกุศลจิตไม่ใช่ในขณะที่เห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส รูปาวจรกุศลจิตเป็นกุศลจิตที่เกิดทางมโนทวาร ขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่มีจิตสงบแนบแน่นที่อารมณ์ ซึ่งทำให้จิตสงบขึ้นๆ จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น รูปาวจรกุศลจิตไม่ได้มีอารมณ์กว้างขวางที่จะเป็นไปได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เหมือนกับกามาวจรกุศล ดังนั้น กามาวจรกุศลจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า มหากุศล เพราะนอกจากจะเป็นไปกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้แล้ว ยังสามารถที่จะเป็นไปในขั้นของทานก็ได้ ในขั้นของศีลก็ได้ ในขั้นของสมถภาวนาก็ได้ ในขั้นของวิปัสสนาภาวนาก็ได้ ด้วยเหตุนี้ อีกชื่อหนึ่งของกามาวจรกุศล จึงเป็นมหากุศล

สำหรับจิตภูมิอื่น คือ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต มีเพียง ๓ ชาติ คือ เป็นอกุศลไม่ได้แน่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เวลาที่จิตสงบมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ และเป็นกิริยาจิตสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ส่วนผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น เมื่อรูปาวจรกุศลซึ่งเป็นฌานจิตมีกำลัง คือ ไม่เสื่อม เป็นผู้ที่ชำนาญในการที่จิตจะสงบถึงขั้นฌานจิตจนกระทั่งเวลาที่ใกล้จะจุติ คือ ใกล้จะสิ้นชีวิต รูปาวจรกุศลซึ่งเป็นฌานจิตขั้นหนึ่งขั้นใดเกิดขึ้น ถ้าเป็นปฐมฌานกุศลจิตเกิดและดับไปก่อนจุติจิต จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ ซึ่งเป็นปฐมฌานภูมิ

ในเมื่อจิตต่างกันไปเป็นประเภทๆ และมีความวิจิตรต่างกันมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของจิตก็ต้องต่างกันไป ไม่ใช่มีแต่มนุษย์ภูมิโลกนี้โลกเดียว เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นกามาวจรกุศล กำลังของศรัทธา หรือว่ากำลังของปัญญา หรือว่าสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ก็วิจิตรต่างกันมาก จำแนกให้ผลที่ได้รับ คือ การเกิด ย่อมเกิดในสุคติภูมิต่างๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะในมนุษย์ภูมิเท่านั้น

สำหรับอกุศลกรรมก็เหมือนกัน เวลาที่กระทำอกุศลกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าท่านผู้ฟังสังเกต จะทราบถึงความต่างกันของอกุศลกรรมแต่ละอกุศลกรรมว่า หนักเบาด้วยอกุศลเพียงไร บางครั้งก็ประกอบด้วยความพยาบาทมาก หรือบางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทอย่างรุนแรง หรือบางครั้งก็ขาดความเพียร ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะไปทำร้ายเบียดเบียน แต่บังเอิญมีการกระทำซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อยสัตว์เล็กๆ นั้นก็ตายลง ซึ่งแต่ละกรรมที่ได้กระทำย่อมประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกต่างๆ เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมก็จำแนกออกไป ทำให้เกิดในอบายภูมิต่างๆ ซึ่งเป็นอบายภูมิ ๔

จะเห็นได้ว่า เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลวิจิตรต่างๆ กัน ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดที่เหมาะที่ควรแก่กรรมนั้นๆ ก็ย่อมต้องมีมาก ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในมนุษย์ภูมิแห่งเดียวเท่านั้น

สำหรับภูมิก็ทราบแล้วว่า มี ๒ ความหมาย คือ หมายถึงระดับขั้นของจิต ความหมายหนึ่ง และหมายความถึงที่เกิดของจิตในโลกต่างๆ อีกความหมายหนึ่ง ซึ่งขอกล่าวถึงเพียงย่อๆ ว่า สำหรับอบายภูมิ มี ๔ ได้แก่ นรก ๑ สัตว์เดรัจฉาน ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ นี่เป็นผลของอกุศลกรรม แล้วแต่ว่ากรรมใดที่ได้กระทำแล้วจะเป็น ชนกกรรม คือ กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิ กรรมนั้นจะทำให้จิตเศร้าหมองหรือผ่องใส ก่อนจุติจิตจะเกิด ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ไม่มีใครจะสามารถรู้ได้ว่า จะตายเมื่อไร แต่ก่อนที่จุติจิตจะเกิด กรรมหนึ่งกรรมใดซึ่งเป็นชนกกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลจะเกิดก่อนจุติจิต ซึ่งในขณะนี้จิตก็เกิดดับอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น เพียงก่อนจุติจิตและชนกกรรมจะทำให้จิตที่เกิดก่อนจุตินั้นเป็นจิตที่ผ่องใสหรือเป็นจิตที่เศร้าหมอง ก็รู้ไม่ได้ เหมือนในขณะนี้ ในขณะนี้ก็ยากที่จะรู้ว่า จิตเศร้าหมองหรือ ผ่องใสแค่ไหน ถ้าขณะที่ไม่ใช่กำลังตั้งใจฟังธรรม ไม่ใช่ขณะที่พิจารณาธรรมหรือเข้าใจธรรม ในขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า อีก ๕ ขณะต่อไปจิตจะเศร้าหมองหรือว่าจะผ่องใส และก็จะเป็นจุติจิต แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่กรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ในสังสารวัฏฏ์ที่ได้ผ่านมาทั้งหมด จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นในภูมิหนึ่งภูมิใด

ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็จะเกิดในนรก ถ้าเป็นผลของกรรมหนัก ซึ่งนรกไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว หรือว่าขุมเดียว ที่แสดงไว้ที่เป็นนรกขุมใหญ่ๆ ก็มี ๘ ขุม ๘ แห่ง คือ สัญชีวนรก กาฬสุตตนรก สังฆาฏนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก และอเวจีนรก ซึ่งทุกแห่งล้วนแต่เป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ความทรมานประการต่างๆ ถ้ามีความรู้สึกว่า โลกนี้ไม่น่าอยู่ ช่างแสนทรมาน ให้ทราบว่า ยังมีที่ที่ลำบากเดือดร้อนทรมานยิ่งกว่าในโลกมนุษย์นี้มากมายหลายเท่านัก และเป็นเวลาที่นานมากด้วย ถ้ายังไม่หมดกรรมที่จะอยู่ในภูมินั้นๆ ก็จะต้องเกิดอยู่ในภูมินั้น ซึ่งในพระไตรปิฎกไม่ได้แสดงความละเอียดอะไรมากมาย เพราะว่าจุดประสงค์ที่ทรงแสดงไว้ แสดงให้เห็นเหตุและผล สิ่งใดที่ไม่สามารถให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้เห็นชัดประจักษ์แจ้งด้วยตา ก็ย่อมไม่เป็นสิ่งที่ควรจะแสดงเท่ากับสภาพธรรม ซึ่งสามารถพิสูจน์หรือว่าอบรมเจริญปัญญาให้รู้ได้

เช่น ในขณะที่กำลังเห็นทางตา ไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนทั้งสิ้น ไม่ขาดจักขุปสาทนอกจากในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นภูมิของพรหมซึ่งไม่มีรูป เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน เพราะไม่มีตา ไม่มีหู และไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย มีแต่จิตซึ่งมีปัจจัยเกิดดับอยู่ตลอดเวลาในระหว่างที่เป็นอรูปพรหมบุคคล เพราะเป็นผลของอรูปฌานกุศล ซึ่งเป็นจิตที่สงบถึงขั้นที่เห็นโทษของรูปและเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ยังมีอยู่บ่อยๆ ก็เพราะว่ามีรูปนั่นเองเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าไม่มีรูปก็จะตัดทุกข์ออกไปได้มาก โรคตาก็ไม่มี ไม่ต้องเดือดร้อนไปกับสิ่งที่เห็น เพราะในวันหนึ่งๆ คงจะไม่ทราบว่า จิตใจของแต่ละคนหวั่นไหวไปตามรูปที่ปรากฏทางตาตามกิเลสซึ่งมีอยู่ ถ้ารูปทางตาเป็นที่น่ายินดี พอใจ ทันทีที่เห็นจิตกระเพื่อมไหวไปด้วยความยินดี ติดข้อง พอใจในสิ่งนั้น ยับยั้งไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานจริงๆ จะไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตซึ่งเปลี่ยนสภาพทันทีจากการที่ไม่ปรากฏกิเลสเพราะไม่เห็น แต่เวลาที่มีการเห็นเกิดขึ้น และเห็นสิ่งที่พอใจ พอใจแล้วในสิ่งที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น และก็ดับไปตรงนั้นเอง เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นปริตตธรรม เพราะเป็นธรรมที่สั้นและเล็กน้อยเหลือเกิน ถ้าเห็นว่าเล็กน้อยจริงๆ ก็คงจะไม่อยากได้ เพราะได้มาเพียงเดี๋ยวเดียว นิดเดียว ชั่วขณะเดียวแล้วก็หมด แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าเล็กน้อยอย่างนั้น จึงยังคงเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สามารถที่จะดับความยินดีพอใจด้วยกำลังของความสงบ และถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญฌานจนมั่นคงชำนาญ ทำให้อรูปฌานหรืออรูปาวจรจิตซึ่งเป็นกุศลเกิดก่อนจุติจิต จะเป็นปัจจัยทำให้เฉพาะนามธรรม คือ นามขันธ์ล้วนๆ ๔ นามขันธ์ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งก็คือจิตและเจตสิกนั่นเอง เฉพาะจิตและเจตสิกเท่านั้นเกิดขึ้นในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปเลยในภูมินั้น แต่ว่าอย่าลืม ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลตราบใด ยังไม่ได้ตัดกามราคสังโยชน์ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเกิดในอรูปพรหมภูมิ ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เพราะจิตต่างกันเป็นประเภทเป็นขั้นต่างๆ ทำให้ภูมิที่เกิดของจิตนั้นมีต่างๆ

สำหรับอบายภูมิมี ๔ ถ้าเป็นผลของกรรมหนักก็เกิดในนรก ถ้ากรรมนั้นหนักมากก็ในมหานรก ซึ่งมหานรกที่เผ็ดร้อนทรมานที่สุด ได้แก่ อเวจีนรก นอกจากนั้นก็มีนรกขุมย่อยๆ หลังจากที่พ้นขุมใหญ่ๆ ซึ่งแล้วแต่อกุศลกรรม เวลาที่ทำกรรมแล้ว ไม่เคยทราบผลเลยใช่ไหมว่า ได้ภูมิ คือ มีภูมิรออยู่แล้วข้างหน้า แต่ว่ายังไปไม่ถึง เพราะยังอยู่ในโลกนี้ ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากสภาพความเป็นบุคคลในโลกนี้ ก็ยังไม่ไปสู่ภูมิอื่นแม้ว่าเหตุคืออกุศลกรรมมีแล้ว เพราะฉะนั้น ภูมิได้แล้ว รออยู่แล้ว แล้วแต่ว่าจะไปสู่ภูมิไหน ถ้าเป็นอกุศลกรรมที่หนักก็ไปสู่มหานรก ถ้าเป็นอกุศลกรรมที่ไม่หนัก ก็ไปสู่ขุมที่ทรมานน้อยกว่านั้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้นก็ไปเกิดในอบายภูมิอื่น เช่น เป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า สัตว์เดรัจฉานนี้มีรูปร่างประหลาดๆ ต่างๆ ทั้งที่มีขามากมาย มีขาน้อย ไม่มีขาเลย มีปีกบ้าง ไม่มีบ้าง อยู่ในน้ำบ้าง อยู่บนบกบ้าง มีรูปร่างลักษณะต่างๆ มากมายตามความวิจิตรของจิต ทั้งๆ ที่เป็นคนในมนุษย์ภูมิ ก็มีเพียงตา หู จมูก ลิ้น กาย ผิวพรรณวรรณะ ความสูงต่ำ ก็ยังจำแนกออกได้วิจิตรต่างๆ กัน แต่พอถึงสัตว์เดรัจฉานก็ยิ่งวิจิตรต่างกันมาก ซึ่งเป็นไปตามกรรม การเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้น เป็นผลของอกุศลกรรม

ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้นอีก ก็ทำให้เกิดในภูมิของเปรต ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปิตติวิสัย ซึ่งภูมิของเปรตก็วิจิตรต่างๆ กันมาก เปรตบางพวกก็ทรมานมาก หิวโหย และไม่ได้อาหารด้วย

เปิด  261
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566