แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1006

สำหรับเวทนา ๕ ได้แก่ สุขเวทนา เป็นความรู้สึกสบายทางกายเกิดกับจิต ๑ ดวง สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสุขเวทนาที่เกิดทางกายได้ไหม ในเมื่อกายมี และมีการกระทบสิ่งที่สัมผัสกาย สุขเวทนาก็เกิดขึ้นถ้าอารมณ์ที่กระทบนั้นเป็นอารมณ์ที่น่าสบาย แต่เพราะสติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป

ทุกขเวทนา เกิดกับจิตที่เป็นกายวิญญาณ ทางกาย ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และเป็นทุกข์ ไม่สบายกาย ๑ ดวง เป็นผลของอดีตอกุศลกรรม วันนี้ทุกข์กายมีไหม เพราะไม่ได้ระลึกจึงไม่รู้ว่า มี ในขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งซึ่งไม่น่าสบาย เก้าอี้แข็งไหมหรือสบาย ถ้าไม่ระลึกจะไม่รู้ลักษณะสภาพของเวทนา ในขณะที่กำลังกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางกาย แต่เมื่อสภาพความรู้สึก มี และสติสามารถระลึกรู้ได้ จึงรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นและก็ดับไป

สำหรับโทมนัสเวทนา เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล คือ โทสมูลจิต ๒ ดวง

อุเบกขาเวทนา เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ เช่นเดียวกับโสมนัสเวทนา

เพราะฉะนั้น โทมนัสเวทนา มีเพียง ๒ ดวง ซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต ไม่เกี่ยวกับกาย โทมนัสเกี่ยวกับใจ เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ เสียใจ น้อยใจ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับความไม่สบายใจทั้งหมดเป็นโทสมูลจิต ขณะนั้นเวทนา ความรู้สึก เป็นความรู้สึกไม่สบายใจหรือเสียใจ เกิดกับจิตเพียง ๒ ดวง แต่ดูเหมือนว่าทุกท่านเดือดร้อนเหลือเกิน เวลาที่โทมนัสเวทนาเกิด หรือเวลาที่ทุกขเวทนาเกิด

. สติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา เวทนานั้นจะต้องดับไปแล้ว สติจึงจะระลึกรู้ ถือว่าเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะคิดถึงปริยัติที่ทรงแสดงว่า จิตเกิดขึ้นทีละขณะ เพราะฉะนั้น ขณะที่อกุศลจิตเกิดแล้วดับไป ภายหลังกุศลจิตซึ่งประกอบด้วย สติปัฏฐานจึงจะเกิดขึ้นได้ ใช่ไหม

แต่ต้องทราบว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปทีละขณะก็จริง แต่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เช่น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีใครสามารถที่จะรู้จิตที่เห็นและดับไป และจิตอื่นเกิดต่อคั่นอยู่ระหว่างจิตเห็นแต่ละขณะนี้ได้ไหม

ขณะนี้ปรากฏเหมือนว่า เห็นไม่ดับ ใช่ไหม เพราะว่ากำลังเห็นอยู่ และโดยปริยัติก็ทราบว่า จักขุวิญญาณมีอายุที่น้อยมาก สั้นมาก เช่นเดียวกับจิตอื่นๆ ทุกขณะ คือ เพียงเกิดขึ้นทำกิจเห็นและดับไปอย่างรวดเร็ว ในระหว่างจิตเห็นซึ่งปรากฏเสมือนว่าไม่ดับในขณะนี้ มีจิตอื่นเกิดมาก เกิดแทรก เกิดคั่น ถูกไหม

. ถูก

สุ. เวลานี้ กำลังเห็นอย่างนี้ เพราะไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของจิต เมื่อเห็นยังมีปรากฏอยู่ เพราะเกิดแล้วก็ดับและก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อทันทีอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นกุศลที่เกิดพร้อมกุศลจิต และระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตเห็นซึ่งเกิดสืบต่อกันโดยที่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อคั่นอยู่ในระหว่างจิตที่กำลังเห็น เวลานี้ นับไม่ถ้วนว่าขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดดับแล้วกี่ดวงเพราะว่าไม่ปรากฏการเกิดขึ้นและดับไปของจักขุวิญญาณ แต่แม้กระนั้นก็มีจิตอื่นซึ่งเกิดดับคั่นอยู่ระหว่างจักขุวิญญาณดวงหนึ่งกับจักขุวิญญาณอีกดวงหนึ่งซึ่งปรากฏว่าต่อกัน

นี่เป็นการที่แสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานในระหว่างนั้นสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นในขณะนี้ได้ ฉันใด เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตแต่ละขณะก็สามารถที่จะปรากฏลักษณะของสภาพของเวทนาลักษณะนั้นๆ ได้

อย่างเช่น อุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ เกิดกับจักขุวิญญาณและดับไป และขณะนี้มีอุเบกขาเวทนาเกิดกับจักขุวิญญาณ ซึ่งในระหว่างจักขุวิญญาณ ๒ ดวง มีจิตเกิดดับคั่นซึ่งเป็นสติปัฏฐานได้ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ซึ่งเกิดในขณะที่กำลังเห็น

. หมายความว่า ลักษณะของเวทนาที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานกับตัวสติซึ่งเป็นผู้ระลึกรู้ ถ้าว่าโดยขณะแท้ๆ ที่เป็นปัจจุบันขณะ โดยขณะๆ ตามสภาวธรรมนั้นเกิดในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าสติสามารถจะระลึกรู้สภาพธรรม คือ เวทนานั้นได้ โดยลักษณะการสืบต่อของเวทนา

สุ. ที่เกิดกับจิตอื่น เช่นเดียวกับการเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่กุศลจิตที่ระลึกรู้การเห็น เพราะว่าระหว่างจักขุวิญญาณ ๒ ดวง มีมหากุศลจิตซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้จักขุวิญญาณ คือ สภาพเห็นในขณะนี้ หรืออาจจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดพร้อมการเห็นในขณะนี้ แต่ว่าจิตซึ่งประกอบด้วยสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนั้นไม่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของจิตหรือเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับสติปัฏฐานนั้นได้ ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่น ดวงอื่น ขณะอื่น

. เวทนาที่เป็นปัจจุบันขณะจริงๆ สติปัฏฐานไม่สามารถที่จะระลึกรู้ได้ แต่ลักษณะของเวทนาที่มีสภาพสืบต่อที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ผมยังไม่เข้าใจ

สุ. ก็เหมือนกับทางตาที่กำลังเห็น เห็นไม่ได้ดับเลย ฉันใด ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น เพราะเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดและดับไป เห็นและดับไปๆ และไม่ใช่มีแต่ จักขุวิญญาณเกิด ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณด้วย

นี่เป็นการที่สติปัฏฐานสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนา เพราะเวทนาเกิดกับจิตทุกดวง

. ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดพร้อมกับจิตเห็น คือ จักขุวิญญาณ ลักษณะของจักขุวิญญาณก็ไม่ได้เกิดแบบจิตของผู้ที่เข้าฌานสมาบัติ คือ สืบต่อกัน เป็นลักษณะเกิดดับๆ สืบต่อกันแบบนั้น แต่จะต้องมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ ภวังคจิต สลับกันไปอย่างนี้ตลอด ใช่ไหม และลักษณะการระลึกรู้ จะระลึกรู้ลักษณะเวทนาในจักขุวิญญาณ ในจิตเห็นเท่านั้น หรืออาจจะเป็นการระลึกรู้เวทนาใน ...

สุ. ในสัมปฏิจฉันนะก็ได้ เพราะเวลานี้ ท่านผู้ฟังบางท่านก็ห่วงอยู่ประการหนึ่ง คือว่า ไม่ทัน ระลึกไม่ทัน มักจะใช้คำว่า ระลึกไม่ทัน แต่ไม่ทราบว่า ท่านจะให้ทันจิตดวงไหน จึงกล่าวว่าระลึกไม่ทันๆ

ที่ถูกแล้ว คือ หลงลืมสติ สติไม่ระลึก กับมีสติ คือ สติเกิดขึ้นจึงระลึก แต่ไม่ใช่ว่า ไม่ทัน เพราะไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้ทันจิตดวงหนึ่งดวงใด เนื่องจากว่า จิตเกิดดับอย่างเร็วมาก จึงไม่จำเป็นต้องทันจิตดวงไหน เพียงแต่ว่าขณะใดที่ สภาพธรรมใดปรากฏให้สติระลึกรู้ได้ สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่า นี่เป็นจิตที่ดับไปแล้วๆ เพราะแม้จะคิดว่า จิตเกิดดับเร็วสักเท่าไร ก็ยังไม่ใช่สภาพการเกิดดับของจิตจริงๆ ซึ่งเร็วยิ่งกว่านั้น ในขณะนี้ที่ว่าเห็น จะเอาอะไรมาวัดว่า ดวงไหนดับไป ไม่มีใครสามารถกำหนดได้

. ลักษณะของจิตที่เห็นนี้ มุ่งหมายเฉพาะจักขุวิญญาณเท่านั้นใช่ไหม

สุ. มิได้ วิถีจิตทั้งหมด ในขณะที่กำลังเห็น

. สัมปฏิจฉันนะเกิดทางจักขุทวารวิถีเช่นเดียวกัน ทำหน้าที่รับรูปารมณ์ คือ รับสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น ซึ่งสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในจิตเห็น ถ้าระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบใน สัมปฏิจฉันนจิต หรือจิตดวงอื่นๆ ที่นอกจากจักขุวิญญาณ จะเป็นการระลึกที่ถูกต้องหรือเปล่า

สุ. ถูกต้อง ไม่เป็นไร เพราะสภาพธรรมกำลังปรากฏ

. อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่า เราระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในจิตเห็น แต่ระลึกรู้เวทนาที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น

สุ. ที่กำลังปรากฏ

ถ. ถ้าบอกว่า ระลึกรู้เวทนาในจิตเห็น ผมก็ยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดว่า ระลึกรู้ลักษณะเวทนาที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นทางจักขุทวาร อย่างนี้ ….

สุ. นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรม เพื่อที่จะเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมโดยย่อ โดยนัยของพระสูตร ได้เห็นความเป็นอนัตตาโดยละเอียด จากขั้นการฟังและพิจารณา สำหรับเนยยบุคคลผู้ซึ่งไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมทันทีที่ได้ทรงแสดงธรรม

สำหรับท่านที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า นามธรรมและรูปธรรมไม่เที่ยง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยของพระสูตร ไม่มีคำว่า สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือ ชวนะเลย แต่ว่าทรงแสดงให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และผู้นั้นสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สำหรับผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล และวิปัญจิตัญญูบุคคล

แต่สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือปทปรมะ ที่จะสะสมปัจจัยไป ต้องแสดงโดยละเอียดจริงๆ เพื่อให้เข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า ในขณะที่เห็น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงโดยมี สภาพธรรมอะไรเกิดสืบต่อในแต่ละทวาร โดยขั้นการฟัง แต่ว่าโดยขั้นที่จะระลึกรู้จริงๆ จะทรงแสดงให้ระลึกรู้อุเบกขาเวทนาที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ ที่เกิดกับสันตีรณะไหม ก็เพียงแต่ทรงแสดงว่า ให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

ต้องใช้เวลามากทีเดียวสำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่นามธรรม คือ ไม่ใช่สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงแค่นี้ ไม่ต้องทรงแสดงถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ หรืออะไรเลย เพราะเป็นเรื่องที่จะให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละทวาร ที่สามารถจะรู้ได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่ทรงแสดงพระอภิธรรม แต่ที่ทรงแสดง สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือผู้ที่เป็นปทปรมะ เพื่อที่จะได้เกื้อกูลให้เห็นว่า สภาพธรรมทางตาซึ่งกำลังปรากฏ ไม่ใช่ขณะจิตเดียว แต่ว่ามีจิตหลายขณะ และประกอบด้วยเจตสิกหลายชนิด แต่ละขณะสืบต่อกัน

แต่ถ้าใครสามารถรู้ชัดในความไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็จะสามารถรู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นรูปธรรม และลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็จะปรากฏทางมโนทวารให้รู้ว่า ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปธรรม ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อละเอียดเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือชวนะ แต่เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึกรู้ ก็ไม่สามารถละการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะทุกคนเห็นความสำคัญของความรู้สึก และยึดมั่นในความรู้สึก ถ้าปราศจากธรรมซึ่งเป็นเวทนาเจตสิกแล้ว ข้อความใน มโนรถปุรนี อรรถกถา มีว่า ย่อมไม่มีบาปอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าปราศจากเวทนา คือ ความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ ในอารมณ์ที่ปรากฏ

ผู้ฟัง เท่าที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายมา กล่าวถึงเวทนานุปัสสนา ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เกิดกับจิตทุกดวง หมายถึงเวทนา ๕ ประการนั้น คือ ทุกขเวทนา สุขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และเวทนาที่ปรากฏมากกว่าเวทนาอื่น คือ อทุกขมสุขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ความรู้สึกเฉยๆ นี้ ถ้ามีสติรู้ตาม รู้สึกว่าดีมาก แต่ปฏิบัติครั้งแรกๆ ความรู้สึกที่เป็น อทุกขมสุขเวทนาไม่ค่อยปรากฏ

สุ. ก็เป็นเรื่องที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นความรู้สึกอย่างไร จะเป็นดีใจ หรือเสียใจ จะเป็นสุข หรือ เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ก็แล้วแต่สติที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่มีความจงใจ เจาะจงที่จะรู้เวทนานั้น หรือเวทนานี้

สำหรับเวทนาเจตสิก ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ และความรู้สึกที่เกิดก็เป็นสิ่งที่ทุกท่านยึดถือ เพราะมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ ถ้าไม่มีการกระทบ คือ ไม่มีจักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ ความรู้สึกดีใจ พอใจ หรือเสียใจ ไม่สบายใจในสิ่งที่กำลังปรากฏได้ไหม

เวลาที่มีเสียงกระทบกับโสตปสาท เพราะมีการได้ยินเกิดขึ้น และเวทนาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกดวง ชั่วขณะที่ได้ยินเสียง ยังไม่รู้ความหมายของเสียงนั้นเลย ถึงแม้จะเป็นเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจก็ตาม เพียงชั่วขณะที่ได้ ยินเสียง ขณะนั้นความรู้สึกเป็นอทุกขมสุขหรืออุเบกขาเวทนา แต่เพราะสติไม่ได้ระลึกรู้ จึงไม่รู้ว่าในขณะที่ได้ยินเสียง ชั่วขณะที่ได้ยินเป็นอุเบกขา หลังจากนั้นแล้ว พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในเสียงที่ปรากฏ ถ้าพอใจ บางครั้งก็เป็นความพอใจเล็กน้อย เวทนาคือความรู้สึกที่เกิดด้วยไม่ถึงกับโสมนัส ก็เป็นเพียงอุเบกขาเวทนา เมื่อสติไม่ได้ระลึก จึงไม่ได้สังเกต จึงไม่ได้รู้ลักษณะของเวทนาแต่ละชนิดแต่ละประเภทที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อสติไม่ได้ระลึก ก็ไม่รู้ลักษณะของเวทนาตามความเป็นจริง แต่ว่ายึดมั่นในเวทนาในขณะนั้นแล้วว่า เป็นเราที่รู้สึกอย่างนั้น

เวลาที่ความรู้สึกเฉยๆ เกิดขึ้น สติไม่ได้ระลึกรู้ว่า ความรู้สึกเฉยๆ นั้นเกิดเพราะมีการกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ติดหรือพอใจว่า เป็นเราที่รู้สึกเฉยๆ เวลาที่มีความรู้สึกดีใจเกิดขึ้น สติไม่ได้ระลึกรู้ จึงคิดว่า เป็นเราซึ่งกำลังดีใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีแต่เพียงการกระทบและการรู้อารมณ์ แต่เพราะมีเวทนาเจตสิกที่รู้สึกเป็นไปในอารมณ์นั้นด้วยความรู้สึกเฉยๆ บ้าง หรือว่าเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง และเมื่อมีความไม่รู้ในลักษณะของเวทนา ก็มีการยึดถือสภาพที่รู้สึกที่เป็นเวทนาเจตสิกนั้นว่า เป็นเรา ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิก หรือสภาพธรรมที่เป็นความรู้สึกตราบใด ตราบนั้นไม่สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ เพียงแต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิตซึ่งเห็น หรือว่าได้ยิน เป็นต้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายว่า ไม่ใช่ตัวตน เพียงรู้ขันธ์เดียว คือ วิญญาณขันธ์ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปรมัตถธรรม ๔ ว่า ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ เฉพาะนิพพานเท่านั้นซึ่งไม่ใช่ขันธ์ เพราะไม่ใช่สภาพที่เกิดดับ ส่วนสภาพธรรมที่ เกิดดับที่เป็นปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมที่เมื่อเกิดขึ้นปรากฏแล้ว ก็เป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจได้ และทรงจำแนกปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕

สำหรับรูปขันธ์ทั้งหมดเป็นที่ตั้งของความพอใจ เวทนาเจตสิกซึ่งเป็นเวทนาขันธ์เป็นสภาพที่ทุกท่านติดมาก ถ้าปราศจากเวทนาเสียเท่านั้น บาปอกุศลธรรมทั้งหลายจะไม่มี ซึ่งข้อความนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย ทุติยปัณณาสก์ สนิมิตตวรรคที่ ๓ ข้อ ๓๒๘ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีเวทนาจึงเกิดขึ้น ไม่มีเวทนา ไม่เกิดขึ้น เพราะละเวทนานั้นเสีย ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นจึงไม่มี ด้วยประการดังนี้ ฯ

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเวทนาเจตสิกเท่านั้น ข้ออื่นๆ ก็เป็นเรื่องของสัญญาเจตสิก หรือว่าเป็นเรื่องของวิญญาณขันธ์ เป็นเรื่องของธรรมซึ่งเป็นเครื่องปรุง ได้แก่ สังขารขันธ์ แต่แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ทุกท่านติด ซึ่งถ้าไม่รู้ความจริงของเวทนาที่เป็นความรู้สึกแล้ว ไม่สามารถจะละความรู้สึกว่าเป็นเราได้

เปิด  292
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566