แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1007
เพราะฉะนั้น การที่รู้ความละเอียดของเวทนา จะเกื้อกูลให้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของเวทนาบ้าง ถ้าไม่กล่าวถึงเวทนาเลย ก็ย่อมจะผ่านไป ไม่ได้ระลึกว่า ในวันหนึ่งๆ ก็มีแต่เวทนา เช่นเดียวกับในวันหนึ่งๆ ก็มีสภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมนั้นๆ
ลองคิดดูว่า ถ้าเพียงเห็นแล้วไม่รู้สึกอะไร ก็คงไม่เดือดร้อน ถ้าได้ยินแล้วไม่รู้สึกอะไร ก็ไม่เดือดร้อนอีกเหมือนกัน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ไม่เดือดร้อนเลย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงจะไม่มีบาปอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่เวลาที่มีความรู้สึกเกิดขึ้น ดีใจ จึงติดอย่างมาก และปรารถนาที่จะได้สิ่งที่ทำให้ดีใจนั้นบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น จึงทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ
ประโยชน์ของการศึกษาธรรม เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะศึกษาธรรมข้อใดที่เป็นความละเอียดยิ่งขึ้น จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ศึกษา เช่น ความรู้สึก เป็นสภาพที่มีจริง ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้ความรู้สึกเกิดขึ้น แม้แต่ในขณะนี้ ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะใด ก็จะต้องมีสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น ซึ่งในขณะนี้ความรู้สึกย่อมจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือว่าความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกเสียใจ ไม่ใช่เพียงเพื่อจะให้รู้จำนวน หรือว่ารู้เพียงชื่อ แต่เพื่อให้รู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมี ซึ่งถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมีในขณะนี้ แม้ความรู้สึกนั้นมีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เมื่อปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของความรู้สึกได้ ก็ย่อมจะยึดถือความรู้สึกว่า เป็นเรา ที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่สติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ย่อมไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะทุกคนยึดมั่นในความรู้สึก ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะว่าทุกคนต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข ไม่มีใครต้องการความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีทางใดที่จะให้เกิดสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา ก็ย่อมจะพยายามขวนขวายให้เกิดความรู้สึกนั้นโดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นการติด เป็นความพอใจ เป็นความยึดมั่นในความรู้สึกซึ่งเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป
ในเมื่อความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนยึดถือ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลประการสำคัญประการหนึ่ง มิฉะนั้นแล้ว คงจะไม่แยก เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์
สำหรับการที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏได้ จะต้องอาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมนั้นให้ละเอียดยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็พิจารณาพิสูจน์ธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งก็ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นธรรมที่รู้สึกในอารมณ์นั้น มี ๔ ชาติ เช่นเดียวกับจิต คือ เวทนาที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี
เวทนาเป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เวทนาที่เป็นวิบากย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย สำหรับเวทนาที่ไม่ใช่วิบาก เช่น กุศล อกุศล และกิริยานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ก็ต้องเกิดเพราะปัจจัยอื่น เช่น ถ้าเป็นความรู้สึกที่ยินดี พอใจ ความรู้สึกในขณะนั้นย่อมเป็น โสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา จะเป็นโทมนัสเวทนาไม่ได้
นี่เป็นเหตุที่สภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอนัตตา ย่อมเกิดร่วมกันตามเหตุตามปัจจัย
สำหรับในเวทนา ๕ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่ออารมณ์กระทบสัมผัสกาย ไม่เกี่ยวกับความดีใจหรือเสียใจ แต่เป็นความรู้สึกในขณะที่กายวิญญาณเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยรู้สึกเป็นสุขอย่างหนึ่ง หรือว่ารู้สึกเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง
สำหรับสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี เป็นเวทนาที่เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม ซึ่งจะต้องรู้ด้วยว่า การที่กรรมจะให้ผล ให้ผลโดยการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นสิ่งที่กระทบทางจมูก ลิ้มรสสิ่งกระทบสัมผัสลิ้น และรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นชาติวิบาก
เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็น จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต ฉันใด เวทนาที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณก็เป็นวิบากเจตสิก ฉันนั้น และเวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณเป็นอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา
สำหรับเวทนาที่เป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา เกิดเฉพาะเวลาที่อารมณ์กระทบสัมผัสกาย และกายวิญญาณซึ่งเป็นจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์ที่กระทบสัมผัส ถ้าอารมณ์ที่กระทบสัมผัสนั้นแข็งเกินไป ร้อนเกินไป เย็นเกินไป ขณะนั้นความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขเวลาที่อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้นกระทบกับกายปสาทที่กาย
เวทนาซึ่งเป็นชาติวิบาก ย่อมเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่ากายจะกระทบสัมผัสสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ สุขเวทนาก็เกิด กายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ทุกขเวทนาก็เกิด ซึ่งทุกท่านก็เคยมีทุกขเวทนา คงจะไม่มีใครบอกว่าไม่เคยรู้ลักษณะของทุกขเวทนาที่กาย เวลาที่ปวด เจ็บ เมื่อย เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดฟัน ทั้งหมดที่ปรากฏที่กายเป็นทุกขเวทนา เป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาเป็นชาติวิบาก และไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้ทุกขเวทนาเกิด
ต้องแยกทางกายและทางใจ ถ้าเป็นเรื่องที่กระทบสัมผัสกาย เวทนาจะเป็น สุขเวทนา ๑ หรือทุกขเวทนา ๑ ซึ่งเป็นชาติวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม
แต่เวลาที่รู้สึกเดือดร้อนใจ เป็นห่วงกังวล ไม่สบายใจ แม้กายไม่เดือดร้อน ไม่เป็นอะไร ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ในขณะนั้นไม่ใช่ผลของอดีตกรรม แต่ว่าเป็นการสะสมของอกุศลธรรม ซึ่งสะสมทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่พอใจ ไม่แช่มชื่นเกิดขึ้น
สำหรับเวทนาอื่น เช่น โสมนัสเวทนาก็ดี หรืออุเบกขาเวทนาก็ดี เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ นี่เป็นความต่างกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
เคยระลึกรู้ลักษณะของเวทนาบ้างหรือยัง เวทนากำลังเกิดขึ้น กำลังดับไป บางท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บางท่านอาจจะน้อมระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก แต่นั่นไม่พอ อย่าลืมว่า สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทั้ง ๕ ขันธ์ คือ ทั้งสภาพธรรมที่เป็นรูปขันธ์ สภาพธรรมที่เป็น เวทนาขันธ์ สภาพธรรมที่เป็นสัญญาขันธ์ สภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ และ สภาพธรรมที่เป็นวิญญาณขันธ์
ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านี้จริงๆ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น กิเลสไม่ใช่สิ่งที่จะดับได้โดยความรู้ไม่เกิดขึ้น หรือโดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนทั่วจริงๆ
เวลาที่กำลังหลับ มีความรู้สึกไหม ธรรมเป็นเรื่องน่าคิด น่าพิจารณา ไม่ว่าจะได้ฟังเรื่องของเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึก ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณา ก็ยิ่งทำให้ธรรมแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้น ก็น่าที่จะคิด น่าที่จะพิจารณาว่า ในขณะที่กำลังหลับมีความรู้สึกไหม
ต้องคิดดีๆ เพราะสภาพธรรมมีปัจจัยก็เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่มีแต่ จักขุวิญญาณที่เห็น หรือโสตวิญญาณที่ได้ยิน ฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส กายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือมโนวิญญาณที่กำลังคิดนึก ไม่ใช่มีแต่เพียงเท่านี้ เพราะแม้ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ไม่ได้คิดนึก ไม่ได้ฝัน แต่เมื่อยังไม่ใช่ผู้ที่สิ้นชีวิตหรือผู้ที่ตายไปแล้ว ก็ย่อมจะต้องมีจิตเกิดดับเป็นภวังคจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะตื่นขึ้น และก็มีการเห็นโลกนี้ใหม่ และเมื่อถึงเวลาก็หลับไปอีก ไม่รู้ในโลกนี้สักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เคยเห็น ที่เคยได้ยิน ที่เคยชอบ ที่เคยคิดถึง ที่เคยนึกถึง ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย แต่จิตก็เกิดขึ้นและดับไป นามขันธ์ทั้ง ๔ คือ จิตและเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน
เพราะฉะนั้น เวลานอนหลับสนิท จิตเป็นชาติวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ซึ่งทำให้คนนั้นยังไม่ตาย จึงเพียงหลับ ดำรงภพชาติอยู่ และเมื่อจิตเกิดขึ้นก็ย่อมมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเวทนาเจตสิกนั้นเกิดกับจิตทุกดวง แต่เมื่อจิตเป็นชาติวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม เวทนาที่เกิดพร้อมกับภวังคจิตซึ่งเป็นวิบากจิตนั้นก็เป็นชาติวิบากด้วย และรู้อารมณ์เดียวกัน คือ ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ จึงไม่ใช่ในขณะที่ตื่น แต่ว่าเวทนาก็มี ถ้าจิตเกิด เวทนาเจตสิกก็ต้องเกิดร่วมด้วย มีความรู้สึกในอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การรู้สึกตัวเหมือนอย่างทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน แต่ว่าเวทนาเจตสิกนั้นต้องเกิดขึ้นพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต
เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดในขณะที่กำลังหลับได้ แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงกังวล ในขณะที่หลับ แต่เมื่อตื่นขึ้น ก็น่าที่จะคิดอีกว่า อะไรตื่น ตอนหลับก็น่าคิดว่า อะไรหลับ รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่นามธรรมเป็นสภาพรู้ เมื่อไม่รู้อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้จึงชื่อว่า หลับ เพราะยังไม่ตาย เพราะฉะนั้น เวลาที่ตื่น อะไรตื่น
จิต เจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้อารมณ์ของโลกนี้ขณะใด ก็เป็นการตื่นขึ้นขณะนั้น แต่ก็น่าที่จะพิจารณาให้ละเอียดขึ้นไปอีกเพื่อประโยชน์แก่การเจริญสติปัฏฐาน และการพูดถึงธรรมก็เพื่อจุดประสงค์เดียว คือ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นวิริยารัมภกถา คือ เป็นคำพูดที่อุปการะเกื้อกูลให้เกิดวิริยะที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้คิดว่า ขณะที่ตื่น คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลกนี้ตามที่เข้าใจกัน อะไรตื่น
ธรรมมีหลายอย่าง มีจิตหลายชนิด มีเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตตื่นขึ้น วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รู้รสที่ปรากฏทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งยับยั้งไม่ได้เลย วิบากจิตเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น จะหลับอยู่ตลอดไปได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย กรรมไม่ได้ทำเพียงให้เกิดขึ้นและหลับไปจนกระทั่งตาย แต่ว่ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายเพื่อที่จะให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม สิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม มีหูเพื่อที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม
เพราะฉะนั้น วิบากจิตเกิดขึ้น ตื่นขึ้น รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากนั้นมีอะไรอีกไหมที่ตื่นขึ้น ชีวิตประจำวัน เรียนเรื่องจิตกับเจตสิก ก็จะต้องรู้ว่า เมื่อตื่นแล้ว นอกจากวิบากจิตเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว อะไรตื่นอีก อะไรตื่นบ่อย อกุศล หรือกิเลส เริ่มตื่น หลับอยู่ดีๆ มีอนุสัยกิเลส แต่ว่ากิเลสในขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกระทำกิจยินดียินร้ายเพราะยังไม่มีการเห็น การ ได้ยินอารมณ์ของโลกนี้ ยังหลับสนิทอยู่ กิเลสก็หลับ แต่เวลาตื่นขึ้นขอให้ทราบว่า กิเลสตื่นทันที หลังจากที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ดีไหม
จำแนกจิตโดยภูมิ ๔ คือ เป็นกามาวจรภูมิ เป็นรูปาวจรภูมิ เป็นอรูปาวจรภูมิ เป็นโลกุตตรภูมิ ประณีตขึ้นตามลำดับ แต่สำหรับจิตของคนส่วนมากเป็นไปในกามภูมิ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นภูมิที่ต่ำ ขั้นต่ำที่สุดของระดับของจิต นอกจากจะเป็นภูมิที่ต่ำที่สุดแล้ว โดยชาติ ยังเป็นชาติที่เลวอีก คือ เป็นอกุศล ที่ตื่นขึ้นเป็นประจำเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด
เมื่อมีการเห็น ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น เมื่อมีการได้ยิน ก็ปกติ ยินดีพอใจในเสียงที่ได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่โลภมูลจิตเกิดบ่อยกว่าโทสมูลจิตที่เป็นสภาพที่ไม่แช่มชื่น เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง
ถ้าเป็นกุศลขั้นกามาวจรภูมิ กามาวจรจิต ก็เป็นจิตที่ดี แต่ถ้าเป็นกุศลที่เป็น ขั้นรูปาวจรจิตก็เป็นจิตที่ดีกว่า และถ้าเป็นจิตที่เป็นขั้นโลกุตตระก็เป็นจิตที่ดีที่สุด
ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านมีจิตเจตสิกเกิดดับ เมื่อตื่นขึ้นก็มีจิตที่เป็นขั้นกาม เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และก็เป็นชั้นเลว คือ เป็นอกุศล
ต้องยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะอบรมเจริญกุศลให้พ้นจากสภาพของจิตชั้นเลวไม่ได้ คือ ยังคงเป็นอกุศลจิตอยู่มาก และยังมีความยินดีพอใจในอกุศลนั้นๆ ด้วย ไม่เห็นว่าเป็นโทษ