แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1008

เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า ที่ตื่นขึ้นมา ส่วนใหญ่กิเลสตื่นทั้งนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่ากิเลสของใครจะวุ่นวายสักแค่ไหน จะทำให้เกิดความเดือดร้อนใจและกายสักแค่ไหน แต่ว่าเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ยังจะมีการขวนขวายที่จะอบรมเจริญกุศลให้เกิด เพราะรู้ว่าเป็นผู้ที่มีอกุศลมาก ไม่ว่าจะเป็นโดยขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นความสงบของจิต หรือว่าขั้นที่เป็นสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

มีใครที่ยังไม่เห็นคุณของกุศล หรือว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานไหมว่า สามารถทำให้ละคลายอกุศลให้น้อยลงจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท นี่คือการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจได้ ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอำนาจยับยั้ง หรือดับอกุศลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีอกุศลมาก มีกิเลสมาก ก็ยังไม่สามารถที่จะมีตัวตนที่ดับกิเลสและอกุศลเหล่านั้น นอกจากปัญญาที่ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนก่อน จึงจะละคลายโลภะ โทสะ โมหะลงได้ แต่ไม่ใช่ว่า ใครจะสามารถละโลภะได้ก่อน และจึงจะอบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นพระโสดาบันในภายหลัง

ถึงแม้ว่าโลภะจะเกิดขึ้น ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งปัญญาจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ

สำหรับเวทนา ๕ สุขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณ ๑ ดวง ทุกขเวทนาเกิดกับ กายวิญญาณ ๑ ดวง โทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง โสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนาเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ แต่สำหรับโทมนัสเวทนานั้นจะเกิดกับจิตที่เป็นกุศล หรือวิบาก หรือกิริยาไม่ได้ โทมนัสเวทนาจะเกิดได้เฉพาะกับจิตที่เป็นอกุศล คือ โทสมูลจิต เพียง ๒ ดวงเท่านั้น

ถ้าไม่รู้อย่างนี้ บางท่านอาจจะคิดว่า อกุศลเป็นกุศล เช่น เวลาที่เกิดความรู้สึกสงสาร เวลาที่เห็นบุคคลอื่นประสบกับความทุกข์ยากเดือดร้อน ใคร่ที่จะช่วยเหลือให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ยาก ในขณะที่จิตประกอบด้วยความกรุณา สภาพธรรมที่เป็นกรุณาเจตสิก ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ต้องระวัง จะต้องรู้ลักษณะของเวทนาในขณะนั้นว่า เป็นความไม่แช่มชื่นหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นประกอบด้วยความรู้สึกโทมนัส เสียใจ ไม่แช่มชื่น ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

ถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะละคลายความรู้สึกที่เสียใจ โทมนัส หรือไม่แช่มชื่น และสามารถที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นจากความทุกข์ยากด้วยจิตที่ไม่ได้โทมนัส ไม่ได้เสียใจ หรือว่าไม่แช่มชื่น แต่ต้องรู้ว่าเป็นอกุศล จึงจะละได้ จึงจะคลายได้ เพราะโดยมากบางท่านเข้าใจว่า ถ้าเห็นคนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็จะต้องพลอยเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์กับบุคคลนั้นด้วย แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกเสียใจ ความโทมนัส เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล

เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นบุคคลอื่นเดือดร้อน ก็พอที่จะระลึกถึงสภาพเวทนา ความรู้สึกของท่านได้ว่า ขณะนั้นเป็นความรู้สึกประเภทใด ถ้าเป็นความรู้สึกโทมนัส ทราบได้ทันทีว่าเป็นอกุศล ซึ่งไม่ควรจะให้เกิดขึ้น สามารถที่จะช่วยบุคคลอื่นได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทุกข์ โทมนัส หรือว่าเดือดร้อนใจ

ผู้ฟัง ขณะที่เห็นคนเจ็บปวด ได้รับความลำบาก เกิดความสงสาร รู้สึกว่าความเจ็บปวดนี้จะทรมานขนาดไหน เห็นครั้งแรกรู้สึกว่า จะต้องเป็นโทสะมากกว่า

สุ. แล้วแต่การสะสม บางคนอาจจะเกิดความรู้สึกไม่แช่มชื่นพลอย เศร้าโศกเสียใจไปด้วย แต่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น เคยสังเกตตัวเองไหมว่า เป็นอย่างนั้น หรือไม่เป็น

ผู้ฟัง ถ้าหากว่าไม่ได้เจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันจริงๆ และไม่ละเอียดกับอารมณ์ที่ปรากฏ ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะที่เราเห็นลูกของเราเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับสิ่งที่ยินดีพอใจ กับขณะที่ได้รับฟังหรือได้เห็นบุคคลอื่น ความรู้สึกนั้นจะแตกต่างกันมาก คือ ถ้าหากว่าเรามีความยึดถือผูกพันต่อบุคคลนั้น ก็รู้สึกว่าความเผ็ดร้อน หรือความเจ็บปวดเหมือนกับว่าเกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้น ทุกขเวทนาปรากฏ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่เราไม่ได้ยึดถือ ไม่ใช่เป็นลูกหลาน หรือไม่ใช่ผู้ใกล้ชิด มิตรสหาย ถ้าหากเราเห็นแล้ว บางครั้งเราก็มีความเมตตา แต่ว่าไม่ประกอบด้วยโทมนัส ถ้าไม่เจริญสติ ก็ไม่เห็นจริงๆ ว่า จิตนั้นแตกต่างกันจริงๆ แม้กระทั่งว่า ไฟไหม้บ้านของบุคคลอื่นที่ ไม่ใช่วงศาคณาญาติ เราก็มีความเมตตาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และหลังจากนั้นก็ลืม เพราะความยึดถือผูกพันไม่มี แต่ถ้าเป็นกับบุคคลที่เรายึดถือ เรารักมาก ความทุกข์นั้นก็แผดเผามาก เป็นอกุศลไปเลย ไม่บริสุทธิ์ เมตตาก็ไม่บริสุทธิ์ สลับกับโทมนัส ซึ่งเป็นอกุศลจิตเกิดขึ้น อย่างที่อาจารย์กล่าว

สุ. ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะหมดโทมนัส แต่ควรที่จะได้พิจารณาว่า เวลาที่สภาพความรู้สึกเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้เตือนตัวเองให้รู้ว่า ขณะใดที่เป็นกุศล และขณะใดที่เป็นอกุศล และก็เห็นโทษของอกุศล เพื่อที่จะได้มีกุศลมากขึ้น โดยที่อย่าได้พลอยเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจไปด้วย เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้ากุศลสามารถเกิดได้โดยที่ไม่มีความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ก็ย่อมจะดีกว่า แต่ไม่ใช่ว่าห้าม เพียงแต่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้นในขณะไหน สติก็ระลึกรู้ในขณะนั้นตามความเป็นจริง พร้อมกับความเข้าใจถูกว่า กุศลเป็นกุศล และอกุศลเป็นอกุศล

ผู้ฟัง อย่างเรื่องมุทิตาจิต มีอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นคนที่ไม่รู้จักกัน เขาได้เลื่อนตำแหน่ง พอดิฉันได้ยินเข้า ดิฉันก็พลอยอนุโมทนาด้วย ดีใจด้วย เพราะเป็นผู้นำประเทศ หลังจากนั้น ๒ วัน มีการตั้งรัฐมนตรี บังเอิญเป็นคนใกล้ชิด ดิฉันก็มีความยินดีอีก แต่ปรากฏว่าสติเกิด เห็นสภาพของจิตของตัวเอง ความยินดีที่เรียกว่าเป็นมุทิตาจิตนั้น ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา แทนที่จะมีความยินดีสลับกับอุเบกขาเฉยๆ อย่างบุคคลแรก แต่เพราะเป็นผู้ที่เราคุ้นเคยใกล้ชิดจึงเกิดโสมนัสเวทนา ก็เป็นที่ น่าอัศจรรย์ ถ้าไม่เจริญสติ จะไม่สามารถเห็นสภาพจิตที่ยึดถือความผูกพันอย่างนี้

สุ. แสดงว่า เวทนาเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

. ถ้าเราไปพบสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ เราควรจะทำอย่างไร

สุ. ควรได้ ควรเป็นกุศล แล้วแต่ว่ากุศลจะเกิดหรือไม่เกิด

. เราดีใจก็เป็นโลภะ

สุ. อนุโมทนาในสิ่งที่บุคคลนั้นได้รับ ซึ่งเป็นผลของอดีตกุศลกรรมของเขาได้ไหม ใครก็ตามที่มีทุกอย่างที่น่าชื่นชมยินดี และเราก็นึกถึงเหตุ คือ บุญกุศลที่บุคคลนั้นได้กระทำมาดีแล้ว ก็อนุโมทนาในกุศลซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผลของบุญนั้น

. เวทนาในพระสูตรหลายๆ สูตร โดยมากไปลงเอยที่ว่า เช่น ทางตา ก็ว่าเป็นจักขุสัมผัสสชาเวทนา ที่เห็นแล้วดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ ทั้ง ๖ ทางก็อย่างนี้ใช่ไหม

สุ. จักขุสัมผัสสชาเวทนา หมายเฉพาะเวทนาเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณดวงเดียว

. ข้อความภาษาไทยต่อไป ที่ว่า เห็นแล้วดีใจ เสียใจ เฉยๆ

สุ. นั่นหลังจากเห็น

. ที่ว่า เวลาเห็นแล้ว เวทนาจะต้องเป็นอุเบกขาเวทนา เรามีโอกาสจะทราบไหม

สุ. เวลาที่ความรู้สึกเฉยๆ มีจริง กำลังเป็นความรู้สึกเฉยๆ และสติระลึกรู้ในลักษณะของความเฉยๆ ซึ่งไม่ง่ายเลย ใช่ไหม เพราะว่าลักษณะของนามธรรมนี้ไม่ใช่รูปธรรม เป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ และสำหรับวิญญาณขันธ์ซึ่งเป็นจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์แต่ละทาง เช่น สีสันวัณณะปรากฏทางตา สีมีมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเน่าก็สีหนึ่ง น้ำขังก็อาจจะอีกสีหนึ่ง หรือว่าน้ำฝนก็อาจจะเป็นอีกสีหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำชนิดใดก็ตาม ต่างกันเล็กน้อย หรือต่างกันมากอย่างไรก็ตาม จักขุวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเห็นจริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏ ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐาน แต่เห็นทุกอย่าง ถ้าจะมีเพชรสักเม็ดหนึ่งตกลงไปในโคลนตมหรือว่าในแม่น้ำลำคลอง จักขุวิญญาณก็ยังเห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง คือ สีที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรทั้งหมด นอกจากเพชร แล้วก็อาจจะเป็นเครื่องประดับอย่างอื่น อัญมณีชนิดอื่น จักขุวิญญาณก็เห็นความต่างกันของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นที่ปรากฏ เพราะนามธรรมเป็นเพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ แต่ไม่ใช่เพียงจิตเท่านั้นซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เจตสิกก็เป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่ว่ามีลักษณะและกิจการงานต่างกับจิต เพราะจิตเป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏแต่ละทาง ทางหู เสียงต่างๆ ชนิด จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียงต่างๆ ชนิด แต่ว่าเจตสิกอื่นรู้อารมณ์เดียวกับจิต พร้อมกับจิต แต่ไม่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะต่างกัน มีกิจการงานต่างกัน

เวทนาเจตสิกไม่ใช่จิตซึ่งรู้แจ้งในอารมณ์ต่างๆ ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏ แต่ว่าเวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกทันทีที่จิตรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นความรู้สึก ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นชีวิตปกติประจำวัน ถ้าถามว่า รู้สึกอย่างไร ตอบกันได้ทุกคน ใช่ไหม เฉยๆ หรือว่าดีใจ หรือว่าหงุดหงิด ไม่แช่มชื่น ไม่สบายใจ อาจจะบอกได้ว่า วันนี้ไม่สบายใจ บอกได้ ทุกอย่าง ลักษณะสภาพของความรู้สึก แต่เวลาที่สติจะระลึกตรงลักษณะของความรู้สึก หาเจอไหม อยู่ที่ไหนความรู้สึก เพราะเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมจิต จิตกำลังเห็นทางตา ความรู้สึกเกิดทันทีพร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น

ในขณะที่โสตวิญญาณได้ยินเสียง ขณะนี้ที่เสียงปรากฏ มีสภาพที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏ และมีความรู้สึกที่เกิดพร้อมกับสภาพที่ได้ยินเสียง เมื่อมีการกระทบสัมผัสอารมณ์และจะไม่ให้เกิดเวทนาหรือความรู้สึก ไม่ได้เลย ใครจะยับยั้งไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ มีการรู้อารมณ์เกิดขึ้น เวทนาเจตสิกต้องเกิดขึ้น รู้สึกในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ทุกครั้ง

เพราะฉะนั้น เวลาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นความรู้สึก รู้ยากใช่ไหม ไม่เหมือนกับเวลาที่ตอบง่ายๆ ว่า เสียใจ ดีใจ หรือว่าเฉยๆ เพราะเป็นนามธรรม

(มีเสียงดัง)

รู้สึกอย่างไร เมื่อครู่นี้ ต้องมีความรู้สึกแน่นอน ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นรู้สึกอย่างไรทันทีที่ได้ยินและก็ดับไป

เพราะฉะนั้น เรื่องของเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมที่ทำให้จิตต่างๆ กันออกไป สามารถที่จะให้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิตบ้าง หรือว่าเป็นเวทนาเจตสิก เป็นความรู้สึกบ้าง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งถ้าได้รู้เรื่องของสภาพธรรมเหล่านั้นเพิ่มขึ้นก็จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ไม่หลงลืม เวลาที่เฉยๆ เวลาที่ดีใจ เวลาที่เป็นทุกข์ เวลาที่เป็นสุข หรือเวลาที่เสียใจ แทนที่จะยิ่งเสียใจมากขึ้น ก็เป็นสติที่ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นั่นเป็นคุณประโยชน์ของ สติปัฏฐานที่ทำให้ละคลายความทุกข์ แม้แต่ในขณะที่รู้สึกไม่แช่มชื่น

ขอกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

ซึ่งหมายถึงเจตสิกที่เกิดกับจิต ทำให้จิตต่างกันไป ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว โดยนัยของชาติ ๔ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ และต่างออกไปโดยภูมิ ๔ คือ เป็นกามาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นโลกุตตรจิตประเภทหนึ่ง และสัมปยุตตธรรม ยังจำแนกให้จิตต่างกัน โดยเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จิตประกอบด้วย สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง โทมนัสเวทนาบ้าง

ซึ่งก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับ จึงได้ต่างกันไป เพราะในขณะที่เป็นทุกขเวทนา ย่อมเป็นสุขเวทนาร่วมด้วยไม่ได้ในขณะนั้น ทุกขเวทนาต้องดับก่อนจึงจะมีปัจจัยให้เวทนาอื่นเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจะยึดถือว่า เป็นจิตที่เกิดแล้วไม่ดับ หรือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเกิดดับทุกขณะ

สำหรับสัมปยุตตธรรมที่จำแนกให้จิตต่างกันออกไป ประเภทต่อไป คือ โดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์

เวลาที่ศึกษาเรื่องของจิต จะรู้ได้ว่าจิตนั้นเป็นชาติอะไร กุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา จะรู้ได้ว่าจิตนั้นเป็นภูมิอะไร เป็นกามาวจรจิต หรือรูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต หรือเป็นโลกุตตรจิต และจะรู้ได้ว่า จิตนั้นเป็นเวทนาอะไร เวลาที่จิตประเภทนั้นเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดร่วมด้วยจะเป็นเวทนาอะไร เช่น เวลาที่อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นทางกาย เวทนาต้องเป็นทุกขเวทนา จะเป็นอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนา หรือสุขเวทนาไม่ได้ หรือเวลาที่อกุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น เวทนา ความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วยจะต้องเป็นเวทนาอะไร เช่น เวลาที่จิตประกอบด้วยโทสะ สภาพที่หยาบกระด้าง ซึ่งทุกคนรู้จักในลักษณะที่เป็นความโกรธ เวลาที่จิตโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเวทนาต้องเป็นโทมนัสเวทนา จะเป็นโสมนัสเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนาไม่ได้

เปิด  217
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565