แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1009
สำหรับประการต่อไป คือ จิตจำแนกโดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์
ท่านผู้ฟังได้ทราบความหมายของสัมปยุตตธรรม ซึ่งหมายความถึงเจตสิกที่เกิดกับจิตนัยหนึ่ง แต่เวลาที่กล่าวถึงจิตโดยประเภทต่างๆ จะมีจิตที่ต่างกันโดยเป็นสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ คือ
จิตที่ประกอบด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เกิดกับโลภมูลจิต ประเภทหนึ่ง แต่ถ้าโลภะนั้นเกิดขึ้นไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดจะชื่อว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ถ้าประกอบกับเจตสิกนั้น ชื่อว่าสัมปยุตต์ ถ้าไม่ประกอบด้วยเจตสิกนั้น ชื่อว่าวิปปยุตต์ เช่น โลภมูลจิต มี ๘ ดวง ต่างกันโดยเป็นสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็น วิปปยุตต์ ๔ ดวง คือ โลภมูลจิต ๔ ดวง ประกอบด้วยความเห็นผิด จึงเป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ส่วนโลภมูลจิตอีก ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด จึงเป็น ทิฏฐิคตวิปปยุตต์
คือ ถ้าไม่ประกอบด้วยเจตสิกนั้น ก็เป็นวิปปยุตต์ ถ้าประกอบด้วยเจตสิกนั้น ก็เป็นสัมปยุตต์
ซึ่งโดยนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ มีอยู่ ๕ นัย คือ
เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์ เกิดกับโลภมูลจิต
เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ คือ สภาพที่หยาบกระด้าง เป็นโทสะ เกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้นไม่เกิดกับจิตอื่น
เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เกิดกับโมหมูลจิต
เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ เกิดกับโมหมูลจิต
เป็นญาณสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์ เกิดกับกุศลจิตหรือโสภณจิต
เพราะฉะนั้น โดยนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ ๕ เป็นอกุศลสัมปยุตต์ ๔ คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ ปฏิฆสัมปยุตต์ ๑ วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ สภาพที่สงสัย ไม่แน่ใจในสภาพธรรม ๑ อุทธัจจสัมปยุตต์ สภาพที่ไม่สงบ ๑
และเป็นญาณสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์อีก ๑ รวมเป็นสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ ๕
ความจริงยังไม่ถึง เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า เมื่อศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียดแล้ว ก็จะมีจิตที่จำแนกออกโดยนัยอะไรบ้าง เช่น โดยนัยของชาติ โดยนัยของภูมิ โดยนัยของเวทนา โดยนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์
ถ. อาจารย์มีตัวอย่างบ้างไหมที่ว่า ขณะใดเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ และขณะใดเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์
สุ. โลภมูลจิตทั้งหมดโดยจำนวนมี ๘ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ เป็น ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ซึ่งก่อนอื่นควรที่จะสงสัยว่า เจตสิกอื่นๆ ก็เกิดกับโลภมูลจิตเหมือนกัน ทำไมจึงไม่ยกเจตสิกอื่นๆ ขึ้นเป็นธรรมที่สัมปยุตต์หรือวิปปยุตต์กับ โลภมูลจิต ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าทิฏฐิที่เกิดร่วมกับโลภะ ทำให้เห็นความต่างกันของโลภะที่มีอยู่ว่า โลภะที่ประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดก็มี และที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มี แต่ว่าจิตทุกดวงต้องเกิดกับผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เป็นต้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จะยกผัสสเจตสิกขึ้นมากล่าวก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะผัสสเจตสิกย่อมเกิดกับจิตทุกดวง และยังมีโมหเจตสิก อุทธัจจเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ก็ย่อมมี โมหเจตสิก สภาพธรรมที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มีอหิริกเจตสิก สภาพธรรมที่ไม่ละอายในอกุศล มีอโนตตัปปเจตสิก สภาพธรรมที่ไม่เกรง หรือไม่กลัว หรือไม่เห็นโทษของอกุศล และมีอุทธัจจเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบ ไม่ให้จิตสงบในอารมณ์ที่ปรากฏ อกุศลเจตสิกทั้ง ๔ ก็เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ยกขึ้นมากล่าวที่จะทำให้เห็นว่า โลภมูลจิตนั้นต่างกันเป็น ๘ ประเภท เป็น ๘ ดวง
เพราะฉะนั้น จึงยกเฉพาะธรรมซึ่งทำให้เห็นความต่างกันของโลภมูลจิต ๘ ว่า ทิฏฐิเจตสิกบางครั้งก็เกิดกับโลภมูลจิต บางครั้งก็ไม่เกิดกับโลภมูลจิต แต่ทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเป็นความเห็นผิดจะไม่เกิดกับจิตอื่นเลยนอกจากโลภมูลจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิตจึงมี ๘ ดวง หรือว่า ๘ ประเภท โดยประกอบด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิด ๔ ดวง และไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง ซึ่งนี่เป็นเหตุที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์และทิฏฐิคตวิปปยุตต์
ซึ่งความเห็นผิดก็มีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ความเห็นผิดอย่างมาก คือ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่เห็นได้ชัด และความเห็นผิดซึ่งละเอียด
เช่น ความเห็นผิดว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี นั่นเป็นความเห็นผิดขั้นหยาบ ซึ่งรู้ได้ว่าไม่ใช่เหตุผลเลย เพราะเมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล หรือผลที่จะเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุแล้วผลก็ย่อมเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีกรรมก็ย่อมเป็นเหตุให้วิบากเกิดขึ้น หรือว่าวิบากที่กำลังเกิดในขณะนี้ก็ย่อมเป็นผลของกรรมในอดีต เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ถ้าใครมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี อย่างนั้นจะชื่อว่าความเห็นถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่มีความเห็นอย่างนั้น มีความเชื่ออย่างนั้น ขณะนั้นเป็นความเห็นผิด ซึ่งขณะใดที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ยินดีในความเห็นผิดนั้น พอใจยึดมั่นในความเห็นผิดนั้น เพราะฉะนั้น ทิฏฐิจะเกิดกับจิตอื่นไม่ได้นอกจากโลภมูลจิต
และสำหรับตัวอย่างที่ว่า ขณะไหนที่เป็นความเห็นผิด เวลาที่เกิดความคิดความเห็นเช่นนั้นขณะใด ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์
เคยคุยกับเพื่อนฝูงบ้างไหมว่า ตายแล้วเกิดไหม ทำดีได้ดีหรือเปล่า หรือว่า ทำชั่วต่างหากได้ดี นั่นล่ะเป็นความเห็นผิด ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกาย คือ ความประพฤติที่ผิด หรือวาจา คำพูดที่ผิด ถ้าความเห็นผิดในขณะนั้นไม่เกิดขึ้น จะไม่เป็นปัจจัยให้มีคำพูดอย่างนั้นได้ หรือจะไม่ทำให้เกิดความคิดความเห็นอย่างนั้นได้
เพราะฉะนั้น ในโลภมูลจิต ๘ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ และเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ แต่ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า ขณะไหนเป็น ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และขณะไหนเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ประกอบด้วยความเห็นผิด
ทุกท่านก็ทราบว่า นอกจากความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เห็นได้ชัด ยังมีความเห็นผิดซึ่งมีอยู่เป็นประจำตราบใดที่บุคคลนั้นยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล คือ มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสักกายทิฏฐิ หรือเป็นอัตตานุทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็กลัวใช่ไหมว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง จะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์หรือเปล่า เคยคิดอย่างนี้บ้างไหม
โลภะเป็นสภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ อย่าลืม ขณะใดที่มีความยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ในขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ ไม่ใช่ลักษณะของทิฏฐิ ถ้าเป็นลักษณะของทิฏฐิแล้ว เป็นสภาพที่เห็นผิด ยึดถือในความเห็นที่ผิด ขณะนั้นเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังตื่นขึ้นมา และเห็นสิ่งที่พอใจ หรือเกิดคิดนึกถึงความต้องการเรื่องหนึ่งเรื่องใดวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ในขณะนั้นเป็นอะไร ลองคิดดู จะเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือทิฏฐิคตวิปปยุตต์
ต้องเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เพราะว่าในขณะนั้นไม่ได้มีความยึดถือหรือว่ายึดมั่นความเห็นใดๆ เป็นแต่เพียงโลภะ ความติดข้อง ความพอใจในสิ่งที่กำลังเป็นอารมณ์อยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ก็ยังดี ใช่ไหม ที่มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีแต่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งความเห็นผิดนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะทำให้หลงผิด ไม่สามารถที่จะหันกลับมาสู่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกได้
ถ. ในชีวิตประจำวัน ขณะที่สติไม่เกิด มองเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นสิ่งของอะไรอย่างนี้ จะเป็นความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ไหม
สุ. ถ้าความเห็นผิดเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า นี่เป็นสัตว์ เป็นบุคคลแน่นอน ใครจะบอกว่า ไม่ใช่ นี่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ก็ ไม่ยอม ยังยึดถือว่าต้องมีสัตว์ มีบุคคล ขณะที่มีความยึดถือ มีความเห็นอย่างนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด แต่เวลาปกติธรรมดา มีความพอใจในรสอาหาร เวลารับประทานอาหาร ไม่ได้มีความคิดเรื่องนี้เลย เป็นแต่ลักษณะของความยินดีพอใจที่เกิดขึ้นในรสที่กำลังลิ้ม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีการแยกพระโสดาบันกับปุถุชนได้เลย เพราะพระโสดาบันบุคคลเป็นผู้ที่ดับมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดไม่เกิดอีกเลย ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดความเห็นผิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่พระโสดาบันบุคคลยังมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ไม่มีความเห็นผิด
ถ. อย่างในขณะนี้ สภาพที่ปรากฏทางตาก็เห็นว่า เป็นสิ่งของ เป็นเก้าอี้ เพราะว่าสติไม่เกิด แต่อาจารย์บอกว่า เป็นเพียงสภาพของรูปธรรมไม่ใช่เก้าอี้ ก็เชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ประจักษ์แจ้งว่า นี่เป็นเพียงรูปธรรม คือ ยังเห็นว่าเป็นเก้าอี้อย่างนี้จะเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์หรือเปล่า
สุ. เพราะฉะนั้น ยังมีอนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังมีสักกายทิฏฐิที่เป็นอนุสัยกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับ ความหมายของอนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังมีอยู่ ไม่ได้หมายความว่า ดับหมดแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นในขณะนั้น
อย่างเวลาที่นอนหลับสนิท ผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันบุคคลมีทิฏฐานุสัย คือ ความเห็นผิดอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นกระทำกิจการงาน แต่ว่ายังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
เวลาที่เห็นและรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะนั้นไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิก็ได้ ไม่ใช่สักกายทิฏฐิก็ได้ เพราะแม้พระอรหันต์เห็น ก็ยังรู้ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นแล้วพระอรหันต์ก็ยังต้องมีสักกายทิฏฐิอยู่ ใช่ไหม แม้แต่พระโสดาบันบุคคลดับมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดทุกประเภทไม่เกิดอีกเลย แต่เมื่อพระโสดาบันบุคคลเห็น ดับไปแล้ว ก็มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีการไปยับยั้งว่า ไม่ให้นึกถึง เพราะนี่เป็นจิตตนิยาม เป็นธรรมเนียมของจิต ซึ่งการรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะต้องรู้ทั้ง ๒ ทวาร คือ เมื่อรู้สี รูปารมณ์ทางจักขุทวารดับไปแล้ว ทางมโนทวารจะเกิดขึ้นรับรู้สีนั้นต่อ เวลาที่ได้ยินเสียงทางโสตทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะรู้เสียงนั้นต่อ ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ก็ตามที่ปรากฏ ชวนวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทั้ง ๒ ทวาร คือ ทางทวารหนึ่งทวารใดในปัญจทวาร และทางมโนทวาร หลังจากภวังคจิตที่เกิดคั่นดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิเป็นความเห็นผิด แต่ไม่ใช่เป็นการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานและรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร
ถ. หมายความว่า ขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ไม่จำเป็นต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป
สุ. ไม่ใช่สักกายทิฏฐิเสมอไป เป็นวิถีจิต เป็นธรรมเนียมของจิตที่จะเกิดสืบต่อกัน
ถ. ถึงแม้ว่าสติไม่เกิด
สุ. เวลานั้นไม่มีความเห็นใดๆ ไม่มีการยึดถือ ยึดมั่นในสักกายะว่า เป็นเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ไม่เกิด ไม่ดับ หรืออะไรอย่างนั้น
ถ. มิจฉาทิฏฐิกับสักกายทิฏฐิต่างกันอย่างไร
สุ. ต่างกันที่ว่า สักกายทิฏฐิเป็นความเห็นผิดธรรมดา ซึ่งไม่กั้นมรรคผลและสวรรค์ เพราะเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือในสิ่งที่ประชุมรวมกัน และไม่รู้ถึงความ ไม่เที่ยง ความเกิดดับของสิ่งนั้น มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เวลานี้มีมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นรูปร่างสัณฐาน
ถ. ผมได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยพระภิกษุที่มีชื่อเสียง อ่านไปแล้วปรากฏว่า ในความเห็นของผม ผมคิดว่า เข้าลักษณะของมิจฉาทิฏฐิ เพราะท่านปฏิเสธนรก สวรรค์ โลกหน้าทั้งหมด
สุ. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ถ. ถ้าเช่นนั้นท่านจะอยู่ได้อย่างไร ท่านเป็นภิกษุที่มีชาวบ้านนับถือมากมายด้วย ท่านแสดงว่า นรก สวรรค์ในโลกหน้านั้นไม่มี แต่อยู่ในโลกนี้ทั้งหมด อย่างนี้ก็หมายความว่า ปฏิเสธพุทธศาสนาทั้งสิ้นเลย เพราะว่ามูลฐานของพระพุทธศาสนานั้น อยู่ที่การกระทำความดี และผลที่จะได้รับก็ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งหมายรวมถึงโลกหน้าด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีนรก สวรรค์ในโลกหน้า ก็ปฏิเสธพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง ลักษณะอย่างนี้จะเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่
สุ. ตอบแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ถ. ปุถุชนที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ย่อมมีอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ใช่ไหม
สุ. ถ้าขณะนั้นไม่เกิดขึ้นกระทำกิจการงาน เป็นเพียงอนุสัยกิเลส ไม่ชื่อว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่เวลาที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น และประกอบด้วยความเห็นผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยความเห็นผิด
ถ. พระโสดาบันบุคคลกับปุถุชน มีความต่างกันตรงที่พระโสดาบันบุคคลดับทิฏฐิคตสัมปยุตต์หมดแล้ว
สุ. เพราะดับทิฏฐานุสัย
ถ. ดับทิฏฐานุสัยหมดแล้ว แต่พระโสดาบันบุคคลก็ยังมีโลภะที่เป็น ทิฏฐิคตวิปปยุตต์อยู่ ใช่ไหม ยังมีความยินดีพอใจในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในกลิ่นในรส ในสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว เหล่านี้ ก็ยังมีความยินดีพอใจอยู่ แต่ ไม่มีความยึดถือว่า นามรูปทั้งหลายนั้นเป็นตัวตน ใช่ไหม แตกต่างกันตรงนี้