แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1012

เพราะฉะนั้น นอกจากนิพพานแล้ว ธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นสังขารธรรม นิพพานไม่ใช่สังขารธรรม เป็นวิสังขารธรรม แต่สำหรับสังขารธรรม ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก รูป ยังจำกัดออกไปอีกว่า จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์ รูปทั้งหมดแต่ละรูป ทุกรูปเป็นรูปขันธ์ สำหรับเจตสิก ๕๒ ประเภท เวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ ดวง เป็นสังขารขันธ์

สังขารขันธ์ หมายเฉพาะเจตสิก ๕๐ เว้นเวทนาและสัญญา แต่สังขารธรรม หมายทั้งจิต เจตสิก และรูป เพราะฉะนั้น สังขารธรรมมีความหมายกว้างกว่า สังขารขันธ์ เพราะว่าสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นและดับไปเป็นสังขารธรรม แต่ในธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไปซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูปนั้น เฉพาะเจตสิก ๕๐ เท่านั้นที่เป็นสังขารขันธ์

และในเจตสิก ๕๐ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ยังหมายเฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียวเท่านั้นที่เป็นอภิสังขารในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะทราบว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร และสังขารนั้นหมายถึงอภิสังขาร คือ สภาพของเจตสิกซึ่งเป็นเจตนา เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือ ทำให้เป็นกุศลหรืออกุศลซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างหน้า

ในเมื่อเจตสิกอื่นก็ปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้น เช่น ผัสสเจตสิก ถ้าไม่มีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ การเห็นก็มีไม่ได้ การได้ยินก็มีไม่ได้ การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ ก็มีไม่ได้ แต่ว่าผัสสเจตสิกไม่ใช่อภิสังขาร

เพราะฉะนั้น ในสังขารขันธ์ ๕๐ เฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียวเท่านั้นที่เป็น อภิสังขาร คือ เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่งให้เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม

สำหรับอวิชชา ซึ่งเป็นปัจจัยแก่สังขารในปฏิจจสมุปบาท สังขารนั้น ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร

ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาซึ่งเกิดกับกุศลจิต อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาซึ่งเกิดกับอกุศลจิต และอเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอรูปฌานกุศลจิต ซึ่งเป็นกุศลที่ไม่หวั่นไหว

สำหรับกามาวจรกุศลหวั่นไหวง่าย คือ เกิดขึ้นเพียงชั่ว ๗ ขณะและดับไป และไม่มาก คือ เดี๋ยวอกุศลก็เกิดอีกแล้ว การที่จะให้ทาน หรือการที่จะวิรัติทุจริต เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หลังจากนั้นอกุศลจิตก็เกิดมากมาย มากกว่ากุศล

สำหรับอเนญชาภิสังขารเป็นอรูปฌานขั้นสูง ซึ่งจิตในขณะนั้นไม่หวั่นไหวเพราะรูป และสามารถที่จะตั้งดำรงอยู่ได้นาน และการให้ผลก็ให้ผลอย่างไพบูลย์ คือ ทำให้เกิดในอรูปพรหม ซึ่งมีอายุที่ยืนยาวมาก

การเกิดในสวรรค์ก็เป็นสุข คือ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทุกข์ยากลำบากกายเหมือนอย่างในภูมิมนุษย์ หรือว่าในอบายภูมิ และมีอายุที่ยืนยาว แต่ก็ยังไม่ยืนยาวเท่ากับพรหมโลก และสำหรับพรหมโลกซึ่งเป็นรูปพรหมก็ยังมีอายุที่ไม่ยืนยาวเท่ากับ อรูปพรหมภูมิ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เฉพาะเจตนาในอรูปฌานกุศลเท่านั้นที่เป็นอเนญชาภิสังขาร

เพราะฉะนั้น สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ เว้นเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิก

และอภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๑ ดวง ในสังขารขันธ์ ๕๐

สำหรับการจำแนกจิตโดยความต่างกัน โดยประเภทของอสังขารและสสังขาร แสดงให้เห็นว่า แม้กุศลจิตก็ตาม หรืออกุศลจิตก็ตาม ซึ่งประกอบด้วยเจตนาเจตสิก ก็ยังมีความต่างกันออกไปโดยประเภทที่เป็นอสังขารและสสังขาร ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความอธิบายว่า

ชื่อว่าสสังขาร เพราะเป็นไปกับด้วยสังขาร

สังขารในที่นี้ หมายความถึงเครื่องชักจูงด้วยตนเอง หรือโดยผู้อื่นชักชวน หรือสั่งให้กระทำ

นี่เป็นสภาพของจิตในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม บางครั้งเกิดขึ้นเองโดยอาศัยการสะสมในอดีตมีปัจจัยแรงกล้าที่จะทำให้กุศลหรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นเอง มีกำลัง ไม่ต้องอาศัยเครื่องชักจูงใดๆ เลย ซึ่งจิตในขณะนั้นเป็นอสังขาร ไม่ต้องอาศัยเครื่องชักจูง

แต่ว่าบางครั้ง บางขณะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามเกิดขึ้น มีกำลังอ่อน เพราะว่าอาศัยเครื่องชักจูง ได้แก่ ตัวเองก็ได้ จะเป็นการชักจูงของจิตก่อนๆ ของตนเองก็ได้ หรือว่าจะโดยการชักจูงของบุคคลอื่นก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ยังต่างกัน ที่บางขณะเป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกำลังแรงเกิดขึ้น โดยการสะสมของตนเองเป็นปัจจัย และบางครั้งบางขณะก็เป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกำลังอ่อน ต้องอาศัยเครื่องชักจูง ซึ่งอาจจะได้แก่จิตของตนเอง หรือว่าการชักชวนของบุคคลอื่น ก็ได้

. ที่ว่าสสังขารและอสังขารนี้ ตามพยัญชนะก็อย่างที่อาจารย์กล่าวแล้วว่า อาศัยการชักจูง คือ สสังขาร ถ้าอสังขารไม่ต้องอาศัยการชักจูง เพราะฉะนั้น อสังขาร กำลังจึงมีมากกว่า แต่โดยการปฏิบัติอยากจะรู้ว่า ชักจูงนั้นหมายถึงอย่างไร และไม่ชักจูงหมายถึงอย่างไร เช่น ผมเห็นรถยนต์รุ่นใหม่สวยงามมาก อยากจะได้ ขณะที่คิดอย่างนั้น เป็นสสังขาร หรืออสังขาร

สุ. อสังขาร

. บางคนเขาบอกว่าเป็นสสังขาร เพราะว่ารูปของรถยนต์มาชักจูง

สุ. ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีอสังขาร โดยนัยนั้นไม่มีอสังขารเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โดยความต่างกันของจิตที่เป็นอสังขารและ สสังขารนั้นคืออย่างไร

บางครั้งอกุศลจิตเกิด มีกำลังแรงกล้าทันทีด้วยตนเอง เพราะว่าสะสมมาที่จะให้เกิดความยินดีพอใจหรือความไม่พอใจในขณะนั้นตามการสะสมทันที เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตที่มีกำลังแรงกล้าที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชักจูงใดๆ เลย แต่ว่าบางครั้งไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศลก็ตาม มีกำลังอ่อน เคยรู้สึกอย่างนั้นไหม

ไม่ค่อยอยากจะไปดูหนัง หรือละครก็เหมือนกัน แต่ถ้ามีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงชักชวนก็ไป จิตในขณะนั้นพอที่จะบอกได้ด้วยตัวเองไหมว่า อยากจะไปหรือเปล่า ไม่ดูก็ได้ ไม่ดูก็ดี แต่ว่าเมื่อมีใครชวนก็ไป ไม่ใช่ว่าจะไม่ไป เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นจิตที่อ่อน หรือไม่อ่อน เพราะถ้าตามลำพังคนเดียวตัวเองก็คงจะไม่ไป หรือว่าบางครั้งก็นึกว่า หนังเรื่องนี้ก็คงจะดี น่าดู คงจะสนุก ก็อยากจะไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่ไป เพราะยังไม่มีกำลังกล้าที่ว่าไปทันที เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความต้องการยินดีที่จะไปทันทีได้ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังกล้า หรือขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอกุศลที่เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือว่าเป็นฝ่ายกุศลก็ตาม บางคนก็มีคนชวนไปทอดกฐิน เมื่อทราบข่าวว่ามีการทอดกฐิน บางท่านก็อยากจะไปทันทีด้วยตัวเอง และก็ชักชวนคนอื่นด้วย แต่สำหรับบางคนถึงแม้ว่าจะถูกชักชวน แต่ถ้าคนนี้ไม่ไป คนนั้นไม่ไป ก็ไม่ไป อย่างนั้นเป็นจิตที่อ่อน หรือว่าจิตที่มีกำลังแรงกล้า

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกุศลหรืออกุศล สภาพของจิตนี้ต่างกัน แม้ว่าจะมีเจตสิกประกอบเท่ากันทางฝ่ายกุศลก็ตาม แต่ว่ากำลังของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นแรงกล้าหรือว่าอ่อน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น และให้ทราบถึงความละเอียดของจิตว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง ก็เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นกุศลที่เป็นอสังขารหรือและสสังขาร เจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตนั้นก็มีจำนวนเท่ากัน ไม่ต่างกันเลย แต่แม้กระนั้นลักษณะของจิตก็ต่างกันเพราะกำลังของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นลักษณะที่ต่างกัน พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงประเภทของจิตว่า ต่างกันโดยเป็นอสังขารและสสังขาร

และเพื่อให้เห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ขอกล่าวถึงข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงอนันตะ ความกว้างใหญ่ที่สุด ๔ อย่างว่า

ในทีนี้ท่านถือเอาอนันตะ ๔ อย่าง ก็อนันตะ ๔ อย่าง คือ ... อากาศเป็น อนันตะไม่มีที่สุด ๑ จักรวาลเป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ สัตตนิกาย คือ หมู่สัตว์ เป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ พุทธญาณเป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑

จริงอยู่ การกำหนดอากาศว่า ในทิศบูรพา หรือในทิศประจิม ในทิศอุดร ในทิศทักษิณ มีเท่านี้ร้อยโยชน์ หรือเท่านี้พันโยชน์ ย่อมไม่ได้

จริงหรือไม่จริง ลองกำหนดอากาศทางทิศตะวันออก มีเท่าไร กี่โยชน์ กี่ร้อยโยชน์ กี่พันโยชน์ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย

ซึ่งข้อความในอรรถกถาอุปมาว่า

แม้จะพึงเอาค้อนเหล็กขนาดเท่าเขาสิเนรุทุบแผ่นดินให้แยกเป็น ๒ ส่วน แล้วโยนให้ตกไปข้างล่าง ก็หามีที่รองรับไว้ไม่

คือ โลกของเรานี้ถ้าจะทำให้แตก ก็โดยการเอาค้อนเหล็กขนาดเท่ากับเขาสิเนรุมาทุบให้แยกออกเป็น ๒ ส่วน และโยนลงไป ก็ตกลงไปๆ เรื่อยๆ ได้ เพราะว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุด

การกำหนดจักรวาลทั้งหลายว่า มีกี่ร้อยกี่พัน หรือกี่แสนจักรวาล ย่อมไม่ได้ จริงอยู่ แม้ถ้าท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ที่เกิดในชั้นอกนิฏฐภพ (เป็นรูปภูมิที่สูงที่สุด ได้แก่ สุทธาวาสชั้นที่ ๕ คือ ชั้นอกนิฏฐ) ผู้มีความเร็วขนาดที่สามารถผ่านแสนจักรวาลไปได้ชั่วเวลาเพียงเท่าที่ลูกศรที่เบามากของนายขมังธนูที่มีกำลังแข็งแรงผ่านเงาตาลด้านขวาง จะพึงวิ่งมาด้วยความเร็วขนาดนั้นด้วยคิดว่า เราจักดูขอบแห่งจักรวาล ท้าวมหาพรหมเหล่านั้น ไม่ทันได้เห็นขอบแห่งจักรวาลก็จะพึงปรินิพพานเสียก่อนโดยแท้ จักรวาลทั้งหลายจึงชื่อว่าเป็นอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้

ใครอยากจะนับดาว นับจักรวาล อยากจะทำอะไร ก็ไม่มีวันที่จะสำเร็จ เพราะจักรวาลเป็นอนันตะไม่มีที่สิ้นสุด

ก็ในจักรวาลทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ประมาณแห่งสัตว์ที่อยู่ในน้ำและอยู่บนบก ย่อมไม่มี สัตตนิกายจึงชื่อว่าเป็นอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้

นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนพอที่จะเห็นได้ว่า เป็นอย่างนี้

อนันตะที่ ๔ คือ พุทธญาณ

พุทธญาณ ชื่อว่าเป็นอนันตะแท้ แม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น

อากาศก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีใครสามารถที่จะไปวัดว่า กี่ร้อย กี่พัน กี่แสนโยชน์ หรือจักรวาลก็ไม่มีใครสามารถจะนับได้ว่า ทั้งหมดมีเท่าไร หรือว่า สัตตนิกาย คือ หมู่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในจักรวาล ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปทำสถิติเอาไว้ว่า มีจำนวนเท่าไร ทั้งเทพ ทั้งพรหม ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ในอบาย แต่ว่า พุทธญาณ ชื่อว่าเป็นอนันตะ คือ ไม่มีที่สิ้นสุด แม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น

บรรดาสัตว์หาประมาณมิได้ในจักรวาล อันหาประมาณมิได้อย่างนี้

เมื่อคิดถึงสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในจักรวาลว่า มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น จิตของสัตว์แต่ละบุคคลจะมากมายสักแค่ไหน

กุศลจิตที่เป็นกามาวจร สหรคตด้วยโสมนัส (คือ เกิดพร้อมกับโสมนัส) เป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นอสังขาริก (คือ เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยเครื่องชักจูง) ย่อมเกิดแก่สัตว์หนึ่งๆ มากมาย แม้สัตว์มีจำนวนมาก จิตก็เกิดขึ้นมากดวง

กุศลจิตไม่ใช่มีดวงเดียว คนหนึ่งจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็จริง แต่ไม่รู้ว่าจะมีจิตมากมายสักเท่าไรซึ่งนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น กุศลจิตที่เกิดแม้โดยประเภทที่เป็นกามาวจรกุศลซึ่งเกิดพร้อมกับปัญญา คือ เป็นญาณสัมปยุตต์และเป็นอสังขาริก คือ มีกำลังแรงกล้า และไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะดวงเดียว อย่างเดียว แต่ต้องเป็นไปต่างๆ ตามจำนวนของสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จิตก็เกิดขึ้นมากดวง

แต่กุศลจิตแม้ทั้งปวงเหล่านั้นเป็นอย่างเดียวกัน โดยอรรถว่า เป็นกามาวจร โดยอรรถว่า เกิดพร้อมกับโสมนัส โดยอรรถว่า เป็นญาณสัมปยุตต์ และโดยอรรถว่า เป็นอสังขาริก พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดกามาวจรกุศลจิตแม้ทั้งปวง ที่เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ในจักรวาลทั้งหลายหาประมาณมิได้อย่างนี้ ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ดุจว่าทรงชั่งด้วยตราชั่งใหญ่ ประดุจทรงใส่ในทะนานนับอยู่ฉะนั้นแล้ว และทรงกระทำให้เป็น ๘ ส่วนเท่านั้น ทรงแสดงว่าจิตเหล่านั้นมี ๘ ดวงพอดี โดยอรรถที่บัณฑิตพึงเห็นพ้องด้วย (คือ คัดค้านไม่ได้)

แสดงถึงว่าแม้กุศลจิตจะมีมากที่เป็นกามาวจร แต่ว่าพระผู้มีพระภาคก็ทรงนับกุศลที่เป็นกามาวจรที่เป็นมหากุศลนั้นว่า มี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ เพราะว่าโดยความต่างกันของเวทนาที่เป็นอุเบกขาและโสมนัส โดยความต่างกันของที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยความต่างกันของที่เป็นอสังขารและสสังขาร

. ผมยังติดใจเรื่องสังขาร เมื่อครู่นี้ที่อาจารย์ยกมา ๒ ตัวอย่าง เป็นกุศลตัวอย่างหนึ่ง เป็นอกุศลตัวอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์ยกมาเป็นการชักจูงด้วยวาจา เพราะฉะนั้น การชักจูงนี้ ชักจูงได้ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างการชักจูงด้วยใจ

สุ. ไม่ใช่ใจคนอื่น แต่ใจของตัวเอง ทีแรกก็ไม่สนใจ คิดไปคิดมาก็ดีเหมือนกัน สมมติว่าอ่านพบในหนังสือพิมพ์ก็ตาม จะมีการประกาศเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม อาจจะเป็นโฆษณาหนังหรืออะไรก็ได้ ซึ่งรู้สึกว่าจะสนุกดี ทีแรกก็อาจจะไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่พอคิดไปคิดมาก็เกิดความสนใจขึ้น ไปดีกว่า อย่างนั้นได้ไหม

. ได้

เปิด  253
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566