แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1013
สุ. จิตที่เป็นสสังขาริกหรือสสังขาร หมายความถึงจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง จึงมีกำลังอ่อน ซึ่งการชักจูงนั้นอาจจะเป็นด้วยจิตของตนเอง เพราะว่าไม่ใช่เป็นจิตที่เกิดแรงกล้ามีกำลังขึ้นในทันที แต่ต้องเป็นจิตที่มีสภาพลังเลไปลังเลมา คิดไปคิดมาก็เกิดเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทนั้นๆ ขึ้น เหมือนการทำบุญ บางท่านก็คิดอยากจะทำบุญ แต่อาจจะไม่สะดวกเพราะต้องเดินทางไป หรือว่าต้องอะไรๆ หลายอย่าง แต่หลังจากคิดไปคิดมาแล้วก็ไป นั่นเป็นจิตที่ไม่แรงกล้าในทันที แต่ถ้าเป็นจิตที่แรงกล้า มีกำลังกล้าในทันที ถึงจะลำบากอย่างไรก็ไป นั่นแสดงให้เห็นถึงสภาพของจิตที่มีกำลัง เป็นอสังขาร มีความเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น และสามารถที่จะกระทำสิ่งนั้นลงไปทันทีได้ โดยไม่ต้องอาศัยการคิดไปคิดมาซึ่งแสดงว่าจิตนั้นเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน
ถ. ต่างกันตรงที่ลังเล ตัวอย่างที่ผมว่า เห็นรถยนต์สวย และอยากได้ ถ้าเห็นครั้งแรกอยากได้ แต่เงินของเราก็ยังไม่พอ อย่างนี้ก็เป็นสสังขาร
สุ. ถ้ามีกำลังอ่อน แทนที่จะคิดถึงว่ามีใครมาชวนหรือเปล่า นั่นเป็นเหตุภายนอก ไม่ต้องคำนึงถึง
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็น จิตตานุปัสสนา ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจิตโดยประเภทของสสังขารและอสังขาร ควรที่จะได้ทราบว่าเพื่อประโยชน์อะไร การศึกษาธรรมไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรม เพื่อประโยชน์อะไร การศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป เพื่อประโยชน์อะไร การรู้ว่าจิตเป็นอสังขารบ้าง สสังขารบ้าง เพื่อประโยชน์อะไร
ประโยชน์สูงที่สุดก็เพื่อให้สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นที่มีลักษณะสภาพอย่างนั้น และรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและก็ดับไป
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องของธรรมโดยละเอียด ก็เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งในเรื่องของสสังขารและอสังขารก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตประเภทใดๆ อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดหนึ่ง หมวดใด แสดงว่าประโยชน์ที่ทรงแสดงนั้น เพื่อให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ถึงแม้จิตจะเป็นอสังขาร ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือถึงแม้จิตจะเป็น สสังขาร มีกำลังอ่อน ในขณะนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ. พราหมณ์ที่จะถวายผ้าสาฎกแก่พระพุทธเจ้าคงเป็นสสังขาร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ถ้าพราหมณ์นั้นถวายตอนปฐมยาม พราหมณ์นั้นจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ตอนปฐมยามนั้น พอชักออกมาจะถวาย พราหมณ์ก็คิดว่า เรามีอยู่ผืนเดียว ถ้าถวายไปก็หมด เมียก็ไม่มีใช้ เราก็ไม่มีใช่ จึงเก็บไว้ก่อน
สุ. เรื่องของจิตและการให้ผลของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจเรื่องลักษณะของจิตที่เป็นอสังขารและสสังขารที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นอย่างไร ที่เกิดกับกุศลจิตเป็นอย่างไร มีประโยชน์ที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น โดยเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นประโยชน์ที่จะเห็นว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
ท่านผู้ฟังเคยง่วง เคยเพลีย เคยเบื่อไหม บางทีก็มีจิตคิดอยากจะทำกุศลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่แล้วก็อ่อนเพลียไป หรือว่าเกิดความง่วงขึ้น สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตในขณะนั้นไหม ถ้าไม่ระลึก ก็เป็นเรา ไม่มีทางที่จะดับอนุสัยกิเลสที่ยึดถือสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ เพราะว่าความง่วงมีจริง ความท้อถอย ความท้อแท้ ความเหนื่อยหน่าย ความรู้สึกอ่อนเพลียมีจริง ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง เมื่อไรจะถ่ายถอนความยึดถือสภาพธรรมนั้นและรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงลักษณะของจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป ซึ่งแสดงโดยประการต่างๆ เช่น โดยประเภทที่เป็น อสังขารและสสังขาร ที่เป็นโลภะเป็นอสังขารก็มี เป็นสสังขารก็มี ที่เป็นโทสะเป็น อสังขารก็มี เป็นสสังขารก็มี ที่เป็นกุศลเป็นอสังขารก็มี เป็นสสังขารก็มี ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน และจะรู้ได้มากขึ้นเวลาที่สติไม่หลงลืมที่จะระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนั้น ถ้าเป็นความรู้สึก เป็นลักษณะของจิตแล้ว ไม่ใช่รูป
ความท้อแท้ ความท้อถอย ไม่ใช่รูป เป็นลักษณะของจิต ในขณะนั้นเป็นสสังขาริก หรืออสังขาริก ก็พอที่จะทราบได้ใช่ไหมว่า ในขณะนั้นเป็นสสังขาร เพราะเป็นจิตที่ไม่มีกำลังแรงกล้า
เพราะฉะนั้น อย่าคิดถึงเหตุการณ์ภายนอก หรือว่าสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อที่จะวินิจฉัยว่า จิตนั้นเป็นสสังขารหรืออสังขาร แต่ควรจะเป็นเพราะสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต และรู้ว่าจิตนั้นมีกำลัง หรือว่าไม่มีกำลัง ถ้าขณะนั้นเป็นจิตที่ ไม่มีกำลัง ไม่ต้องคิดถึงเลยว่าเพราะอะไร เพราะมีคนมาชักชวน หรือเพราะเขาชักชวนหรือเปล่าจิตนั้นจึงเป็นสภาพที่อ่อนกำลัง แต่ว่าในขณะใดก็ตามที่จิตเป็นสภาพที่ อ่อนกำลัง ในขณะนั้นเป็นสสังขาร จะโดยจิตของตนเองลังเลและก็ชักจูง หรือว่าบุคคลอื่นก็ได้
สำหรับโดยประเภทของอสังขารและสสังขาร มีเฉพาะในกามาวจรจิตที่จำแนกจิตออกเป็นโดยสสังขารและอสังขาร เพราะว่ากามาวจรจิตเป็นจิตที่ภูมิต่ำสุด ระดับขั้นต่ำที่สุด ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นจิตในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึกเรื่องราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งในบางครั้งก็มีกำลังแรงกล้า และในบางครั้งก็มีกำลังอ่อน ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น สำหรับจิตซึ่งเป็นกามาวจรจิต โดยประเภท ต่างกันเป็นอสังขารก็มี สสังขารก็มี
แต่สำหรับจิตระดับที่สูงกว่า คือ รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิต เมื่อจัดโดยประเภทของสังขารแล้ว เป็นสสังขาร ฌานจิตเป็นสสังขาร อรูปฌานจิตเป็นสสังขาร โลกุตตรจิตเป็นสสังขาร เพราะจิตเหล่านี้เกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยการอบรม การเจริญ จนกว่าจิตนั้นๆ จะเกิดขึ้น แต่ว่าจิตนั้นๆ จะเกิดขึ้นตามลำพังเอง วันนี้โลกุตตรจิตจะเกิดขึ้นมาเอง หรือว่ารูปฌานจิตจะเกิดขึ้นมาเอง หรือว่าอรูปฌานจิตจะเกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานจิต อรูปฌานจิต หรือโลกุตตรจิต ต้องมีมหากุศลจิตเกิดก่อน เพราะฉะนั้น เป็นจิตซึ่งต้องอาศัยการอบรม การเจริญภาวนา จึงจะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้จิตภูมิอื่น คือ รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และ โลกุตตรจิต จึงเป็นสสังขาร
ถ. รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตตรกุศล อาจารย์กล่าวว่า เป็นสสังขาริก อาศัยอะไรชักชวน
สุ. มหากุศลต้องเกิดก่อน จิตเหล่านั้นจึงจะเกิดได้ ต้องอาศัยการอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะโดยสมถภาวนา หรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ตาม อยู่ดีๆ กำลังเห็น โลกุตตรจิตจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ หรือว่าอยู่ดีๆ กำลังมีสีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏ มีเสียงปรากฏ รูปฌานจิต หรืออรูปฌานจิตจะเกิดเหมือนอย่างโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่ากามาวจรกุศล เป็นไปไม่ได้
ถ. กามาวจรจิตจะไปชักชวนให้รูปฌานจิต และอรูปฌานจิตเกิดอย่างนั้นหรือ
สุ. ในวิถีของรูปฌานจิต อรูปฌานจิต และโลกุตตรจิต ต้องมีกามาวจรกุศลจิตเกิดก่อน ฌานจิตจึงจะเกิดได้ โลกุตตรจิตจึงจะเกิดได้
ถ. ใช่ ในมรรควิถี มี ...
สุ. มีบริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู ไม่ว่าจะเป็นวิถีของรูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกุตตระ ต้องมีมหากุศลจิตเกิดก่อน
ถ. บริกรรม อุปจาระ เป็นกามจิต เป็นจิตเกิดขึ้นมาชักชวนฌานจิต หรือโลกุตตรจิตอย่างนั้นหรือ
สุ. เป็นเครื่องชักจูง แสดงให้เห็นว่า อยู่ดีๆ รูปฌานจิต อรูปฌานจิต โลกุตตรจิตจะเกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยการเจริญ การอบรมอย่างมากด้วย
เพราะฉะนั้น โดยความต่างกันที่เป็นอสังขารและสสังขาร จึงมีเฉพาะในกามาวจรจิตเท่านั้น สำหรับรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ทั้งหมดเป็นสสังขาร
ใครก็ตามไม่อบรมเจริญปัญญา หวังรอที่จะให้โลกุตตรจิตเกิด ก็ทราบได้ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือถ้าไม่รู้เรื่องของการอบรมเจริญสมถะ คือ ความสงบของจิตจนกระทั่งจิตค่อยๆ สงบขึ้นเป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงการประกอบด้วยความสงบที่ลักษณะของสมาธิปรากฏกับความสงบในขณะนั้นเป็นขั้นๆ รูปาจรจิต หรือ อรูปาวจรจิตจึงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ก็ไม่มีทางที่อยู่ดีๆ ฌานจิตและโลกุตตรจิตจะเกิดขึ้นได้ และความสำคัญ ไม่ใช่คอยดูว่า อะไรชวน ใครชวน หรือใครไม่ชวน แต่ว่าให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นจิตที่มีกำลังกล้า หรือเป็นจิตที่อ่อนกำลัง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ต่อไปจะได้ทราบว่า กามาวจรจิตประเภทไหนบ้างที่เป็นอสังขาริกหรือสสังขาริกซึ่งเป็นได้ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล และสามารถพิจารณาสังเกตรู้ได้ในชีวิตประจำวัน
แต่ว่าเรื่องความละเอียดปลีกย่อยของแต่ละบุคคล ทุกท่านจะทราบได้เอง อย่างบางท่านที่มาฟังธรรม ต้องอาศัยใครชักชวนหรือเปล่า ตอนแรกอาจจะมีผู้ชักชวน ไม่ได้อยากมาเอง แต่ถูกชักชวนจึงมา ภายหลังจึงมาเอง เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิตก็ต่างกัน ไม่ใช่ว่าจะมีแต่สสังขาริกตลอดไป หรือว่าอสังขาริกตลอดไป อย่างท่านที่ถูกชวนไปดูหนัง ตอนถูกชวนไปก็เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน แต่ถ้าหนังสนุก ตื่นเต้น หัวเราะสนุกสนาน ในขณะนั้นไม่ใช่จิตที่มีกำลังอ่อนแล้ว ใช่ไหม ไม่ต้องมีใครมาชวนให้หัวเราะ ไม่ต้องมีใครมาชวนให้สนุก ในขณะนั้นเองจิตเกิดความรู้สึกสนุก หรือว่าหัวเราะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ด้วยตนเอง เป็นอสังขาริก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จิตทั้งหลาย ไม่เที่ยง แม้ว่าจะเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นอย่างนี้ ครั้งต่อไปก็เป็นอีกอย่างหนึ่งตามเหตุ ตามปัจจัยได้
ต่อไปเป็นความต่างกันของจิตโดยสัมปยุตตธรรม ที่เป็นโดยเหตุ
สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ที่จะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยปัจจัยไม่มีเลย จะเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีปัจจัยอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อปรมัตถธรรมที่เป็น สังขารธรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป และเมื่อกล่าวถึงจิตที่ต่างกันโดยเหตุก็ควรที่จะได้ทราบว่า ธรรมที่ทรงแสดงว่าเป็นเหตุนั้นได้แก่อะไร
สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิกเป็นโลภเหตุ ๑ โทสเจตสิกเป็นโทสเหตุ ๑ โมหเจตสิกเป็นโมหเหตุ ๑ นี่เป็นอกุศลเหตุ ๓ และมี อโลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับโลภะ อโลภเจตสิกเป็น อโลภเหตุ ๑ อโทสเจตสิกเป็นอโทสเหตุ ๑ อโมหเจตสิกเป็นอโมหเหตุ ๑ รวมเป็นโสภณเหตุ ๓
สภาพธรรมที่ทรงแสดงว่าเป็นเหตุทั้งหมด ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเป็น อกุศลเหตุ ๓ และเป็นโสภณเหตุ ๓
เจตสิกอื่น นอกจากเวทนาและสัญญา เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ ปรุงแต่ง แต่ไม่ใช่เป็นเหตุ เพราะสภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นอุปมาเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ ซึ่งตราบใดที่ยังมีอยู่ ยังสมบูรณ์ ยังแข็งแรง ก็เป็นเหตุให้ต้นไม้นั้นเจริญ งอกงาม มีดอก มีผลมากมาย ฉันใด เหตุทั้ง ๖ เมื่อเกิดขึ้น ยังไม่ดับไป ก็ทำให้เจริญเติบโตเผล็ดผลต่างๆ เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ
ทุกท่านทราบดีว่า ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีอกุศลเหตุ ๓ ทั้งโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ และเมื่อเป็นพระอริยบุคคลก็ลดลงไปจนกระทั่งถึงเมื่อเป็น พระอรหันต์ ดับทั้งฝ่ายอกุศลเหตุ ๓ และกุศลเหตุ ๓ แต่ว่ามีอัพยากตเหตุ ซึ่งไม่ใช่ อกุศลเหตุและกุศลเหตุ
นี่เป็นความละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะสังเกตพยัญชนะที่ว่า เหตุมี ๖ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นโสภณเหตุ ๓ แทนที่จะใช้คำว่า เป็นอกุศลเหตุ ๓ และเป็นกุศลเหตุ ๓ ไม่ใช้คำนั้น แต่ใช้คำว่า เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นโสภณเหตุ ๓ เพราะถ้าเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล แต่ถ้าเป็นโสภณเหตุ หมายถึงเหตุที่ดี ซึ่งเกิดกับวิบากจิตและกิริยาจิตก็ได้
วิบากจิตไม่ใช่กุศลจิต กิริยาจิตไม่ใช่กุศลจิต แต่วิบากจิตที่ดีมีเหตุ ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุเกิดร่วมด้วยได้ เพราะฉะนั้น เมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสหมดสิ้น หมายความว่าอกุศลเหตุ ๓ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่เกิด และกุศลเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ไม่เกิด แต่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิด ซึ่งไม่ใช่กุศล แต่เป็นกิริยา เพราะไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า
นี่เป็นเหตุที่คำว่า โสภณ ไม่ได้หมายเฉพาะกุศลเท่านั้น แต่หมายความถึงกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้
เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่น่าคิด น่าสนใจ และจะต้องสอดคล้องกับธรรม อื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อทราบว่าปรมัตถธรรมมี ๔ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เมื่อกล่าวโดยเหตุ จิตไม่ใช่เหตุ เจตสิกที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ เจตสิกอื่นนอกจากนั้นทั้งหมดไม่ใช่เหตุ รูปไม่ใช่เหตุ นิพพานไม่ใช่เหตุ
สิ่งใดที่ไม่ใช่เหตุ ภาษาบาลีใช้คำว่า นเหตุ เพราะฉะนั้น มี เหตุ กับ นเหตุ เหตุ คือ เหตุ ส่วนนเหตุ คือ ไม่ใช่เหตุ
เพราะฉะนั้น จิตเป็นอะไร เป็นนเหตุ เจตสิกอื่น เช่น ผัสสะ เป็นนเหตุ เวทนาเป็นนเหตุ สัญญาเป็นนเหตุ เป็นต้น เจตสิกอื่นนอกจากเจตสิก ๖ ไม่ใช่เหตุ จึงเป็นนเหตุ
รูปเป็นอะไร เป็นนเหตุ
นิพพานเป็นอะไร เป็นนเหตุ