แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1017
อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งเป็น ฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความว่า
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้ แผนกหนึ่ง
คือ เจตสิกมี ๕๒ ประเภท แต่ว่าเวทนาเจตสิก ๑ แยกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ แยกเป็นสัญญาขันธ์ สำหรับเจตสิกอื่น ๕๐ ที่เหลือ รวมเป็นสังขารขันธ์ หมายความว่า เจตสิกแต่ละดวงทุกดวงของ ๕๐ ดวงนั้นล้วนเป็นสังขารขันธ์ จึงมีคำถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้ แผนกหนึ่ง
แก้ว่า เพราะเวทนาเป็นความยินดีในวัฏฏธรรม และสัญญาเป็นอุปกรณ์เกื้อหนุนความยินดีนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้ต่างหาก เพราะเป็นเหตุที่เป็นประธานแห่งสังสาร ฉะนี้แล
สมจริงดังคำที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า เพื่อแยกแสดงส่วนที่ยินดีในวัฏฏธรรมและส่วนที่คอยส่งเสริมส่วนที่ยินดีนั้นต่างหาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกขันธ์ ๒ อย่างขึ้นแสดงไว้
นี่เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน
เวทนา คือ ความรู้สึก เป็นสภาพที่ยินดีในวัฏฏะ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่สามารถดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ใน การคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ตราบใดลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดดับยังไม่ปรากฏ ใครจะแยกความรู้สึกยินดีเปลี่ยนให้เป็นความรู้สึกไม่ยินดีในสภาพธรรมซึ่งดูเสมือนเที่ยง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะคิดว่าไม่ยินดี แม้จะพูดว่าไม่ยินดี แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับ จะกล่าวไม่ได้ว่า เป็นความไม่ยินดีโดยแท้จริง ตรงกันข้าม กลับเป็นเพียงโทสะ ความเบื่อ ความระอา แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ความเกิดดับ
ถ. การทำอานาปานสติ ที่อาจารย์กล่าวว่า ในขณะที่เรากำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น ถ้าสติระลึกได้ว่า สภาพธรรมที่ลมเข้าไป เป็นรูป ใช่ไหม
สุ. ต้องมีเหตุผลตั้งแต่ในขั้นต้นที่จะเจริญอานาปานสติ คือ การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ ก่อนอื่นต้องทราบว่า ทำไมจึงจะระลึกลักษณะของลมหายใจ
ถ. เหตุที่ระลึกเพราะมีการหายใจเข้าไป อากาศที่เข้าไปในระหว่างช่องท้อง จนกระทั่งถึงเพดาน หรือจมูก หรือปาก ลักษณะนี้จะถือว่าเป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ได้ไหม
สุ. แต่ทำไมจะต้องลมหายใจ ทำไมตั้งใจที่จะระลึกที่ลมหายใจ
ถ. มิได้ หมายความว่า เมื่อเราหายใจเข้าไปเรารู้ว่า ลมที่เข้าไป ต้องเป็นลมหายใจแน่
สุ. ทุกคนกำลังหายใจ และอาจจะมีหลายคนที่ชอบ ที่จะให้มีสมาธิที่ลมหายใจแบบโยคะก็ได้
ถ. ที่ผมเรียนถามอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่าจะให้เป็นสมถะ แต่หมายความว่าให้สติระลึกรู้ว่า ลมที่เข้าไปนี้มีลักษณะที่ว่า เป็นสภาพธรรมที่ว่าเป็นรูป ความเข้าใจของผมถูกต้องไหม
สุ. ลมหายใจเป็นรูป ถูก
ถ. เมื่อลมหายใจเข้าไปกระทบเพดาน ปาก จมูก ก็ดี จะมีความรู้สึก อึดอัดอั้นอยู่พักหนึ่ง ลักษณะอัดอั้นอย่างนี้ จะถือว่าเป็นนาม สติระลึกว่า นี่เป็นนามได้ไหม
สุ. โดยมากทุกท่านทราบว่า มีนามธรรมกับรูปธรรม โดยชื่อ โดยการศึกษา โดยการฟัง แต่ว่าไม่ใช่รู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ หรือว่าลักษณะของรูปธรรมจริงๆ เพราะมักจะเกิดความสงสัยเสมอว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ซึ่งความสงสัยนี้จะหมดไปได้เมื่อรู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นสภาพความรู้สึก รูปธรรมต้องเป็นสภาพที่ไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น จึงจะเป็นรูปธรรม
ถ. มีความรู้สึกว่า ลมที่เข้าไปถึงเพดาน ถึงปาก ถึงจมูก มีความรู้สึกว่า อั้นอยู่ไม่ได้แล้ว ความรู้สึกเช่นนี้ ผมคิดว่าจะเป็นนาม จะถูกต้องไหม
สุ. ความรู้สึกทั้งหมดเป็นนามธรรม รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีรูป มีรูปซึ่งกำลังตึง ปรากฏในสภาพของความตึง
ถ. หมายความว่า ในขณะเดียวกันนั้น มีทั้งรูปและนาม ใช่ไหม
สุ. แน่นอน ไม่ว่าในขณะไหน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีทั้งนามธรรมและรูปธรรม
ถ. ขณะใดที่มีรูปธรรมเกิดขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีนามธรรมด้วย ใช่ไหม
สุ. นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม นามธรรมเป็นสภาพรู้
ถ. หมายความว่า เป็น ๒ ตอน
สุ. ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีทั้งนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ว่ามีแต่นามธรรมอย่างเดียว หรือรูปธรรมอย่างเดียว
ถ. ขณะที่มีนามธรรมและรูปธรรม ติดต่อกันไปเลยใช่ไหม
สุ. สภาพรู้ เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทีละอย่าง
ถ. หมายความว่า นามอาจเกิดก่อน หรือรูปอาจเกิดก่อนก็ได้ ใช่ไหม
สุ. แล้วแต่ว่านามธรรมจะเป็นอารมณ์ หรือรูปธรรมจะเป็นอารมณ์ ไม่จำเป็นจะต้องใช้คำว่า เกิดก่อน แล้วแต่ว่าขณะนั้นกำลังมีอะไรปรากฏ
ถ. ที่ผมเรียนถามนี้ เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่สมถะ ใช่ไหม
สุ. ทำไมจะสรุปง่ายๆ
ถ. ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
สุ. ต้องมีเหตุผล ทำไมจะระลึกที่นั่น และทำไมเรียกอาการอย่างนั้นว่า ลมหายใจ
ถ. ที่อาจารย์เคยบรรยายทางวิทยุ ลมหายใจที่เราหายใจเข้าไปเป็นรูป ลักษณะของการเป็นรูปนี้ เรารู้สภาพลมที่เข้าไป เข้าไปตามท้อง
สุ. ดิฉันบรรยายอย่างนั้นหรือ ลมเข้าไปตามท้อง หรือบอกว่า การรู้ลักษณะของลมหายใจ รู้ที่ช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก
ถ. ก่อนที่จะถึงริมฝีปาก ต้องไปจากท้องก่อน ใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่
ถ. ไม่ใช่หรือ
สุ. นั่นเป็นรูปที่สืบต่อของรูปลมหายใจ ซึ่งเกิดดับที่ช่องจมูก หรือที่เบื้องบนริมฝีปาก ลมหายใจซึ่งเกิดจากจิตจริงๆ เกิดปรากฏที่ช่องจมูก เกิดที่ไหนดับที่นั่น แต่ว่ามีรูปซึ่งเกิดดับสืบต่อจากลมหายใจ เข้าไปสู่ภายใน
ถ. หมายความว่า เป็นระยะหลังจากที่ลมหายใจเข้าไป
สุ. แต่เวลาที่จะรู้ลักษณะของลมหายใจที่ปรากฏ ที่เป็นรูปธรรมที่เกิดดับต้องรู้ที่ช่องจมูก หรือที่เบื้องบนริมฝีปาก ไม่ใช่ไปรู้รูปอื่นซึ่งเกิดต่อเพราะอุตุจากลมหายใจซึ่งเกิดดับสืบต่อเข้าไปภายในร่างกาย ถ้าเป็นรูปลมหายใจซึ่งเกิดเพราะจิตจะปรากฏที่ช่องจมูก หรือที่เบื้องบนริมฝีปาก เกิดที่ไหน ปรากฏที่ไหน ดับที่นั่น ไม่ใช่ให้ติดตามลงไปข้างในท้อง ลมหายใจเวลานี้ปรากฏที่ไหน
ถ. ที่จมูก
สุ. เท่านั้น ดับแล้ว
ถ. ส่วนที่จะมาที่อื่น
สุ. ไม่ใช่ลมหายใจ เป็นรูปที่เกิดสืบต่อจากลมหายใจซึ่งเกิดดับ เพราะธรรมดารูปที่เกิดจากอุตุ เมื่อเกิดและดับไปและก็มีรูปอื่นเกิดสืบต่อไป ปรากฏเป็น ลมหายใจเข้าจากช่องจมูกไปสิ้นสุดที่สะดือ และลมหายใจออกก็จากที่สะดือมาที่หัวใจ และสิ้นสุดที่ปลายช่องจมูก
ถ. การเจริญอย่างนี้ เป็นสติปัฏฐานหรือ
สุ. ทำไมใช้คำว่า เป็นสติปัฏฐานไหม จุดประสงค์นี้ต้องการอะไร
ถ. ต้องการรู้สภาพความเป็นจริงในขณะที่ปรากฏ
สุ. เป็นตัวตนที่ทำ หรือเป็นสติที่เกิดระลึกได้
ถ. เป็นสติที่ระลึกได้ว่า ขณะนั้นสภาพตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร
สุ. ถ้าเป็นสติซึ่งเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และศึกษา พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ รู้ในสภาพที่ปรากฏว่า เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ หรือเป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ชั่วขณะนั้น ในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ไม่ต้องถามใครเลยว่า เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า
ขณะใดที่มีความเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญา โดยที่มีการระลึกได้ที่จะศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และในขณะนั้นมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อสติเกิดขึ้น จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ และไม่ใช่เพียงแต่สติเกิดระลึกเท่านั้น ปัญญาจะต้องน้อมไปที่จะรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกระทั่งเป็นความรู้เพิ่มขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าลักษณะนั้นจะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นคือการเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ว่า เราจะทำสติ เราจะพยายามรู้อย่างนั้นอย่างนี้ เราต้องการที่จะให้สติรู้ที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน
ถ. ผมสงสัยลักษณะที่เข้าไปอั้นๆ อยู่นี้ว่า เป็นอะไร
สุ. ทุกอย่างที่ไม่รู้ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จะถามว่าอย่างนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เมื่อไม่รู้ก็ไม่ใช่ เป็นอะไร ก็คือไม่รู้ จะใช่สติปัฏฐานได้อย่างไร ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏ สติปัฏฐาน คือ ระลึกได้ ไม่ลืม ไม่ลืมว่า มีลักษณะที่กำลังปรากฏ ทางตามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าระลึกได้ในขณะนี้ว่า มีลักษณะสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ขณะนั้นสติระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และศึกษา โดยการที่ค่อยๆ พิจารณารู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงเป็นสติปัฏฐาน
แต่ถ้านั่งจ้อง ยังเป็นคนอยู่ ยังเป็นคนนั้น ยังเป็นคนนี้ ยังเป็นโต๊ะ ยังเป็นเก้าอี้ แม้ว่าจะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะว่าสิ่งที่เคยไม่รู้ มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และก็ปรากฏให้เห็นด้วย อย่างทางตามีสภาพธรรมปรากฏให้เห็นของจริง เป็นรูปธรรม แต่ความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ในขณะนี้ให้ทราบว่า รูปธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันอยู่ และนามธรรมซึ่งรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวและดับไป และก็เกิดดับสืบต่อกันอยู่ แต่เพราะว่าสภาพธรรมที่เกิดและดับไปอย่างรวดเร็วและมีสภาพธรรมอื่นเกิดดับสืบต่ออยู่ การไม่รู้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละขณะทำให้มีการยึดถือสัณฐานหรืออาการของสิ่งที่ปรากฏโดยความไม่ประจักษ์ความเกิดดับว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือสมมติ เริ่มสมมติแล้วใช่ไหม นี่คือการที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ เป็นอย่างไร และสภาพธรรมที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมนั้น คือเมื่อไร ขณะไหน
ทุกท่านก็ได้ยินคำว่า ปรมัตถสัจจะ กับ สมมติสัจจะ
ปรมัตถสัจจะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละอาการ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นสังขารธรรม ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป นั่นคือลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นและดับไป ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป
ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม คือ ไม่ได้รู้ลักษณะของจิต เจตสิก และรูปซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว ขณะนั้นทั้งหมดเป็น สมมติ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พอจะทราบได้ว่า คำว่า ปรมัตถธรรม ปรมัตถสัจจะ ได้แก่ จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพที่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมเกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต รูปปรมัตถ์ ไม่ใช่สภาพรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะสมุฏฐานต่างๆ เช่น บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม มีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน
ในขณะนี้เอง จิต เจตสิก รูป กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จนไม่ปรากฏอาการที่เกิดขึ้นและดับไปของจิต เจตสิก รูป เมื่อไม่รู้ปรมัตถสัจจะอย่างนี้ จึงถืออาการของรูปและนามซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือ สมมติ
ขณะนี้รูปกำลังเกิดดับ ทั้งภายในที่ตัวเอง และภายนอกที่ปรากฏ ที่เห็นทางตา หรือว่าได้ยินทางหู แต่ไม่ประจักษ์ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปแต่ละลักษณะ
รูปทางตาก็เกิดดับ รูปทางหูก็เกิดดับ รูปทางจมูกก็เกิดดับ รูปทางลิ้นก็เกิดดับ รูปทางกายที่กำลังกระทบสัมผัสก็เกิดดับ แต่เพราะไม่ประจักษ์ รูปที่เกิดดับสืบต่อกันทางตาจึงปรากฏสัณฐานอาการเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น นั่นคือ สมมติ
เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงอยู่ในโลกของ สมมติสัจจะ มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการโดยสัณฐานว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะค่อยๆ ศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าลักษณะของปรมัตถธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น ก็สามารถที่จะประจักษ์แม้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จึงจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ตามที่ได้ศึกษามา
แต่ให้ทราบความต่างกันในความลึกซึ้งของธรรมที่ได้ศึกษามาว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของจิต เจตสิก และรูป ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตราบนั้นก็ยังเห็นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังมีความยึดถือในสมมติสัจจะว่า เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลตัวตนต่างๆ
เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และก็มีนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการคลอดจากครรภ์มารดา มีตาเห็น มีหูได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายรู้กระทบสัมผัสสิ่งที่ปรากฏ แต่ใครไปพูดอะไรด้วย เข้าใจไหม เด็กที่เพิ่งเกิด ไม่รู้เรื่องเลย แต่ว่ามีการเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และเมื่อไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงแต่สภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็ยึดถือในอาการที่ปรากฏซึ่งเสมือนไม่เกิดดับว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็มี สมมติ คือ การยึดถือสภาพธรรม เพราะไม่รู้ปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆ หรือว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าจะเป็นคนซึ่งเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังคงไม่เปลี่ยน เพราะไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ตอนที่เป็นเด็กเคยเห็นอาการที่ปรากฏซึ่งไม่เกิดดับ และก็ยึดถือเป็นสมมติต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร เวลาที่โตขึ้นก็ยังคงเป็นสิ่งนั้นซึ่งเคยเห็น เหมือนกับเป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ แต่ว่าตามความเป็นจริง สภาพแข็งเป็นสภาพที่แข็ง ไม่ว่าจะเป็นถ้วย หรือว่าเป็นจาน หรือว่าเป็นช้อน หรือว่าเป็นส้อม ก็เป็นเพียงธาตุแข็ง เป็นปฐวีธาตุ
แต่ในวันหนึ่งๆ เห็นอะไร สัมผัสกระทบอะไร ในขณะที่กระทบสัมผัสไม่เคยคิดว่า เพียงกระทบสัมผัสสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นสภาพที่แข็ง แต่มีความรู้สึกว่า สัมผัสช้อน หรือส้อม หรือจาน หรือถ้วย ตามที่เคยยึดถือในอาการที่ปรากฏ ที่เกิดดับสืบต่อกันโดยสัณฐาน ทั้งๆ ที่เมื่อกระทบสัมผัส ช้อนก็แข็ง ส้อมก็แข็ง ถ้วยก็แข็ง จานก็แข็ง ลักษณะที่แท้จริงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่แข็ง แต่โดยสัณฐานที่จดจำไว้ ถ้วยไม่ใช่จาน ไม่ใช่ชาม ช้อนไม่ใช่ส้อม นั่นโดยสัณฐานอาการที่ไม่ปรากฏความเกิดดับ และยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด