แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1019
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ระลึกบ่อยๆ ก็เข้าใจ ขณะที่สติเกิดขึ้น ก็ระลึก ขณะที่ระลึก ระลึกแล้ว บางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าระลึกแล้วหรือยัง และจะระลึกอย่างไร
สุ. ใครจะช่วยได้ ในเมื่อขณะนั้นความจริงเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงรู้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องยากแสนยากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จได้ในเร็ววัน คือ ในเดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง หรือชาติหนึ่ง กัปๆ นั่น เอาไปทิ้งไว้ที่ไหน จนถึงพันกัป หมื่นกัป แสนกัป จะย่นย่อให้เหลือเพียงชั่วขณะนี้ ช่วยสอนให้หน่อย ช่วยบอกให้หน่อยว่าจะระลึกอย่างไร
ทุกคนต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา จนเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งยัง ไม่พอ เพราะการฟัง การพิจารณา และการเข้าใจ จะเป็นสังขารขันธ์ เป็นเครื่องปรุง เป็นเครื่องประกอบที่จะให้ปัญญาข้างหน้าเกิดขึ้น
ถ้าจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง ไม่มีตะปู ไม่มีส่วนประกอบ ไม่มีอะไรๆ เลย จะให้เป็นบ้านหลังหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในทางวัตถุยังต้องอาศัยวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้น การฟัง การเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังแต่ละขณะนี้ ไม่ได้หายไปไหนเลย เป็นอุปกรณ์ซึ่งเก็บสะสมไว้เพื่อให้ปัญญาที่สมบูรณ์เกิดขึ้นข้างหน้า และนี่ไม่ใช่การสร้างบ้านธรรมดา แต่เป็นปราสาทราชวัง เรือนยอดที่เป็นโลกุตตรธรรม และจะไม่อาศัยการฟัง การเข้าใจเป็นเครื่องอุปกรณ์ อยู่ดีๆ ก็หวังที่จะสร้างบ้านเปล่าๆ ขึ้นมาได้อย่างไร
ทุกท่าน แต่ละท่านรู้ว่า ยังมีอวิชชาหนาแน่น เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง เพียงแต่ฟัง มีโอกาสที่จะได้ฟัง มีโอกาสที่จะได้พิจารณา มีโอกาสที่จะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไร ทรงแสดงอะไร และสิ่งที่ทรงแสดงนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ ซึ่งตัวท่านเองจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ปัญญาพอหรือยังที่จะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม แม้ว่าจะมีความเข้าใจเรื่อง ปรมัตถธรรมแล้ว
เพราะฉะนั้น เรื่องความเข้าใจเป็นเบื้องต้น และเรื่องการอบรมเจริญความรู้ ก็ต้องอบรมเจริญไป จนกว่าความรู้นั้นสามารถที่จะเป็นปัญญาที่แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคและพระอริยสาวกทั้งหลายท่านได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
แต่ว่าเรื่องยาก ก็เป็นเรื่องยาก ทุกคนจะต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไปตามหนทางซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ จากการที่เข้าใจ และกว่าจะเป็นสติที่เกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง ค่อยๆ รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า นั่นเป็นหนทางเดียว
เบื่อไหม เลิกไหม ก็ดี เพียรต่อไป ไม่เลิก
ถ. ตรงนี้ต้องถามให้มากๆ คือ ขณะที่หลงลืมสติ ก็เห็นว่าเป็นถ้วย เป็นจาน แต่ขณะที่มีสติ ก็เห็นว่าเป็นถ้วย เป็นจาน จะต่างกันอย่างไร และเมื่อไรปัญญาจะรู้ว่า เป็นรูปารมณ์ เป็นสภาพที่ปรากฎได้ทางตาเท่านั้นตามที่อาจารย์กล่าว จานไม่มี ถ้วยไม่มี การฟังก็รู้อยู่ แต่เห็นทีไร เป็นจาน เป็นถ้วย ไม่ว่าจะมีสติหรือหลงลืมสติ ก็เป็นอย่างนั้นทุกที
สุ. หมายความว่า การระลึกยังไม่พอ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะตอบว่า พอแล้ว มากแล้ว บ่อยแล้ว แต่ถ้าพอแล้ว คือ ประจักษ์ ซึ่งก็ยังไม่จบ เพราะแม้แต่ พระโสดาบันบุคคลก็ยังเป็นพระเสกขบุคคล คือ ผู้ที่ยังต้องศึกษาต่อไปจนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง เป็นชาวต่างประเทศที่อยู่เมืองไทย ท่านสนใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และพยายามจะอยู่เมืองไทยต่อไปให้นานเท่าที่ท่านบอกว่า จนกว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ๖ ทวาร
แสดงว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทวารได้ ต้องค่อยๆ ระลึกลักษณะของนามธรรมบ้าง หรือรูปธรรมบ้าง ทางตาที่กำลังเห็นบ้าง หรือทางหูบ้าง หรือทางจมูกบ้าง หรือทางลิ้นบ้าง หรือทางกายบ้าง หรือทางใจบ้าง แต่เมื่อไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องเร็ว แต่ก็รู้ว่า เวลาที่ทางตาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่ายังเห็นเป็นจาน เป็นช้อน เป็นส้อม ก็เริ่มที่จะมีการพิจารณาว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา
ถ. อย่างที่คุณเมื่อครู่นี้บอกว่า มีสติก็เห็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หลงลืมสติ ก็เห็นเช่นนั้น คำว่า มีสติ ในขณะนั้นอาจจะคิด นึกถึง แต่ไม่ใช่สติแท้ๆ ก็ได้ ถ้าหากเป็นสติแท้ๆ ย่อมน้อมไปสู่ภาวะธรรมชาติ ผมเข้าใจว่า คงจะมีโอกาสที่จะรู้ภาวะของอนัตตาได้ ถ้าเป็นสติที่แท้จริงย่อมจะต้องรู้ คำว่าไม่รู้นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้
สุ. แต่อย่าลืมว่า ไม่เร็ว และไม่ง่ายที่สภาพธรรมจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ต้องอาศัยจากการค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้าวันหนึ่งๆ ไม่เคยระลึกได้เลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ความที่จะไม่ใส่ใจ ในสัตว์ ในบุคคล จะลดลงบ้างไหม ก็ย่อมจะเหมือนเดิม ใช่ไหม เพราะไม่เคยระลึกได้เลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แต่โดยอาศัยการระลึกได้แม้ว่าจะเคยเห็นและรู้ว่าเห็นใคร แต่อาศัยที่ระลึกได้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ค่อยๆ น้อมไปที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะทำให้ละการสนใจยึดถือในความเป็นบุคคลทีละเล็กทีละน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาพธรรมจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา หรือว่าเกิดดับทันที ต้องอาศัยการค่อยๆ น้อมไปที่จะระลึกรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา
ทั้งๆ ที่กำลังเห็นอย่างนี้ ขอให้ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และจะค่อยๆ คลายการที่เห็นว่า สิ่งนั้นเป็นวัตถุ เป็นบุคคลต่างๆ แต่ถ้าไม่เคยระลึกอย่างนี้ ย่อมจะไม่มีปัจจัยที่ทำให้ละคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ
ต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาก็จะค่อยๆ น้อมไปสู่การที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การที่จะดับความยึดถือนามธรรมและรูปธรรม หรือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ความรู้สึก ซึ่งเกิดดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เฉยๆ บ้าง สัญญาขันธ์ ซึ่งจำลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เมื่ออกุศลจิตเกิด สัญญานั้นก็เป็นอกุศลสัญญา จำผิด เห็นว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ เมื่อเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ต่างๆ นั่นเป็นอกุศลสัญญา เป็นความจำผิด หรือว่าสังขารขันธ์ โลภะบ้าง ความชอบใจ ความสนุก ความเพลิดเพลิน ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ หรือว่าความเมตตา ความกรุณา หรือว่าความริษยา ความตระหนี่ ซึ่งเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน การที่จะรู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรา อย่าลืม สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรา ยากไหม ไม่ใช่เรา เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นธาตุแต่ละชนิด
โลภเจตสิก สภาพที่ยินดี เพลิดเพลิน ต้องการ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นโลภธาตุ โทสะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โมหะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง อโลภะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง อโทสะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง อโมหะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง จักขุวิญญาณ การเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เสียงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง สภาพที่รู้เสียง ที่ได้ยินเสียงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง
รู้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป โดยการศึกษา แต่ว่าเราสุข เราต้องการปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเราอยู่ แต่การที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ต้องไม่ใช่เราจริงๆ ทั้งหมด เพราะว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป
สิ่งใดๆ ก็ตามซึ่งดับไปแล้ว จะเป็นของใคร จะเป็นของใครได้ไหม ดับไปแล้ว ถ้าใครยังยึดถือว่าเป็นของเรา ก็เป็นผู้ที่ไม่ฉลาด เพราะแม้ไม่มีแล้วก็ยังกล่าวว่า ของเราๆ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว และในขณะนี้เองสภาพธรรมทั้งหมดเกิดดับ ไม่มีสภาพธรรมไหนเลยที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดับ
ความรู้สึกเป็นสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ได้ยินเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เวลาที่ดับไปแล้ว ท่านผู้ฟังก็พิจารณาได้ว่า ไม่สมควรที่จะยึดถือสิ่งที่ดับไปแล้วว่า เป็นของเรา หรือว่าเป็นเรา
สำหรับสิ่งที่ดับไปแล้ว พอจะเห็นได้ ใช่ไหม แต่สิ่งที่ยังไม่ดับ ยังไม่ยอมที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้ารู้ว่า แม้สิ่งซึ่งเกิดเมื่อครู่นี้ ก็ดับไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น จะยังหลงยึดถือว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา ก็ไม่สมควร แม้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ของเรา
แต่ไม่ใช่เพียงฟังอย่างนี้ จะดับกิเลสได้ แต่ต้องเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น จึงจะเห็นจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เวลาที่มีใครเผาหญ้าในพระเชตวันมหาวิหาร แต่ละท่านในพระวิหารเชตวันก็ไม่เดือดร้อน เพราะเขาไม่ได้เผาตัวท่าน แต่ว่าเพียงเผาหญ้าในพระวิหารเชตวัน ฉันใด รูป ธาตุดินที่หญ้าที่พระวิหารเชตวันเป็นแต่เพียงธาตุดิน ฉันใด รูปแข็งซึ่งทุกท่านมีอยู่และยึดถือว่าเป็นของท่าน ก็เป็นแต่เพียงธาตุดินฉันนั้น เหมือนกัน
ต้องประจักษ์จริงๆ ว่า ดิน คือ ธาตุที่แข็ง สภาพที่แข็ง ไม่ว่าจะที่ร่างกายหรือที่หญ้า ก็เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเสมอเหมือนกัน คือ เป็นเพียงธาตุดิน ถ้าเป็นเพียงธาตุดินท่านจะเดือดร้อนไหมกับดินที่กายที่เคยยึดถือว่าของเรา ถ้ารู้จริงๆ และการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมจนกระทั่งปัญญาประจักษ์จริงๆ ในสภาพที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ความรู้สึกจะเหมือนกับการเผาหญ้าที่พระวิหารเชตวันฉันใด การที่ธาตุดินนี้จะมีอาการเกิดขึ้นและดับไปก็เหมือนกันฉันนั้น ไม่มีความต่างกันเลย เพราะเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ จึงจะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญายังไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ และยังไม่ประจักษ์ในความเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ จะกล่าวว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นแต่เพียงคำที่พูดตาม แต่แท้ที่จริงแล้ว ในความรู้สึกจริงๆ ยังไม่เป็นอย่างนั้น แต่การอบรมเจริญปัญญาจะต้องชะล้างการยึดถือสภาพธรรมซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา โดยการรู้แจ้ง โดยการประจักษ์จริงๆ ในสภาพของธรรมแต่ละลักษณะ โดยความเป็นธาตุแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่เรา
ถ. ถ้าเห็นจริงๆ ว่า ดับไปๆ ใครจะไปยึด ก็ไม่ยึด แต่ปุถุชนยังไม่เคยเห็นว่าดับ เงินของเราเก็บไว้ เห็นเมื่อไรก็ยังอยู่เมื่อนั้น ก็ต้องยึดว่าเป็นเงินของเรา ไม่เคยเห็นว่าเงินดับเลย วันนี้อยู่อย่างไร ถ้าไม่ถูกขโมย พรุ่งนี้ไปดูอีกก็ยังอยู่ ก็ยังยึดว่า เป็นเงินของเรา เพราะฉะนั้น ต้องยึด
สุ. นั่นเป็นปุถุชน อย่าลืมความต่างกันของปุถุชนกับพระอริยเจ้า มิฉะนั้นพระอริยบุคคลก็ไม่ต่างกับปุถุชน แต่นี่ต่างกัน จนกระทั่งไม่มีความเป็นปุถุชน เพราะเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งจะไม่ย้อนกลับมาสู่ความเป็นปุถุชนอีก แต่ว่ากิเลสเหนียวแน่น เพราะฉะนั้น การเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นก็ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ แต่ไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนที่เที่ยง เป็นเรื่องที่บรรลุถึงได้ แต่ต้องเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งปฏิบัติถูกด้วย ถ้าเข้าใจผิดแม้เพียงเล็กน้อยจะทำให้การปฏิบัติผิด คลาดเคลื่อน ไม่เป็นเหตุให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ถ. ที่อาจารย์เคยกล่าวว่า การพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์ จะรู้ถึงอากาศธาตุ โผฏฐัพพารมณ์ก็มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว การพิจารณาเย็นร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว จะรู้ถึงอากาศธาตุ เกี่ยวพันอย่างไร ขออาจารย์ช่วยบรรยายอีกครั้ง
สุ. เวลานี้โผฏฐัพพารมณ์ปรากฏ แต่อากาศรูป ปริจเฉทรูปซึ่งคั่นอยู่ใน ทุกๆ กลาปของโผฏฐัพพะไม่ปรากฏ ใช่ไหม เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ในลักษณะของธาตุดินโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วย ความเข้าใจเป็นขั้นหนึ่ง การอบรมเจริญสติจนความรู้ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็เป็นขั้นหนึ่ง การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง
ในเมื่อตามความเป็นจริง มีปริจเฉทรูป คือ อากาศธาตุ ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างทุกๆ กลาป ทุกๆ กลุ่มของรูป ซึ่งปรากฏเสมือนว่าเป็นแท่งทึบ ไม่มีอากาศธาตุคั่นอยู่เลย แต่นี่ไม่จริง เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ต้องมีอากาศธาตุคั่นอยู่ แต่เพราะปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของธาตุดินโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น อากาศธาตุจึงไม่ปรากฏ และไม่ใช่ว่าจะปรากฏโดยการอยากจะกำหนดอากาศธาตุเพราะรู้ว่ามีอากาศธาตุคั่นอยู่ นั่นไม่ใช่หนทาง เพราะว่าในรูป ๒๘ รูป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า รูปใดเป็นรูปที่ควรแก่การพิจารณา เป็นสภาวรูป เป็นสลักขณรูป เป็นสัมมสนรูป เป็นรูปใกล้
ที่ใช้คำว่า รูปใกล้ หมายความว่าใกล้ต่อการที่จะรู้ เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งได้แก่ รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย ใช่ไหม เพียง ลืมตาก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ให้รูปารมณ์ปรากฏ มีใครฝืนยับยั้งไม่ให้รูปารมณ์ปรากฏทางตาที่กำลังเห็น ได้ไหม ไม่ได้
เพราะฉะนั้น รูปารมณ์เป็นรูปใกล้ต่อการที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ๑ รูป เสียงปรากฏทางหู แม้ว่าไม่เห็น แต่ก็มีลักษณะปรากฏให้รู้ที่จะพิจารณาได้ว่า เป็นเพียงสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางหู กลิ่นก็เป็นอีกรูปหนึ่ง รสก็เป็นอีกรูปหนึ่ง และโผฏฐัพพะอีก ๓ รูป