แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1033

มีนักศึกษาธรรมท่านหนึ่ง ท่านสนใจในธรรมและในการปฏิบัติมาก เป็นเวลา ๑๐ ปีมาแล้ว ขณะนี้เองท่านป่วย ซึ่งความรู้สึกของทุกคนที่ไม่สบายมากก็จะต้องมีความโทมนัสเสียใจ ผิดกับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงที่ทำทุกอย่างได้ตามปกติ เพราะฉะนั้น จะอาศัยขณะนี้ขณะเดียวทำให้เกิดมีความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือไม่มีความโทมนัส ย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าท่านเตรียมตัวไว้โดยความไม่ประมาทในความไม่มีโรค ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในชีวิต คนนั้นก็มีภูมิพร้อมที่ว่า เมื่อเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น ก็มีการสะสมของปัญญามากพอที่จะแก้ความทุกข์โศกหรือความห่วงกังวลได้ แต่ถ้าไม่เคยสะสมอบรมมาเลย และจะให้เข้าใจธรรมทันที ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพียงแต่เริ่มให้ความเข้าใจธรรมเท่าที่เขาสามารถจะรับได้ และเท่าที่ความสนใจความขวนขวายของเขาจะเป็นไปได้ แต่ก็ฝืนการสะสมของแต่ละคนไม่ได้

ทุกคนอยากจะให้คนอื่นเข้าใจธรรม เมื่อได้ฟังธรรมและได้เข้าใจธรรมแล้ว ใช่ไหม โดยเฉพาะพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านมีความรู้สึกว่า ทำอย่างไรคนอื่นถึงจะได้ตรัสรู้อริยสัจธรรมและดับกิเลสได้เหมือนอย่างท่านได้ทันที คือ ไม่ได้รอให้ช้าๆ หรือ ทีหลัง หรือให้ท่านไปไกลก่อน คนอื่นจึงค่อยตามมา จะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้นเลยสำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ มีแต่หวังว่า ทำอย่างไรคนอื่นจึงจะสามารถรู้แจ้ง ประจักษ์แจ้งได้

เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็มีความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น ที่จะให้เขาสนใจและศึกษาธรรม แต่ก็ไม่สามารถที่จะฝืนอัธยาศัยของบุคคลอื่นได้ แต่สิ่งที่ควรกระทำ คือ แนะนำ และให้โอกาสที่เขาจะได้พิจารณาธรรมเท่าที่จะกระทำได้ ถ้าใครสามารถที่จะรับฟังธรรมได้ในเวลาป่วยไข้ทันทีก็ดี ทุกท่านก็ไม่ต้องทำอะไร คอยจนกว่าจะถึงเวลานั้น แต่เวลานั้นเป็นเวลาที่ยากลำบากมาก แม้เตรียมมาก่อนก็ยังยากอยู่ แต่ก็ยังดีที่มีความรู้ความเข้าใจที่สะสมมาพอสมควร แต่จะให้เริ่มและเข้าใจได้หมดทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ส่วนมากความประมาทก็มี ๓ อย่าง คือ ประมาทในวัยว่า ยังเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่มสาว หรือประมาทในความไม่มีโรค เพราะวันนี้เป็นคนแข็งแรง หรือว่าประมาทในชีวิต ซึ่งความจริงแล้วน้อยมากและสั้นเหลือเกิน นามและรูปแตกสลายได้อย่างง่ายดายที่สุด และรวดเร็วที่สุดด้วย ซึ่งตามความเป็นจริงขณะนี้ก็กำลังแตกดับอยู่ ตามสภาพของนามและรูปจริงๆ แต่เมื่อไม่รู้ลักษณะของธรรมก็เอาธรรมเป็นเรา เป็นของเราด้วยโลภะ หรือด้วยทิฏฐิ หรือด้วยมานะ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียด และ สติระลึกรู้โดยละเอียดจะทราบว่า ในขณะนั้นเป็นเรา หรือว่าของเราด้วยโลภะ หรือ ด้วยทิฏฐิ หรือด้วยมานะ

ในขณะใดที่ไม่มีความเห็นร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นเราด้วยโลภะ ด้วยความพอใจ เป็นของเราด้วยโลภะ ด้วยความพอใจ ซึ่งผู้ที่จะหมดความเห็นผิดได้ คือ ผู้ที่มีปัญญารู้ในกรรมและผลของกรรมซึ่งเป็นกัมมัสสกตาญาณ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะละสีลัพพตปรามาส การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดต่างๆ เพราะว่าประจักษ์แจ้งในกรรมและในผลของกรรม

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไกลไปจากชีวิตประจำวัน ถ้าจะหาความเห็นผิดก็สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า มีความมั่นคงในกรรมและผลของกรรมจริงๆ แล้วหรือยัง หรือว่ายังมีเศษเล็กเศษน้อยซึ่งทำให้เคลื่อนไปจากการที่จะเชื่อมั่นในเรื่องกรรมและผลของกรรม นั่นคือเป็นเรา หรือเป็นของเราด้วยความเห็นผิด

ที่เป็นเราด้วยมานะ เคยมีอะไรที่รู้สึกว่าดีสำหรับตัวเองบ้างไหม นั่นคือมานะ สำคัญตนว่าดี ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะสวยพิเศษกว่าคนอื่น มีคำว่า กว่าคนอื่นแล้วใช่ไหม ใครกว่าคนอื่น ความเป็นเรา เป็นความสำคัญเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นเราด้วยมานะ

ความรู้ดีกว่าคนอื่นไหม สมบัติมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า สติปัญญามากกว่าคนอื่นหรือเปล่า ทั้งหมดเหล่านี้เป็นอารมณ์ของมานะ เพราะเป็นเราด้วยความสำคัญตน

เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกและพิจารณาจริงๆ ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงเพราะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกประการ

มีคำถามว่า ผู้ที่รักษาศีลมาก จะมีปัญญา คือ ความเข้าใจ มากกว่าผู้ที่รักษาศีลน้อย หรือผู้ที่รักษาบ้างไม่รักษาบ้างหรือเปล่า

กลับกันได้ไหมว่า ผู้ที่มีปัญญามากย่อมจะรักษาศีลได้เพิ่มขึ้นมากกว่า ผู้ที่เพราะศีลจึงจะมีปัญญามาก ถูกไหม เพราะถ้าเพียงแต่มีศรัทธาที่จะรักษาศีล เฉพาะศรัทธาอย่างเดียวไม่สามารถที่จะรักษาศีลได้ตลอด ไม่มั่นคงเท่ากับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เช่น พระโสดาบันบุคคล ไม่ล่วงศีล ๕ โดยเด็ดขาด เป็นอัธยาศัยของท่านจริงๆ คือ ไม่สามารถที่จะกระทำทุจริตล่วงละเมิดศีล ๕ ได้เลย แต่สำหรับผู้ที่แม้เพียรที่จะรักษา ถ้าปัญญายังไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีเหตุที่จะให้ล่วงศีล ๕ ได้

เพราะฉะนั้น ก็ควรเป็นนัยกลับกัน เหมือนท่านที่เจริญเมตตา ที่ท่านแผ่ๆ ไป ท่านบอกว่า ถ้าท่องได้มากจะเกิดเมตตามาก ก็ควรจะเป็นนัยที่กลับกันว่า เมื่อท่านมีเมตตาเพิ่มขึ้น การแผ่ของท่านจะกว้างขึ้น แต่ถ้าเมตตายังน้อยอยู่ การแผ่จะกว้างไม่ได้

เรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาหลายแง่หลายมุม กลับไปกลับมาจนกว่าจะได้เหตุผลที่สมบูรณ์จริงๆ มิฉะนั้นก็อาจจะพิจารณาบางแง่ ทำให้เข้าใจเพียงบางประการ ซึ่งยังไม่พอ ต้องพิจารณาต่อไปอีกจนกว่าจะได้เหตุผลที่ถูกต้องชัดเจนจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็คงจะมีผู้ที่เพียงรักษาศีล แต่ไม่อบรมเจริญปัญญา โดยนัยนั้น แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญา ศีลจะเพิ่มขึ้น และจะบริสุทธิ์ขึ้นตั้งแต่ศีลของพระโสดาบัน ตลอดไปจนกระทั่งศีลของพระสกทาคามี ของพระอนาคามี และของพระอรหันต์

สำหรับจิต ๘๙ ดวง คือ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต คือ จิตที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิตซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต คือ จิตที่เป็นอรูปฌาน ๑๒ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวง

กามาวจรจิตที่มีทั้งหมด ๕๔ ดวงนั้น เป็นจิตขั้นต่ำที่สุด ซึ่งทุกท่านไม่พ้นไปเลยจากกามาวจรจิต แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะมีกามาวจรจิตครบทั้ง ๕๔ ดวง ซึ่งจะได้ทราบต่อไปว่า ท่านขาดกามาวจรจิตประเภทไหนบ้าง

คำว่า กามาวจร เป็นคำรวมของ กาม กับอวจร ภาษาไทยใช้คำว่า กาม หมายถึงสภาพธรรมที่ใคร่หรือพอใจ ขณะใดที่มีความพอใจ มีความใคร่เกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นลักษณะของกามธาตุ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

คำว่า กาม มีความหมาย ๓ อย่าง คือ

กิเลสกาม หมายถึงกามซึ่งเป็นกิเลส ได้แก่ สภาพซึ่งพอใจ ยินดี ติดข้อง หรือใคร่ คือ โลภเจตสิกนั่นเอง

โดยปรมัตถธรรม กิเลสกาม ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ยินดี พอใจ ไม่ว่าจะในขณะใดที่เกิดความยินดีพอใจขึ้น ขณะนั้นเป็นกิเลสกาม เมื่อเกิดความยินดีพอใจต้องมีสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจยินดีของโลภะ เพราะฉะนั้น สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจยินดีของโลภะแต่ไม่ใช่ตัวโลภะ คือ วัตถุกาม เพราะว่าเป็นที่ตั้งของความยินดี พอใจ

สิ่งที่เป็นที่ยินดีพอใจของโลภะ ไม่จำกัดเลย นอกจากนิพพานอย่างเดียว สิ่งอื่นทั้งหมดเป็นวัตถุกาม เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจได้ทั้งสิ้น พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ พอใจในขันธ์ ในธาตุ ในอายตนะ พอใจในกุศลขั้น ต่างๆ พอใจในภพภูมิต่างๆ พอใจในมนุษย์ภูมิ ในเทวภูมิ ในรูปพรหมภูมิ หรือ ในอรูปพรหมภูมิ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่ตั้งของความยินดี พอใจ เป็นวัตถุกามได้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ หรือวัฏฏะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภพใด ภูมิใดทั้งสิ้น ภพภูมิต่างๆ เหล่านั้น ย่อมเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจได้ เว้นนิพพาน อย่างเดียว

. ฟังว่า นิพพานหลุดพ้น มีความสุขอย่างนี้อย่างนั้น ผมก็ยินดี พอใจในนิพพาน จะว่าโลภะ ไม่ยินดีในนิพพานได้อย่างไร

สุ. แน่ใจหรือว่า ยินดีพอใจในนิพพาน ยินดีพอใจในชื่อ หรือว่ายินดีพอใจในลักษณะสภาพของนิพพาน

. ก็อย่างที่อาจารย์พูด สิ่งไหนที่ดีๆ โลภะชอบทั้งนั้น อย่างได้ฌานก็ชอบ เพราะสงบ เทวภูมิก็ชอบ ที่อาจารย์กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นปัจจัยแก่กิเลสกาม เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานก็จัดอยู่ในประเภทที่เป็นความสุข ความสงบ เป็นความสงบจากกิเลส โลภะก็ควรจะชอบเช่นกัน เหมือนกับวัตถุกามชนิดอื่น

สุ. เวลานี้ท่านผู้ฟังเห็นก็ชอบในสิ่งที่เห็น เวลาที่ได้ยินเสียงก็ชอบในเสียงที่ได้ยิน เวลาที่ได้กลิ่นก็ชอบในกลิ่นที่กำลังรู้ เวลาที่ลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ ก็ชอบในรส เวลาที่สงบก็ชอบในความสงบ ถ้าสงบ อย่าลืม เวลาที่อบรมเจริญความสงบมั่นคงขึ้นก็ยังพอใจในความสงบที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะชั่วคราวในขณะนั้น เป็นเวลาช่วงหนึ่งซึ่งสามารถที่จะสงบได้ ถ้าสงบ

แต่ถ้าไม่สงบ จะบอกว่าพอใจในความสงบซึ่งยังไม่เคยประสบในลักษณะของความสงบนั้นได้ไหม ก็ย่อมไม่ได้ ฉันใด เวลานี้ได้ยินชื่อนิพพาน และก็มีคนอธิบายลักษณะของนิพพานต่างๆ บางคนพอใจ เพราะคิดว่านิพพานเป็นสถานที่ที่สงบ เมื่อไปถึงที่นั่นแล้วไม่มีทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรเลย ราวกับสวรรค์สักแห่งหนึ่ง บางคนก็บอกว่า นิพพานเป็นสถานที่ๆ สงบมาก ไม่สามารถใช้คำใดๆ บรรยายได้เลย เพราะฉะนั้น ก็มีความพอใจในนิพพาน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสถานที่ที่สงบ แต่นั่นหรือเป็นความพอใจในนิพพาน ก็ไม่ใช่ เพราะยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน

แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่ได้ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน แต่เป็นลักษณะของปัญญาเจตสิกที่ได้อบรมเจริญจนสามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะของนิพพานได้

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องเป็นปัญญาที่เกิดกับจิตที่เป็นโลกุตตรจิตที่สามารถจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ แต่โลภะไม่สามารถจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้

. เท่าที่เคยเจริญสติมาแล้ว เคยรู้ถึงสภาพจิตที่สงบเป็นกุศล ปราศจากโลภะในช่วงที่จิตเป็นกุศล หลังจากนั้นบางครั้งก็คิดถึงจิตที่เคยสงบ เคยเผื่อแผ่ต่างๆ ก็เป็นปัจจัยแก่โลภะ ความยินดีพอใจว่า เราควรประกอบกุศลกรรมเพื่อทำให้จิตนี้สงบยิ่งขึ้นไป ผมสงสัยว่า ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ได้นิพพานแล้ว เมื่อเขานึกถึงนิพพานเช่นเดียวกันกับที่ผมนึกถึงกุศลจิตที่เกิดไปแล้ว จะเป็นปัจจัยให้โลภะเกิดได้ไหม

สุ. ขณะใดที่จะตรึกระลึกถึงนิพพาน ขณะนั้นต้องเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งธรรมดาของผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว อกุศลจิตก็ยังเกิดได้ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสหมดอย่างพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ย่อมมีปัจจัยให้เกิดความพอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ซึ่งในขณะที่กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น หรือในความสุขต่างๆ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่พระโสดาบัน หรือพระอริยบุคคลขั้นอื่นจะน้อมระลึกถึงนิพพาน ขณะนั้นต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่จิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็สามารถที่จะระลึกถึงลักษณะของนิพพานได้

. บุคคลที่ได้ฌานขั้นแรกก็ยังไม่พอใจ ผมเข้าใจว่า เขาได้ความสงบสุขมากพอสมควรแต่ก็ยังอยากจะได้ขั้นที่ ๒ ต่อไป จนถึงถึงขั้นที่ ๕ ก็ยังอยากได้ขั้น อรูปฌานต่อไป อย่างนี้เกิดจากโลภะ หรือปัญญาของท่านผู้ที่ได้ฌานนี้

สุ. แล้วแต่ขณะจิต แต่ให้ทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นสังสารวัฏฏ์ เป็นวัตถุกาม เป็นที่ตั้งเป็นที่พอใจของโลภะได้ทั้งหมด เว้นนิพพาน ซึ่งโลภะไม่มีโอกาสที่จะยินดีพอใจในนิพพานได้ ถ้าโลภะมีโอกาสยินดีพอใจในนิพพานได้ นิพพานจะดับโลภะไม่ได้ ซึ่งธรรมชาติเดียวที่สามารถจะดับโลภะได้ คือ นิพพาน อย่างอื่นไม่สามารถจะดับโลภะได้เลย

ต้องเข้าใจว่า นิพพานมีลักษณะอย่างไรจึงสามารถที่จะดับโลภะได้ ในเมื่อ วัตถุกามอื่นๆ ยังเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจของโลภะได้ เพราะฉะนั้น โลภะจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ได้ หรือว่าโลภะจะยินดีพอใจในนิพพานไม่ได้ เพราะถ้าโลภะสามารถที่จะยินดีพอใจในนิพพาน นิพพานจะดับโลภะไม่ได้ เพราะยังเป็นที่ตั้งของโลภะ ยังเป็นความยินดีของโลภะอยู่

เพราะฉะนั้น คำว่า กาม มี ๓ ความหมาย คือ กิเลสกาม ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งมีสภาพยินดีพอใจ เพลิดเพลิน ติดข้องใน วัตถุกาม ซึ่งเป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ ที่ทำให้เกิดความยินดีพอใจนั้น นอกจากนั้นก็มี กามอารมณ์ ซึ่งหมายความถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกามธาตุ

เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นกามาวจรจิต ก็เพราะว่าจิตขั้นนี้เป็นธาตุกาม ปรมัตถธรรมทั้งหมด บางครั้งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยของความเป็นธาตุ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท ที่มีสภาพธรรม ของตนๆ

กามาวจรจิต ที่เป็นกามาวจรจิตเพราะเป็นกามธาตุ ยังไม่สามารถขึ้นถึง รูปธาตุ คือ รูปาวจรจิต ซึ่งเป็นจิตที่สงบมั่นคง มีรูปเป็นอารมณ์ และยังไม่ใช่อรูปธาตุ คือ ยังไม่ใช่อรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นจิตที่สงบมั่นคง มีอรูป คือ สิ่งซึ่งไม่ใช่รูป เป็นอารมณ์ และไม่ใช่จิตที่เป็นโลกุตตรจิต

เปิด  277
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566