แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1034

จิต ๕๔ ดวง โดยสภาพความเป็นธาตุ เป็นกามธาตุ ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าจะเกิดในภูมิอื่น เช่น ในรูปพรหมภูมิ ก็มีกามาวจรจิตบางประเภทเกิดได้

ในอรูปพรหมภูมิ ถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบมั่นคงมีอรูป คือ ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่มีรูปเลย แต่ว่ากามาวจรจิตบางประเภทก็ยังเกิดได้ถึงแม้ว่าจะเป็นพรหมบุคคล ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่เทวดา

เมื่อกามาวจรจิตเกิดโดยสภาพความเป็นกามธาตุ แม้ว่าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ จิตซึ่งเป็นกามธาตุก็ไม่เปลี่ยนสภาพ เพราะไม่ใช่รูปาวจรจิต หรือไม่ใช่อรูปาวจรจิต เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเป็นพรหมบุคคล ขณะใดที่กามาวจรจิตซึ่งเป็นกามธาตุเกิด จิตนั้นก็ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตของรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ หรือแม้ว่าจะเป็นจิตของอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ จิตนั้นก็ยังคงเป็นกามธาตุ คือ ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่

อุปมาเหมือนกับสัตว์บกตกลงไปในน้ำ ก็ยังคงเป็นสัตว์บกอยู่ ยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นสัตว์น้ำ หรือว่าช้างศึก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสนามรบ เดินไปในที่ต่างๆ คนก็ยังคงเรียกว่าช้างศึก เพราะว่าเคยเข้าสู่สงคราม ฉันใด เมื่อจิตนั้นเป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนก็ตาม ก็ยังคงเป็นกามธาตุ หรือเป็น กามาวจรจิตอยู่นั่นเอง และถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม จิตที่เป็นกามาวจร เป็นจิตซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเกิดขึ้นขณะใด ก็ยังคงเป็นกามธาตุ ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่นั่นเอง

แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าพระอริยสาวกทั้งหลายท่านก็ยังมีกามาวจรจิต ถึงแม้ว่าจะดับกาม คือ ดับความยินดีพอใจ ไม่มีโลภเจตสิกที่จะทำให้เกิดเป็นโลภมูลจิตได้อีกเลย แต่ขณะใดเป็นจิตซึ่งรู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ จิตในขณะนั้นก็เป็นกามธาตุ ไม่ใช่รูปธาตุ ไม่ใช่อรูปธาตุ ไม่ใช่โลกุตตรธาตุ เพราะฉะนั้น ก็เป็นกามาวจรจิต

ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์หรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีกามาวจรจิต ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงระดับขั้นของจิตขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นกามธาตุ

และจะเห็นได้ว่า จิตที่เป็นกามธาตุ ที่เป็นกามาวจรจิต มีมากกว่าจิตที่จะต้องอบรมเจริญให้สูงขึ้น คือ กามาวจรจิตมี ๕๔ ดวง หรือ ๕๔ ประเภท รูปาวจรจิตมี ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิตมี ๑๒ ดวง โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง ยิ่งเป็นจิตขั้นสูงก็มีจำนวนน้อยลง

สำหรับกามาวจรจิต ไม่ต้องไปขวนขวาย หรือแสวงหาเลย ย่อมเกิดขึ้นเป็นประจำตามเหตุตามปัจจัย และย่อมเกิดวนเวียนเป็นส่วนมากในกามภพ หรือใน กามโลก ซึ่งได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ และสวรรค์ ๖ ชั้น มีอยู่ทุกขณะ ทันทีที่เกิดก็เป็นจิตที่เป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิตซึ่งทำกิจปฏิสนธิ ไม่ว่าจะนั่งอยู่ที่ไหน ไปไหน ขณะไหน วันไหน เวลาไหน จิตซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำในภูมิเหล่านี้ก็คือกามาวจรจิต

เพราะฉะนั้น กามาวจรจิตซึ่งเป็นกามธาตุ เป็นจิตซึ่งเกิดวนเวียนอยู่ในกามภูมิเป็นส่วนมาก และถึงแม้ว่าจะเกิดในภูมิอื่นบ้าง ก็ไม่พ้นจากความเป็นกามาวจรจิต ซึ่งเป็นกามธาตุ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมดแล้ว ขณะใดที่มีการเห็น การได้ยิน มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ ในขณะนั้น จิตนั้นก็เป็นกามาวจรจิต

. รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่า กามอารมณ์ ขณะที่ผู้เพ่งกสิณ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ขณะที่ฌานจิตเกิด มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ อารมณ์ขณะนั้นเรียกว่า กาม หรือเปล่า

สุ. ไม่เรียก แต่เรียกว่า รูปบัญญัติอารมณ์ กามต้องหมายถึงสภาพ ปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ในสิ่งที่มีจริงจำแนกออกเป็นขั้นหรือว่าเป็นระดับต่างๆ ซึ่งเป็นธาตุแต่ละชนิด เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงเป็นธาตุแต่ละชนิด

เวลาที่เพ่งกสิณ หมายความว่าพยายามที่จะให้เกิดสัญญา ความจำ ในรูปที่ปรากฏทางตา โดยแม้ไม่เห็นก็สามารถจำได้ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพ่งกสิณ อาศัยกสิณโดยการมองดูจนกระทั่งสามารถที่จะเกิดบัญญัตินิมิตทางใจ โดยที่แม้ไม่ได้ใช้ตามองดู ก็ยังปรากฏนิมิตซึ่งเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ของจริง จึงไม่ใช่กามธาตุ

ถ้าพูดถึงกามาวจรจิต หรือว่ากามธาตุ ต้องหมายความถึงสภาพปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง สิ่งใดที่ไม่มีจริงแต่คล้ายของจริง ก็ยังคงไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นบัญญัติธรรม ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

. อาจารย์พูดถึงการเพ่งกสิณ ฟังแล้วคล้ายๆ เพ่งด้วยตา

สุ. ต้องอาศัยตาแน่นอน

. จนกระทั่งจำอยู่ในใจ เหมือนกับว่าการที่เราจะได้ความสงบหรือว่าได้ฌานนี้ จะต้องเพ่งให้จำ จำอย่างเดียว อย่างอื่นคงจะไม่ต้องทำ ใช่ไหม

สุ. นี่คือการฟังเผิน หรือว่าอ่านแล้วไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ ก็เป็นการเจริญมิจฉาสมาธิ เพราะในขณะที่มีความต้องการ มีความ จงใจ มีความจดจ้องที่จะให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ในขณะนั้นเป็นลักษณะของความต้องการ ซึ่งไม่ใช่ความสงบ

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจวิธีเจริญความสงบว่า เพราะเหตุใดจึงใช้กสิณทำให้จิตเกิดความสงบจนเป็นความสงบที่มั่นคงขึ้น เพราะว่าไม่ได้หวั่นไหวไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่กระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย จนกระทั่งสามารถที่จะสงบ โดยที่ความสงบนั้นเพิ่มจากบริกรรม คือ เริ่มสงบขึ้น จนถึงอุปจาระ จนถึงอัปปนา

. เท่าที่ผมศึกษามา หรืออ่านในพระไตรปิฎก ก็มีแต่ให้ท่องจำ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น โดยที่ไม่ได้อธิบายอะไรมากกว่านี้ เหมือนกับว่าผู้ที่อยากได้สมถะ มีความปรารถนาจะสงบ ก็ท่องจำเอา ใช้จำอย่างเดียว คล้ายๆ อย่างนี้ กสิณ ๑๐ ก็ให้ท่องจำ ก็ไปท่องกันใหญ่ แต่ก่อนผมก็เคยทำ เพื่อให้จำให้ติดหูติดตา

สุ. ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรก็เจริญได้

ต้องพิจารณาแล้วใช่ไหมว่า กุศลซึ่งเป็นการอบรมเจริญความสงบที่เป็น สมถภาวนา หรือว่ากุศลซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนา ต้องประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า หรือว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรก็กระทำได้ จะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยรอบคอบ เพื่อประโยชน์อันแท้จริงของการอบรมเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม

ในขั้นต้นพิจารณาว่า ผู้ที่สงบจะต้องประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญาจึงจะสงบขึ้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบเพราะปราศจากอกุศล ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ว่าสงบ แต่ว่ายังมีโลภะเต็ม ยังมีความต้องการที่จะจดจ้อง จะท่อง และก็บอกว่าขณะนั้นสงบ นั่นไม่ใช่เหตุผล

แม้แต่คำว่า สงบ หรือ สมถะ ก็ต้องทราบว่า เพราะเหตุใดจึงสงบ

เพราะปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรม จึงสงบ อกุศลจิต ทุกประเภทไม่สงบ กุศลจิตทุกประเภทสงบตามขั้น ทานสงบจากอกุศล ศีลสงบจากอกุศล แต่ชั่วครั้งชั่วคราวไม่พอ เพราะวันหนึ่งๆ ขณะที่ไม่ได้ให้ทาน มี ขณะที่ไม่ได้วิรัติทุจริต มี เพราะฉะนั้น นั่งเฉยๆ อย่างนี้ ยังไม่ได้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต แต่จิตไม่สงบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบ ต้องประกอบด้วยปัญญาหรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญาก็สงบได้ นี่ต้องพิจารณาแล้ว

และยังต้องรู้ด้วยว่า ปัญญาอะไร โดยเห็นโทษของการเห็น การได้ยิน การ ได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น จึงอบรมเจริญความสงบเพื่อจะได้ไม่ต้องมีการเห็น เพราะถ้าเห็นก็เกิดความยินดีในสิ่งที่เห็น ไม่ต้องได้ยิน เพราะถ้าได้ยินก็เกิดความยินดีพอใจในเสียงที่ได้ยิน ซึ่งทางเดียวที่จะไม่เกิดความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็คือ ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และทางใจต้องไม่คิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย ซึ่งใครเป็นอย่างนี้ได้ในชีวิตประจำวัน

ในชีวิตประจำวันทุกท่านเห็นแล้วก็พอใจ โดยยังไม่รู้ตัวเลยว่า คล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏไปแล้วทันทีด้วยความยินดี พอเสียงปรากฏทางหู ไม่ทันจะรู้ตัวเลยว่า เกิดโลภะคล้อยตามเสียงที่ได้ยินไปแล้วทันที ไม่ว่าจะเป็นทางจมูก กลิ่นหอมๆ คล้อยตามไปทันที รสอร่อยๆ ที่รับประทานทุกมื้อก็คล้อยตามรสนั้นไปทันที และถึงแม้ว่าจะไม่กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย วันหนึ่งๆ นึกถึงอะไร แม้แต่ทางใจก็ไม่พ้นจากการนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่คือ กามฉันทนิวรณ์ เพราะว่าทำให้ข้องอยู่ ทำให้ติดอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

ผู้ที่เห็นโทษ จึงอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ได้ชั่วคราว เพราะว่าจิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์ซึ่งไม่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นจึงจะเป็นรูปาวจรจิต พ้นจากความเป็นกามธาตุ หรือกามาวจรจิตได้ชั่วคราว

แต่ว่าก่อนที่จะพ้นได้อย่างนั้น ต้องมีความเข้าใจ ต้องเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และยังต้องรู้วิธีที่จะอบรมเจริญความสงบซึ่งจะทำให้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และไม่คิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย

. เรื่องกามธาตุ ถ้าหากว่าคิดถึงสิ่งที่เราพอใจ ทางใจจะเป็น ...

สุ. กามาวจรจิต เป็นจิตที่เป็นกามธาตุ ไม่ใช่เป็นรูปาวจรจิตตราบใด ไม่ใช่อรูปาวจรจิตตราบใด ไม่ใช่โลกุตตรจิตตราบใด จิตขณะนั้นๆ เป็นกามาวจรจิต

. หมายความว่า กามธาตุนี้ นอกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

สุ. มิได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นแหละ เป็นกามอารมณ์ เป็นกามธาตุด้วย

. ใจก็เป็นด้วย

สุ. จิตที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามาวจรจิต คือ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ เป็นกามาวจรจิต

. ขณะที่ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่นึกขึ้นมาเฉยๆ

สุ. นึกขึ้นมาเฉยๆ นั้น นึกถึงเรื่องรูป นึกถึงเรื่องเสียง นึกถึงเรื่องกลิ่น นึกถึงเรื่องรส นึกถึงเรื่องโผฏฐัพพะ พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไหม ในวันหนึ่งๆ

. ใจ จะเป็นกามธาตุด้วยหรือเปล่า

สุ. เป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิต

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. คำว่า กาม ได้แก่ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑ กามอารมณ์ ๑ และจิตซึ่งเป็นไปในกามอารมณ์ แม้ว่าจะดับกิเลสกามแล้ว ก็เป็นกามาวจรจิต เพราะว่ารู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

คือ ขณะใดที่ไม่ใช่รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ขณะนั้นเป็นกามาวจรจิต แม้ในขณะที่กำลังอบรมเจริญความสงบเพื่อที่จะให้เป็นรูปาวจรจิต ขณะที่จิตเริ่มสงบขึ้น สงบขึ้น จะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดในสมถภาวนา ๔๐ ก็ตาม ขณะใดที่รูปาวจรจิตยังไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิตนั่นเอง ซึ่งกำลังอบรมเพื่อที่จะให้รูปาวจรจิตเกิดขึ้น หรือในขณะที่อบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง โดยที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิดขณะใด ขณะเหล่านั้นก็เป็นกามาวจรจิตนั่นเอง แม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณ ขั้นต่างๆ ก็เป็นกามาวจรจิต เพราะยังไม่ใช่โลกุตตรจิต

เพราะฉะนั้น จิตใดๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ไม่ใช่ โลกุตตรจิต เป็นกามาวจรจิตทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณก็เป็นกามาวจรจิต แม้ว่าจะเป็นอุปจารสมาธิก็เป็นกามาวจรจิต พ้นไปได้ยากจากกามาวจรจิต ทุกขณะเป็นกามาวจรจิต โดยทั่วไป

. กิริยาจิตคืออะไร

สุ. จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก

. จิตเห็น ทำหน้าที่เห็นอย่างเดียว เป็นกิริยาจิตใช่ไหม

สุ. เป็นวิบากจิต ต้องศึกษาจึงจะทราบว่าไม่ใช่กิริยาจิต นี่เป็นเหตุที่จะทำให้ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะถ้าไม่ทรงแสดงว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นวิบากจิต เป็นผลของอดีตกรรมซึ่งได้กระทำแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะเห็นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่กิริยาจิต แต่เป็นวิบากจิต

. นิพพานไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม คือ จิต ใช่ไหม

สุ. นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

. เป็นอะไร

สุ. เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นปรมัตถธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะของนิพพานได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริง

. พระพรหมเป็นปุถุชนหรือเปล่า

สุ. พรหมที่เป็นอริยบุคคลก็มี ที่เป็นปุถุชนก็มี

กามาวจรจิต มีมากประเภท เพราะเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ ๑๘ ดวง และเป็นกามโสภณ ๒๔ ดวง

ขณะนี้ให้ทราบว่า กามาวจรจิตซึ่งมีมากถึง ๕๔ ดวง หรือ ๕๔ ประเภท ก็เพราะเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง ซึ่งอกุศลจิตจะเป็นรูปธาตุ หรืออรูปธาตุ หรือ โลกุตตรธาตุไม่ได้เลย

อกุศลจิตทั้งหมด ทั้ง ๑๒ ดวง เป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิต เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในวัตถุกามทั้งหลาย เว้นนิพพาน

เปิด  302
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566