แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1036

๔. ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ คือ ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย

ทุกท่านจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ รู้ทั้งรู้ว่า กุศลดีกว่าอกุศล แต่ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นให้ทราบว่า เพราะไม่พิจารณาโดยแยบคาย อกุศลจิตจึงเกิด เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ยังอยากว่า ทำอย่างไรจึงจะพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งก็ฝืนอัธยาศัยที่สะสมมาไม่ได้ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

เวลาที่อกุศลจิตเกิด รู้ว่าเป็นอโยนิโสมนสิการ ขาดการพิจารณาโดยแยบคาย แต่ทำอย่างไรจึงจะพิจารณาโดยแยบคายได้ ก็เป็นอนัตตาอีก ซึ่งท่านที่พิจารณาได้ มีโยนิโสมนสิการแล้ว ก็ยังห่วงคนอื่นอีกว่า ทำไมคนนั้นไม่สามารถที่จะพิจารณาโดยแยบคายได้ ก็เพราะว่าแต่ละคนต่างกัน ไม่เหมือนกัน

การที่บุคคลใดสามารถที่จะพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมต้องเป็นไปได้ด้วย อุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลัง ต้องมีปัจจัยแม้แต่การพิจารณาที่จะแยบคายหรือไม่แยบคาย ไม่ใช่ว่าเมื่ออยากจะให้พิจารณาโดยแยบคายขณะใด ก็เกิดการพิจารณาโดยแยบคายถูกต้องในขณะนั้นได้ แต่ต้องอาศัยปัจจัย คือ

ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร คือ มีสัปบุรุษ มีผู้ที่มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก มีการปฏิบัติถูกในธรรม

สัปปุริสูปนิสสยะ ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ

สัทธัมมัสสวนะ ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ

ปุพเพกตปุญญตา ได้สั่งสมบุญมาแล้วแต่ปางก่อน เพราะว่าทั้งๆ ที่ฟัง พระธรรมด้วยกัน ความเข้าใจก็ต่างกัน ซึ่งกุศลจิตที่จะเกิดหรือไม่เกิดก็ย่อมต่างกันตามการสะสมในปางก่อนที่ได้ผ่านมาแล้วในสังสารวัฏฏ์

นี่เป็นเหตุที่จะให้เกิดโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น สำหรับอโยนิโสมนสิการ เวลาที่อกุศลจิตจะเกิด ก็ต้องเป็นไปตามปัจจัยซึ่งตรงกันข้าม คือ

อปฏิรูปเทสวาสะ ไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีสัปบุรุษ

อสัปปุริสูปนิสสยะ ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ

อสัทธัมมัสสวนะ ไม่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ

ปุพเพ อกตปุญญตา ไม่ได้สะสมบุญมาแล้วแต่ปางก่อน

ทุกท่านก็พิจารณาได้แล้วว่า วันหนึ่งๆ ที่อกุศลจิตเกิดมากเป็นเพราะเหตุใด ขณะนี้ท่านผู้ฟังอยู่ในประเทศที่สมควร คือ มีโอกาสที่จะได้รับฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็ย่อมหมายความว่า การฟังธรรมนั้นยังไม่พอ หรือว่ายังไม่ได้สะสมบุญในอดีตมาพร้อมและพอที่จะให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่จะท้อถอย แต่เป็นเรื่องที่เมื่อรู้เหตุผลแล้ว ก็สะสมเหตุที่จะให้เกิดผลที่จะทำให้กุศลจิตเกิดได้บ่อยๆ

กุศลจิตก็มีหลายขั้น ซึ่งทุกท่านพิจารณาได้ว่า ท่านมีกุศลจิตประเภทใดบ้างในวันหนึ่งๆ มีทาน มีศีล มีความสงบของจิต หรือว่าสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ต้องอาศัยการอบรม การเจริญบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าสติจะมีกำลังพอสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ หรืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ตาม สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับเสียงที่ปรากฏทางหูก็ไม่ต่างกัน ซึ่งถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมแท้ๆ จะเห็นในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมนั้นๆ

เช่นในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงลักษณะของเสียง ถ้าทุกท่านเข้าใจว่ารู้ลักษณะของเสียงก็คงจะอธิบายได้ว่า เสียงมีลักษณะอย่างไร สิ่งใดที่ดัง สิ่งนั้นเป็นเสียง ไม่มีเสียงปรากฏโดยไม่ดัง ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรทั้งนั้น ต้องมีลักษณะที่ดัง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังรู้ดัง มีสิ่งที่ดังปรากฏ นั่นคือเสียง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่าเป็นสัททะ หรือสัททารมณ์ เพราะเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะรู้ยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ทางตามีท่านผู้ฟังถามว่า จะมีคำอะไรที่สั้นๆ ที่สามารถทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาได้เหมือนอย่างเสียงที่ว่า เสียงคือลักษณะที่ดัง

สำหรับทางตา คือ สว่าง ขณะนี้กำลังสว่าง จึงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งคน ตาบอดไม่มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่สว่างที่ปรากฏทางตา เพราะถ้าจักขุปสาท ไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่สามารถกระทบกับสิ่งซึ่งสว่าง หรือว่าปรากฏทางตาได้

คนที่ตาบอดเป็นเวลานาน และสามารถที่จะมองเห็นเพราะมีการผ่าตัดทำให้มีจักขุปสาทเกิดขึ้น สามารถมองเห็นได้ ครั้งแรกที่เห็นตกใจมาก ไม่ใช่ว่าดีใจอย่างเดียวที่มองเห็น แต่ตกใจจริงๆ เพราะไม่เคยเห็นอะไรที่สว่างอย่างนี้ เป็นอีกโลกหนึ่ง จากโลกมืดเป็นโลกสว่าง เพราะฉะนั้น เวลานี้ที่กำลังสว่างปรากฏ แสนที่จะธรรมดาสำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท ก็ควรที่จะรู้ว่า เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น แทนที่จะระลึกถึงคำ ก็ให้ระลึกถึงสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏ จริงๆ สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท คือ เป็นลักษณะของรูปที่สว่าง เป็นโลกที่สว่างทางตา เช่นเดียวกับโลกเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดังเวลาที่ปรากฏทางหู

การที่จะเป็นผู้ที่มีสติ สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจนชำนาญได้ อย่าลืม ต้องเป็นผู้ที่สะสมบุญในขณะนี้ เพื่อในอนาคตจะได้เป็นผู้ที่สะสมบุญมาแล้วในปางก่อน ที่จะให้สติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ได้

สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ดวง เป็นอโสภณจิต ๓๐ ดวง และเป็นโสภณจิต ๒๔ ดวง

อโสภณจิตเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งมี ๒ จำพวก คือ เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง และเป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตไม่ใช่อกุศลจิต แต่ทั้งอกุศลจิตและอเหตุกจิตไม่ประกอบด้วย โสภณเจตสิก สำหรับอเหตุกจิตนั้นไม่ประกอบทั้งโสภณเจตสิกและอกุศลเจตสิก แต่สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก

เหตุที่จำแนกอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต ๘ เป็นโทสมูลจิต ๒ และ เป็นโมหมูลจิต ๒ ตามลำดับนั้น ก็เพราะแยกตามเหตุที่ประกอบ คือ

โลภมูลจิตประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โลภเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑

โทสมูลจิตประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โทสเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑

แต่โมหมูลจิตประกอบด้วยเหตุเดียว คือ โมหเจตสิก

และการที่แสดงโลภมูลจิต ๘ ก่อนอกุศลจิตประเภทอื่นเพราะว่า ในทุกภพที่มีการเกิดขึ้น มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นและดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ชวนวิถีแรกทาง มโนทวารเป็นโลภมูลจิต มีความยินดีพอใจในภพที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น จะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็แล้วแต่ แต่ว่าทุกท่านที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นในภูมิไหนทั้งสิ้น ย่อมมีความยินดีพอใจในการที่จะดำรงภพชาติอยู่ในภูมินั้น บางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็น่าพอใจ หรือถ้าเกิดในสวรรค์ก็น่าเพลิดเพลินยินดีพอใจ แต่ตามที่ปรากฏในอรรถกถา อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา แสดงว่า

ถึงแม้ในภูมิอื่น เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว วิถีจิตแรกเป็นโลภมูลจิตทางมโนทวาร

ท่านผู้ฟังคงไม่ทราบว่า ถ้าไปเกิดในนรก หรือว่าเกิดเป็นเปรต หรือว่าเป็น สัตว์ดิรัจฉาน จะมีความยินดีพอใจในภพภูมินั้นๆ หรือเปล่า แต่ให้ทราบว่า หนีไม่พ้นความยินดีพอใจในการมีชีวิต ในการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรในขณะนั้น เพราะถ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะรู้หรือเข้าใจได้ว่า เป็นภูมิที่ไม่น่าปรารถนาเลย แต่เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความยินดีพอใจในการเกิดขึ้น ในการเป็นอย่างนั้น มิฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายคงจะไม่รื่นเริง ซึ่งบางทีก็เห็นความสนุกสนาน การวิ่งเล่น แสดงให้เห็นว่า มีความยินดี มีความพอใจ แม้ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

สำหรับความหมายของคำว่า มูล ควรที่จะได้ทราบด้วยว่า ธรรมดา โลภเจตสิกเป็นเหตุ โทสเจตสิกเป็นเหตุ โมหเจตสิกเป็นเหตุ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ และธรรมที่เป็นโสภณเหตุ ได้แก่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นเหตุ

แต่เพราะเหตุใดอกุศลจิต ๑๒ ดวง จึงทรงแสดงว่า เป็นโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ทำไมใช้คำว่า มูล ทำไมไม่ใช้คำว่า เหตุ ว่าเป็นโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ

เพราะว่าถ้าใช้คำว่า เหตุ จะหมายความถึงเจตสิก เนื่องจากโลภเจตสิกเป็น ตัวเหตุ โทสเจตสิกเป็นตัวเหตุ โมหเจตสิกเป็นตัวเหตุ แต่เมื่อเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเหล่านี้เกิดกับจิตซึ่งเป็นอกุศลธรรม จะทำให้อกุศลธรรมเหล่านั้นเจริญยิ่งขึ้น งอกงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า มูล สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวงว่า เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต และโมหมูลจิต

ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ มีว่า

ชื่อว่ามูล โดยความหมายว่า เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นแดนเกิด เป็นตัวให้เกิด เป็นสมุฏฐาน เป็นที่บังเกิด

เวลาที่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ก็รู้ว่าเจตสิกใดเป็นเหตุ เพราะจิตจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดพร้อมกับเจตสิกหลายประเภท ไม่ใช่มีเจตสิกเพียงโลภะอย่างเดียว แต่จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่น้อยกว่า ๗ ดวง และสำหรับจิตที่เป็นอกุศล ย่อมมีเจตสิกมากกว่า ๗

เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย แต่ให้ทราบว่า เจตสิกซึ่งเป็นเหตุ เป็นมูลให้เกิดสภาพของจิตที่ยินดีพอใจในขณะนั้น เป็นเพราะโลภเจตสิกเป็นเหตุ และเป็นมูลสำคัญ อุปมาเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ต้นไม้เติบโตเจริญขึ้น จนกระทั่งลึกและยากแก่การที่จะขุดถอนขึ้น ซึ่งก็ควรจะพิจารณาว่า เป็นความจริงไหม ในชีวิตประจำวัน โลภมูลจิตเกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดแล้วเกิดอีก และเป็นตัวเหตุ เป็นตัวมูลที่จะทำให้มีความยินดีพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งเหมือนกับรากของต้นไม้ ซึ่งฝังลึกและทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตขึ้น เพราะได้โอชาจากดินและน้ำ

เพราะฉะนั้น ความยินดีพอใจซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะ ซึมซาบทั่วไปทั้งราก ทั้งลำต้น ทั้งกิ่ง ทั้งใบ ทั้งดอก ในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฐมมหารุกขสูตร ข้อ ๒๐๖ - ข้อ ๒๐๙ มีว่า

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้งหมดนั้นย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเหตุของทุกข์เนืองๆ บ่อยๆ เพื่อให้เข้าใจชัดว่า ทุกข์ทั้งหลายย่อมมาจากมูลรากสำคัญ คือ ตัณหา ซึ่งเป็นความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

ขณะนี้ท่านผู้ฟังซึ่งผู้เป็นพุทธศาสนิกชนกำลังอยู่ใกล้พระรัตนตรัยหรือเปล่า

ธรรมมีเรื่องที่จะคิดได้หลายๆ อย่าง แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรม อาจจะคิดถึงเรื่องอื่นๆ ประกอบก็ได้ เช่น ในขณะนี้อยู่ใกล้ หรือไม่ใกล้ ท่านผู้ฟังเห็นพระพุทธรูป อยู่ใกล้พระรัตนตรัยหรือยัง หรือว่าอยู่ใกล้เพราะมีพระพุทธรูปอยู่ใกล้ๆ ถ้ามีพระพุทธรูปอยู่ใกล้เพื่อที่จะเตือนว่า อยู่ไม่ไกลพระรัตนตรัย แต่ไม่ได้มีโอกาสฟังพระธรรม จะชื่อว่าอยู่ใกล้ไหม มีตั้งไว้ให้เห็น แต่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ย่อมไม่ชื่อว่าอยู่ใกล้ เพราะพระพุทธรูปเป็นแต่เพียงรูป

ในขณะที่กำลังฟังธรรม ถ้าจะย้อนระลึกถึงในสมัยอดีตที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระผู้มีพระภาคตรัสข้อความนี้กับพระภิกษุทั้งหลายแม้เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้มีพระพุทธรูปอยู่ไม่ไกล แต่จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

เพราะฉะนั้น การที่อยู่ใกล้ คือ การไม่ลืมที่จะระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และพิจารณาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น จนกระทั่งพระสังฆรัตนะอยู่ที่ไหน นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องคิด

พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะไหน จะเป็นสังฆรัตนะในขณะนั้นได้ไหม

เพราะฉะนั้น สังฆรัตนะไม่จำเป็นที่จะต้องระลึกถึงบุคคลอื่นซึ่งอยู่ไกล แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นทางเดียวที่จะทำให้บุคคลทั้งหลายเป็นสังฆรัตนะ

เปิด  261
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566