แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1038

ที่ชื่อว่าความเยื่อใย เนื่องด้วยความเสน่หา

ที่ชื่อว่าความห่วงใย ด้วยอรรถว่า ห่วงใยด้วยอำนาจกระทำความอาลัย

ในวันหนึ่งๆ ห่วงใยอะไรบ้าง บางครั้งนึกขึ้นมาว่า ห่วงนั่น ห่วงนี่ หายไปหรือเปล่า อยู่ที่ไหน ในขณะนั้น ถ้าไม่มีความอาลัย คือ ไม่มีความพอใจ ไม่มีความ ติดข้องในสิ่งนั้น ย่อมไม่ห่วง ฉะนั้น ทุกท่านเวลาเกิดความห่วงขึ้นให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นลักษณะหนึ่งของโลภะ

ถ้าจะรู้ลักษณะของโลภะ ก็รู้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปรากฏให้เห็นโดยลักษณะต่างๆ กัน บางครั้งปรากฏเป็นความเยื่อใยด้วยอำนาจของความเสน่หา มีเยื่อใย ยังมีการคิดถึง หรือว่ายังมีการผูกพันอยู่ในขณะใด ในขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลจิตซึ่งเกิดพร้อมกับโลภเจตสิกที่เป็นมูล ทำให้มีความติด มีความพอใจ มีความเพลิดเพลิน ผูกพันเพิ่มขึ้น

ที่ชื่อว่าความผูกพัน ด้วยอรรถว่า ผูกพันไว้ในอารมณ์เฉพาะแต่ละอย่างๆ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าความผูกพัน หรือพวกพ้องเฉพาะ แม้ด้วยอรรถว่า เป็นพวกพ้องเฉพาะแต่ละอย่าง โดยความหมายว่าเป็นญาติ

ผูกหลายอย่างใช่ไหม ผูกกับเพื่อนก็มี ผูกกับญาติก็มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นลักษณะอาการต่างๆ ของโลภะ

เพราะขึ้นชื่อว่าพวกพ้อง ที่จะเสมอด้วยกับตัณหาย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยความหมายว่า อาศัยกันอยู่เป็นประจำ

ที่ชื่อว่าการหวัง เพราะหวังอารมณ์ทั้งหลาย ความว่า เพราะท่วมทับและเพราะบริโภคไม่เข้าถึงความอิ่มเสียเลย

ทุกท่านมีความหวังทุกวัน ขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งไม่หมดหวัง ใช่ไหม ได้มาแล้วก็หวังอื่นต่อไป หวังอื่นต่อไป เพราะฉะนั้น ก็ไม่เข้าถึงความอิ่มเสียเลย

ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้กระซิบ (ชัปปา) ด้วยอรรถว่า ยังสัตว์ทั้งหลายให้กระซิบอย่างนี้ว่า นี้ของฉันๆ

มากไหม ของฉัน ขณะนั้นโลภะทั้งนั้น ไม่เคยปล่อยไปเลย นี่ของฉันๆ ขณะใด ขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภมูลจิต

คำว่าธรรมชาติเป็นเหตุซมซานไป อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายเที่ยวระริกไปดุจพวกสุนัขซอกแซกถามไปในที่อันเป็นที่ตั้งแห่งลาภด้วยตัณหาใด นั้นเป็นชื่อแห่งตัณหาระริกไปนั้น

ขณะใดที่ถามถึงอะไร มุ่งหวังลาภในที่ไหน เพื่อแสวงหาให้ได้มา ตลอดเวลาทั้งหมดนั้นเป็นโลภมูลจิตที่ทำให้ซมซานไป ซอกแซกถามไปในที่อันเป็นที่ตั้งแห่งลาภทั้งหลาย

ชื่อว่าอาวรณ์ ด้วยอรรถว่า กางกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย

ชื่อว่าตัณหาเหมือนเถาวัลย์ ด้วยอรรถว่า เปรียบดังเถาวัลย์ โดยความหมายว่า พันไว้รอบ

ชื่อว่าเหตุแห่งทุกข์ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้นแหละ

ชื่อว่าแดนเกิดแห่งทุกข์ ด้วยอรรถว่า ทุกข์นั้นเกิดจากนี้

ถ้าทุกท่านจะพิจารณาหาดูให้ทั่วว่า ความทุกข์ทั้งหมดเกิดมาจากอะไร ก็จะได้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดเกิดจากตัณหา

ที่ชื่อว่าบ่วง ด้วยอรรถว่า เปรียบเหมือนบ่วง โดยความหมายว่า ผูกไว้ดุจบ่วงแห่งมาร ชื่อว่าบ่วงแห่งมาร

ชื่อว่าเบ็ด ด้วยอรรถว่า เปรียบเหมือนเบ็ด โดยความหมายว่า ขย้อนออกยาก

สิ่งที่กลืนเข้าไปแล้ว ถ้าจะให้ออกมาก็ยากที่จะออก โดยเฉพาะเป็นสิ่งที่พอใจ ย่อมไม่อาจที่จะทำให้ขย้อนออกมาได้เลย

ดุจเบ็ดแห่งมาร ชื่อว่าเบ็ดแห่งมาร สัตว์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว ย่อมไม่ก้าวล่วงวิสัยแห่งมาร มารย่อมวางอำนาจเหนือสัตว์เหล่านั้น

แม่น้ำคือตัณหา โดยความหมายว่า ไหลไป ชื่อว่าตัณหาเหมือนแม่น้ำ

ข่ายคือตัณหา โดยความหมายว่า คลุมไว้ ชื่อว่าตัณหาเหมือนข่าย

สุนัขทั้งหลายเขาเอาเชือกผูกล่ามไว้ ย่อมนำไปสู่ที่ตามประสงค์ ฉันใด แม้สัตว์ทั้งหลายที่ตัณหาล่ามไว้ ก็เหมือนฉันนั้น เหตุนั้น ตัณหาจึงชื่อว่าเชือกผูก โดยอรรถว่า เปรียบเหมือนเชือกผูก โดยความหมายว่า มัดไว้แน่น

สมุทรคือตัณหา โดยความหมายว่า ให้เต็มได้โดยยาก ชื่อว่าตัณหาเหมือน สมุทร

ถึงแม้ว่าตัณหาจะมีลักษณะอาการต่างๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่ประมวลลักษณะของโลภเจตสิกได้ว่า

อารมฺมณคหณลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง

เจตสิกหรือสภาพธรรมทั้งหลายมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ และมีกิจการงานเฉพาะของเจตสิกแต่ละอย่าง เจตสิกใดเกิดขึ้นก็มีลักษณะและมีกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉยๆ โดยที่ไม่มีกิจการงาน เพราะฉะนั้น แม้โลภะก็มีลักษณะ คือ มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง แกะออกยากไหมเวลาที่เห็นลิงติดตัง และพยายามจะแกะ ก็เหมือนทุกท่านที่กำลังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และพยายามที่จะแกะออก แต่ก็ออกยาก

สำหรับกิจการงานของโลภเจตสิก

อภิสงฺครโส มีความข้องอย่างยิ่ง เป็นรสะ คือ เป็นกิจ ดุจชิ้นเนื้อที่ซัดไปบนกระเบื้องอันร้อน

อปริจฺจาคปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่ละไป เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ ดุจการติดสีที่หยอดน้ำมัน

สํโยชนิยธมฺเมสุ อสฺสาททสฺสนปทฏฺฐาโน มีความเห็นความสำราญในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ซึ่งเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง เป็นปทัฏฐาน

นี่คือลักษณะ ๔ ของโลภะ คือ มีความยึดอารมณ์เป็นลักษณะ มีความข้องอย่างยิ่งเป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีการไม่ละไปเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ และมีความเห็นความสำราญในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เป็นปทัฏฐาน

สำหรับลักษณะของโลภเจตสิกที่ว่า อารมฺมณคฺคหณ ลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง ขอกล่าวถึงข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก คือ ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มักกฎสูตร ข้อ ๗๐๑ – ข้อ ๗๐๓ ซึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลาย มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่

ท่านผู้ฟังคงจะทราบว่า ภูเขาหิมาลัย ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า หิมพานต์ เป็นเทือกเขาที่ยาวสลับซับซ้อน และมีมาในอดีตกาลเนิ่นนาน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเปรียบเรื่องของธรรมทั้งหลายกับถิ่นต่างๆ ในภูเขาหิมาลัย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์อันไปได้ยาก ขรุขระ แต่เป็นที่เที่ยวของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์ มีอยู่

คือ มีภูมิภาคหลายแห่ง ทั้งที่ขรุขระไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงและของมนุษย์ และในบางตอนบางส่วนก็เป็นที่เที่ยวไปของฝูงลิงเท่านั้น แต่ไม่ใช่ที่เที่ยวไปของมนุษย์

ภูมิภาคแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของ ฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ณ ที่นั้น พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิง เพื่อดักลิง ในลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ลอกแลก ลิงเหล่านั้นเห็นตังนั้น ย่อมหลีกออกห่าง ส่วนลิงใดโง่ ลอกแลก

อย่าลืมคิดถึงตัวท่านผู้ฟังด้วย แทนที่จะคิดถึงแต่ลิง

ส่วนลิงใดโง่ ลอกแลก ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ตังนั้น เอามือจับ มือก็ติดตัง มันจึงเอามือข้างที่สองจับด้วยคิดว่า จักปลดมือออก มือข้างที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าจับด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองออก เท้าก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าข้างที่สองจับด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าออก เท้าที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาปากกัด ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าทั้งสองออก ปากก็ติดตังอีก ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการอย่างนี้แล นอนถอนใจถึงความพินาศยุบยับแล้ว อันพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา พรานแทงลิงตัวนั้นแล้วจึงยกขึ้นไว้ในที่นั้นเอง ไม่ละทิ้ง หลีกไปตามความปรารถนา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่นอันมิใช่ที่ควรเที่ยวไป ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่นอันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่นอันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์ ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุคืออะไร คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้ด้วยหู ... กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก ... รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คืออารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตนอันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุคืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คืออารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตนอันเป็นโคจรของภิกษุ

จบ สูตรที่ ๗

ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องอะไร ก็จะต้องตรัสถึงการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ดับกิเลสได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งซึ่งดับยาก แต่ก็สามารถที่จะอบรมให้เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

. ผมสงสัยที่เทวดาทูลพระผู้มีพระภาคว่า การเห็นโทษของกาม อุปมาเหมือนถูกแทงด้วยหอก หรือไฟกำลังไหม้บนศีรษะ นี่ก็เห็นโทษของโลภะ ก็น่าจะถูกแต่ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ต้องละทิฏฐิก่อน

สุ. โสตาปัตติมรรคจิตดับสักกายทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด ถ้าจะดับกาม คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องเป็น พระอนาคามีบุคคล และถ้าดับโลภะหมดแม้ในภพ ในความเป็นอยู่ ก็ต้องเป็น พระอรหันต์ คือ อรหัตตมรรคจิตเท่านั้นที่จะดับได้ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ก่อน ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคลก่อน

. ใช่ ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แต่ว่าก่อนที่จะละสักกายทิฏฐิ ต้องเห็นโทษของกามก่อนหรือเปล่า

สุ. ใช่

. ในเมื่อจำเป็นต้องเห็นโทษของกาม คำพูดของเทวดาก็น่าจะถูก

สุ. ใครจะรู้ว่าเทวดานั้นคิดอย่างไร เพราะถ้ามีบุคคลหนึ่งกล่าวว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษผู้ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ

ฟังดูก็น่าเชื่อ น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ที่เห็นโทษของกามราคะ และเตือนให้ภิกษุมีสติเว้นรอบเพื่อที่จะละกามราคะ แต่ใครเป็นผู้รู้ว่า เทวดาท่านนั้นคิดอย่างไร ซึ่งในอรรถกถากล่าวว่า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ทำอุปมาให้มั่นคง ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้เธอจะกล่าวซ้ำๆ ซากๆ

เวลานี้ถ้าใครจะบอกท่านผู้ฟังว่า ให้ละโลภะ โลภะมีโทษมาก นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวง เป็นมูลเหตุของอกุศลธรรมทั้งหลาย จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น มีวิบากเป็นทุกข์ สารพัดที่จะแสดง สามารถที่จะดับกามราคะได้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าต้องตามลำดับ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงดำริต่อไปว่า

ก็เพราะคาถานี้ เทวดากล่าวถึงการละโดยการข่มกามราคะเท่านั้น ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป

นี่แสดงถึงความลึกเหนียวแน่นของความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย คิดว่าชาตินี้ละได้ แต่ว่าไม่ได้ ถ้าโสตาปัตติมรรคจิต ไม่เกิด สกทาคามิมรรคจิตไม่เกิด อนาคามิมรรคจิตไม่เกิด ไม่มีหนทางอื่นที่จะละกามราคะได้

สำหรับลักษณะของโลภะที่เป็นอาการปรากฏ คือ อปริจฺจาคปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่ละไป เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ ดุจการติดสีที่หยอดน้ำมัน

ขอกล่าวถึงชาดกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การไม่บริจาคเป็นอย่างไร เวลาที่โลภะเกิดขึ้นแล้ว มีการไม่บริจาคเป็นอาการปรากฏ

ในครั้งนั้นท่านพระอานนท์เป็นคนรับจ้างตักน้ำ สมบัติที่มีอยู่ก็มีเพียงเงิน ครึ่งมาสก ซึ่งซ่อนไว้ใต้แผ่นอิฐที่กำแพงประตูเมืองด้านหนึ่ง เมื่อมีงานมหรสพในเมือง ภรรยาของท่านก็คะยั้นคะยอให้ไปเที่ยวและถามว่า มีเงินพอที่จะไปเที่ยวงานมหรสพบ้างหรือเปล่า ซึ่งท่านก็ตอบว่า มีอยู่เพียงครึ่งมาสกและซ่อนไว้ไกลถึง ๑๒ โยชน์ ภรรยาก็บอกให้ไปเอา และบอกว่าแม้ตัวภรรยาเองก็เก็บเงินไว้ได้ครึ่งมาสกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อรวมกัน ๒ คน ก็ได้ ๑ มาสก ซึ่งก็พอที่จะซื้อมาลัยของหอม หรือ สุราเครื่องดื่มได้

ท่านพระอานนท์ในครั้งนั้นซึ่งเป็นคนรับจ้างตักน้ำ ก็ได้เดินตากแดดไปเพื่อที่จะไปเอาเงินที่ซ่อนไว้ที่แผ่นอิฐใต้กำแพง ในขณะนั้นก็คิดถึงเรื่องที่จะไปเที่ยวให้สนุก ก็ร้องเพลงไปด้วย เวลาที่ผ่านลานพระราชวัง พระเจ้าอุทัย พระเจ้ากรุงพาราณสีเห็นคนรับจ้างตักน้ำคนนี้ร้องเพลงเดินฝ่าแดดไป ก็สงสัยว่าอะไรที่ทำให้เขามีความสุข เพราะฉะนั้น ก็ตรัสถามถึงเหตุที่ทำให้เขารู้สึกเป็นสุขทั้งๆ ที่แดดก็ร้อนออกอย่างนั้น ซึ่งเขาก็ตอบว่า เขาไม่รู้สึกถึงความร้อนของแดดเลย เพราะว่าเขากำลังทำสิ่งที่เขาปรารถนาอย่างเหลือเกิน คือ การไปเอาเงินสำหรับจะไปเที่ยวงานมหรสพ

พระราชาก็ตรัสถามว่า เขามีเงินอยู่เท่าไร มีประมาณถึงแสนหรือที่จะไปเอา เมื่อทรงทราบว่าเขามีเงินเพียงครึ่งมาสกเท่านั้น ก็ตรัสว่า ไม่ต้องเดินตากแดดไปเอาไกลถึง ๑๒ โยชน์ พระองค์จะประทานเงินครึ่งมาสกนั้นให้ ซึ่งเขาก็ตอบว่า รู้สึกดีใจมากที่จะได้เงิน ๑ มาสก เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินจะประทานให้ครึ่งมาสก รวมทั้งของเขาเองอีกครึ่งมาสก เพราะฉะนั้น เขาก็ดีใจที่เขาจะได้เงิน ๑ มาสก

พระเจ้าแผ่นดินเห็นว่า ทำอย่างไรเขาก็ไม่ละ คือ ไม่บริจาค ไม่สละเงิน ครึ่งมาสกของตน ก็จึงเพิ่มขึ้นให้อีกเป็น ๒ มาสก ๓ มาสก ๔ มาสก ๕ มาสก มากขึ้นไป เขาก็ไม่ยอม แม้ได้จากพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ต้องไปเอาเงินครึ่งมาสกซึ่งฝังไว้ใต้แผ่นอิฐที่กำแพงเมือง จนกระทั่งพระเจ้าอุทัยจะประทานตำแหน่งเศรษฐีให้ เขาก็ยังไม่ยอมสละเงินครึ่งมาสกซึ่งฝังไว้

ในที่สุดพระเจ้าอุทัยก็ตรัสว่า จะพระราชทานพระราชสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง เขาจึงยอม พระราชาก็ได้ประทานพระราชสมบัติให้เขาครึ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น เขาจึงได้นามว่า พระเจ้าอัฑฒมาสก ซึ่งหมายความถึงพระเจ้าครึ่งมาสก

ข้อความนี้มีใน คังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต นี่คือ ท่านพระอานนท์

ลักษณะของโลภะ อปริจฺจาคปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่สละ เป็นอาการปรากฏ

เปิด  288
ปรับปรุง  18 ธ.ค. 2565