แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1041

สุ. ลักษณะของทิฏฐิ ความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต โดยเฉพาะในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นธรรมทุกๆ ขณะนี้ ท่านผู้ฟังควรที่จะทราบว่า จิตขณะไหนบ้างที่ เป็นโลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับความเห็นผิด

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่อธิบายคำว่า ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ ว่า

อกุศลจิตชื่อว่าทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ ด้วยอรรถว่า สัมปยุตต์ด้วยทิฏฐิ

คือ ในขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อธิบาย นิทเทสมิจฉาทิฏฐิ มีข้อความบางประการว่า

ชื่อว่ามิจฺฉาทิฏฺฐิ ด้วยอรรถว่า เป็นความเห็นไม่ใช่ตามเป็นจริง

ที่จะรู้ว่าความเห็นชนิดใดเป็นความเห็นถูก และความเห็นชนิดใด เป็นความเห็นผิด จะต้องทราบว่า ความเห็นผิด เป็นความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรก็ตาม ถ้าขณะนั้นเป็นความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ

ชื่อว่าทิฏฺฐิคตํ ด้วยอรรถว่า ความเห็นนี้ไปในพวกทิฏฐิ

ความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง มีมาก ไม่ใช่น้อยเลย และแตกแขนงแยกไปมากมาย ทั้งนอกพระพุทธศาสนา หรือในบรรดาพุทธศาสนิกชน ซึ่งถ้าไม่พิจารณาความคิดเห็นในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงอาจจะไม่รู้ตัวว่า ขณะนั้นเป็นไปแล้วกับความเห็นผิด คือ ความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง

ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่าทิฏฺฐิคหนํ ด้วยอรรถว่า ก้าวล่วงได้ยากเหมือนดัง ชัฏหญ้า ชัฏป่า และชัฏภูเขา

ใครจะมีความรู้สึกอย่างนี้บ้างว่า ความเห็นผิดน่ากลัว เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และก้าวล่วงได้ยาก ซึ่งถ้าเกิดยึดถือในความเห็นผิดนั้นแล้ว ที่จะปล่อยจากความเห็นผิดนั้นยาก เพราะว่าความเห็นผิดเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นจะเห็นถูกไม่ได้ แต่ในขณะใดที่ความเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้นจะรู้ว่า ความเห็นอย่างไรผิด ความเห็นอย่างไรถูก แต่ขณะใดที่ความเห็นผิดกำลังเกิดขึ้นขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นความเห็นผิด เพราะฉะนั้น การที่จะก้าวล่วงความเห็นผิด จึงเป็นการก้าวล่วงได้ยากเหมือนดัง ชัฏหญ้า ชัฏป่า และชัฏภูเขา

มีใครเคยหลงป่าบ้างไหม จะหาทางออกไม่ได้เลย ยากมากทีเดียว ฉันใด การที่ใครก็ตามเกิดความเห็นผิด ยึดถือความเห็นผิด วนเวียนอยู่ในความเห็นผิด ยังไม่สามารถที่จะรู้ว่า ความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นถูก ขณะนั้นไม่มีทางที่จะออกจากความเห็นผิดได้ เพราะการที่จะออกจากความเห็นผิดได้ ก็เมื่อมีความเห็นถูกเกิดขึ้นเท่านั้นจึงจะรู้ว่า ความเห็นก่อนๆ เป็นความเห็นผิด หรือว่าความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นผิด

ข้อความต่อไปมีว่า

ทิฏฺฐินั่นแหละ ชื่อว่าทิฏฺฐิกนฺตาโร (กนฺตาโร คือ กันดาร) กันดาร คือ ทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า มีความน่าระแวงและมีภัยเฉพาะหน้า เหมือนกันดารโจร กันดาร สัตว์ร้าย กันดารทราย กันดารขาดน้ำ และกันดารทุพภิกขภัย

นี่แสดงถึงความน่ากลัวของทิฏฐิซึ่งทำให้เกิดอันตราย

ที่ชื่อว่าทิฏฺฐิวิสูกายิกํ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า แย้ง และด้วยอรรถว่า ย้อน ต่อสัมมาทิฏฐิ จริงอยู่ความเห็นผิดเมื่อเกิดขึ้น ย่อมแย้ง และย่อมย้อนความเห็นชอบ

ความเห็นชอบเป็นอย่างนี้ แต่ความเห็นผิดแย้งหรือย้อน คือ ตรงกันข้ามกับความเห็นถูก ความเห็นถูกย่อมเห็นว่า เหตุย่อมตรงกับผล การทำชั่วก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว อกุศลกรรมเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก กุศลกรรมเป็นเหตุให้เกิด กุศลวิบาก แต่ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ ย่อมชื่อว่าย้อนหรือแย้งต่อความเห็นชอบ คือ ถ้าเห็นว่า อกุศลกรรมไม่ได้ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก หรือว่ากุศลกรรมไม่ได้ให้ผลเป็นกุศลวิบาก ในขณะนั้นเป็นความเห็นผิด หรือถ้าคิดว่าตายแล้วสูญ หรือว่าตายแล้วเที่ยง ขณะนั้นก็ย้อนหรือแย้งกับความเห็นถูก เพราะสภาพธรรมกำลังเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น จะสูญได้อย่างไร เพราะปัจจัยที่จะให้เกิดมี หรือว่าจะเที่ยงได้อย่างไร ในเมื่อปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นหมดไป สิ่งที่เกิดก็ต้องหมดไปด้วย

ที่ชื่อว่าทิฏฺฐิวิปฺผนฺทิตํ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า เป็นความผันแปรผิดรูปไปแห่งทิฏฐิ เพราะบางคราวก็ยึดถือความเที่ยง บางคราวก็ยึดถือความขาดสูญจริงอยู่ คนมีทิฏฐิย่อมไม่อาจจะตั้งอยู่ในข้อเดียวได้ บางคราวก็คล้อยตามความเที่ยง บางคราวก็คล้อยตามความขาดสูญ

นี่เป็นลักษณะความผันแปรของทิฏฐิ เวลาที่เป็นความเห็นผิดย่อมคลอนแคลนและแปรผันไป แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดเห็นผิดอย่างนั้นบ้าง หรือว่าเห็นผิดอย่างนี้บ้าง แต่ถ้าเป็นความเห็นถูกแล้วไม่เปลี่ยน โดยเฉพาะการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ผู้ที่รู้ความเกิดดับของสภาพธรรมโดยการประจักษ์แจ้ง เพราะอบรมเจริญสติพร้อมปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งมีปัจจัยทำให้ปัญญาที่แทงตลอดเกิดขึ้น สามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ เมื่อได้ประจักษ์ความเกิดดับของ สภาพธรรมแล้วจะเปลี่ยนไปเห็นว่า สภาพธรรมเที่ยง ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ย่อมมีปัจจัยที่จะให้ความเห็นนั้นผันแปรไปได้ เช่น บางคราวก็เห็นว่าเที่ยง หรือบางคราวก็เห็นว่าขาดสูญ

ที่ชื่อว่าทิฏฺฐิสํโยชนํ สังโยชน์ คือ ทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า ทิฏฐินั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ ด้วยอรรถว่า ผูกสัตว์ไว้

ความเห็นผิดผูกไว้แน่น ทำให้ไม่ไปสู่ความเห็นถูก

ที่ชื่อว่าคาโห ความยึดถือ ด้วยอรรถว่า ยึดไว้มั่นซึ่งอารมณ์ ดุจสัตว์ร้าย มีจระเข้ เป็นต้น จับคนไว้ฉะนั้น

ที่ชื่อว่าปติคฺคาโห ความตั้งมั่น เพราะตั้งใจไว้โดยเฉพาะ จริงอยู่ คนมีทิฏฐินี้ ย่อมตั้งมั่นโดยภาวะที่เป็นไปอย่างแรง

จะบอกเท่าไรก็ไม่เชื่อ จะอธิบายเท่าไรก็ไม่พิจารณา แสดงให้เห็นถึงลักษณะของทิฏฐิซึ่งยึดถือไว้แน่น ไม่สามารถที่จะรับฟังเหตุผล หรือว่าพิจารณาเหตุผลอื่นได้ ถึงแม้ว่าจะได้ยินแล้ว ได้ฟังแล้ว ความเห็นผิดนั่นก็ยึดไว้ไม่ให้ไปสู่ความเห็นถูกได้

ที่ชื่อว่ากุมฺมคฺโค ทางชั่ว ด้วยอรรถว่า เป็นทางที่บัณฑิตเกลียด เพราะนำมาซึ่งความพินาศ หรือด้วยอรรถว่า เป็นทางแห่งอบายที่บัณฑิตเกลียด

คนฉลาด หรือว่าผู้ที่เป็นบัณฑิต ย่อมเห็นภัย เห็นโทษของความเห็นผิด เพราะความเห็นผิดเป็นอันตรายอย่างใหญ่ ถ้าบุคคลนั้นไม่สามารถพ้นจากความเห็นผิดนั้นได้ ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ที่ชื่อว่ามิจฺฉาปโถ ทางผิด เพราะไม่ใช่เป็นทางตามที่เป็นจริง เหมือนอย่างว่า ทางอันคนหลงทิศแม้ยึดถือว่า นี้เป็นทางแห่งบ้านชื่อโน้น ดังนี้ ก็ย่อมไม่ทำให้เขาถึงบ้านนั้นได้ ฉันใด ทิฏฐิอันคนเจ้าทิฏฐิแม้ถือว่า เป็นทางสุคติ ก็ไม่ทำให้เขาถึงสุคติได้ เหมือนฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามิจฺฉาปโถ แปลว่า ทางผิด เพราะไม่ใช่เป็นทางตามที่เป็นจริง

การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้เห็นชัดว่า ทางไหนเป็นทางที่ถูก และทางไหนเป็นทางที่ผิด

. เรื่องของทิฏฐิในพุทธศาสนาถือว่า เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีทิฏฐิอย่างแรงกล้าชาวโลกเขาถือว่า มีปัญญา อาจารย์ใหญ่ๆ ทุกวันนี้ที่มีความเห็นผิด มีข้อปฏิบัติผิด ทำให้ท่านโด่งดังได้มีมาก โดยเฉพาะบุคคลที่เชื่อตามอาจารย์เกิดความเลื่อมใส ก็ถวายที่ดินให้สร้างสำนักปฏิบัติ การถวายที่ดินให้สร้างสำนักปฏิบัติ เป็นกุศลให้ไปสวรรค์ได้ ใช่ไหม

สุ. ผลของอะไร

. ผลของทาน

สุ. ผลของทาน แต่ไม่ใช่ผลของความเห็นผิด

. ผลของทานนี้เกิดมาจากความเห็นผิดเป็นปัจจัย ก็เขาบอกว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องเข้าสำนักปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าสำนักปฏิบัติพ้นทุกข์ไม่ได้ เขาจึงให้ที่ดินสร้างสำนักปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การให้ที่ดินสร้างสำนักปฏิบัติเกิดจากปัจจัย คือ ความเห็นผิดนั้น

สุ. ถ้าจุดประสงค์ คือ เพื่อตั้งสำนักปฏิบัติที่ไม่ถูก ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่จัดว่าเป็นทาน

ทาน หมายความถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน หรือผู้ที่กำลังต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด และผู้ที่มีจิตเมตตาอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้บุคคลนั้นได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์

. จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ก็แล้วแต่ แต่เขาก็สละที่ดินให้ บางทีเป็นแสน เป็นล้าน ถือว่าให้กับบุคคลอื่นทั่วๆ ไป เป็นสาธารณะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นการให้

สุ. แล้วแต่เจตนาของผู้ให้ ว่าให้เพื่ออะไร

. ก็ให้เพื่อสร้างสำนักปฏิบัติ

สุ. ถ้าสร้างสำนักปฏิบัติเพื่อให้การปฏิบัติผิดเจริญงอกงามขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศลแน่

. แต่ขณะที่ให้ ขณะนั้นเป็นกุศลได้ไหม

ส. เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ยาก บางท่านอยากจะถวายของบางอย่างแก่สงฆ์ เนื่องจากท่านเป็นผู้มีทรัพย์สิน มีทุกสิ่งทุกประการ ซึ่งท่าน ไม่อยากจะเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของท่าน เพราะมากมายเหลือใช้ ถ้าได้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นก็จะเป็นการดี ท่านก็มีจิตคิดที่จะสละ ถ้าในขณะนั้นไม่มีเจตนามุ่งที่จะให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติผิด แต่มุ่งที่จะให้เป็นสถานที่สำหรับการศึกษา หรือการปฏิบัติธรรม และหวังว่าจะเป็นที่ที่มีการปฏิบัติถูก ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ไม่ใช่เพราะกำลังมีความเห็นผิด มุ่งที่จะส่งเสริมข้อปฏิบัติที่ผิด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่กุศล

เรื่องของความเห็นผิด ถ้าได้มีการฟังและพิจารณาเหตุผลที่ถูกต้อง ก็สามารถที่จะคลายหรือละความเห็นผิดนั้นได้ เพราะฉะนั้น ในบรรดาท่านที่เคยปฏิบัติผิด หรือเห็นผิดมาแล้ว เวลาที่ได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาค ท่านเกิดการพิจารณาที่ถูกต้องขึ้น มีความเห็นถูกเกิดขึ้นขณะใด ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าท่านได้มีการอบรมเหตุที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น อย่า หมดหวัง หรือว่าอย่าประมาทบุคคลอื่นซึ่งกำลังมีความเห็นผิด แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนที่จะเกื้อกูลด้วยความเห็นที่ถูกที่จะให้บุคคลนั้นพิจารณา ถ้าเขายังไม่พิจารณา ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงหรือกลับความคิดเห็นของเขาได้ แต่ใครจะรู้ว่า วันไหนเขาอาจจะเกิดสนใจฟังด้วยดี และพิจารณาจนความเห็นถูกเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามุ่งที่จะส่งเสริมความเห็นผิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล

. ทิฏฐิ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ จำแนกออกเป็น ๖๒ ประการ ส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกก็กล่าวว่า เห็นว่าเที่ยงก็เป็นทิฏฐิ เห็นว่าสูญก็เป็นทิฏฐิ เห็นว่ากายก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพก็อันนั้น พยัญชนะต่างๆ มากมายเหลือเกิน อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายขยายความทิฏฐิ ๖๒ ประการ

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ก็พักไว้ก่อน คงจะเข้าใจตลอดหมดทุกสิ่งทุกประการในพระไตรปิฎกไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจทิฏฐิ ความเห็นผิด ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของท่านเอง หรือของผู้ที่ใกล้ชิด หรือของมิตรสหายได้ เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์ ถ้าสามารถจะกระทำได้ที่จะให้เขาเกิดความเห็นถูกขึ้น

อย่างท่านผู้ฟังที่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานตอนกลางวัน ท่านก็บอกว่า ตอนกลางคืนท่านอยากจะทำสมาธิ ซึ่งในขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล อาจจะเป็นการตรึกนึกคิดวุ่นวายเรื่องอื่นๆ เพราะว่ายามว่างจากธุรกิจการงาน ท่านก็อาจจะมีปัจจัยที่จะให้นึกถึงอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เรื่องนั้นบ้าง เรื่องบุคคลนี้บ้าง ทำให้มีความรู้สึกว่า อยากจะทำสมาธิเพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน

อะไรทำให้ต้องการที่จะทำสมาธิ

โลภมูลจิตเกิดขึ้น จึงมีความพอใจ มีความต้องการ ที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริงในขณะนั้น

ทุกท่านมีอกุศล ซึ่งบางครั้งก็รุนแรงจนกระทั่งทำให้รู้สึกว่า กระสับกระส่ายเดือดร้อนใจ แต่เป็นความจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นด้วยความเข้มแข็งที่มั่นคงต่อการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้นว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมีอาการ มีลักษณะปรากฏอย่างนั้น เพื่อที่ปัญญาจะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ขณะนั้นจึงจะเป็นหนทางที่ทำให้รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละประเภทที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยลักษณะต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะถึงขณะที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น รู้แจ้งอริยสัจธรรม

แต่ถ้าคิดจะหลบหลีกทันที คือ จะทำสมาธิ ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต เพราะว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นความต้องการชนิดหนึ่งซึ่งต้องการที่จะให้สมาธิเกิดขึ้น ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ ว่า ทางตาเดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นโลกสว่างสำหรับคนที่มีจักขุปสาท เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยินเสียงซึ่งเป็นลักษณะที่ดัง เป็นลักษณะสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง

ถ้าไม่รู้ความจริงในชีวิตประจำวันตามปกติในขณะนี้เอง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่มีทางที่จะถึงการเป็นพระอริยบุคคลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะโลภะยังชักชวนที่จะให้ทำสิ่งอื่น ซึ่งไม่ใช่การระลึกทันที มีความอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า แม้ลักษณะของโลภะซึ่งรุนแรง หรือโทสะซึ่งรุนแรงในขณะนั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น จะเห็นทิฏฐิ ความเห็นผิดของตนเองได้ในชีวิตประจำวันว่า ขณะใดเป็นความเห็นผิด ขณะใดเป็นความเห็นถูก เพราะบางท่านกล่าวว่า ชีวิตของท่านมี ๒ อย่าง คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติอย่างหนึ่ง และการนั่งสมาธิอีกอย่างหนึ่ง

ทำไมต้อง ๒ อย่าง ทำไมไม่ใช่อย่างเดียว อะไรทำให้ต้องเป็น ๒ แทนที่จะเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ยังมีทางที่จะติดอยู่ และไม่รู้ด้วยว่า ขณะนั้นไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะการนั่งสมาธิ ไม่อาจจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้

แต่จะมีความพอใจเพราะมีความรู้สึกว่า มีนามธรรมและรูปธรรมปรากฏให้ รู้ชัด ไม่ว่าจะเย็นขณะนั้นก็รู้ หรือไม่ว่าจะคิดนึก หรือไม่ว่าจะมีกลิ่นปรากฏ สี เสียงปรากฏ ดูเสมือนว่าเป็นความรู้ชัด แต่ถ้าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

ถ้ายังมีความพอใจที่จะทำสมาธิ เพราะคิดว่าขณะนั้นสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมชัด แต่อย่าลืมว่า ไม่ใช่อารมณ์ชัด ต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏจึงจะชื่อว่ารู้ชัด ไม่ใช่คอยไปเงียบๆ และสิ่งใดเกิดปรากฏก็ว่าชัด แต่ในขณะนี้เองที่ชัด คือ ปัญญาสามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้ว ตามเหตุตามปัจจัยตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น จะทราบได้ว่า หนทางไหนเป็นหนทางถูก และหนทางไหนเป็นหนทางที่จะต้องอาจหาญร่าเริงเข้มแข็งที่จะไม่ติด เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละ ขณะใดที่รู้สึกว่าติด ขณะนั้นไม่ใช่การละ เมื่อไม่ใช่การละ จึงไม่ใช่หนทาง และการละ ต้องเป็นการละด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะละได้

เปิด  227
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565