แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1042
ถ. ผมขอกราบเรียนอาจารย์เป็นครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๒ มาฟังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับภวังค์ แต่ไม่กล้าถาม ผมอยู่สิงห์บุรี อายุ ๗๓ ปีแล้ว ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ผมจะกราบเรียนขออาจารย์สักอย่างหนึ่งจะได้ไหม
สุ. ยังไม่ทราบเลยว่าจะขออะไร ต้องทราบก่อนจึงจะตอบได้
ถ. ผมจะขออภัยอาจารย์ และขออาจารย์ให้อภัยผม
สุ. ให้อภัยได้ ง่ายมาก
ถ. ขอบพระคุณ ผมขออภัยทุกคนด้วย คือ ความคิดของผมวนเวียนเป็นก้นหอย พูดถึงอารมณ์ ผมคิดว่า อารมณ์ ๖ อย่างนี้สำคัญ ใช่ไหมอาจารย์
สุ. ค่ะ
ถ. อารมณ์ทั้ง ๖ อย่างนี้ บางทีก็เป็นรูป บางทีก็เป็นนาม อยากขอให้อาจารย์พูดให้ผมฟังเป็นข้อๆ น้อยๆ สัก ๕ นาที เช่น อย่างตาเห็นรูป จะเอาเราออกได้อย่างไร
สุ. คิดว่า ๕ นาทีแล้ว จะเอาเราออกได้ไหม
ถ. อาจารย์ต้องบอก
สุ. ไม่ได้ ๕ นาที ก็ยังเอาเราออกไม่ได้
ถ. อาจารย์บอกก่อนว่า จะเอาเราออกได้หรือไม่ได้
สุ. ไม่ได้แน่นอน
ถ. กี่นาทีก็ได้
สุ. กี่นาที ก็ยังเอาออกไม่ได้ อย่านับเวลาเป็นนาที
ถ. ถ้าอย่างนั้น อาจารย์กล่าวสักนิดว่า เมื่อตาเห็นรูป จะเอาเราออกได้อย่างไร
สุ. ฟัง จนกระทั่งเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทางตานั้นมีลักษณะอย่างไร
ถ. อย่างนี้เข้าใจ ตากับรูปประสบกัน จิตรู้เกิดเป็นรูป
สุ. ชื่อทั้งนั้นเลย
ถ. เป็นบัญญัติ
สุ. ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ยอมรับไหมว่า เป็นของจริง ชนิดหนึ่งที่กำลังปรากฏ
ถ. เป็นบัญญัติหรือ
สุ. ไม่ใช่ ไม่ต้องใช้ชื่ออะไรเลย แต่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริงชนิดหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏกับคนตาบอด คนตาบอดโลก มืดหมด ไม่มีความสว่างใดๆ ปรากฏเลย
ถ. พอเข้าใจแล้ว
สุ. เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็นแทนที่จะนึกถึงคำว่า รูปารมณ์ หรือแทนที่จะนึกถึงชื่อว่า วัณโณ แทนที่จะนึกถึงว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้รู้ว่า เป็นลักษณะสว่างซึ่งไม่ปรากฏกับคนตาบอด ขณะนี้จิตกำลังรู้สิ่งที่สว่างที่กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
ถ. ถ้าเห็นว่าเป็นรูปเฉยๆ อย่างนั้นได้ไหม
สุ. เป็นรูปเฉยๆ คืออย่างไร
ถ. คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เรา เขา เป็นรูป
สุ. ทางตาที่ว่า เห็นรูปเฉยๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอย่างไร เป็นสว่างได้ไหม
ถ. รูปที่เราเห็น รู้แล้วว่าเกิดจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลมประชุมกัน จะหาสิ่งใดเป็นสาระ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้เลย
สุ. แต่ว่าทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏที่จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏกับผู้ที่มีจักขุปสาท และเป็นโลกที่สว่าง ไม่ใช่โลกที่มืด นี่คือลักษณะของรูปารมณ์หรือวัณณะ
ถ. พอจะเข้าใจ และเรื่องเสียง จะเอาเราออกจากเสียงได้อย่างไร อย่างเสียงรถมันแล่นมา ถามว่าเสียงอะไร เสียงรถ แต่ในเสียงไม่มีรถ
สุ. ดูเหมือนกับว่ารู้จักเสียงดี ลองอธิบายให้ฟังว่า เสียงเป็นอย่างไร
ถ. เสียง หมายความว่า จะเกิดเสียง จะต้องมีของแข็งกระทบกัน
สุ. และเสียงที่กำลังปรากฏเป็นอย่างไร ลักษณะของเสียง
ถ. ลักษณะของเสียง ก็ดังมากระทบหู
สุ. เพราะฉะนั้น อะไรที่ดัง นั่นคือเสียง เสียงที่ไม่ดัง มีไหม
ถ. มี
สุ. มีเสียงไหนบ้างที่ไม่ดัง
ถ. เสียงที่มันสงบ
สุ. ก็ไม่ใช่เสียง นี่คือการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ. ขอประทานโทษ เมื่อเร็วๆ นี้ เขาว่าที่ประเทศจีน มีอะไรมา มาเร็วมาก ไม่ได้ยินเสียง มาแบบสงบ
สุ. ถ้าไม่ได้ยิน ก็ไม่ใช่เสียง แต่เวลาที่เสียงปรากฏขณะใด ขณะนั้นคือดัง ลักษณะที่ดังกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เพียงดังเท่านั้น และก็ดับไป
ถ. อยากให้อาจารย์แนะนิดเดียวว่า ที่เสียงไม่ใช่เรา จะทำอย่างไร
สุ. ก็เพราะเพียงดัง ลักษณะอะไรที่ดังเท่านั้นเอง ดังและก็หมดไปๆ
ถ. ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ใช่ไหม หาไม่ได้อย่างนั้นหรือ
สุ. ก็เพราะเพียงดัง จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าเป็นรถยนต์ ก็ยังเป็นรถยนต์ แต่ในเมื่อเพียงดัง สิ่งใดก็ตามที่ดัง ปรากฏเกิดขึ้นดังและก็หมด จึงไม่ใช่รถยนต์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะว่าเป็นเพียงสภาพที่ดัง พอใจอะไรนักหนากับ สิ่งที่ดังๆ
ถ. กลิ่น
สุ. ก็ปรากฏทางจมูก
ถ. หมายความว่า กลิ่นมาก็รู้ว่ากลิ่น
สุ. เวลาที่กลิ่นมา ไม่ต้องห่วง เฉพาะเวลาที่กลิ่นปรากฏ
ถ. กลิ่นปรากฏ เหม็น หอม อย่างนั้นหรือ
สุ. ตอนมาไม่ต้องนึกถึง ตอนที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่คน เพราะเป็นเพียงลักษณะที่ปรากฏทางจมูก
ถ. ลิ้น
สุ. เหมือนกัน กำลังปรากฏเวลารับประทาน
ถ. เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ลิ้นผมว่าลำบากจัง อาจารย์ช่วยแนะอีกนิดว่า จะตัดอย่างไรว่าไม่ใช่เรา จะว่าอย่างไรตอนนั้น
สุ. จะตัดเมื่อไร
ถ. พอผ่านลิ้นลงไป พอรู้รสแล้ว จะว่าอย่างไรที่ว่า ไม่ใช่เรา
สุ. ไม่ใช่เรื่องให้ไปทำ ให้ไปว่า
ถ. ต้องไปคิดให้เกิดปัญญาว่า นี่ไม่ใช่รส
สุ. และจะตัดหรือ
ถ. ไม่ใช่ จะให้อาจารย์แนะนำว่า นี่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เรา เขา เป็นอย่างไร
สุ. ลักษณะของรส เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับ ชิวหาปสาทเท่านั้นเอง
ถ. ไม่ใช่เรานะ อีกนิดหนึ่ง กายนี่มากจังเลย
สุ. ที่กำลังอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ถ้าสติระลึกในลักษณะนั้นก็รู้ว่า เป็นเพียงลักษณะที่เย็น จะเป็นเราได้อย่างไร
ถ. บางทีมีทั้งนามทั้งรูป ๒ อย่างนี้ บางทีนามกระทบ บางทีรูปไปถูกกระทบนาม จะพิจารณาอย่างไร ทั้งรูปทั้งนาม
สุ. เป็นเรื่องชื่อทั้งหมด ใช้คำว่านาม แต่กว่าจะรู้อรรถ คือ สภาพของธาตุที่เป็นธาตุรู้จะต้องมีสติระลึกรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นขณะที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยินก็เป็นขณะที่กำลังรู้เสียง กว่าจะน้อมไปรู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้จริงๆ ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ
ถ. รู้สึกว่าเป็นพระคุณอย่างยิ่งที่อธิบายให้ผมได้รู้ชัด ผมอาจจะไม่ได้มาพบอาจารย์อีกเป็นครั้งที่ ๔ ผมขอกราบลาทุกท่าน
สุ. ฟังทางวิทยุอยู่หรือเปล่า
ถ. ฟัง แต่บางวันฟังไม่รู้เรื่อง ก็โมโหเหมือนกัน
สุ. ฟังให้ติดต่อกัน
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ปกติคนเราส่วนมากอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ การที่จะเป็นสัมมาทิฏฐิได้นั้นต้องออกจากการไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทุกคนก็คิดว่าตัวเองได้ปฏิบัติธรรม หรือได้ฟังธรรมจากคณะต่างๆ จากอาจารย์ต่างๆ และคิดว่าของตัวเองนี้ถูกต้องหมดเลย บางคนก็เลื่อมใสขนาดนำหนังสือมาแจก เหมือนอย่างที่ผมเอาหนังสือมาแจกเหมือนกัน ผมเองก็ได้รับหนังสือข้อปฏิบัติธรรมจากอาจารย์อื่นมาหลายเล่ม ซึ่งก็เป็นความหวังดีของบุคคลเหล่านั้นที่จะให้ผมอ่าน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ถึงแม้ว่าชาตินี้ตัวเองจะปฏิบัติธรรมบรรลุธรรมหรือไม่นั้น ผมไม่ค่อยหนักใจเท่ากับผมได้เดินทางถูกหรือเปล่า เริ่มมีสัมมาทิฏฐิหรือเปล่า ผมคิดว่าสัมมาทิฏฐิเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ช้าเร็วไม่สำคัญ จุดเริ่มต้นที่ถูกหรือผิดต่างหาก ที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ถ. เรื่องการมีสติระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏตามปกติตามธรรมดา ผมพิจารณาว่า มี ๓ ระดับ คือ เมื่อสติเกิดขึ้นนั้นไม่ได้พิจารณา ๑ เมื่อสติเกิดขึ้นและพิจารณา สภาพธรรมเหล่านั้นแต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม ๑ และอีกสภาพหนึ่งที่ผมยังไม่ประจักษ์ คือ มีสติเกิดขึ้น สามารถรู้และพิจารณาเห็นความเป็นจริงของสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม ๑
อยากให้อาจารย์อธิบายว่า สติเกิดขึ้นเฉยๆ มีหรือเปล่า
สุ. มี เพราะสติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับกุศลจิตแม้เป็นญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา สติก็เกิดได้
ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มี สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของ สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ข้อที่ไม่ควรลืม คือ สติเกิดดับเร็วเช่นเดียวกับจิต เพราะสติเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปแล้ว ยังไม่ทันที่จะพิจารณาจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่บุคคลนั้นเริ่มรู้ว่า สติปัฏฐานคือการที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ในขณะที่เป็นสติ ที่เป็นไปในเรื่องการบริจาค ซึ่งเป็นสติที่เป็นไปในทาน หรือไม่ใช่สติในขณะที่กำลัง วิรัติทุจริต เป็นศีลสิกขาบทข้อหนึ่งข้อใด และไม่ใช่สติที่ระลึกได้ว่า อกุศลธรรมเป็น สิ่งที่ควรละเว้น เพราะฉะนั้น ควรที่จะเจริญกุศล เช่น เมตตา ซึ่งในขณะนั้นเป็นสติที่เป็นไปในความสงบ เป็นขั้นสมถะ
แต่ขณะใดที่กำลังระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏ สติเกิด แต่ก็ดับไปเร็วมากยังไม่ทันที่จะได้พิจารณาเพื่อที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม แต่บุคคลนั้นรู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ และปัญญาในขณะนั้นมีบ้างที่จะรู้ว่า ขณะนั้นกำลังระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่การรู้ชัดว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร จนกว่าจะค่อยๆ น้อมไปที่จะรู้ ที่จะพิจารณา ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมได้ทันที
พระอริยสาวกทุกท่านอบรมเจริญปัญญาเป็นกัปๆ ถ้าเป็นพระเถระหรือพระเถรี ซึ่งเป็นเอตทัคคะก็ถึงแสนกัป ถ้าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็สองอสงไขยแสนกัป ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สี่อสงไขยแสนกัป
แต่ท่านที่กำลังต้องการสัก ๕ นาที เทียบดูกับกัปหนึ่งๆ ที่จะต้องอดทน ที่จะต้องฟัง ที่จะต้องพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ และสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏ ยังไม่ทันไรก็ดับไปแล้ว ก็จะต้องระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าการพิจารณาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ถ. สติเกิดขึ้น โดยครั้งแรกยังไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี
สุ. ลักษณะของปัญญายังไม่ปรากฏ
ถ. แต่จะเป็นความเข้าใจถูกหรือเปล่าสำหรับสติขั้นนี้ ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นแตกต่างกันแต่ละทวาร แตกต่างกันจริงๆ อย่างนี้
สุ. เป็นการเริ่มเจริญขึ้นของปัญญาทีละเล็กทีละน้อย
ถ. ขั้นที่สองเมื่อสติเกิดขึ้นนั้นก็พิจารณา แต่ว่ายังสงสัยอยู่ ยังไม่ทราบว่า..
สุ. จากขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นสุดท้าย ระหว่างนี้ คือ พิจารณาไปเรื่อยๆ
ถ. หมายความว่า ขณะที่เราพิจารณานั้น เราก็ยังสงสัยอยู่เรื่อยๆ ใช่ไหม
สุ. แน่นอน ยังไม่หมดความสงสัย จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริง คือ วิปัสสนาญาณแต่ละขั้น
ถ. ขอบพระคุณ
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า เมื่อจะทำสติปัฏฐาน สมาธิไม่จำเป็นต้องใช้เลย หมายความว่า สมาธิไม่ใช่ส่วนประกอบในการที่เราจะใช้สติปัฏฐาน คือ ถ้าจะทำ สติปัฏฐาน ไม่จำเป็นจะต้องทำสมาธิ ใช่ไหม
สุ. สมาธิคืออะไร ต้องทราบก่อน
ถ. หมายความถึงความสงบ ใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่ สมาธิ คือ ขณะจิตที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง และสมถะ คือ ลักษณะที่สงบเพราะปราศจากอกุศล เพราะฉะนั้น กุศลจิตทุกขณะสงบเพราะปราศจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ แต่ในขณะที่ต้องการให้จิตตั้งมั่นหรือแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียวในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล กุศลต้องสงบ อย่าลืม กุศลมีลักษณะที่สงบจากอกุศล ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่อยากจะนั่งสมาธิ ขณะที่อยากจะทำสมาธิ ขณะนั้นสงบหรือไม่สงบ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ถ. ขณะที่นั่งอาจจะเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ ใช่ไหม
สุ. จิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ จึงจะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล แต่ขณะที่กำลังจะทำสมาธิ ขณะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม เพื่อประโยชน์คือ การเห็นอกุศลเป็นอกุศล เพื่อละ เพราะการที่จะละอกุศลได้ก็ต่อเมื่อเห็นว่า สภาพนั้นเป็นอกุศลจึงละ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังคิดว่าจะทำสมาธิ ในขณะนั้นตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น คือ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ถ. ผมพอเข้าใจ โดยสติปัฏฐาน ๔ ไม่จำเป็นต้องทำสมาธิ ใช่ไหม
สุ. มรรคมีองค์ ๘ ปกติแล้วมีองค์ ๕ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ได้ปราศจากสมาธิเลย ขณะใดที่สัมมาสติเกิดขึ้น ขณะนั้นมีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วย