แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1043

ถ. หมายความว่า ในมรรค ๘ มีสมาธิเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

สุ. แน่นอน ทุกท่านจะต้องเป็นผู้ที่ตรง คือ พิจารณาเหตุผลและลักษณะของสภาพธรรมเพื่อที่จะได้รู้ว่า ความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นผิด และความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นถูก ซึ่งเป็นประโยชน์ของการศึกษาและการพิจารณาธรรม

ถ. ที่ว่าสภาพดังเป็นเสียง ถ้าเรามีสติเกิดขึ้น เสียงต่างๆ ที่มากระทบหู ก็เป็นสภาพดังทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม เสียงที่อาจารย์บรรยายธรรมก็เป็นเสียงดัง และเราจะเอาอะไรมาเข้าใจธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยาย ถ้ารู้แต่ว่าเป็นเพียงเสียงเท่านั้น

สุ. สภาพธรรม คือ เสียง เพราะมีลักษณะดัง จึงเป็นชื่อหรือว่าเป็นนาม คือ เป็นคำ ถ้าไม่มีเสียง คือ ไม่มีสภาพธรรมที่ดัง จะไม่มีคำใดๆ และไม่มีชื่อใดๆ ไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้เลยถ้าปราศจากเสียง

ถ้ามีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการจำหมายลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นใช้สำหรับทำอะไร เช่น สำหรับรับประทาน หรือว่า ใช้รับประทานไม่ได้ นั่นเป็นการจำหมายทางตา แต่ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีคำที่จะใช้สำหรับเรียก หรืออธิบายให้เข้าใจ แม้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต หรือเจตสิก หรือรูป ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีคำ ไม่มีชื่อ ก็ไม่สามารถที่จะอธิบายอรรถ คือ ลักษณะ ของสภาพธรรมแต่ละอย่างได้

เพราะฉะนั้น สภาพที่มีจริง คือ ดัง ซึ่งเป็นเสียงนั่นเอง เป็นสิ่งซึ่งสามารถที่จะใช้อธิบายให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เสียงนั่นเอง คือ ชื่อ หรือคำที่จะทำให้เข้าใจในอรรถของสภาพธรรม

นั่งกันอยู่เฉยๆ ไม่พูดอะไรสักคำ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจเรื่องของสติ หรือว่าเรื่องของสัมมาทิฏฐิ หรือว่าเรื่องของมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เรื่องของสภาพธรรมได้ ก็ไม่มีทาง ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ลักษณะที่ดัง เป็นชื่อได้ เป็นคำได้ สำหรับให้เข้าใจความหมาย ได้ยิน มีใช่ไหม ได้ยินมี เราไม่มี ไม่ได้หมายความว่า ได้ยินไม่มี ได้ยินมีแต่เราไม่มี เห็นมีแต่เราไม่มี เข้าใจมีแต่เราไม่มี เข้าใจก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เห็นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่คือ สัมมาทิฏฐิ ถ้าความเห็นใดย้อนหรือแย้งกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าคิดว่าเรามี ผิดหรือถูก ก็ผิด

นี่คือประโยชน์ของการที่จะพิจารณาสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก เพราะถ้าไม่ฟังพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง จะไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

. สภาพธรรมต่างๆ เราไม่มีก็รู้ ในอภิธรรม แต่ในพระสูตร บางครั้ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ก็หมายความว่า เรามี คือ ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนคือเรา เราก็คือตน ก็น่าคิดอยู่

สุ. ถ้าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตถาคต เป็นอย่างไร

. หมายถึงพระองค์

สุ. หมายถึงพระองค์ แต่ว่าเป็นอนัตตา ใช่ไหม

. ใช่

สุ. เช่นเดียวกัน แต่ละบุคคลก็คือขันธ์ ๕ มีจิต เจตสิก รูปเกิดดับ แต่แทนที่จะบอกว่า ขันธ์ ๕ ที่อยู่ทางซ้าย หรือว่าขันธ์ ๕ ที่อยู่ข้างหลัง ขันธ์ ๕ ที่อยู่ทางโน้น ก็เป็นการยุ่งยาก

. เมื่อครู่นี้ที่ท่านผู้ฟังถามว่า ขณะที่เราจะรู้เสียง ก็หมายความว่า เสียงมีสภาพดัง ซึ่งสภาพดังนั้นก็แฝงความหมายอยู่ เช่น อาจารย์กล่าวว่า โลภมูลจิต ๘ ขณะที่เสียงดังแฝงมาพร้อมทั้งความหมาย เราฟังก็รู้เรื่องว่า หมายถึงอกุศลจิต ในเมื่อขณะนั้นเสียงก็มี รู้เรื่องก็มี สิ่งที่กระทบก็มี เมื่อเราจะเจริญสติ พิจารณาในขณะนั้นได้หรือเปล่า

สุ. ถ้าไม่ได้ ก็ไม่มีพระอริยบุคคล

. ก็รู้ว่า ได้แน่ แต่ขณะที่สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเมื่อเสียงกระทบ ขณะใดที่มีความรู้สึกตัวและมีสัมปชัญญะ ขณะนั้นก็รู้เรื่อง เมื่อรู้เรื่องแล้ว ก็รู้เสียงบ้าง รู้สภาพที่ได้ยินบ้าง รู้สภาพที่รู้เรื่องบ้าง ก็จบไปเท่านั้น ที่อาจารย์มักจะพูดบ่อยๆ ว่า ให้พิจารณาๆ ขณะนั้นพิจารณาแล้วหรือยัง

สุ. พิจารณา และดับไป ยังไม่พอ ก็ต้องพิจารณาอีก

. ขณะที่อาจารย์กล่าวว่า โลภมูลจิต ๘ เราก็รู้ความหมายของคำว่า โลภมูลจิต ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งและก็ดับไป ขณะนั้นชื่อว่า พิจารณาแล้วหรือยัง

สุ. ใครจะตอบได้ นอกจากสติปัฏฐานของผู้นั้นเอง ไม่อย่างนั้นคนอื่นก็สามารถที่จะมีอภิญญาจิต รู้ว่าจิตของบุคคลนั้นกำลังพิจารณาแค่ไหน อย่างไร แต่ตามความเป็นจริง บุคคลที่สติเกิดเป็นผู้ที่จะรู้ว่า พิจารณาหรือน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมบ้างหรือยัง และเริ่มรู้ขึ้นบ้างหรือยัง ขณะไหนพอที่จะรู้ ขณะไหนก็ไม่รู้อีกแล้ว ตามปกติตามความเป็นจริง

ท่านผู้ฟังคอยว่า เมื่อไรจะเป็นพระอริยบุคคล เมื่อไรสภาพธรรมจะปรากฏชัด แต่ว่ามีหนทางเดียว คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยความอดทนที่จะพิจารณาจนกว่าสภาพธรรมนั้นจะปรากฏทางมโนทวาร ไม่ต้องคิดเป็นห่วง ระลึกไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ความรู้จะค่อยๆ เกิดทีละเล็กทีละน้อย และต้องมีความอดทน

ข้อสำคัญ คือ อย่าเห็นผิด อย่ายึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยการพิจารณาว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ไม่ใช่เลื่อมใสโดยง่าย หรือว่าเชื่อทุกคนที่พูดถึงเรื่องของการปฏิบัติธรรม แต่จะต้องพิจารณาในเหตุผลเพื่อที่จะได้ไม่เห็นผิด และ ไม่ปฏิบัติผิด

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าทิฏฐิที่มีปรากฏในชีวิตประจำวันจะมีลักษณะต่างๆ ลักษณะของมิจฉาทิฏฐิซึ่งเป็นอกุศลเจตสิก คือ

อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นลักษณะ

ปรามาส รสา มีความยึดถือไปด้านอื่นล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นรสะ

มิจฺฉาภินิเวสปจฺจุปฏฺฐานา มีความยึดมั่นอย่างผิดๆ เป็นปัจจุปัฏฐาน

อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง

ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาลักษณะของมิจฉาทิฏฐิที่ว่า อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา มีความยืดมั่นโดยอุบายอันไม่แยบคายเป็นลักษณะ ถ้าไม่ฟังและไม่พิจารณาจริงๆ หรือว่าไม่พิจารณาให้ถูกขณะใด ขณะนั้นเป็นลักษณะของความเห็นผิด

ปรามาส รสา มีความยึดถือไปด้านอื่นล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ ถ้าใครประพฤติปฏิบัติหนทางที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง ให้ทราบว่า นั่นเป็นกิจของมิจฉาทิฏฐิ มีความยึดถือไปด้านอื่นล่วงเลยสภาวะเป็นรสะ ทำให้ลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด

มิจฺฉาภินิเวสปจฺจุปฏฺฐานา มีความยึดมั่นอย่างผิดๆ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ ที่จะให้เห็นว่า ใครยังมีความเห็นผิดอยู่ ใครยังประพฤติปฏิบัติ ผิดอยู่ และใครยังยึดมั่นในข้อประพฤติปฏิบัติที่ยังผิดอยู่ ซึ่งนั่นเป็นอาการที่ปรากฏของมิจฉาทิฏฐิ

อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

. พุทธบริษัททั้งหลายที่จะไม่อยากเห็นพระอริยบุคคล ผมเชื่อว่า ไม่มี

สุ. หมายความว่า ไม่มีใครไม่อยากเห็น ใช่ไหม แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ที่เห็นนั้นเป็นพระอริยะหรือเปล่า คนที่เห็นเป็นพระอริยะหรือเปล่า

. เป็นหรือไม่เป็น เราไม่รู้ แต่ต้องอยากเห็นแน่ จะบอกว่า ไม่อยากเห็นพระอริยเจ้านั้น ไม่มีแน่

สุ. ถ้าเป็นความเห็นผิด เช่น พวกเดียรถีย์ปริพาชก อยากเห็นหรือไม่อยากเห็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

. พวกนั้นอาจจะไม่อยากเห็น เพราะเกี่ยวกับลาภ

สุ. พวกนั้นคือพวกไหน

. พวกอัญญเดียรถีย์ในครั้งพุทธกาล

สุ. ก็คือพวกเห็นผิด ในครั้งนั้นอย่างไร ในครั้งนี้ก็อย่างนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะได้เห็นพระอริยบุคคลควรที่จะได้ทราบว่า จะเห็นได้ไหม จะเห็นได้อย่างไร และคนที่กำลังถูกเห็นอยู่นั้นเป็นพระอริยะหรือเปล่า จะรู้ได้อย่างไร

ที่ว่าอยากเห็น ก็ต้องมีเหตุผลที่ว่า จะเห็นได้อย่างไร ไม่ใช่เมื่อเห็นแล้วก็เชื่อว่าเป็นพระอริยะโดยไม่มีเหตุผล ถ้ามีคนบอกว่า พระอรหันต์กำลังเดินมา ก็เชื่อว่า นั่นเป็นพระอรหันต์กำลังเดินมา นั่นไม่ใช่เหตุผล เหมือนอย่างพวกเดียรถีย์ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะเสด็จมาพวกนั้นก็ไม่ได้เชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น วิธีที่จะเห็นพระอริยบุคคลแท้ๆ ต้องด้วยปัญญา ไม่ใช่เพียงด้วยการฟังตามและเชื่อทันทีว่า บุคคลนั้น บุคคลนี้เป็นพระอริยบุคคล ซึ่งนี่เป็นการพิสูจน์ใจจริงว่า ต้องการเห็นพระอริยบุคคลหรือเปล่า ถ้ายังยึดถือข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด จะชื่อว่าต้องการเห็นพระอริยะไหม แต่ถ้าพิจารณาเหตุผลในข้อปฏิบัติอย่างรอบคอบ อย่างละเอียด อย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่ผู้ที่เชื่อง่าย หรือว่าเพียงฟังก็เชื่อ แต่ว่ามีเหตุผลที่จะพิจารณาว่า การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ถ้ารู้เหตุจริงๆ ที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลได้ และมีความเข้าใจในเหตุที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลถูกต้อง ผู้นั้นก็มีโอกาสที่จะเห็นพระอริยบุคคลด้วยปัญญา

แต่ถ้าไม่พิจารณาเหตุที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลว่า อบรมเจริญอย่างไรจึงจะเป็นพระอริยบุคคล ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นพระอริยบุคคล ซึ่งแสดงว่าบุคคลนั้นไม่ได้มีความปรารถนาจริงๆ ที่จะพบพระอริยบุคคล เพราะเป็นผู้ที่เชื่อง่ายโดยไม่พิจารณาเหตุที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคล

. ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ พระอริยบุคคลมีมาก โดยใช้จำนวนคนที่ไปเป็นข้ออ้าง ว่าไปกันวันหนึ่งเป็นหมื่นเป็นแสน ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นพระอริยบุคคล

สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีอัธยาศัย มีอุปนิสัยสะสมมาต่างๆ กัน แต่ก็จะมีผู้ที่มีเหตุผลและเป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผล มิฉะนั้นแล้วพระธรรมของ พระผู้มีพระภาคคงจะสูญสิ้นหมดไปนานแล้ว ถ้าไม่มีผู้ที่ฟังพระธรรมและพิจารณาเหตุผลจริงๆ เพราะฉะนั้น บุคคลอื่นแต่ละบุคคลรวมทั้งท่านเอง ก็เป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยต่างๆ กันมา จึงไม่ต้องคำนึงถึงบุคคลอื่น เพราะว่าการที่จะละความเห็นผิดของบุคคลอื่นเป็นเรื่องยาก แต่ควรที่จะพิจารณาถึงความเห็นผิดของตนเองว่า มีไหม ถ้ามีก็จะได้ละ เพราะฉะนั้น การที่ตัวท่านเองเป็นผู้ที่ต้องการเห็นพระอริยบุคคล ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้หนทางที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลก่อน และไม่ต้องห่วงถึงบุคคลอื่น เพราะว่าการที่จะให้ทุกคนมีความเห็นถูก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

. การเห็นพระอริยบุคคล เดี๋ยวนี้ผมไม่ตื่นเต้นเพราะรู้แล้วว่า เมื่อพบเห็นแล้ว คำสอนและคำสนทนาของท่านก็ไม่พ้นไปจากพระไตรปิฎก และปัญญาของเราจะเกิดพรวดพราดก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เห็นก็อย่างนั้น ไม่เห็นก็อย่างนั้น ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร

สุ. ข้อสำคัญทราบไม่ได้ใช่ไหมว่า ใครเป็นพระอริยบุคคล ถ้าผู้ที่เห็นไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล

. ทราบได้แต่ว่า บุคคลนั้นไม่เป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็น พระอริยบุคคล ก็ทราบไม่ได้

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครบอกว่า คนโน้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็น พระอรหันต์ ก็ทราบได้ว่า ผู้ที่กล่าวอย่างนั้นยังไม่ได้รู้จริง เพราะผู้นั้นเองไม่ใช่ พระอรหันต์

. แน่นอน บุคคลใดถ้าไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีมากที่เขาลือกันทุกวันนี้ว่า คนนั้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นพระอรหันต์ แต่ข้อปฏิบัติของท่านไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน จะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร

สุ. ขออนุโมทนาในความเห็นถูก

ขอกล่าวถึงเหตุเกิดแห่งทิฏฐิ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุเกิดแห่งทิฏฐิ ขอทบทวนลักษณะของทิฏฐิที่ว่า

อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นลักษณะ

ขณะใดก็ตามที่เกิดความยึดถือในความเห็นชนิดหนึ่งชนิดใดขึ้น แต่ความเห็นนั้นขาดการพิจารณาโดยแยบคาย โดยถูกต้อง ในขณะนั้นต้องพิจารณาให้ทราบว่า เป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเปล่า

ปรามาส รสา มีความยึดถือไปด้านอื่นล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นรสะ คือ แทนที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็กลับมีความยึดถือไปด้านอื่นล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นกิจ

มิจฺฉาภินิเวสปจฺจุปฏฺฐานา มีความยึดมั่นอย่างผิดๆ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง

บางท่านอาจแย้งว่า คงจะไม่มีใครที่ไม่อยากเห็นพระอริยบุคคล เพราะชื่อว่าพระอริยบุคคลแล้ว โดยเฉพาะเป็นพระอรหันต์ ก็มีผู้ที่อยากเห็นจริงๆ แต่การที่จะเห็นพระอรหันต์หรือไม่เห็น ไม่ใช่ด้วยจักขุ คือ ด้วยตา เพราะตาสามารถที่จะเห็นเพียงวัณณะ คือ สีสันต่างๆ ตาไม่สามารถเห็นความเป็นพระอรหันต์ ตาไม่สามารถเห็นคุณธรรมของผู้ที่ดับกิเลสหมดด้วยการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีพระอรหันต์ แต่ถ้าผู้นั้นไม่รู้เหตุที่จะให้เป็น พระอรหันต์ ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า บุคคลใดเป็นพระอรหันต์ ฉันใด ในยุคนี้ สมัยนี้ ถ้าผู้ใดเพียงอยากจะเห็นพระอรหันต์ด้วยจักขุปสาท คือ เพียงอยากจะเห็นว่า ใคร ที่ไหน รูปร่างหน้าตาอย่างไรเป็นพระอรหันต์ ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นได้ เพราะว่าไม่รู้คุณธรรม และไม่รู้เหตุที่จะให้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เปิด  265
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565