แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1047

อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา อรรถกถา อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๒ แสดงลักษณะที่ต่างกันของทิฏฐิกับปัญญา มีข้อความว่า

ปัญญา คือ ญาณนั้น รู้อารมณ์ได้ตามสภาพที่เป็นจริง แต่ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดนั้น ละสภาพตามที่เป็นจริง ถือเอาโดยสภาพที่ไม่จริง เพราะฉะนั้น ทิฏฐิจึงมีลักษณะที่เชื่อมั่นอย่างผิดๆ ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

นี่เป็นความต่างกันของมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ ถ้าพูดถึงทิฏฐิเฉยๆ อาจจะเป็นอกุศลก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงเรื่องของ อกุศลธรรมและใช้คำว่าทิฏฐิ ย่อมหมายถึงมิจฉาทิฏฐิ และเวลาที่กล่าวถึงเรื่องของกุศลธรรมและใช้คำว่าทิฏฐิ ย่อมหมายถึงสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญา

. เวลานี้ผมเชื่อแล้วว่า บุญมี บาปมี ผลของบุญทำให้เป็นสุข ผลของบาปจะเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ บางครั้งผมขับรถกลางคืน โดยเฉพาะสายบางนา – ตราด พวกแมลงต่างๆ บินมาเล่นไฟ รถของเราก็ต้องชนแมลงต่างๆ ถ้าขับเร็วหน้ากระจกรถก็ติดแมลงไว้หลายตัว อยากทราบว่า พระโสดาบันขับรถกลางคืนหรือเปล่า

สุ. ก็คงจะสงสัยต่อไปอีกหลายเรื่อง จะเดินทางกลางคืนไหม เดี๋ยวท่านจะไปเหยียบมดเข้า หรืออะไรๆ แต่ว่าผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าไม่มีเจตนาฆ่า เป็นหลัก

. เจตนาฆ่าไม่มีแน่นอน แต่ก็รู้แน่นอนว่า ถ้าเราขับรถสายบางนา - ตราด แมลงจะต้องตายแน่นอน แต่เจตนาที่จะฆ่านั้นไม่มี

สุ. แมลงมีกรรมไหม กรรมของแมลงมีไหม ทุกท่านอย่าคิดถึงบุคคลอื่นภายนอกเป็นปัจจัย ถึงเวลาจริงๆ ที่กรรมจะให้ผล แม้ไม่มีบุคคลอื่นจะทำร้าย หรือจะทำอันตราย กรรมย่อมทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้น ท่านผู้ฟังเคยตกกระไดไหม ใครทำให้ ไม่ต้องคิดถึงคนอื่นเลย อาจจะมีการเจ็บปวดยิ่งกว่าการตกกระไดซึ่งท่านทำเอง หรือเกิดขึ้นด้วยตัวของท่านเอง ไม่ใช่บุคคลอื่นทำให้ แต่ถ้าบุคคลอื่นทำให้ ท่านก็พิจารณาว่า เป็นเพราะคนอื่น ลืมว่าเป็นเพราะกรรมของตนเอง แม้บุคคลอื่นไม่ได้ทำก็ยังมีอกุศลวิบากเกิดขึ้นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เป็นเพราะผลของกรรมของตนเอง เพราะฉะนั้น แมลงมีกรรมไหม ก็ต้องเหมือนกัน

. ท่านพระองคุลีมาล ท่านฆ่าคนตั้งมากมาย ถ้าเราจะฆ่าแมลงสาบจำนวนเท่านั้น หรือฆ่าหมาจำนวนเท่านั้น และเราก็พยายามเดินตามหลังท่านอาจารย์สุจินต์ จะลงนรกไหม

สุ. ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ซึ่งหนทางเดียวที่จะทำให้ไม่เกิดในอบายภูมิและดับภพชาติได้ คือ การอบรม เจริญสติปัฏฐาน

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านอยากเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผูกพันอยู่กับการที่จะไปเกิดในดาวดึงส์ แต่ท่านไม่ฟังธรรมเลย ก็อยากจะเรียนถามท่านว่า ท่านจะไปดาวดึงส์ได้โดยทางไหน เพราะว่าวันหนึ่งๆ อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้น จะไปสู่ทางไหนกันแน่ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

เพียงนั่งเฉยๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดพิจารณาสภาพธรรม อกุศลจิตย่อมเกิด ยังไม่ทันที่จะกระทำกายกรรม หรือวจีกรรมใดๆ เลย ทั้งๆ ที่ยังนั่งอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ คิดอยู่ ก็ด้วยอกุศลจิตแล้วในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น มีทางจะไปสู่ทางไหนมากกว่ากัน ดาวดึงส์ หรือว่าอบายภูมิ

. แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมฟังท่านอาจารย์จากทางวิทยุว่า ถ้าเรายึดมั่นอยู่ในกุศลกรรมบถ หนทางที่จะไปสู่อบายภูมินั้นก็ยาก

สุ. ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ทำให้เกิดในสุคติภูมิ แต่ทุกคนไม่ได้มีแต่ กุศลกรรม พิจารณาให้ดี ให้ละเอียดว่า กุศลธรรมมากหรือน้อยกว่าอกุศลกรรม และถ้าจะพิจารณา ก็พิจารณาได้เฉพาะในชาตินี้ แต่ชาติก่อนๆ เอาไปทิ้งไว้ที่ไหน กรรมยังมีโอกาสที่จะติดตามให้ผลอยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ถึงปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ไม่ควรเป็นผู้ประมาท

. ถ้าเราพยายามทิ้งสิ่งชั่วทั้งหมดเท่าที่เคยมี วิบากที่เป็นอกุศลจะตามทันได้อย่างไร

สุ. อย่าห่วงเรื่องวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะไม่มีใครทราบว่าพรุ่งนี้หรือขณะต่อไปกรรมใดจะให้ผล ทุกท่านยังแข็งแรงในขณะนี้ ใครจะทราบว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับเหตุ คือ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เพราะฉะนั้น หนทางที่ดีที่สุด คือ เป็นผู้ไม่ประมาทที่จะเจริญกุศลทุกประการเท่าที่สามารถจะกระทำได้ และไม่ต้องเป็นห่วง เพราะไม่มีใครสามารถรู้แน่ว่า ชาติหน้าจะเกิดในสุคติภูมิไหม นอกจากผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ก็เจริญกุศล แต่จะเกิดที่ไหนนั้น ช่วยไม่ได้ จะช่วยได้ก็ต่อเมื่อเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว จึงจะไม่เกิดในอบายภูมิ ถ้าจะห่วง ก็ห่วงไปโดยไร้ประโยชน์ เพราะเหตุได้กระทำไว้แล้ว

. ขณะที่เจริญสติ ขณะนั้นจิตต้องมีลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ และที่จิตดวงนั้นจะมีอารมณ์อย่างนั้นเป็นอารมณ์ได้ โดยการ ...

สุ. โดยการรู้ลักษณะของสติปัฏฐานว่า สติปัฏฐานไม่ใช่เป็นขั้นคิด

. ตอนฟังใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นก็คิดว่า อันนี้เป็นนามธรรม อันนั้นเป็นรูปธรรม พอนานๆ เข้าก็ชักชินที่จะคิดอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่ใช่สติปัฏฐานอีก ตอนนี้ก็เลยเฉยๆ ไม่อยากคิด ไม่อยากอะไร

สุ. ไม่ใช่จะบังคับความรู้สึกว่า จะคิดหรือจะไม่คิด แต่ให้ทราบว่า สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะ อย่าลืม รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังรู้ลักษณะ จะคิดพร้อมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ เมื่อลักษณะปรากฏ ศึกษาในขณะนั้น คือ สังเกต น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้ หรือว่าน้อมไปที่จะรู้ในลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา

เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็เป็นเรารู้ทั้งหมด คือ เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราคิดนึก เราสุข เราทุกข์ แต่ให้ทราบว่า ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้แต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา ก็ต่อเมื่อรู้ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น และจะค่อยๆ ระลึกได้บ่อยขึ้น จนกว่าวันหนึ่งจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้จริงๆ

. ต้องน้อมไป พิจารณาไป

สุ. เรื่อยๆ อีกนานแสนนาน อย่าคิดว่าจะเร็ว และต้องไม่ท้อถอย เพราะ ผู้ที่อดทนย่อมเป็นผู้ที่สามารถจะบรรลุผลได้

. วจีวิญญัติรูป อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

สุ. ก็กำลังพูด เป็นรูปที่ทำให้เกิดเสียงซึ่งมีความหมาย

. ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ใช่เสียง

สุ. ตบมือ ไม่ใช่วจีวิญญัติรูป เพราะว่าเสียงนั้นเกิดจากการกระทบกันของมือ ๒ ข้าง ซึ่งเป็นวัตถุที่แข็งกระทบกัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่วจีวิญญัติรูป แต่ วจีวิญญัติรูป ต้องหมายความว่ารูปในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะจิต ทำให้รูปมีการเคลื่อนไหว กระทบฐานที่ทำให้เกิดเสียงซึ่งทำให้เข้าใจความหมาย

. เข้าใจแล้ว

สุ. การที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ตรง และเป็นผู้ที่พิจารณา ในเหตุผล มิฉะนั้นแล้วจะไม่พ้นจากความเห็นผิด เพราะแม้เพียง ความเป็น ผู้ขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าว ก็จะต้องพิจารณาแล้วใช่ไหมว่า มงคลตื่นข่าวคืออะไร ถ้ายังไม่ทราบว่ามงคลตื่นข่าวคืออะไร ก็อาจจะไม่ทราบว่า ตัวท่านกำลังเป็น ผู้ขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าวหรือเปล่า

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผล ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาเหตุผลโดยละเอียดรอบคอบจริงๆ มิฉะนั้นจะไม่ทราบเลยว่า เพียงสนใจและขวนขวายในการที่จะถือมงคลตื่นข่าวแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้ไกลต่อการที่จะยึดมั่นในกรรมของตน เพียงแต่สนใจขวนขวายนิดหน่อย ก็จะเป็นทางที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใส หรือว่าเกิดความสนใจ หรือว่าเกิดความเห็นผิด ขาดการพิจารณาในเหตุผล และในที่สุดจะทำให้ค่อยๆ เคลื่อนจากการเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม และเมื่อเคลื่อนจากการเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมก็จะห่างไกลจากธรรมไปทุกที

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตาม เหตุการณ์ใดก็ตาม แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ รอบๆ ตัว ในชีวิตประจำวัน ก็จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า เป็นเหตุให้ใกล้หรือให้ไกลจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว

ผู้ฟัง เรื่องมงคลตื่นข่าวนี้ ผมไม่ได้ตื่นกับเขา แต่เห็นเขากำลังตื่นกันอยู่ ทางฝั่งธนมีวัดใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่อยู่แห่งหนึ่ง มีการสร้างมงคลตื่นข่าวกัน ผู้คนก็ไปกัน เป็นต้นว่า เดี๋ยวนี้พระเข้าทรง เชิญพระอรหันต์มาเข้าทรงได้ และมีคนเชื่อด้วย ขนาดเป็นอุบาสิกาบวชชีก็ไปกราบไหว้เขา เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเหลือเกิน ผมเจอมากับตัวเอง ไปพูดกับเขาเข้า ก็เกือบจะเป็นภัยกับตัวเอง

สุ. ท่านผู้ฟังท่านอื่นมีอะไรอีกไหม ต้องเป็นผู้ตรงที่จะพิจารณา โดยที่ไม่คิดถึงบุคคลหรือหมู่คณะ มิฉะนั้นแล้วอาจจะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่ตรง

. ผมได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แต่เขาไม่ได้อธิบาย เขาบอกว่า เป็นการปฏิบัติพระธรรมกาย คำว่า ธรรมกาย ในพระศาสนามีไหม และหมายความว่าอะไร

สุ. คำว่า ธรรมกาย เป็นอีกชื่อหนึ่งของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า กาย หมายถึงเป็นที่ประชุม หรือที่รวมของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่เราได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษา ย่อมมาจากธรรมกาย คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียด ถ้าเข้าใจในความหมายอื่นก็ไม่ถูก

. คำว่า มงคลตื่นข่าว ใช้เฉพาะในธรรม หรือนอกธรรมด้วย

สุ. การไม่พิจารณาในเหตุผล และเชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อที่ปราศจากเหตุผล ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า ถ้าเกิดความสนใจจนมีความขวนขวายในการที่จะยึดถือมงคลตื่นข่าว ก็จะต้องมีการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะมีความเห็นว่าการทำสิ่งนั้นจะช่วย โดยที่ไม่ใช่เป็นกุศลกรรมของตนเอง เพราะฉะนั้น แทนที่จะขวนขวายไปทำสิ่งอื่น ไปพึ่งกรรมของคนอื่น ในขณะที่จะขวนขวายอย่างนั้น ทำไมไม่ขวนขวายทำกุศลกรรมของตนเองเสียทันที ใช่ไหม เพราะก็ต้องมีการขวนขวายเหมือนกัน ต้องมีการกระทำเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปขวนขวายหาที่พึ่งอื่นซึ่งไม่ใช่กุศลกรรมของตนเอง แทนที่จะต้องเสียเวลาขวนขวายกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเหมือนกัน ก็ขวนขวายกระทำ กุศลกรรมของตนเอง มีกรรมของตัวเองเป็นที่พึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุและผล ไม่ใช่มงคลตื่นข่าว แต่ถ้าตราบใดยังไม่มั่นคง ไม่เชื่อมั่นในเรื่องกรรมของตน และหวังพึ่งการกระทำอย่างอื่น ขณะนั้นก็เป็นการยึดถือมงคลตื่นข่าว ซึ่งมีมากมายหลายชนิด จะพ้นไปได้ก็ต่อเมื่อพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลว่า เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ หรือเปล่า

ผู้ฟัง แต่ผมมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่จะขวนขวายให้ผู้อื่นมาช่วย หรือพึ่งกรรมของผู้อื่น เช่น มนุษย์ด้วยกัน บางอย่างเราก็จะต้องพึ่งเขา เขาอาจจะช่วยเราได้เหมือนกัน

สุ. อย่างนั้นไม่ใช่มงคลตื่นข่าว

ผู้ฟัง อย่างขอความช่วยเหลือจากเทวดา ก็คงเหมือนกับการขอความช่วยเหลือจากคน คงจะไม่ต่างกัน

สุ. คิดว่า เทวดาจะช่วยได้ใช่ไหม

ผู้ฟัง คิดว่าอย่างนั้น

สุ. ถ้าไม่มีกุศลกรรมของตนเอง ใครจะช่วยได้ เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาจริงๆ จะเชื่ออย่างไร จะคิดอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร จะพ้นจากกรรมของตนเอง ได้ไหม ถ้าพ้นไม่ได้ ก็ควรที่จะเจริญกุศลกรรมเพื่อที่จะเป็นที่พึ่งของตนเองจริงๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังอดไม่ได้ที่จะมีมงคลตื่นข่าว

เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาว่า ท่านเองเป็นผู้ที่พ้นจากมงคลตื่นข่าวในชีวิตประจำวันจริงๆ หรือว่ายังมีจิตใจโอนเอียงที่จะขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าว แม้เพียงเล็กน้อยนิดๆ หน่อยๆ และก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ ได้ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งนี่เป็นการเกิดขึ้นและเป็นการเจริญเติบโตของความเห็นผิด

การที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ จะต้องพิจารณาให้รู้ว่า ธรรมใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ก็จะไม่พ้นไปจากความเห็นผิด หรือมงคลตื่นข่าว ซึ่งถ้ามีความสนใจนิดหนึ่ง ก็จะพาไปสู่ความสนใจ และความขวนขวายยิ่งขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดจะไม่แสวงหาพระธรรมที่แท้จริง และจะไม่พิจารณาเหตุผลโดยละเอียด

ที่อังกฤษได้สนทนากับชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง คือ คุณมัลคัม เป็นผู้ที่กำลังทำปริญญาเอกทางพระวินัย ซึ่งก็ได้สนทนากันว่า ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการบวชจริงๆ ไม่สามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้ เพราะจะไม่ทราบว่า พระวินัยแต่ละข้อที่ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัตินั้นเพื่อป้องกันการกำเริบของอกุศลธรรมประเภทไหน ทางใด เพราะฉะนั้น จะศึกษาเพียงแต่พระวินัยอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจแม้เหตุผลที่ละเอียดของจุดประสงค์ของการบวช หรือว่าจุดที่แตกต่างกันจริงๆ ระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิต ก็จะไม่เข้าใจเลยว่า การบวชนั้นเพื่ออะไร เพราะว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะฉะนั้น อะไรที่ทำให้ต่างกันระหว่างชีวิตของบรรพชิตและคฤหัสถ์

และได้สนทนากันถึงคำว่า อนัตตา คำว่า อนัตตา เพียงคำเดียว แต่ถ้าพิจารณาและศึกษาจริงๆ จะทำให้สามารถเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผิวเผิน ไม่มีทางที่จะเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

เปิด  242
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566