แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1049

. รู้เห็นก็ต้องเป็นอนัตตา

สุ. ธรรมทั้งหลาย ไม่เว้นเลย อนัตตาหมายความถึงสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละชนิด สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดทุกชนิด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ. ขณะที่เราเห็นเป็นรูป รูปของอนัตตา

สุ. สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป แต่ไม่ใช่รูปของอนัตตา ไม่เช่นนั้นจะมีอนัตตาส่วนหนึ่ง และมีรูปของอนัตตาอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น

ต้องเข้าใจว่า อนัตตาหมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสภาพที่มีลักษณะอย่างนั้นๆ แต่ละอย่าง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของจริง ไม่ปรากฏทางหู ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น เป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

แต่เพราะไม่เข้าใจความหมายของอนัตตาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลาที่ตาเห็น เห็นเป็นวัตถุต่างๆ เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นต้องรู้ว่า ไม่ได้รู้ความเป็นอนัตตาของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงจะต้องศึกษาให้เข้าใจว่า เมื่อเป็นอนัตตาแล้ว ปรากฏอย่างไรจึงเป็นอนัตตา แต่ถ้ารู้ว่า เป็นเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่ามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เท่านั้น นั่นถูก

ลองกระทบสัมผัส ทุกอย่าง อ่อน แข็ง มีไหม ถ้ามี จะบอกว่าว่างได้อย่างไร ซึ่งนั่นแปลว่า เข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา ผิดเสียแล้ว

. ที่ว่าเห็นสี สีมีความหมายอย่างไร เห็นอย่างไร

สุ. ถ้าไม่เห็นก็ไม่รู้ว่า มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ที่ไหน ต้องอาศัยกายสัมผัส แต่เวลาที่ตาเห็นสามารถที่จะรู้ได้ เพราะที่ใดก็ตามที่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่นั่นมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา อีก ๔ รูปรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น สีที่ปรากฏทางตาก็เป็นนิมิต คือ เป็นเครื่องหมาย ให้รู้ว่ามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อยู่ที่นั่น

ปกติทุกคนเห็น และเห็นนิมิตด้วย ปกติธรรมดา ไม่เปลี่ยน แต่ว่านิมิตนั้นเป็นนิมิตของคนชื่อนั้นชื่อนี้ หรือว่าวัตถุสิ่งของนั้นสิ่งของนี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การเห็นอนัตตา หรือไม่ใช่การรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะเห็นคนชื่อ ต่างๆ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า เป็นเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่ามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เมื่อเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จึงไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ

. เพราะฉะนั้น สีในที่นี้ ก็ไม่ใช่สีที่เห็น

สุ. เหมือนกัน กำลังปรากฏเป็นนิมิต เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ สิ่งที่ปรากฏทางตามีรูปร่างสัณฐานปรากฏไหม

. มี

สุ. ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จะมีรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะตัวเล็ก ตัวใหญ่ สูงหรือต่ำ ก็เพราะเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่นั่นเป็นอย่างไร มากหรือน้อย

. อย่างเห็นเก้าอี้ตัวนี้สีแดง ตัวนั้นสีน้ำตาล เมื่อเห็นก็แยกได้ทันทีว่า นี่สีแดง นั่นสีน้ำตาล

สุ. จำได้

. ถ้าจะเห็นอย่างผู้มีสติ ที่ว่าให้เห็นสี สีนั้นคืออะไรกันแน่

สุ. เหมือนอย่างปกติธรรมดา ไม่เปลี่ยน แต่ว่าความรู้ รู้ว่านี่เป็นแต่เพียงเครื่องหมายของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

เพราะฉะนั้น ที่มีจริงๆ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธาตุอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กระทบสัมผัสทางกาย แต่เพราะทางตามารวมสีสันวัณณะกับรูปร่างสัณฐาน จึงทำให้ยึดถือว่า เป็นวัตถุ ต่างๆ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลชื่อต่างๆ เพราะฉะนั้น ชื่อก็เข้าไปติด ไปปิดบังอีก

ด้วยเหตุนี้การที่จะรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ

ทางตาเป็นแต่เพียงเครื่องหมายของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทางกายกระทบสัมผัส เป็นแต่เพียงเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น แต่เพราะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก จึงมีการยึดถือสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นนิมิต เครื่องหมายของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ว่าเป็นนิมิตเครื่องหมายของคนชื่อต่างๆ ของสัตว์ ของวัตถุต่างๆ นั่นคือ ความเห็นผิดว่า เป็นอัตตา จนกว่าจะเห็นจริงๆ ว่า เป็นอนัตตา

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ปรมัตถธรรม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าเป็นธรรมทั้งหลายก็ไม่เว้นสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ต้องเป็นทางตาที่กำลังเห็น เป็นอนัตตาอย่างไร ทางหูที่กำลังได้ยิน เป็นอนัตตาอย่างไร ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น เป็นอนัตตาอย่างไร ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส เป็นอนัตตาอย่างไร ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส เป็นอนัตตาอย่างไร ทางใจที่กำลังคิดนึก เป็นอนัตตาอย่างไร

เวลาที่กระทบสัมผัส รู้สึกว่าจับนาฬิกา เป็นอนัตตาไหม ไม่เป็น

แต่ถ้าสติระลึกลักษณะที่อ่อนหรือแข็งเท่านั้นที่กำลังปรากฏกับสภาพรู้ ไม่ใช่ เรารู้ สภาพรู้นั้นกำลังรู้อ่อนหรือแข็ง เป็นเพียงสภาพรู้เท่านั้นเอง อย่าลืม เป็น เท่านั้นเองจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เราที่กำลังยึดถืออ่อนหรือแข็งว่าเป็นนาฬิกา แต่เป็นอ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏกับสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ขณะหนึ่ง เป็นเพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้เท่านั้น

ทางหู เสียงปรากฏกับธาตุรู้ หรือสภาพรู้เท่านั้น

ทางใจ เรื่องราวปรากฏกับจิตที่คิดนึกเท่านั้น ถ้าจิตไม่คิดนึกเรื่องนั้นไม่ปรากฏ ไม่มีในโลกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าทางตาเพียงเห็นแล้วดับ ถ้าไม่คิดถึงสิ่งที่ปรากฏ ทางตาเรื่องของบุคคลต่างๆ ก็ไม่มี แต่ถ้าคิดถึงคนหนึ่งคนใด วัตถุหนึ่งวัตถุใด เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด ในขณะนั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏกับจิตที่กำลังคิดเรื่องนั้นเท่านั้นเองจริงๆ

เวลาที่สติเกิดจะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้ เท่านั้นเองจริงๆ และต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ด้วย เช่น ขณะที่อ่อนหรือแข็งกำลังปรากฏ สติระลึกรู้ว่า อ่อนหรือแข็งเท่านั้นกำลังปรากฏกับสภาพที่รู้เท่านั้นเหมือนกัน และสภาพรู้เกิดขึ้นรู้เท่านั้นทีละขณะๆ ทีละอย่างๆ จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ และ จะเว้นทางหนึ่งทางใดไม่ได้ เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อย่าลืม

. อย่างเห็นนาฬิกา ขณะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า

สุ. การไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะ ไม่รู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต หรือว่าเป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ไม่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. สักกายทิฏฐิก็เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทหนึ่ง

. อย่างเห็นนาฬิกา

สุ. หลายท่านเห็น และไม่ได้สนใจเลย เกือบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรอยู่ที่นี่ ซึ่งขณะนั้นจิตต่างกับที่กำลังพอใจในรูปร่างสัณฐาน และต่างกับจิตที่ยึดถือว่าต้องมีนาฬิกา จะกล่าวว่าเป็นอนัตตาไม่ได้ ยึดถือว่าต้องเป็นนาฬิกา ไม่ใช่อย่างอื่น

ไม่ได้ยึดถือก็ได้ เพียงแต่นึกถึงเรื่อง นึกถึงรูปร่าง ยับยั้งความคิดไม่ได้ เวลาเห็นแล้วคิด แต่ความคิดในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยความยึดถือก็ได้ เพียงแต่คิดเรื่อง

เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา เป็นตัวตน ตั้งแต่เกิดจนตาย

ได้ถามคนไทยซึ่งพบที่วัดไทยว่า โลภะกับเมตตาอย่าง อะไรเป็นกุศล อะไร เป็นอกุศล ทุกคนตอบได้เร็วและพร้อมกันด้วยว่า โลภะเป็นอกุศล เมตตาเป็นกุศล แต่ถ้าถามว่า ขณะนี้เป็นโลภะหรือว่าเป็นเมตตา ตอบไม่ได้ ถ้าถามเรื่องราวตอบได้ โลภะต้องเป็นอกุศล เมตตาต้องเป็นกุศล ซึ่งถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่สามารถจะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นโลภมูลจิตหรือว่าขณะนี้เป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่เรื่องของชื่อตอบได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของอนัตตาแปลได้ พูดตามได้ แต่ที่จะเห็นว่าเป็นอนัตตานั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่พิจารณา เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ

ผู้ที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนา และรู้ว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ผิวเผิน ต้องพิจารณาจริงๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น และสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จะขาดการศึกษาไม่ได้ จะขาดการพิจารณาไม่ได้ จะขาดการหาเหตุผลไม่ได้ เพราะถ้าเป็นพระพุทธศาสนา ต้องประกอบด้วยเหตุผล แต่ถ้าไม่ใช่ จะไม่มีเหตุผลทันที ไม่สามารถที่จะหาเหตุผลได้

เพื่อให้เข้าใจความหมายของผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งยังเป็นปุถุชน ใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ ติกนิกเขปกถา มีข้อความอธิบายคำว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ว่า

ส่วนในคำว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับนี้ มีวินิจฉัยว่า

ชนที่จะพึงรู้ได้ว่า ชื่อว่าผู้มิได้สดับ เพราะไม่มีการเล่าเรียนศึกษาและมรรคผล จริงอยู่ ชนใดไม่มีการเล่าเรียนศึกษา เพราะขาดการเรียน การสอบถาม และการวินิจฉัยในข้อธรรม มีขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจยาการ และสติปัฏฐาน เป็นต้น ไม่มีมรรคผล เพราะไม่ได้บรรลุมรรคผลที่ตนจะพึงบรรลุด้วยการปฏิบัติ ชนนั้นพึงรู้ได้ว่า ชื่อว่าผู้มิได้สดับ เพราะไม่มีการเล่าเรียนและศึกษาและมรรคผล ชนผู้นี้นั้นชื่อว่า ปุถุชน ด้วยเหตุทั้งหลาย มีการยังกิเลสมากมายให้เกิด เป็นต้น

อย่าลืม เมื่อไม่ได้ศึกษา ไม่ได้มรรคผล ก็ย่อมจะมีกิเลสมากมายเกิดขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง ชนนี้เป็นปุถุ คือ เป็นพวกหนึ่ง เพราะเป็นผู้หยั่งลงภายในแห่งปุถุชน ก็ชนนั้นชื่อว่าปุถุ ด้วยเหตุทั้งหลาย มีการยังกิเลสเป็นต้นมากมาย คือ มีประการต่างๆ ให้เกิด เป็นต้น ดังพระบาลีที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า ยังกิเลสมากมายให้เกิด

ยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสมาก สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และจะให้กิเลสน้อย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าไม่ทราบหรือจะไม่รู้เท่านั้นเองว่า เป็นผู้ที่ มีกิเลสมาก

ความหมายต่อไปของปุถุชน คือ

ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า เป็นพวกที่ยังพิฆาต (คือ ละหรือปหาน) สักกายทิฏฐิไม่ได้เป็นจำนวนมาก

สักกายทิฏฐิไม่น้อยเลย ทางตาที่กำลังเห็น เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทางหูที่กำลังได้ยิน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดที่คิดนึกเป็นเรื่องสมมติสัจจะ แสดงให้เห็นว่า สักกายทิฏฐิมากแค่ไหน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า จำนวนมากคอยแต่จะมองดูหน้าศาสดา

ไม่ได้พิจารณาเหตุผล เพียงแต่ดูว่า ใครเป็นศาสดา และศาสดาสอนว่าอย่างไร ก็คอยที่จะเชื่อตามศาสดา คอยมองดูหน้าศาสดา แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่พิจารณาเหตุผล

ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า ออกไปไม่ได้จากคติทั้งปวงเป็นส่วนมาก

ทุกคนเกิดมาแล้ว และก็ไปอยู่เรื่อยๆ จิตเกิดขึ้นไป เกิดขึ้นไป เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แต่เวลาที่จิตเกิด ที่จะไม่ไปสู่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ไม่มี นี่เป็นขณะจิตหนึ่งๆ ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะทำให้ไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันในแต่ละชาติ

ในชาตินี้จิตเกิดขึ้นไปสู่อารมณ์ ทางตาทำให้เกิดเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ทางหูทำให้เกิดคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวด้วยโลภะ โทสะต่างๆ ทางจมูกมีการแสวงหากลิ่นต่างๆ ประดิษฐ์กลิ่นต่างๆ ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตเกิดขึ้นไปสู่อารมณ์ ต่างๆ และไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งไม่จบถึงแม้ว่าจะจุติจากโลกนี้และไปสู่คติอื่น แล้วแต่กรรมจะทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิหรือในทุคติภูมิ สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนไม่มีทางที่จะพ้นไปจากคติทั้งหลาย คือ ทั้งสุคติและทุคติ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านดับคติ คือ ทุคติได้ และไปสู่สุคติตามลำดับขั้น จนกว่าจะไม่มีการปฏิสนธิอีก

ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า สร้างอภิสังขารต่างๆ เป็นส่วนมาก

อภิสังขาร มี ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร

ปุญญาภิสังขาร คือ กุศลทั้งหลายที่ยังเกี่ยวเนื่องเป็นไปในรูป อกุศลกรรมทั้งหลายเป็นอปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร หมายความถึงอรูปฌานกุศลจิต

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า สร้างอภิสังขารต่างๆ เป็นส่วนมาก ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง กุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง ซึ่งทุกท่านทราบดีว่า ในวันหนึ่งๆ ท่านกระทำ กุศลกรรมมาก หรืออกุศลกรรมมาก

ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า ถูกโอฆะต่างๆ พัดไปเป็นส่วนมาก

โอฆะ เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ

ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกาโมฆะ วันหนึ่งๆ ถูกพัดไปมากไหม ความพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

และยังมีภโวฆะ ความยินดีพอใจในขันธ์ ในภพที่กำลังเป็นอยู่ ไม่อยากที่จะจากโลกนี้ไป นั่นเป็นภโวฆะ

นอกจากนั้น ยังมีทิฏโฐฆะ คือ ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งพัดไป ทำให้ไม่กลับมาสู่ความเห็นถูก เพราะฉะนั้น เป็นอันตรายมาก ถ้ามีความเห็นผิดเพียงเล็กน้อยแล้ว ความเห็นผิดนั้นจะพาไปสู่ความเห็นผิดที่มากขึ้นและลึกขึ้น ยากแก่การที่จะละ

และมีอวิชโชฆะ โอฆะ ห้วงน้ำ คือ อวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เป็นปุถุชนจริงๆ ไหม เพราะพร้อมไปด้วยโอฆะทั้ง ๔ คือ ทั้งกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมและไม่อบรมเจริญปัญญา ยิ่งๆ ขึ้น ก็จะต้องถูกพัดไป และเป็นผู้ที่หนาด้วยอกุศลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เปิด  233
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565