แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1051

. หลวงพ่อศึกษาธรรมมากว่า ๓๐ ปีแล้ว แต่ปัญญานี้หายาก ไม่ใช่ง่ายสมถะเพียงแต่ทำใจให้สงบ ง่าย คนไม่มีปัญญาหรือมีปัญญาพอสมควรก็ทำได้ แต่วิปัสสนาปัญญาที่เจริญในสติปัฏฐาน ๔ ให้เกิดปัญญาจริงๆ นั้น หายากจริงๆ นี่ตามที่อาตมาเข้าใจ ด้วยเหตุนี้อาตมาอยากจะให้อาจารย์อธิบายว่า เราจะเอากายมาพิจารณาอย่างไรให้เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ของวิปัสสนา และเวทนาก็เหมือนกัน จะเอาเวทนามาพิจารณาอย่างไรจึงได้ปัญญาเห็นจริง เห็นแจ้งแทงตลอดในสัจธรรม หรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ขออาจารย์อธิบาย ทางจิตก็เหมือนกัน ตามจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การที่จะเอาจิตมาพิจารณาเป็นอารมณ์ของสติ ของปัญญานั้น จะเอาจิตชนิดไหน แบบไหน จึงจะเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ธรรมมีหลายอย่าง หลายประการ ไม่รู้จะเอาธรรมข้อใดมาพิจารณาเพื่อให้ได้ปัญญา ขอให้อาจารย์อธิบายเรื่องนี้เพื่อให้โยมที่ยังไม่ได้ทราบ หรืออาจจะทราบแล้ว จะได้ทราบต่อไปก็ดีเหมือนกัน

สุ. ที่กายมีอะไรบ้าง นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดและพิจารณาจนกระทั่งเป็นปัญญา เป็นความเข้าใจ สติปัฏฐานจึงจะเกิดได้ ไม่ใช่ว่ามีกายเปล่าๆ ใช่ไหม เจ้าคะ

. ตามความเข้าใจของอาตมา ในกายาบรรพทั้ง ๖ แต่ไม่ต้องเอาทั้ง ๖ บรรพ เอากายใดกายหนึ่งมาปฏิบัติ จะสำเร็จเป็นวิปัสสนาปัญญาได้หรือเปล่า

สุ. ต้องพิจารณาตั้งแต่ต้นว่า ที่กายมีอะไรบ้าง ถ้าไม่รู้ว่าที่กายมีอะไรบ้าง ก็พิจารณากายไม่ถูก หรือว่าพิจารณากายไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า ทุกคนที่อยู่ที่นี่ไม่ใช่มีกายเปล่าๆ ใช่ไหม มีใครบ้างที่มีกายเฉยๆ หรือมีกายเปล่าๆ ก็ไม่มี

ที่กาย ทุกคนมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีรูปร่างกาย และมีจิตใจ ซึ่งจิตใจไม่ได้อยู่นอกกาย เพราะฉะนั้น สภาพของกาย คือ เป็นที่รวมของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของร่างกาย ของใจตามความเป็นจริง ซึ่งสติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

ถ้ามีแต่กายเปล่าๆ ไม่มีจิต ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเป็นอย่างไร กลิ่นเป็นอย่างไร รสเป็นอย่างไร แต่เพราะไม่ได้มีกายเปล่าๆ แต่มีใจซึ่งสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีใจซึ่งสามารถได้ยินเสียงที่กระทบหู ที่ปรากฏที่หู มีใจซึ่งสามารถรู้กลิ่นที่กระทบจมูก ที่ปรากฏที่จมูก มีใจซึ่งสามารถลิ้มรสที่กระทบลิ้น มีใจซึ่งสามารถรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ จิตที่เป็นกุศลเกิดพร้อมกับสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเมื่อกระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง

และสติปัฏฐานเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าสามารถที่จะบังคับให้สติระลึกที่กายหมวดหนึ่งเสียก่อนเรื่อยๆ และจึงมาระลึกที่เวทนาอีกต่อหนึ่ง เมื่อระลึกที่เวทนาแล้ว ก็มาระลึกที่จิตต่างๆ อีก เมื่อระลึกที่จิตต่างๆ แล้ว ก็มาระลึกที่ธรรมต่างๆ ไม่ใช่เป็นหลักเกณฑ์อย่างนั้น แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งสติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดได้ เมื่อมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องก่อน แต่ถ้ายังไม่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้อง สัมมาสติก็ไม่สามารถเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้

เพราะฉะนั้น สัมมาสติต้องอาศัยการฟัง และมีความเข้าใจที่ถูกต้องในขั้นของการฟัง หลังจากนั้น สัมมาสติขั้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่เข้าใจจากการฟัง จึงจะเกิดขึ้นได้

. กายกับใจที่อาจารย์พูดนี้ ตาคู่กับใจอะไรนี้ ถ้าสังเกตอย่างนี้ ตามความเข้าใจของอาตมา ไม่ใช่เรียกว่ากาย เพราะตากับใจอยู่ในธรรม

สุ. กายก็เป็นธรรม เวทนาก็เป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม กลิ่นก็เป็นธรรม สภาพที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่จะพ้นจากธรรม

. ก็เห็นด้วยเหมือนกัน แต่ที่ท่านแยกเป็นนามกับรูป เป็นกายต่างหาก เป็นเวทนาต่างหาก เป็นจิตต่างหาก เป็นธรรมต่างหาก ต้องมีแต่ละอารมณ์ ใจเดียว สติเราดวงเดียว จะไปเอากายด้วย เอาเวทนาด้วย เอาจิตด้วย เอาธรรมด้วยมาเป็นอารมณ์ หลวงพ่อว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเอากาย สติเป็นผู้กำหนดรู้กาย ไม่ใช่รู้เวทนา สติต้องมีการกำหนดรู้เฉพาะเวทนาต่างหาก ไม่ใช่ไปรู้กายด้วย จิตด้วย ธรรมด้วย เป็นไปไม่ได้ เพราะจิตเรามีเอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำให้มีอารมณ์เดียว จะเอา ๒ อารมณ์ หรือ ๓ อารมณ์ในขณะเดียวกันเป็นไปไม่ได้ ตามความเข้าใจของหลวงพ่อ แต่อาจารย์จะเข้าใจอย่างไรไม่ทราบ

สุ. ไม่ได้หมายความว่าพร้อมกัน แต่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง โดยไม่ต้องระลึกที่กายก่อน และไประลึกที่เวทนา และไประลึกที่จิต และไประลึกที่ธรรมตามลำดับ ไม่ใช่อย่างนั้น เช่น เวลาที่ปวดเจ็บ ในขณะที่ สภาพธรรมที่เจ็บ หรือปวด หรือเมื่อยกำลังปรากฏ ขณะนั้นถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะที่ปวด ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

. อาตมาไม่เข้าใจอย่างนั้น เพราะอะไร ยกตัวอย่างกาย กาย คือ ที่ประชุมของรูป เอารูปใดรูปหนึ่งมาเป็นอารมณ์อุปมาว่า เอารูปลมหายใจเข้าออก หรือรูปอิริยาบถ หรือธาตุ ๔ ก็ดีมาเป็นอารมณ์ ต้องมีเวทนาด้วย มีจิตด้วย มีธรรมด้วยอยู่ที่นั้น แต่ฉันไม่เอารวมกันอย่างนั้น ถ้าจะเอารูปดิน ก็ต้องเอาดินเป็นอารมณ์อย่างเดียว รู้นามก็เอานามเป็นอารมณ์อย่างเดียว จะเอา ๒ – ๓ อย่างมาเป็นอารมณ์ไม่ได้

สุ. ขอประทานโทษเจ้าคะ เป็นที่ยอมรับว่า สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง ทางใจ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน กำลังเห็นที่จะรู้ว่าเป็นจิต ระลึกอย่างไรเจ้าคะ

. ระลึกดูที่ความคิดของเจ้าของเอง

สุ. มิได้เจ้าค่ะ เห็น ไม่ใช่คิด

. เห็นแล้ว ก็ต้องรู้

สุ. มิได้เจ้าค่ะ ที่จะรู้ว่าเห็นเป็นจิต ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ไม่ใช่คิด

. นั่นเรื่องของอาจารย์ เรื่องของอาตมาไม่ใช่ ที่พูดมาเมื่อครู่นี้ก็ไม่มีตัวตน ให้รู้ว่าใจเรานี้ เห็นรูปปั๊บ ประกอบด้วยเหตุอะไร เห็นรูปแล้วกำหนัดยินดี ก็ต้องกำหนัดยินดี เพราะใจมันรวดเร็วที่สุด ต้องดูที่ใจเราที่กำหนัดยินดี หรือไม่ยินดี ต้องไปดูที่นั่น ไม่ใช่ไปดูที่เห็น ไม่ใช่ไปดูที่ได้ยิน ไม่ใช่ไปดูที่ได้กลิ่น ต้องดูที่ความกำหนัด ดำริว่ากำหนัด หรือไม่กำหนัด โกรธ หรือไม่โกรธ หลง หรือไม่หลง นี่เป็นหลักของ สติปัฏฐาน ท่านบอกมาอย่างนั้น ไม่มีตัว ไม่มีตน ให้รู้ว่าใจกำหนัด หรือไม่กำหนัด

สุ. ขอประทานโทษ ที่เห็นนี้เป็นจิตหรือเปล่า

. เห็นเป็นจิตอยู่

สุ. เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือเปล่า

. จิตเห็นนี้เป็นอเหตุกจิต เอามากำหนดเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะฉันไม่เอาอย่างนี้ ฉันเอาที่กำหนัดหรือไม่กำหนัด ราคะหรือปราศจากราคะ ฉันไปเอาตรงนี้

สุ. ถ้าไม่พิจารณาจิตที่เห็นนะเจ้าคะ ขณะที่เห็นก็ต้องเป็นเราเห็น

. เรื่องเราหรือไม่เรานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เพราะอะไรจึงเรียกว่า ต่างหาก ตามที่อาตมาเข้าใจนะ ไม่ใช่ตามอาจารย์

สุ. ถ้ายอมรับว่ากำลังเห็นเป็นจิต เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกหรือผิดเจ้าคะ

. ตรงนี่รู้แล้ว แต่ในสติปัฏฐานท่านไม่ให้เอาอย่างนี้ ท่านให้เอาเรื่องราคะหรือปราศจากราคะ โทสะหรือปราศจากโทสะ โมหะหรือปราศจากโมหะ เป็นหลัก

สุ. จิตเห็นที่กำลังเห็น เป็นวีตราคจิตหรือเปล่าเจ้าคะ

. เป็นอเหตุกจิต

สุ. เป็นวีตราคจิต เป็นจิตที่ปราศจากราคะ ใช่ไหม เพราะว่ายังไม่ได้เกิดความยินดีพอใจ เพียงแต่เห็น เป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

. จะว่าปราศจากโลภะ โทสะ โมหะยังไม่ได้ เพราะอะไร เพราะยังไม่ได้ประกอบด้วยเหตุ

สุ. มิได้เจ้าค่ะ เฉพาะจิตเห็น เป็นวีตราคจิต

. จิตเห็นน่ะรู้แล้ว อเหตุก ๘ ดวงนี้รู้แล้วว่าไม่ประกอบด้วยเหตุ แต่ท่านให้ไปดูถึงเหตุ เวลาคิดประกอบด้วยเหตุอะไร

สุ. วีตราคจิตเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยหรือเปล่า วีตราคจิต จิตที่ปราศจากราคะ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยหรือเปล่าเจ้าคะ

. จิตปราศจากราคะนี้ เป็นจิตอย่างไร ต้องอธิบาย คือ จิตเราธรรมดานี้ ผ่านไปเจออารมณ์ที่น่ากำหนัด น่ายินดี มีสติไปกำหนด จิตนั้นก็กำหนัดไม่ทัน เพราะสติไปรู้เท่าทันในขณะที่เริ่ม เพราะความกำหนัดนี้ต้องไตร่ตรองก่อน ต้องไปถึง อกุศลวิตก กามวิตกก่อน ถ้าไม่ถึงกามวิตก อกุศลนั้นก็ยังเกิดไม่ได้

สุ. ขอประทานโทษเจ้าค่ะ ถ้าพิจารณาจิตเห็น ถูกหรือผิดเจ้าคะ

. ตามหนังสือนั้นเรื่องจิตตานุปัสนา ไม่ถูกหรอก ถ้าเราไม่ละเรียกว่าปราศจากราคะไม่ได้

สุ. วีตราคจิต ได้แก่ วิบากจิต กิริยาจิต มหากุศลจิต ถ้ามีผู้ศึกษาระลึกรู้ลักษณะของจิตเห็นและรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งมีจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และผู้นั้นพิจารณาจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะถูกหรือจะผิด จะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษเจ้าคะ

. พูดตามธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานถูก แต่พูดตามจิตตานุปัสสนา ไม่เข้าล็อกนี้เลย

สุ. จิตเป็นธรรม กายเป็นธรรม เวทนาเป็นธรรม

. เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ เพราะจิตนี้ไม่ประกอบด้วยราคะ โทสะ โมหะ เรียกว่าอเหตุกจิต

สุ. ขอประทานโทษเจ้าค่ะ ถ้ามีผู้ที่พิจารณารู้ลักษณะของจิตที่เห็น ถูกหรือผิด

. ถูกทางธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ทางจิตตานุปัสสนา แต่อาตมาอธิบายเรื่องจิตตานุปัสสนา เรื่องธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเก็บไว้ก่อน

สุ. ไม่ว่าจะเป็นธัมมานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังเห็นและมีปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นอนัตตาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของจิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะเป็นประโยชน์ หรือว่าจะเป็นโทษ ถ้าผู้นั้นรู้ได้

. การสังเกตมี ๒ ชนิด

ส. ขอประทานโทษเจ้าค่ะ ขอกราบเรียนถามว่า จะเป็นประโยชน์หรือ เป็นโทษ

. เป็นประโยชน์ก็ได้ ไม่เป็นประโยชน์ก็ได้ เพราะความจำอาจจะกำหนดจดจำได้ แต่ไม่เกิดปัญญาก็ใช้ไม่ได้...

สุ. ขอประทานโทษเจ้าค่ะ ถ้ารู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

. รู้ทางปัญญาอย่างหนึ่ง รู้ทางสัญญาอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน เหมือนคนมาฟัง จำได้ตั้งเยอะแยะ แต่ไม่รู้ตัวจริงเลย ถ้าไม่รู้ตัวจริงแล้ว เรียกว่าปัญญาไม่ได้

ขอถามอาจารย์อีกสักคำหนึ่ง เรื่องรู้ธรรมโดยปัญญา และรู้ธรรมโดยสัญญา ต่างกันอย่างไร

สุ. สัญญาเพียงแต่จำหมายลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สัญญาไม่สามารถเข้าใจในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ เพราะสัญญาเป็นสภาพธรรมที่หมายรู้จำลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เป็นเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นเรื่องราวต่างๆ หรือแม้ลักษณะของนิพพาน ขณะใดที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน สัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพจำที่เกิดกับโลกุตตรจิตในขณะนั้น ก็จำหมายลักษณะของนิพพานปรมัตถ์ แต่ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565