แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1052

สุ. ปัญญามีหลายขั้น ขณะที่ฟัง พิจารณา และเกิดความเข้าใจถูก ขั้นการฟัง ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง

เช่น จิตในขณะนี้ทุกคนมี แต่ว่าอยู่ที่ไหน ขณะนี้เป็นจิตอะไร เมื่อถามว่า จิตอยู่ที่ไหนขณะนี้ ทั้งๆ ที่กำลังเห็น มีใครพิจารณาจิตที่กำลังเห็นบ้าง มีไหม

รู้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ถ้าถามว่า จิตอยู่ที่ไหน ทุกคนอาจจะเพียรนึกถึงว่าจิตอยู่ที่ไหน แต่ลืมว่าที่กำลังเห็นเป็นจิต เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นสติซึ่งเป็นสัมมาสติระลึกได้ กำลังเห็นในขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ก็คือ กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่กำลังได้ยิน จิตอยู่ที่ไหน จะไม่มีการไปนึกว่าจิตอยู่ที่ไหน หรือว่าเพียรหาว่าจิตอยู่ที่ไหน เพราะจิตเป็นนามธรรม เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ผู้ที่รู้ลักษณะของจิตจะรู้ว่า ในขณะนั้นเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง ในขณะนั้นเป็นจิต

เพราะฉะนั้น จิตอยู่ที่ไหน กำลังเห็นเป็นจิต กำลังได้ยินเป็นจิต กำลังได้กลิ่นเป็นจิต กำลังลิ้มรสเป็นจิต กำลังกระทบสิ่งที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อนทางกาย เป็นจิต กำลังคิดนึกเป็นจิต

และในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ว่าเป็นธาตุรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นจะไม่คำนึงถึงอนาคต จะซาบซึ้งในความหมายของปัจจุบันธรรม เพราะว่าที่เสียงกำลังปรากฏ จิตกำลังรู้เสียงเท่านั้น ไม่มีอนาคตที่ไหนเลย เพราะเป็นเพียงสภาพที่กำลังรู้เสียง ขณะใดที่สติระลึกที่ลักษณะของสภาพที่กำลังรู้เสียง นั่นคือการรู้ลักษณะของจิต ไม่ใช่คิดหรือค้นหาว่าจิตอยู่ที่ไหน และขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของเสียง เพียงเสียงเท่านั้นที่ปรากฏ จะเป็นเรื่องราว จะเป็นเหตุการณ์ จะเป็นอนาคตในขณะนั้นไม่ได้

และถ้าเกิดคิดนึกต่อจากเห็น ต่อจากได้ยิน เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน ซึ่งทุกท่านกำลังฟัง ก็จะต้องมีจิตที่คิดนึกตามเสียง อย่าลืม กำลังคิดนึกตามเสียง เป็นสภาพของจิตที่กำลังคิด เพราะฉะนั้น เวลาที่สัมมาสติระลึกถึงจิตที่คิด เพราะเมื่อฟังแล้ว มีจิตที่คิดตามเสียง ในขณะที่ได้ยินคำว่า “ใน” หมดแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้ว่า “ใน” และก็หมด รู้ว่า “ขณะ” และก็หมด รู้ว่า “ที่” และก็หมด นั่นคือปัจจุบันธรรม แม้แต่จิตที่กำลังคิดคำก็เป็นปัจจุบันชั่วขณะที่กำลังคิดคำหนึ่งเท่านั้น

เพราะฉะนั้น สติจึงสามารถที่จะระลึกตามว่า คำ ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตทีละคำ เมื่อหมดแล้วก็หมด แต่ว่ามีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อทันที เช่น เสียงเกิดต่ออีก เป็นคำต่อไปอีก หรือว่าทางตาที่กำลังเห็นก็เกิดต่อจากที่คิดอีก

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้ นี่เป็นการรู้ลักษณะของจิตไม่ใช่โดยสัญญา การจำเรื่องของจิต แต่เป็นการระลึกถึงลักษณะที่กำลังรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

. ที่อาตมาพูดว่า รู้ว่าจิตประกอบด้วยความกำหนัด หรือไม่กำหนัด ขณะที่กระทบกับอารมณ์ จะผิดหรือถูกถ้ามีคนเข้าไปพิจารณาอย่างนี้ อาจารย์จะให้คำตอบอย่างไร

สุ. การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า จิตไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เรา เวทนา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะต้องระลึกลักษณะของจิตบ้าง ของเวทนาบ้าง ของกายบ้าง ของธรรมอื่นๆ บ้าง โดยไม่ใช่จำกัดเจาะจงว่า จะต้องระลึกที่กายก่อน และไประลึกที่เวทนา และไประลึกที่จิต และไประลึกที่ธรรม แล้วแต่ว่าสัมมาสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ถ้าระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งยินดีพอใจเป็นราคะ เป็นโลภมูลจิต ไม่ผิดเจ้าค่ะ ถูก ถ้าสามารถที่จะรู้ได้ว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพจิตประเภทหนึ่งซึ่งมีจริง ซึ่งกำลังปรากฏ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเริ่มด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต หรือโลภมูลจิตก่อนจิตอื่น

ไม่ได้มีการเจาะจงที่จะจัดแจงให้สัมมาสติเกิดขึ้นด้วยความเป็นตัวตนว่า ให้สติระลึกที่นั่นก่อน ที่นี่ก่อน แต่จะต้องรู้ทั่วจนกว่าจะละการยึดถือว่า โลภมูลจิตเป็นเรา หรือว่าจิตเห็น วีตราคจิตเป็นเรา หรือว่าโทสมูลจิตเป็นเรา จิตทุกประเภทที่เคยยึดถือว่าเป็นเราด้วยความไม่รู้ ปัญญาจะต้องค่อยๆ เกิดขึ้น เจริญขึ้น จนสามารถที่จะรู้ทั่วจริงๆ

อย่าหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่รู้ทั่วในลักษณะของจิต ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก ต้องรู้จริงๆ และรู้ทั่ว จึงจะละวิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของจิตได้ ถ้าเพียงแต่ระลึกลักษณะของจิตเพียงประเภทเดียว ไม่สามารถที่จะละการยึดถือจิตว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

. การที่สติระลึกรู้ เหมือนที่อาจารย์พูดนี้ เมื่อตากระทบสี ใจนั้นก็เห็นว่าสี และสติระลึกได้รู้ว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน แต่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยปัญญา รู้อย่างไร และรู้ว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสัญญา รู้อย่างไร

สุ. กำลังเห็นและเกิดนึกว่า ไม่ใช่เราที่เห็น นั่นคือโดยสัญญาที่จำได้ว่า ได้ยินได้ฟังมาว่าที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ปัญญาที่อบรมเจริญจนกระทั่งลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ปรากฏ โดยเป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราจริงๆ

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่กำลังเห็นก็นึกได้ว่า ไม่ใช่เรา กำลังได้ยิน ก็เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า ไม่ใช่เรา นั่นโดยสัญญา แต่ยังไม่ประจักษ์ว่า ที่ไม่ใช่เรา เป็นเพียงธาตุรู้เสียง ต่างกับขณะที่เป็นเพียงธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไร เพียงแต่นึกตามไป เรื่อยๆ ด้วยสัญญา หรือด้วยความจำว่า ไม่ใช่เรา

. รู้ด้วยปัญญา ต่างกันอย่างไร

สุ. ต่างกันที่สัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง ทีละทาง โดยระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รูปธรรมเป็นลักษณะที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง ทางจมูกอย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่ง ทางกายอย่างหนึ่ง ทางใจอย่างหนึ่งเจ้าค่ะ

. มีคุณมีประโยชน์ต่างกันอย่างไร รู้ด้วยปัญญากับรู้ด้วยสัญญา

สุ. รู้โดยสัญญาไม่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้นเจ้าค่ะ

. อาตมายังไม่เข้าใจในเรื่องปัญญากับสัญญา เพราะการระลึกรู้เมื่อได้ยินเสียงสติก็ระลึกได้ ปัญญาก็เกิดพร้อมกับสติในขณะนั้น สัญญาเจตสิก เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมทุกขณะจิต แต่สติกับปัญญามีจำเพาะ มีจำกัด สมมติว่าคนหนึ่งมีทั้ง ๓ สติก็มี สัญญาก็มี ปัญญาก็มี ในขณะเดียวกันนั้นรู้ต่างกันอย่างไร อาตมาอยากให้อาจารย์แยกตรงนี้อีกหน่อย

สุ. สติเป็นสภาพที่ระลึก ถ้าเป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ระลึกถึงเรื่อง แต่ระลึกรู้ลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สัญญาที่เกิดพร้อมกับสัมมาสติก็เริ่มจำในลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งโดยมากก่อนที่สัมมาสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นการนึกถึงเรื่อง นึกถึงชื่อ เพราะฉะนั้น สัญญาก็เก่งที่จะจำเรื่อง จำชื่อ ถ้าศึกษาเรื่องอะไรมาก็จะมีสัญญาที่เก่ง ที่สามารถจะจำเรื่องนั้นๆ ได้ นั่นเป็นสัญญาที่จำเรื่อง จำชื่อ ยังไม่ถึงสัญญาที่เกิดพร้อมกับสัมมาสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

แต่เมื่อสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เริ่มเกิดขึ้น จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างถูกต้อง คือ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพของโลกๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นโลกสว่างที่ปรากฏกับผู้ที่มีจักขุปสาท

สำหรับทางหู ถ้าสัญญาเกิดพร้อมกับสัมมาสติ สัญญาก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของเสียง คือ สภาพดัง ซึ่งมีจริง ในขณะที่สภาพดังปรากฏสัญญาก็เริ่มรู้ลักษณะสภาพดังที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเพิกถอนนิมิต คือ เครื่องหมายที่เคยเป็นบุคคล เครื่องหมายที่เคยเป็นสัตว์ เครื่องหมายที่เคยเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

เช่น ทางตาในขณะนี้เห็น มีนิมิต คือ เครื่องหมาย บอกให้รู้ว่า เป็นคนนั้น คนนี้ เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น สัญญาก็จำในเครื่องหมายนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่สัญญาเจตสิกที่เกิดกับสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าเป็นสัญญาเจตสิกที่เกิดกับสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะค่อยๆ เพิกถอนนิมิต เครื่องหมายของความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลออก เพราะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว รูปร่างสัณฐานที่กำลังปรากฏเป็นแต่เพียงนิมิต คือ เครื่องหมายของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น เพราะฉะนั้น สัญญา ความจำที่เกิดพร้อมกับสัมมาสติจะจำในสภาพปรมัตถธรรม ซึ่งละหรือเพิกถอนนิมิต ความเป็นเครื่องหมายของสัตว์ บุคคลออก เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนิมิตของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมที่มีจริงๆ เท่านั้น แม้ว่าทางตาไม่สามารถเห็นธาตุอ่อน ธาตุแข็งได้ แต่ที่ใดก็ตามที่มีธาตุอ่อน ธาตุแข็ง คือ ปฐวีธาตุ มีอาโปธาตุ มีเตโชธาตุ มีวาโยธาตุแล้ว ต้องมีสีรวมอยู่ด้วย เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งทำให้ปรากฏเป็นนิมิตว่าในที่นั้นมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จึงไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เพราะฉะนั้น สัญญาที่เกิดพร้อมกับสัมมาสติก็จะจำในลักษณะที่ถอนนิมิตของสัตว์ บุคคลออก

แม้ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เช่น พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ ข้อความในอรรถกถามีว่า

พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ที่เพิกถอนนิมิตแล้ว แต่กระนั้นก็ยังท่องเที่ยวอยู่ในนิมิต

จริงไหม ไม่ใช่ว่าพระโสดาบันไม่เห็นสิ่งที่สมมติบัญญัติว่าเป็นคน หรือว่าเป็นวัตถุต่างๆ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลทั้งหลาย แม้ว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงนิมิตของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น แต่แม้กระนั้น ก็ยังท่องเที่ยวอยู่ในนิมิต หมายความว่า เมื่อมีการเห็นแล้วก็มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และก็รู้ในสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงซึ่งเป็นสมมติสัจจะทางมโนทวาร ท่านไม่เข้าใจผิดเวลาที่เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหากัสสปะ หรือแม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเห็นแล้วก็มีนิมิตซึ่งท่านรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาและมีนิมิตปรากฏให้รู้ในรูปร่างสัณฐานนั้น แม้ท่านจะเพิกถอนนิมิตเพราะรู้ความจริงแล้ว แต่ก็ยังท่องเที่ยวอยู่ในนิมิตนั่นเอง

นี่เป็นสิ่งที่เป็นความจริง ตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าผู้ที่เป็นปุถุชนหรือผู้ที่เป็นพระอริยสาวก

สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน เห็นนิมิต สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปร่างสัณฐาน และเชื่อมั่นจริงๆ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ยากนักที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา เป็นนิมิตเครื่องหมายของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้นเอง ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลก็เห็นนิมิต แต่รู้ความจริง ไม่ใช่ว่าเวลาที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว นิมิตทั้งหมดหายไป ไม่ใช่อย่างนั้น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่ผสมปรุงแต่งทำให้เกิดรูปร่างสัณฐาน สีสันต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขอให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า เพราะส่วนผสมการปรุงแต่งที่วิจิตรอย่างยิ่งของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทำให้ปรากฏเป็นสัณฐานของต้นไม้ ของดอกไม้ ของคน ของสัตว์ต่างๆ ที่วิจิตรอย่างยิ่ง เพียงความอ่อน ความแข็ง ความเย็น ความร้อน ความตึง ความไหว และธาตุที่ไหลหรือเกาะกุมซึ่งรวมอยู่ในทุกปรมาณู แต่เวลาที่ผสมกันระหว่างความเย็นขั้นต่างๆ ความร้อนขั้นต่างๆ ความอ่อนขั้นต่างๆ ความแข็งขั้นต่างๆ ความไหวขั้นต่างๆ ความตึงขั้นต่างๆ ธาตุที่ไหลหรือเกาะกุมขั้นต่างๆ ก็ทำให้ปรากฏแม้แต่รูปร่างสัณฐานต่างๆ ของใบไม้ ดอกไม้ ที่มีความวิจิตรต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าจะเป็นส่วนผสมของธาตุลมซึ่งตึงมากหรือไหวมาก ธาตุดินซึ่งอ่อนมากหรือแข็งมาก ธาตุไฟซึ่งเย็นมากหรือร้อนมาก ก็ทำให้นิมิตที่ปรากฏต่างกันออกไปอย่างวิจิตร

นี่เป็นความวิจิตรของรูปธรรม ซึ่งมองเห็นได้ทางตา

สำหรับทางหู ถึงแม้ว่าพระอริยบุคคลทั้งหลาย ท่านเพิกถอนนิมิตที่มีการยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลแล้ว ท่านก็ยังท่องเที่ยวอยู่ในนิมิต เพราะเมื่อมีการได้ยินเสียง ซึ่งต่างกันเพราะการปรุงแต่งของธาตุที่ทำให้เกิดนิมิตของเสียง และสัญญา ความจำ ทำให้รู้ว่า สิ่งที่ได้ยินนั้นหมายความว่าอะไร

. เรื่องอนัตตาแปลว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างหนึ่ง และแปลว่าบังคับบัญชาไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่างนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร

สุ. เสียงเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของเสียงให้เป็นอย่างอื่นได้ แต่ละเสียงมีความวิจิตรเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงนั้นๆ ถึงแม้ว่าจะมีคน กี่หมื่นกี่ล้านคนก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงของแต่ละคนก็ต่างกัน แสดงถึงความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ย่อมแล้วแต่ปัจจัยจริงๆ

. ๒ คำนี้ต่างกันอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนกับบังคับบัญชาไม่ได้ อนัตตาแปลว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน กับบังคับบัญชาไม่ได้ ต่างกันอย่างไร

สุ. เสียงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป นั่นคือ อนัตตา ความหมายที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดเสียงอย่างไร เสียงอย่างนั้นก็เกิดขึ้น

เปิด  233
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566