แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1054

สำหรับเหตุให้เกิดอสังขาริก ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา พรรณนาความปริจเฉทที่ ๑ แสดงเหตุแห่งความเป็นอสังขาริกว่า

ส่วนปัจจัย มีฤดู คือ อุตุ ได้แก่ อากาศ และโภชนะ คือ อาหารที่สบาย มีกำลัง เป็นต้น เป็นเหตุแห่งความเป็นอสังขาริก

ต้องพิจารณาว่า เวลาที่อากาศสบาย ไม่ร้อนจัด ไม่หนาวจัด หรือเวลาที่ร่างกายแข็งแรง เพราะได้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ มีกำลัง ย่อมทำให้จิตใจกล้าแข็ง เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว ไม่เกรงกลัว ไม่อ่อนตามสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดจิตประเภทที่เป็นอสังขาริก คือ มีกำลังกล้า ไม่ต้องอาศัยการชักจูง

นี่เป็นจิตในชีวิตประจำวันของทุกคน บางขณะก็เป็นอสังขาริก บางขณะก็เป็นสสังขาริก บางขณะก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา บางขณะก็เกิดร่วมกับความเห็นผิด บางขณะก็ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สามารถรู้ลักษณะสภาพของจิตที่ละเอียดอย่างนี้ได้ แต่ก่อนที่จะถึงอย่างนี้ ในขั้นต้นที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องเริ่มจากการที่จะพิจารณารู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก่อนที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตโดยละเอียดว่า เป็นโลภมูลจิตประเภทใดใน ๘ ประเภท

มีท่านผู้ใดพอที่จะสังเกตรู้ลักษณะของโลภมูลจิตดวงที่ ๑ บ้างหรือยัง หรือว่าเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว โลภมูลจิตดวงนี้ไม่ค่อยเกิด หรือว่าอาจจะหายไปชั่วคราว โดยเฉพาะในขณะที่มหากุศลจิตเกิด กำลังศึกษา กำลังพิจารณาธรรม ในขณะนั้น ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดได้ แต่อย่าลืม ขณะใดที่สนใจขวนขวายในมงคลตื่นข่าว ขณะนั้นถ้าไม่พิจารณาลักษณะสภาพของจิตจะไม่ทราบว่า เริ่มที่จะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

. ความหมายของคำว่า อสังขาริก กับสสังขาริก ในฎีกาพูดคล้ายๆ เป็นความหมายคนละอย่าง คือ อสังขาริก หมายความว่า จิตมีกำลัง และสสังขาริก หมายความว่า จิตไม่มีกำลัง อย่างนั้นหรือ

สุ. ถูกต้อง

. ความหมายที่ผมเข้าใจ อสังขาริก หมายความว่า มีกำลังโดยการเกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการชักชวน เช่น เวลาเราเจ็บไข้จะไปหาเจ้า ถ้าเป็นอสังขาริกก็หมายความว่า รู้ว่าเจ้าที่ไหนเฮี้ยนก็ไปเองไม่ต้องมีใครมาชักชวน แต่ถ้าเป็นสสังขาริก ต้องมีคนอื่นมาชักชวนว่า เจ้าที่นั่นที่นี่เฮี้ยน ให้ไปรักษาที่นั่น เพราะฉะนั้น ความหมายคงจะไม่ค่อยตรงกันกระมัง

สุ. เชื่อเองมีกำลังกว่าถูกชักชวนหรือเปล่า

. เชื่อเองมีกำลังกว่า ใช่

สุ. ก็เป็นอสังขาริก โดยไม่อาศัยการชักจูง

. มีกำลังมาก กับการที่ไม่ต้องมีการชักจูง ความหมายอันเดียวกันหรือ

สุ. เพราะไม่ต้องอาศัยการชักจูง จึงมีกำลัง สามารถเกิดขึ้นเอง เชื่อมั่นด้วยตนเอง ใครจะชวนอย่างไรก็ไม่ละทิ้งความเห็นผิดอันนั้นถ้าเชื่อแล้ว แต่บางทีก็ไม่เชื่อทันที ใช่ไหม ต้องอาศัยการฟัง และมีการชักชวน มีการชักจูงต่างๆ นานา และในที่สุดค่อยๆ เห็นคล้อยตาม ขณะนั้นเป็นสสังขาริก

สำหรับลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ พรรณนาอกุศลภาชนียะ อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๒ คือ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและความเห็นผิด และเป็นสสังขาริก โดยอุปมาว่า

ในกาลใดกุลบุตรปรารถนาธิดาของตระกูลมิจฉาทิฏฐิ แต่เขาเหล่านั้นไม่ยอมยกธิดาให้ด้วยอ้างว่า พวกท่านเป็นคนทิฏฐิอื่น ต่อมาพวกญาติเหล่าอื่นบอกให้ ยกให้ด้วยตกลงว่า ท่านผู้นี้จักยอมกระทำตามพิธีที่พวกท่านกระทำ กุลบุตรผู้นั้นก็เข้าไปหาพวกเดียรถีย์ทีเดียว ร่วมกับพวกเขาเหล่านั้น ทีแรกก็ยังมีความลังเลอยู่ ครั้นล่วงกาลนานไปก็ชอบใจลัทธิว่า กิริยาของเดียรถีย์เหล่านี้น่าชอบใจยึดถือเป็นทิฏฐิ

เริ่มเห็นด้วยทีละเล็กทีละน้อยตามการคบหาสมาคม เพราะฉะนั้น ก็เป็น สสังขาริก เป็นความจริงไหม สำหรับความเห็นต่างๆ จะสังเกตได้ว่า ถ้าคบหาสมาคมคุ้นเคยกับผู้ที่มีความคิดเห็นอย่างไร ก็ย่อมจะคล้อยตามไปได้ แต่สำหรับบางท่านที่มีการสะสมมาดี ย่อมจะพิจารณาในเหตุผลและไม่คล้อยตาม ซึ่งน่าพิจารณาว่า ในโลกนี้มีคนมากมาย และมีทิฏฐิ ความเห็นต่างๆ กัน ซึ่งก่อนที่จะเกิดเป็นความเห็นต่างๆ กัน ก็ย่อมจะมีจิตที่ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณาไปโดยแยบคายบ้าง ไม่แยบคายบ้าง จนในที่สุดการพิจารณาโดยไม่แยบคายย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดความยึดถือในความเห็นที่ผิดจากเหตุและผลตามความเป็นจริง

ขอกล่าวถึงการสนทนากับท่านผู้ฟังบางท่าน หรือว่าสิ่งที่ได้รับฟังมา เช่น ท่านผู้หนึ่งเป็นจิตรกรที่ฉลาด ท่านกล่าวว่า ทุกคนไม่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงที่รูปซึ่งจิตรกรนั้นเขียน ถูกไหม เพราะความจริงแท้ๆ เป็นเพียงแผ่นผ้าใบ หรือว่าเป็นกระดาษ เป็นกระดาน เป็นวัสดุสำหรับใช้วาด หรือเขียนรูป แต่เวลาที่ใช้สีป้าย หรือทา วาด เขียน เป็นรูปต่างๆ ก็ทำให้บุคคลอื่นเห็นไปตามที่เขียนขึ้น โดยที่ไม่ได้เห็นรูปนั้นตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงสีซึ่งทำให้ คนอื่นเข้าใจผิดว่า เป็นสิ่งต่างๆ

นี่ก็เป็นลักษณะของการคิด หรือการพิจารณาธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความคิดในโลกนี้มีมากมายตามความวิจิตรของการสะสมของแต่ละคนที่จะคิดในลักษณะต่างๆ ผู้ที่เป็นจิตรกรก็คิดอย่างหนึ่ง ผู้ที่มีการสะสมมาในเรื่องของวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ก็มีความคิดในเรื่องนั้นๆ ผู้ที่สะสมมาในเรื่องของประวัติศาสตร์ โบราณคดีต่างๆ ก็มีการสะสมที่จะคิดในเรื่องต่างๆ แม้แต่ผู้ที่สะสมมาในการที่จะเป็นผู้ที่สนใจในสุขภาพ ก็มีความคิดต่างๆ เช่น ผู้ที่สนใจสุขภาพท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ทำไมคนเราช่างติดในวัตถุภายนอกที่มองเห็น ทำไมไม่คิดถึงคุณค่าของสายตาซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เพราะว่าสามารถทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะยึดถือหรือติดในวัตถุสิ่งที่เห็นภายนอก ก็ควรที่จะถนอมรักษาสายตาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับหู ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมชาติที่ซื่อสัตย์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรที่มากระทบหู ถ้าเป็นเสียงนินทาว่าร้าย หูก็ซื่อตรงจริงๆ คือ ไม่เปลี่ยนเสียงนั้นให้เป็นคำสรรเสริญไปได้ หรือเวลาที่มีคำสรรเสริญกระทบหู หูก็ซื่อตรงอีก คือ ไม่เปลี่ยนคำสรรเสริญนั้นให้เป็นคำนินทาว่าร้ายต่างๆ เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะไยดีนักกับเสียงที่กระทบหูซึ่งเป็นวัตถุภายนอก แต่ควรที่จะสนใจรักษาหูของตนเพื่อให้สามารถได้ยินเสียง หรือว่ากระทบกับเสียงได้ โดยที่ไม่พิกลพิการไป

นี่ก็เป็นความคิดของแต่ละบุคคล เพียงท่านหนึ่งหรือ ๒ ท่าน ก็แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของความคิด แต่อย่าลืมว่า ความคิดที่ไม่ได้ปรากฏออกมาด้วยการกระทำทางกายหรือทางวาจา ก็ยังมีมาก ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดสิ่งที่ตนคิดทั้งหมด ซึ่งในขณะที่ไม่ได้พูด ก็คิดวิจิตรต่างๆ

เพราะฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ ที่พูดกันในวันหนึ่งๆ ก็เป็นแต่เพียงบางส่วนของความคิดที่แสนจะวิจิตรจริงๆ ซึ่งการที่ความคิดแต่ละขณะจะสะสมในจิตดวงต่อๆ ไป เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลขั้นต่างๆ เป็นสติขั้นต่างๆ ตั้งแต่ ขั้นที่พิจารณาธรรมและมีความตั้งใจที่จะละชั่วประพฤติดี จนกระทั่งถึงขั้นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะต้องใช้เวลาไม่น้อยเลยในการที่จะฟังและพิจารณาโดยละเอียด เพื่อปรุงแต่งให้สติพร้อมกับปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้

และยังมีอีกท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ท่านไม่มีเพื่อนธรรม เพราะว่าท่านอยู่ไกล ยากที่จะหาผู้ที่สนใจธรรมเช่นเดียวกับท่านได้ แต่ตามความจริง ถ้าจะพิจารณาว่า อะไรควรเป็นเพื่อนที่แท้จริง เพราะว่าทุกท่านมีเพื่อน และผูกพันในเพื่อนด้วยความปรารถนาเพื่อน ด้วยความต้องการเพื่อน ลืมพิจารณาว่า เพื่อนที่ท่านต้องการ ท่านต้องการเพื่อความผูกพัน หรือว่าเพื่อกุศลจิต ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตเกิดขณะใด เป็นเพื่อนแท้ขณะนั้น เป็นกัลยาณมิตร เพราะไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัยเลย

เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงเพื่อนที่เป็นคนสักคนหนึ่ง ๒ คน ๓ คน ก็คิดถึงขณะจิตที่เป็นกุศล เมตตาเกิดขึ้นกับบุคคลใดในขณะใด ขณะนั้นเป็นเพื่อนแท้กับบุคคลนั้น กุศลจิตนั้นเองเป็นเพื่อนที่แท้จริง เพราะไม่ทำให้เกิดโทษภัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเพียงคิดถึงเพื่อนที่เป็นคน ก็อาจจะมีอกุศลจิตที่ผูกพันในเพื่อน ในบุคคลนั้น ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่ใช่เพื่อนที่แท้จริง

การศึกษาธรรม และเข้าใจธรรมโดยละเอียดถึงลักษณะสภาพของปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จะทำให้สามารถเข้าใจในสภาพธรรมได้ถูกต้องว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล เพื่อที่จะได้ละอกุศลให้น้อยลง

ทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ยังมีธรรมอย่างอื่นอีกแลที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่านั้นเป็นไฉน

ต่อจากนั้นเป็นข้อความใน ข้อ ๒๗ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสถึงทิฏฐิที่เป็น ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘

สำหรับทิฏฐิ ๖๒ แยกออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ ประการ เป็นทิฏฐิที่ปรารภขันธ์ส่วนอดีต และอปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔ ซึ่งปรารภขันธ์ส่วนอนาคต รวมเป็นทิฏฐิ ๖๒ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นว่า ไม่ว่าในสมัยไหนก็มีการคิดคำนึงถึงอดีตว่าเคยเป็นอย่างไร มาจากไหน เคยเกิดมาก่อนหรือเปล่า หรือว่าเพิ่งเกิดมาชาตินี้ชาติเดียว นี่คือการปรารภขันธ์ส่วนอดีตว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งมีทั้งหมด ๑๘ ประการ ตามที่ทรงแสดงไว้ใน พรหมชาลสูตร

สำหรับอปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔ คือ มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ซึ่งก็คงไม่พ้นจากความคิดเห็น หรือการตรึกนึกคิดของหลายท่านว่า ตายแล้วไปไหน เพราะว่าเห็นแต่คนตาย เกิดมาแล้วต้องตาย แต่ยังไม่แน่ใจว่า ตายแล้วสูญไปเลย หมดไปเลย หรือว่าตายแล้วไปอยู่ที่ไหน หรือว่าตายแล้ววิญญาณจะล่องลอย หรืออะไรก็ตามที่ เคยคิด เคยพูดกัน นั่นคือการปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ซึ่งใน พรหมชาลสูตร แสดงว่ามี ๔๔ ประการ

สำหรับปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ ประการ คือ การปรารภขันธ์ส่วนอดีต แยกออกดังนี้ คือ เป็นสัสสตทิฏฐิ ๔ เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ๔ อันตานันติกทิฏฐิ ๔ อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔ และอธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒ รวมเป็นปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘

ซึ่งขอกล่าวโดยย่อตามข้อความในพรหมชาลสูตรที่แสดงว่า สำหรับ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ นั้น คือ สัสสตทิฏฐิ ๔ ความเห็นว่าเที่ยง มี ๔ ประการ คือ

พวกที่ ๑ บางท่านเป็นผู้ที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ สามารถอบรมเจริญความสงบมั่นคงจนกระทั่งระลึกชาติได้ สามารถระลึกชาติได้หลายแสนชาติ ก็คิดว่า เมื่อตนเองเคยเกิดในชาติก่อนๆ หลายแสนชาติ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เที่ยงเสมอ ไม่สูญ ต้องมีอยู่ เพราะยังไม่เห็นว่า ตนเองจะสิ้นสุดจากการที่เคยเกิดในอดีต ถึงแม้ว่าจะนับเป็น แสนชาติ นี่เป็นพวกหนึ่ง

พวกที่ ๒ เป็นพวกที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ สามารถอบรมเจริญความสงบมั่นคง บรรลุฌาน สามารถที่จะระลึกชาติได้ถึง ๑ - ๒ กัป แต่ว่าไม่เกิน ๑๐ กัป เพราะฉะนั้น ก็เห็นว่าสิ่งที่เที่ยง ไม่สูญ ยังคงมีอยู่ในโลกนี้ เพราะเมื่อระลึกถึงอดีตนานไปเท่าไร ก็ยังเห็นว่าตนเองเคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ส่วนที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่ นี่เป็นประเภทที่ ๒

สำหรับพวกที่ ๓ เป็นผู้ที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ สามารถอบรมความสงบ จนกระทั่งมั่นคง สามารถที่จะระลึกชาติได้ตั้งแต่ ๑๐ กัป ถึง ๔๐ กัป นานมากที่เคยเกิดมาแล้วในโลกนี้ ที่มานั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ในชาตินี้ ๔๐ กัปก่อนก็เคยเกิดมาแล้ว เคยเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ทุกอย่างผ่านมาหมดแล้ว และยังจะต้องเป็นต่อไปเพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถจะระลึกชาติได้ถึง ๑๐ กัป ๔๐ กัป ก็เห็นว่า สิ่งที่เที่ยงเสมอคงมีอยู่ คือ ไม่สูญไป นี่เป็นความเห็นที่เป็นสัสสตทิฏฐิประเภทที่ ๓

สำหรับพวกที่ ๔ เป็นพวกนักคิด นักตรึก ไม่ได้มีการระลึกชาติเลย แต่ก็คิดได้ว่า คงจะมีสิ่งที่เที่ยงเสมอ ไม่สูญ

เคยคิดอย่างนี้หรือเปล่า ก่อนที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และกำลังเกิดดับ ถ้าไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และกำลังเกิดดับ ก็ย่อมจะคิดว่าเที่ยง เพราะว่าไม่ประจักษ์ความเกิดดับ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าความคิดที่มีก่อนที่จะได้ศึกษาปรมัตถธรรมจะคิดในลักษณะใด

ถ้าถามผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมในส่วนที่เป็นพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม จะไม่มีใครบอกได้เลยว่า ในขณะนี้เองสภาพธรรมกำลังเกิดดับ เพราะทุกคนคิดว่า เมื่อเกิดมาแล้วยังไม่ดับ ยังคงอยู่ ยังเป็นอยู่ ไม่มีขณะไหนเลยที่จะดับไป นั่นก็เป็นส่วนของสัสสตทิฏฐิ

เปิด  227
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566