แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1055

สำหรับปุพพันตกัปปิกทิฏฐิประเภทที่ ๒ คือ เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ มี ๔ จำพวก ซึ่งมีความเห็นว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ได้แก่ ผู้ที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ สามารถที่จะระลึกชาติได้ เพราะฉะนั้น ก็ระลึกถึงครั้งที่มีท้าวมหาพรหม ซึ่งข้อความใน พรหมชาลสูตร ข้อ ๓๑ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง จึงบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกนั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ

ข้อที่ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้น อาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาล ยืดยาวช้านาน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้กลับเจริญ

หมายความว่า เมื่อโลกพินาศแล้ว สัตว์ส่วนมากก็เกิดในชั้นอาภัสสรพรหม ซึ่งมีอายุยืนนานมาก และโดยอายุของอาภัสสรพรหมที่ยืนยาวนั้น ก็ถึงกาลที่โลกเริ่มกำลังเจริญขึ้น คือ กำลังก่อตั้งขึ้นใหม่

เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า ครั้งนั้น สัตว์ผู้ใด ผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหมเพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาว ช้านาน เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานนั้นแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงเกิดความกระสัน ความดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง

ต่อมาสัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมเพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหม เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น แม้สัตว์พวกนั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมาน อันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นย่อมมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็น ผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น สัตว์เหล่านี้เรานิรมิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า เราได้มีความคิดอย่างนี้ก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้ และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว

นี่เป็นความเห็นผิดของผู้ที่มาเกิดก่อน ซึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม

แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญนี้แล เป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญนี้นิรมิตแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า พวกเราได้เห็นพระพรหมผู้เจริญนี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง

เพราะฉะนั้น เวลาที่สามารถระลึกชาติจนกระทั่งระลึกไปถึงเมื่อครั้งโลกพินาศและโลกกำลังเจริญ และมีเทพชั้นพรหมบุคคลซึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหมภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อยู่ของพรหมบุคคลที่บรรลุทุติยฌาน ฌานขั้นที่ ๒ และตติยฌาน ฌานขั้นที่ ๓ โดยปัญจกนัย คือ โดยนัยของฌาน ๕ ลงมาเกิดในพรหมภูมิชั้นปฐมฌานภูมิก่อนบุคคลอื่น เมื่อบุคคลอื่นจุติจากชั้นอาภัสสรภูมิลงมาเกิดในชั้นมหาพรหมภูมิทีหลัง เห็นมหาพรหมซึ่งเกิดก่อนก็เข้าใจว่า มหาพรหมนั้นเป็นผู้สร้าง เมื่อบุคคลที่เกิดทีหลังจุติจากชั้นมหาพรหมลงมาเกิดในมนุษย์ และสามารถระลึกชาติได้ ก็เข้าใจว่า มหาพรหมเที่ยง แต่ตนเองไม่เที่ยง

. ที่ว่าวิมานพรหมว่าง วิมานนั้นอยู่ในพรหมชั้นไหน

สุ. ชั้นปฐมฌานภูมิที่กำลังเจริญขึ้น เพราะเวลาที่โลกพินาศ บางกาลก็พินาศจนถึงพรหมภูมิชั้นต่างๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วงหรือสงสัยลังเล เพราะว่าเมื่อไม่สามารถระลึกชาติได้ ไม่ได้เห็นกับตาของตนเอง ก็สุดปัญญาที่จะระลึกถึง หรือสามารถระลึกถึงได้ เพียงแต่ให้ทราบว่า ทิฏฐิ ความเห็นผิดนี้ แม้ผู้ที่มีจิตสงบมั่นคง จนกระทั่งบรรลุฌานจิต สามารถระลึกชาติได้ ก็ยังไม่พ้นจากความเห็นผิด ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ยากที่จะรู้ ที่ลึกซึ้ง ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงละได้แล้ว ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ บุคคลถือไว้อย่างนั้นแล้ว ยึดไว้อย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ทราบความเกิดขึ้น ความดับไป คุณและโทษของเวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง จึงทราบความดับเฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ

สำหรับ เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ คือ ผู้ที่มีความเห็นว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่าง ไม่เที่ยง ประเภทที่ ๒ คือ ผู้ที่สามารถที่จะระลึกชาติได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ระลึกถึงมหาพรหม หรือชั้นพรหม เพียงแต่ระลึกถึงในครั้งที่เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ว่า เทวดาอื่นที่ไม่หมกมุ่นในความรื่นรมย์ สรวลเส เล่นหัว เป็นผู้ที่เที่ยง เพราะยังมีชีวิตอยู่ คือ เมื่อระลึกไปก็ยังเห็นเทวดาเหล่านั้นอยู่ แต่ตนเองซึ่งเป็นเทวดาเหล่า ขิฑฑาปโทสิกะ เป็นผู้ที่หมกมุ่นในความรื่นรมย์ สรวลเส เล่นหัว จึงเป็นผู้ที่หลงลืมสติจุติ เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ไม่เที่ยง ไม่เหมือนเทวดาเหล่าอื่นที่ไม่หมกมุ่นในความรื่นรมย์ เมื่อพวกนั้นยังอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นๆ ก็เห็นว่าเทวดาเหล่านั้นเที่ยง นี่เป็นจำพวกที่ ๒

ประเภทที่ ๓ เป็นผู้ที่ระลึกชาติได้ และเห็นว่าเทวดาอื่นเป็นผู้ที่ไม่เพ่งโทษ ไม่มุ่งร้ายกันและกัน จึงยังมีชีวิตอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น ส่วนตนเอง คือ เทพที่เป็น มโนปโทสิกะ เป็นผู้ที่เพ่งโทษ มุ่งร้าย เป็นผู้ที่จุติจากชั้นนั้นลงมาเกิดในชั้นนี้ จึงเป็น ผู้ที่ไม่เที่ยง

สำหรับ เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ประเภทที่ ๔ ซึ่งมีความเห็นว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง คือ ประเภทนักตรึก นักคิด ซึ่งแสดงปฏิภาณของตน คิดไป พิจารณาไปและเห็นว่า ตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี ชื่อว่าอัตตา ไม่เที่ยง เพราะเห็นความเสื่อม ความแปรปรวน แต่เชื่อว่าใจนั้น ชื่อว่าอัตตา เที่ยง

ในยุคนี้สมัยนี้มีความคิดอย่างนี้บ้างไหม ไม่ได้พ้นไปจากในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือในครั้งก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเลย จึงได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดถึงความเห็นผิดเพื่อให้บุคคลในสมัยนี้เห็นว่า แม้ว่าจะกระทำฌาน บรรลุฌานจนกระทั่งสามารถระลึกชาติได้ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่สามารถมีปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดได้

สำหรับปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ มี สัสสตทิฏฐิ ๔ คือ มีความเห็นว่า เที่ยง เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ๔ มีความเห็นว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง นอกจากนั้นก็มี อันตานันติกทิฏฐิ ๔ คือ มีความเห็นว่าโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ นี่ก็เป็นความเห็นเรื่องโลก

คงจะมีหลายท่านเวลาที่เกิดความเห็น ความคิดต่างๆ หรือความสงสัยต่างๆ นอกจากจะคิดเรื่องตัวเองว่า เที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นมาอย่างไรชาติก่อนๆ กี่กัป กี่แสนกัปมาแล้ว ก็ยังอดคิดถึงเรื่องโลกนี้ไม่ได้ใช่ไหมว่า โลกนี้เป็นอย่างไร เพราะว่าเมื่ออยู่ในโลกนี้ ก็คงจะมีความคิดเห็นว่า โลกนี้จะเที่ยงหรือจะไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น สำหรับผู้มีความเห็นผิดเรื่องโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ๔ จำพวก คือ

อันตานันติกทิฏฐิ ๔ จำพวกที่ ๑ เป็นผู้ที่อบรมจิตจนเป็นผู้มีความสงบมั่นคง บรรลุฌานและเห็นว่า โลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบ ย่อมบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและ หาที่สุดมิได้

ก็มีความเห็นกันไปสารพัด นี่คือความวิจิตรของมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นต่างๆ ซึ่งเริ่มทีละเล็กทีละน้อย และแตกแยกแขนงไปมากมายตามประเภทของจิตของ แต่ละบุคคล จนกระทั่งปรากฏว่า มีผู้ที่มีความเห็นอย่างนี้

จำพวกที่ ๒ ที่เห็นว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ก็เป็นผู้ที่บรรลุฌานและ เห็นว่า ที่ว่าโลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบนั้น เท็จ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นอย่างนี้ ก็ย่อมบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ไม่เห็นว่ากลม แต่ก็มีความเห็นว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้

ช่างคิด ช่างเห็น แต่ก็เป็นความเห็นที่เปล่าประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย และไม่ทำให้เกิดความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย

จำพวกที่ ๓ เป็นผู้ที่บรรลุฌานและมีความเห็นว่า โลกด้านบน ด้านล่าง มีที่สุด ด้านขวางหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า ที่ว่าโลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบ หรือว่าโลกนี้มีที่สุดและหาที่สุดมิได้นั้น เท็จ คือ ไม่เชื่อตามผู้ที่มีความเห็นจำพวกที่ ๑ และ ที่ ๒ แต่มีความเห็นว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ โดยพิจารณาเห็นว่า โลกด้านบน ด้านล่างมีที่สุด แต่ด้านขวางหาที่สุดมิได้ เพราะฉะนั้น โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้

สำหรับผู้ที่มีความเห็นว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ซึ่งเป็น อันตานันติกทิฏฐิ จำพวกที่ ๔ ก็เป็นพวกนักตรึก นักค้นคิดธรรมดาๆ เหมือนทุกวันนี้ ซึ่งไม่ได้ฌาน แต่มีความเห็นว่า โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ จึงบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและ หาที่สุดมิได้

คิดเอาเองเท่านั้น ใครมาถามก็บอกว่า มีที่สุด พอถามไปถามมา ก็หาที่สุดมิได้ เพราะว่าเป็นนักคิด เพราะฉะนั้น ไม่คิดอย่างเดียว คิดหลายอย่าง คิดอย่างนี้ และก็คิดอย่างนั้น ถ้าเห็นว่าอย่างนี้จะผิด ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้ง ๒ อย่างก็ไม่ถูก แต่จะไปยับยั้งความช่างคิดของนักคิดก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ถ้าใครเป็นนักคิดต้องระวัง ถ้าคิดเอง ไม่คิดตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง มีทางที่จะผิดมาก

สำหรับทิฏฐิ ๖๒ ที่เป็นปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ คือ ผู้ที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต และมีความเห็นผิดต่างๆ เกิดขึ้น เป็นสัสสตวาทะ มีความเห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง ๔ จำพวก เอกัจจสัสสติกวาทะเห็นว่า บางอย่างเที่ยง ๔ จำพวก อันตานันติกวาทะ มีความเห็นว่า โลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด ๔ จำพวก อมราวิกเขปิกะ คือ ผู้ที่มีความเห็นและวาทะดิ้นได้ ไม่ตายตัว ๔ จำพวก รวมเป็น ๑๖ จำพวก และอธิจจสมุปปันนิกวาทะ ๒ จำพวก คือ มีความเห็นว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ รวมเป็น ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘

ท่านผู้ฟังเมื่อได้ทราบความเห็นผิดต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า ช่างมี ผู้ที่มีความคิดแปลกๆ อย่างนี้ ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะพระผู้มีพระภาคทรงหยั่งรู้ว่า ความเห็นต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งข้อความในอรรถกถามีคำอุปมาว่า

ความเห็นผิดต่างๆ เหล่านี้ เหมือนกับกระเช้าของคนบ้า

คือ ความเห็นต่างๆ เหล่านี้ไม่มีสาระ และไม่น่าจะคิดขึ้นมาได้เลย แต่แม้กระนั้นความวิจิตรของความคิดที่เกิดดับแต่ละขณะ ซึ่งสืบต่อและสะสมคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อยๆ ก็ทำให้เป็นผู้ที่ปราศจากเหตุผล จนในที่สุดทำให้มีความเห็นผิดประการต่างๆ เช่น ผู้ที่มีความเห็นดิ้นได้ไม่ตายตัว เป็นจำพวก อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔ ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา พรหมชาลสูตร อธิบายว่า

ที่ชื่อว่าอมรา เพราะอรรถว่า ไม่ตาย

ที่ชื่อว่าวิกฺเขปะ เพราะอรรถว่า ดิ้นไป มีอย่างต่างๆ

ที่ชื่อว่าอมราวิกฺเขปะ เพราะอรรถว่า ความเห็นและวาจาไม่ตายตัว ดิ้นไป มีอย่างต่างๆ

สมณะและพราหมณ์ ชื่อว่าอมราวิกเขปิกะ เพราะอรรถว่า มีความเห็นและวาจาไม่ตายตัว ดิ้นไป มีอย่างต่างๆ นั้น

อีกนัยหนึ่ง ปลาชนิดหนึ่ง ชื่อว่าอมรา แปลว่า ปลาไหล ปลาไหลนั้นเมื่อแล่นไปในน้ำด้วยอำนาจลอยและจม เป็นต้น ใครๆ ไม่อาจจับได้ แม้วาทะนี้ก็เหมือนอย่างนั้น แล่นไปข้างโน้น ข้างนี้ ไม่เข้าถึงอาการที่ใครๆ จะพึงถือเอาได้ เหตุนั้นจึงเรียกว่า อมราวิกเขปะ

สมณะและพราหมณ์ ที่ชื่อว่าอมราวิกเขปิกะ เพราะอรรถว่า มีวาทะดิ้นไปเหมือนปลาไหล

เพราะฉะนั้น จะต้องระวังที่จะพิจารณาในเหตุในผลให้เกิดความเข้าใจจริงๆ การศึกษาพระธรรม ประโยชน์เพื่อละความเห็นผิด ซึ่งทุกท่านอาจจะเคยมี และถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดจะไม่ทราบเลยว่า ความเห็นอย่างไรผิด และข้อปฏิบัติอย่างไรผิด ซึ่งข้อปฏิบัติที่ผิดจะทำให้เกิดผลที่ถูกต้องไม่ได้

และการที่จะพิจารณาแม้ในการปฏิบัติ ก็ต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบว่า ผลคือเพื่ออะไร เพราะจะได้ยินเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติมากมายหลายอย่าง ซึ่งก็เกิดจากทิฏฐิ คือ ความเห็นต่างๆ เพราะฉะนั้น ผลที่ทุกท่านต้องการ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่าท่านต้องการอะไร แม้แต่ในการที่จะศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อที่จะให้ปฏิบัติถูก ให้มีความเห็นถูก เพื่อที่จะได้ไม่ปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ถ้าผลคือการสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง เหตุที่ถูก คือ สติจะต้องเกิดขึ้นระลึกศึกษาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง ถ้าผิดไปจากนี้ จะโดยมีความเห็นประการอื่นอย่างไรก็ตาม ย่อมไม่สามารถที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงได้

เปิด  228
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566