แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1057
ถ. คำว่า จักรวาลนี้ เขาขยายทางใจ หรือว่าขยายออกมาภายนอก
สุ. ขยายภายนอก ขยายอย่างไร ขยายกสิณปฏิภาคนิมิต
ถ. กสิณปฏิภาคนิมิตขยายทางใจ ปฏิภาคนิมิตเกิดทางมโนทวารไม่ใช่หรือ ทำไมมาพูดว่า ขยายสุดขอบจักรวาล
สุ. ขยายกสิณปฏิภาคนิมิตออกไปจนสุดขอบจักรวาล
ถ. หมายถึงการเปรียบเทียบใช่ไหม หรือว่าขยายจริงๆ สุดขอบจักรวาล จักรวาลนี่กว้างใหญ่ไพศาล
สุ. จิตขยายออกมานอกตัวได้ไหม
ถ. จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น
สุ. เพราะฉะนั้น ขยายออกมานอกตัวไม่ได้ ก็เป็นคำตอบอยู่แล้วว่า ขยายกสิณปฏิภาคนิมิต
ถ. ทำไมต้องใช้คำว่า สุดขอบจักรวาล ทำให้เข้าใจผิด
สุ. กสิณนิมิตจะขยายออกไปได้ถึงไหน ขยายให้ใหญ่ได้แค่ไหน กสิณนิมิตอยู่ในหัวใจหรือเปล่าที่จะขยายไม่ออก จิตขยายออกมาไม่ได้ กสิณปฏิภาคนิมิตขยายได้ไหม
ถ. ขยายออกจากภายนอก
สุ. จิตขยายไม่ได้ กสิณปฏิภาคนิมิตขยายได้ไหม เวลานี้มีจิต คิดถึงจักรวาล คิดถึงได้ไหม
ถ. เข้าใจแล้ว
สุ. ไม่ใช่ว่าจักรวาลมาอยู่ในตัวแล้วขยายออกไป ไม่ใช่อย่างนั้น
ถ. เหมือนกับคนที่แผ่เมตตา คือ ไม่ใช่ว่าไปส่งของให้เขา หมายความว่า จิตนึกถึงคนไหนก็ไหลไปสู่คนนั้น เมตตาไปถึงสัตว์นรกก็ได้ สวรรค์ก็ได้ มนุษย์ก็ได้ การขยายหมายความว่าอย่างนี้หรือเปล่า ความหมายอย่างเดียวกันหรือเปล่า
สุ. ต้องไหลด้วยหรือ
ถ. หมายความว่า ถ้าเรานึกถึงสัตว์ในภูมิไหนที่มาเป็นอารมณ์ทาง มโนทวาร จิตก็เป็นเมตตาในสัตว์หมู่นั้นเหล่านั้น จะเป็นในลักษณะเช่นนี้หรือเปล่า อย่างนี้เป็นการขยายนิมิตใช่ไหม เป็นการขยายอารมณ์ใช่ไหม
สุ. ระวังเรื่องความคิด เพราะต้องให้เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ถ้าไม่เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ จะค่อยๆ ผิดไปทีละนิดทีละหน่อย และสักวันหนึ่งก็จะมีความเห็นผิดอย่างมาก
ข้อความใน สุมังคลวิลาสินี ได้แสดงลักษณะของนักตรึก คือ ตกฺกี คนช่างคิดว่า มี ๔ อย่าง คือ
๑. อนุสฺสติโก เป็นคนที่ช่างคิดตามเรื่องราวที่ได้ฟังมา เช่น ได้ฟังมาว่า ในอดีตกาลพระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระราชาชื่อเวสสันดร ก็คิดเอาว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคคือพระเวสสันดร อัตตาก็เที่ยง เป็นต้น
ความคิดอย่างนี้เป็นไปได้ไหม ลองสอบถามคนที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ที่จะเห็นว่าเที่ยง อัตตาเที่ยง ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
๒. ชาติสฺสโร เป็นคนช่างคิด โดยระลึกชาติได้ ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ก็ คิดว่า อัตตาเที่ยง เป็นต้น
๓. ลาภิตกฺกิโก เป็นคนช่างคิดโดยที่ได้แก่ตัวมาในปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันเห็นว่า เรามีความสุขอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในอดีตก็เป็นอย่างนี้ ในอนาคตก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่รู้เหตุที่จะทำให้มีสุขบ้างทุกข์บ้าง
๔. สุทฺธตกฺกิโก เป็นคนช่างคิดโดยคิดเอาเอง โดยบริสุทธิ์ทีเดียว คือ ไม่ใช่ตามที่ได้ฟังเรื่องราวมา หรือว่ามิใช่เพราะระลึกชาติได้ หรือว่าไม่มีเหตุอื่นเหตุใด แต่เป็นคนช่างคิดโดยเพียงแต่คิดเอาเองเท่านั้นว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นอย่างนี้ ผู้ที่มีความคิดเห็นอย่างนี้เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น จึงมีความเห็นด้วยตนเอง คิดเอาเองต่างๆ
สำหรับความเห็นผิดที่เป็นความเห็นผิดตามขันธ์ส่วนอนาคต คือ อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔ เป็นการปรารภขันธ์ส่วนอนาคต และมีความเห็นผิด ได้แก่
สัญญีทิฏฐิ ๑๖ มีความเห็นว่า เบื้องหน้าแต่ตาย มีสัญญา คือ เกิดอีก
อสญฺญีทิฏฐิ ๘ มีความเห็นว่า เบื้องหน้าแต่ตาย ไม่มีสัญญา คือ ไม่เกิดอีก
เนวสญฺญีนาสญฺญีทิฏฐิ ๘ มีความเห็นว่า เบื้องหน้าแต่ตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
อุจเฉททิฏฐิ ๗ มีความเห็นว่า มนุษย์ เทวดา รูปพรหม และอรูปพรหม ๔ ตายแล้วสูญ
ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ ๕ มีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน
ซึ่งก็คงมีหลายคนเข้าใจว่าบรรลุนิพพานแล้ว โดยที่ไม่ใช่เป็นการรู้แจ้ง อริยสัจธรรม
ขอกล่าวถึงข้อความใน พรหมชาลสูตร ข้อ ๔๕ – ข้อ ๔๖ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ ๔๔ ประการ ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ ๔๔ ประการ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา (คือ มีการปฏิสนธิอีก) ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาด้วยเหตุ ๑๖ ประการ ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่าอัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาด้วยเหตุ ๑๖ ประการ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า เบื้องหน้าแต่ตาย
(๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา หมายถึงพวกรูปพรหม
(๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา หมายถึงพวกอรูปพรหม
(๓) อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา หมายถึงพวกรูปพรหมและอรูปพรหม
(๔) อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญา เป็นพวกที่คิดเอาเอง
(๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญา
(๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญา
(๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญา
(๘) อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญา
(๙) อัตตาที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงพวกที่ได้ฌานจิต
(๑๐) อัตตาที่มีสัญญาต่างกัน ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงพวกที่ไม่ได้ฌานจิต
(๑๑) อัตตาที่มีสัญญาย่อมเยา ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงผู้ได้ฌานที่มีกสิณย่อมเยา
(๑๒) อัตตาที่มีสัญญาหาประมาณมิได้ ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงผู้ที่ได้ฌานที่มีกสิณกว้างไพบูลย์
(๑๓) อัตตาที่มีสุขอย่างเดียว ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงพวกรูปพรหม ในปฐมฌานภูมิจนถึงตติยฌานภูมิ
(๑๔) อัตตาที่มีทุกข์อย่างเดียว ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงพวกที่เป็น สัตว์นรก
(๑๕) อัตตาที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงพวกมนุษย์
(๑๖) อัตตาที่มีทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญา หมายความถึงพวกพรหมในชั้นเวหัปผลาภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เกิดของผู้ที่ได้ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย หรือจตุตถฌานโดยจตุกกนัย
นี่เป็นสัญญีทิฏฐิ ๑๖ ถ้าคิดตามก็ยุ่งยากเพราะเป็นความเห็นผิดประการต่างๆ
สำหรับอสัญญีทิฏฐิ ๘ คือ ผู้ที่มีความเห็นว่า เมื่อตายแล้วไม่มีสัญญา
สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า เบื้องหน้าแต่ตาย
(๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
(๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
(๓) อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
(๔) อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
(๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
(๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
(๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
(๘) อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
เป็นผู้ที่มีความเห็นทำนองเดียวกับสัญญีทิฏฐิ ๘ จำพวกแรก แต่สำหรับ อสัญญีทิฏฐินั้น มีความเห็นว่า เบื้องหน้าแต่ตาย คือ ตายแล้ว ไม่มีสัญญา ไม่มีการเกิดอีก
สำหรับเนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิมี ๘ เช่นเดียวกัน แต่มีความเห็นว่า เบื้องหน้าแต่ตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
สำหรับอุจเฉททิฏฐิ ๗ เป็นบุคคลที่มีความเห็นว่า ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเลิกเกิด คือ
จำพวกที่ ๑ มีความเห็นว่า อัตตานี้เป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด
จำพวกที่ ๒ มีความเห็นว่า ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นเทวดา พวกเทวดาทั้งหลายเมื่อตายแล้วขาดสูญอย่างเด็ดขาด
จำพวกที่ ๓ มีความเห็นว่า รูปพรหมทั้งหลายเมื่อตายแล้วขาดสูญอย่างเด็ดขาด
จำพวกที่ ๔ มีความเห็นว่า อรูปพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะเมื่อตายแล้วขาดสูญอย่างเด็ดขาด
จำพวกที่ ๕ มีความเห็นว่า อรูปพรหมชั้นวิญญานัญจายตนะเมื่อตายแล้ว ขาดสูญอย่างเด็ดขาด
จำพวกที่ ๖ มีความเห็นว่า อรูปพรหมขั้นอากิญจัญญายตนะเมื่อตายแล้ว ขาดสูญอย่างเด็ดขาด
จำพวกที่ ๗ มีความเห็นว่า อรูปพรหมชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเมื่อตายแล้วขาดสูญอย่างเด็ดขาด
สำหรับอปรันตกัปปิกทิฏฐิประการสุดท้าย คือ ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ มี ๕ จำพวก คือ มีความเห็นว่า นิพพานในปัจจุบัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๕๘. (๑) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เพราะอัตตานี้ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ฉะนั้น จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง พวกหนึ่งย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ อย่างนี้
คือ ท่านเหล่านี้คิดว่า เมื่อมีความเอิบอิ่มพรั่งพร้อมเพลิดเพลินแล้ว นั่นคือ นิพพาน ไม่ต้องมีนิพพานอะไรอีก เพราะว่าเป็นยอดของความสุขแล้ว เนื่องจากเป็น ผู้ที่พรั่งพร้อมเพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ ๕ นี่คือ จำพวกที่ ๑
จำพวกที่ ๒ เป็นผู้ที่มีความเห็นว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะกามทั้งหลายแปรปรวนเป็นอย่างอื่นจึงเกิดความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัส และความคับใจ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านี้ก็พยายามละกามด้วยการอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งบรรลุถึงปฐมฌาน ก็มีความเห็นว่า บรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง
เพียงแต่บรรลุปฐมฌานก็เข้าใจว่า นั่นคือนิพพาน เพราะละกามแล้ว
จำพวกที่ ๓ มีความเห็นว่า การบรรลุทุติยฌานเป็นการบรรลุนิพพาน เพราะว่าไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
จำพวกที่ ๔ มีความเห็นว่า ทุติยฌานนั้นท่านกล่าวว่าหยาบ ด้วยยังมีปีติ เป็นเหตุให้จิตกระเหิมอยู่ แต่เมื่อดับปีติแล้ว เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไปจึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า การบรรลุถึงตติยฌานเป็นนิพพาน
จำพวกที่ ๕ มีความเห็นว่า ผู้ที่บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน เพราะตติยฌานนั้นท่านเห็นว่ายังหยาบ เนื่องจากจิตยังคำนึงถึงสุขอยู่
สำหรับโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ความเห็นผิด ไม่ได้มีแต่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น ย่อมมีมาตั้งแต่ในครั้งอดีตกาล ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัยที่ แต่ละบุคคลได้สะสมมา แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระเจ้า อชาตศัตรูเองต้องการทราบเรื่องผลของการกระทำในปัจจุบันว่า การกระทำที่ให้ผลในปัจจุบันมีบ้างไหม เพราะฉะนั้น พระองค์ก็พยายามไปสอบถามจากผู้ที่มีชื่อเสียงที่เป็นครูอาจารย์ ๖ ท่าน มีครูปูรณกัสสปะ เป็นต้น ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความใน ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค และได้ตรัสเล่าเรื่องที่พระองค์ได้เสด็จไปหาครูปูรณกัสสปะถึงที่อยู่ และได้ตรัสถามว่า ท่านอาจบัญญัติสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้หรือไม่ ข้อความมีว่า
เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูปูรณกัสสปะ ได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉันว่า
ดูกร มหาบพิตร เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภริยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป
ข้อความต่อไป แสดงให้เห็นเรื่องของบุญ
แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวมศีล การกล่าวคำสัตย์ บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณกัสสปะ กลับตอบถึงการที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ ฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณกัสสปะกลับตอบถึงการที่ทำแล้ว ไม่เป็นอันทำ เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง ฉะนั้น
หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเราจะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้ แล้วไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครูปูรณกัสสปะ ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่ง หลีกไป
นี่เป็นผู้ที่มีความเห็นผิดในครั้งนั้น ซึ่งมีความเห็นว่า บาปไม่มี บุญไม่มี
สมัยนี้มีไหม ความเห็นผิดอย่างนี้ มีทุกอย่าง