แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1058

บางครั้งท่านผู้ฟังได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับครูอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้บ้าง ก็อาจจะเกิดศรัทธาความเลื่อมใส เพราะสะสมมาที่จะมีความเลื่อมใสความศรัทธาในบุคคลเหล่านั้น เช่นเดียวกับในสมัยของพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ทั่งที่ประวัติของ ปูรณกัสสปะ ไม่มีอะไรที่ควรจะเลื่อมใสเลย แต่ก็สามารถมีสาวก หรือว่าผู้ที่เลื่อมใสถึง ๕๐๐ คน ซึ่งประวัติของปูรณกัสสปะมีว่า

ปูรณกัสสปะเป็นทาสของสกุลธรรมดาสกุลหนึ่ง แต่ว่าเป็นทาสคนที่ครบ ๑๐๐ เพราะฉะนั้น เขาจึงตั้งชื่อว่าปูรณะ สำหรับกัสสปะเป็นชื่อของโคตรหรือสกุล แต่เพราะเป็นทาสที่ครบ ๑๐๐ ก็เลยไม่มีใครคอยกวดขันว่า ทำถูก หรือทำผิด หรือยังไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้น ปูรณกัสสปะก็คิดว่า ไม่ควรจะอยู่ที่นี่ ควรจะหนีไป ระหว่างทางที่หนีไปนั้น มีพวกโจรชิงผ้าไป ไม่สามารถหาใบไม้มานุ่งห่มได้ จึงเปลือยกายเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พวกมนุษย์เห็นเข้าก็ทึกทักว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะ เป็นอรหันต์ คนที่มักน้อยเช่นท่านผู้นี้ไม่มี และเอาขนมและอาหารมาให้ ซึ่งปูรณกัสสปะก็คิดว่า เพราะเรา ไม่นุ่งผ้าจึงเกิดลาภนี้ ตั้งแต่นั้นมาถึงแม้ว่าจะได้ผ้าสาฎกก็ไม่นุ่ง ถือการเปลือยนั่นแหละเป็นบรรพชา คนอื่นๆ ก็เลื่อมใสบวชในสำนักของปูรณกัสสปะเป็นจำนวนมาก

ปูรณกัสสปะเป็นผู้ที่บวชนาน อยู่มา ๒ – ๓ แผ่นดิน คือ ผลัดเปลี่ยนพระราชา ๒ – ๓ พระองค์ เจริญวัยโดยลำดับ คือ อยู่ตลอดมาถึงปัจฉิมวัย เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง โด่งดัง ที่ว่ามียศก็เพราะมีคนนับถือเลื่องลือว่า มักน้อย สันโดษ จนพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปหาเพื่อที่จะถามถึงผลของการกระทำในปัจจุบัน

ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่ได้เสด็จไปหาเพียงปูรณกัสสปะเท่านั้น ยังได้เสด็จไปหาครูอื่น คือ ครูมักขลิ โคศาล ครูอชิตะ เกสกัมพล ครูปกุธะ กัจจายนะ ครูนิครนถ์ นาฏบุตร ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร ซึ่งทุกท่านนั้นไม่สามารถที่จะกราบทูลคำตอบให้เป็นที่พอพระทัยของพระองค์ได้ จึงได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสามัญผล คือ ข้อปฏิบัติซึ่งสามารถที่จะให้เกิดผลประจักษ์ในปัจจุบันได้ เช่น ผู้ที่เป็นทาส ถ้าละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้ที่มีศีล อบรมเจริญปัญญา พระเจ้าอชาตศัตรูย่อมไม่สามารถที่จะไปเรียกร้องคนนั้นให้กลับมาเป็นทาสรับใช้พระองค์ได้ นี่เป็นผลซึ่งเห็นประจักษ์ในปัจจุบันขั้นศีล ต่อจากนั้นก็เป็นขั้นของการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล นั่นก็เป็นผลที่ประจักษ์ในปัจจุบันของกรรมที่ได้กระทำมา

สำหรับครูมักขลิ โคสาล เป็นผู้ที่มีความเห็นผิดว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเอง ย่อมบริสุทธิ์เอง ความเพียรและการกระทำทั้งหลายไม่มีผล ซึ่งประวัติของ ครูมักขลิ โคสาลมีว่า เขาเกิดข้างโรงวัว และถูกใช้ให้ถือหม้อมีน้ำมันเต็มไปในพื้นที่ที่มีเปือกตม เจ้าของหม้อน้ำมันกำชับว่าอย่าลื่นพลาด แต่เขาก็พลาดหกล้มลง เขาจึงวิ่งหนีไปเพราะกลัวเจ้าของหม้อน้ำมัน เจ้าของหม้อน้ำมันวิ่งตามไปยึดชายผ้าไว้ เขาจึงทิ้งผ้าที่นุ่งอยู่เป็นคนเปลือยหนีไป แต่เมื่อคนทั้งหลายเห็นก็เข้าใจว่า เขาหมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ เขาจึงไม่นุ่งผ้าอีกต่อไป

สำหรับครูคนที่ ๓ ที่พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปหา คือ ครูอชิตะ เกสกัมพล เป็นคนที่ครองผ้าที่ทอด้วยผมคน เป็นผ้าที่สากที่สุด ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่ทอนั้นจะมีกี่อย่างก็ตาม เกสกัมพล คือ ผ้าที่ทอด้วยผมคนเป็นผ้าที่สากกว่าผ้าที่ทอเหล่านั้น ผ้าเกสกัมพลนั้น ในเวลาหนาวก็ เย็นเยือก ในเวลาร้อนก็ระอุ เป็นของมีค่าน้อย มีสัมผัสหยาบคาย สีก็ขี้เหร่ และกลิ่นก็เหม็น

สำหรับครูอชิตะ เกสกัมพลนั้น เป็นผู้ที่มีความเห็นผิดว่า กรรมไม่มีผล ตายแล้วย่อมขาดสูญ ไม่เกิด

ครูคนที่ ๔ ที่พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปหา คือ ครูปกุธะ กัจจายนะ เป็นผู้ที่มีความเห็นผิดว่า สภาวะ ๗ กอง คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ ไม่มีใครทำ ไม่มีใครเนรมิต เป็นสภาพยั่งยืน

ครูคนที่ ๕ ที่พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปหา คือ ครูนิครนถ์ นาฏบุตร ซึ่งเป็น เจ้าลัทธิของการสังวร ๔ อย่าง คือ เป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำ ทั้งปวง ๑ เป็นผู้กำจัดน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้ที่ปะพรมด้วยน้ำทั้งปวง ๑ คือ เขาถือว่า ความบริสุทธิ์จะมีได้ด้วยการสังวรการใช้น้ำ คือ ไม่ใช้น้ำเย็น แต่ใช้น้ำร้อน หรือน้ำข้าวชำระล้างร่างกาย

ส่วนครูคนที่ ๖ ที่พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปหา คือ ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดที่ดิ้นได้ไม่ตายตัว

สำหรับการที่จะตรวจสอบว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดหรือว่ามีการปฏิบัติผิดสักเล็กน้อยบ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นผู้ที่เลื่อมใสผิดบ้างไหม เพราะถ้าเป็นผู้ที่เลื่อมใสผิด ย่อมหมายความว่า ท่านต้องมีความเห็นผิดอยู่จึงเลื่อมใสอย่างผิดๆ ได้ ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความใน ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค จุลศีล เพื่อเป็นการตรวจสอบความคิดและความเลื่อมใสของท่านในปัจจุบัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

[๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด นั่นมีประมาณน้อยนักแล ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด ซึ่งมีประมาณน้อย ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีลนั้น เป็นไฉน

เวลาที่ท่านผู้ฟังคิดถึงพระผู้มีพระภาค และกล่าวชมพระผู้มีพระภาค หรือว่ากล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ทราบไหมว่าสรรเสริญพระองค์ในข้อไหนบ้าง ไม่พ้นจากเรื่องของศีล แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นั่นมีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล ซึ่งศีลที่สรรเสริญและชื่นชมในพระผู้มีพระภาคนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

[๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า

๑. พระสมณโคดมละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

๒. พระสมณโคดมละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่ เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่

๓. พระสมณโคดมละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน

๔. พระสมณโคดมละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

๕. พระสมณโคดมละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้นเพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

๖. พระสมณโคดมละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

๗. พระสมณโคดมละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร

๘. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการพรากพีชคาม และภูตคาม

พีชคาม ได้แก่ พืชพรรณที่พรากจากที่แล้วยังเป็นได้อีก

ภูตคาม ได้แก่ พืชพรรณที่ขึ้นอยู่กับที่

๙. พระสมณโคดมฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล

๑๐. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และ ดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล

๑๑. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการทัดทรงประดับและตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว

๑๒. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการนั่งนอน บนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่

๑๓. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับทองและเงิน

๑๔. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

๑๕. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

๑๗. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

๑๘. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

๑๙. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

๒๐. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

๒๑. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

๒๒. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้

๒๓. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการซื้อการขาย

๒๔. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด

๒๕. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง

๒๖. พระสมณโคดมเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก

จบ จุลศีล

นี่เป็นจุลศีล คือ ศีลเพียงเล็กน้อยที่ปุถุชนจะกล่าวชมพระผู้มีพระภาค ยังมีมัชฌิมศีล และมหาศีล ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรตรวจสอบว่า ผู้ที่ท่านศรัทธามีความประพฤติเช่นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้าไม่มีความประพฤติเหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่านยังมีความเลื่อมใส เป็นเพราะท่านมีความเห็นผิดหรือเปล่าจึงเลื่อมใส

สำหรับในข้อมัชฌิมศีล เป็นศีลที่เพิ่มขึ้นจากจุลศีล ซึ่งขอกล่าวถึงบางประการ เช่น

สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส

สำหรับยานของพวกบรรพชิต ตามพระวินัยมีอย่างเดียว คือ รองเท้า แต่ก็ยังสะสมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส และท่านยังเลื่อมใส แสดงว่าเห็นถูกหรือเห็นผิด

ข้อต่อไปที่เป็นมัชฌิมศีล เป็นการงดเว้นในเรื่องที่เกี่ยวกับดูการเล่นต่างๆ เช่น การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง จนกระทั่งถึงรำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ

นอกจากนั้นก็ยังเป็นการเล่น เช่น

สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นหกคะเมน เล่นทายสะกา เล่นเป่าใบ้ไม้ ... แม้แต่เล่นทายใจ หรือเล่นเลียนคนพิการ

สำหรับมัชฌิมศีล ที่เป็นการงดเว้นในเรื่องของที่นั่งที่นอน นอกจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ เตียงมีเท้าเกินประมาณ มีเครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาด ขนแกะ วิจิตรด้วยเครื่องลาดทองและเงินต่างๆ และยังเครื่องลาดมีหมอนข้าง

สำหรับมัชฌิมศีล ที่เป็นการงดใช้เครื่องใช้ ก็มีการงดใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ร่ม หรือว่าสวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น นุ่งห่มผ้ามีชาย

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของเดรัจฉานกถา หรือกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง หรือว่าท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง เป็นต้น

สำหรับมหาศีล ซึ่งเป็นศีลที่มากกว่ามัชฌิมศีลและจุลศีล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า

พระสมณโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต (คือ สิ่งที่ตกจากเบื้องบน เช่น อัสนีบาต เป็นต้น) ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน … ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์

ยังมีประการอื่นอีก ไม่ได้อ่านทั้งหมด เพียงกล่าวถึงข้อความบางประการ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาจริงๆ เรื่องของความเลื่อมใสว่า ที่ท่านมีความเลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือว่าจะกล่าวชมบุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นเพราะ เห็นถูกหรือเห็นผิด แม้แต่เรื่องของการดูฤกษ์

พระสมณโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก ... พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้

นอกจากนั้นก็ ดูเรื่องของจันทรคราส สุริยคราส พยากรณ์ว่าจักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง หรือว่านับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ (ตำรา ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับโลกชวนให้ตื่นเต้น ไม่น่าเชื่อ เป็นศาสตร์หนึ่งของพวกเดียรถีย์)

สำหรับเดรัจฉานวิชาที่พระผู้มีพระภาคทรงเว้น คือ

การให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวง ท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ

ข้อสุดท้ายของมหาศีล คือ

พระสมณโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกบ้าน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด ซึ่งมีประมาณน้อย ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีลนั้นเท่านี้แล

จบ มหาศีล

นี่เป็นเรื่องของโลภมูลจิตซึ่งประกอบด้วยทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นต่างๆ

เปิด  221
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565