แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1063

. เรื่องของการติดที่อาจารย์ได้กล่าวมา ฟังแล้วดูวกวนไม่ค่อยเข้าใจ ในเมื่อรู้ว่าสถานที่หนึ่งที่ใดไปแล้วกุศลจิตเกิดขึ้นบ่อย หรือเกิดมาก ก็ควรที่จะไป จะถือว่าติดได้อย่างไร

สุ. ควรจะอยู่ในสถานที่นั้น และอบรมเจริญปัญญา พร้อมกันนั้นต้องเป็น ผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า เป็นผู้ที่ติดในสถานที่นั้นหรือเปล่า การศึกษาธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ แม้แต่การที่สถานที่นั้นเป็นที่ที่เหมาะ ที่ควร ที่อยู่แล้วกุศลจิตเจริญ ก็ยังต้องเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า มีความติด มีความพอใจในสถานที่นั้นหรือเปล่า มีความเข้าใจผิด หรือว่าเป็นอัธยาศัยจริงๆ

. อย่างนี้จะเรียกว่า ติด หรือว่าสมควรก็ได้

สุ. ขอประทานโทษ ยังไม่ต้องไปสู่สถานที่นั้น เช่น ท่านผู้ฟังซึ่งอยู่ที่บ้านตามปกติ มีชีวิตประจำวันตามปกติ และวันหนึ่งวันใดสติปัฏฐานเกิดมาก ท่านอาจจะพิจารณาและรู้สึกว่าเป็นเพราะท่านอยู่คนเดียว หรือเป็นเพราะไม่ค่อยมีกิจธุระการงาน หรือเป็นเพราะเป็นเวลาดึกสงัดไม่มีเสียงวุ่นวายจอแจ และสติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทางตา ทางหู แล้วแต่ในขณะนั้นจะเป็นสภาพธรรมใด แม้อย่างนั้นก็ตาม สติปัฏฐาน คือ การพิจารณาที่จะต้องรู้ว่า มีความติด มีความอยาก มีความพอใจที่จะให้เหตุการณ์อย่างนั้นๆ เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า

เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละ เป็นเรื่องขัดเกลา และเป็นเรื่องรู้ อย่าลืม ขณะใดที่ติด มีความอยากนิดหน่อย ต้องการผลบ้าง ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นเครื่องกั้นโดยไม่รู้ตัวเลย และที่จะละเครื่องกั้นนั้นได้ ก็ต่อเมื่อไม่สนใจว่าจะต้องเป็นเหตุการณ์อย่างนั้น เป็นเวลานั้น หรือเป็นเรื่องนั้น เป็นจิตนั้น แต่เป็นเดี๋ยวนี้เองที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือกำลังคิดนึก เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ติดในเหตุการณ์ ในสถานที่ หรือว่าในบางโอกาส ก็โดยการที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทันที นี่คือการละความติด

แต่จะมีความติด ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงไม่ผิวเผิน และมัชฌิมาปฏิปทา คือ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยความเป็นผู้ตรง มิฉะนั้นแล้ว ถ้าพบข้อความที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความสันโดษ หรือว่าความสงัด แต่ว่าอัธยาศัยของท่านจริงๆ เป็นอย่างไร ทำได้ หรือพยายามฝืนที่จะทำโดยคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ แต่ว่าอัธยาศัยจริงๆ ของท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งอัธยาศัยจริงๆ ของบุคคลที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้วในอดีตพอสมควร พร้อมทั้งอัธยาศัยที่ชอบความสงัดด้วย

. สถานที่แห่งหนึ่งแห่งใด บางแห่งไปอยู่แล้วสติเกิดมาก บางแห่งไปอยู่แล้วสติเกิดน้อย เมื่อรู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ก็ไปสู่สถานที่ที่สติเกิดบ่อยๆ ย่อมเป็นการสมควร จะถือว่าเป็นการติดได้อย่างไร

สุ. อยากไป ใช่ไหม ก่อนอื่น ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมขณะนี้ เดี๋ยวนี้ อยากไปใช่ไหม

. ก็ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ บางทีสติไม่เกิด

สุ. เพราะฉะนั้น แทนที่จะอบรมโดยการระลึกเพื่อต่อไปสติจะได้เกิด แม้ในขณะนี้ ก็กลับเปล่า ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่พร้อมที่จะให้ปัญญารู้ทั่วจริงๆ ก็ต้องไม่ว่านามใด รูปใด

เวลาโกรธ เวลาขัดใจ เวลาตระหนี่ เวลาริษยา เวลาคิดเรื่องธุรกิจการงาน เวลาหนึ่งเวลาใดก็ตาม ถ้าปัญญายังไม่สามารถจะรู้ทั่วจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งๆ เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นและดับไปๆ ก็ ไม่สามารถที่จะเป็นพระอริยสาวก เป็นพระโสดาบันได้เลย

ท่านผู้ฟังกำลังกระทบสิ่งที่แข็ง ชั่วในขณะที่แข็งปรากฏขณะเดียวและดับ ท่านผู้ฟังกำลังเห็น ชั่วขณะที่กำลังเห็นเป็นขณะเดียวและก็ดับ ชั่วในขณะที่กำลังได้ยิน ท่านผู้ฟังกำลังได้ยินเพียงขณะเดียวและดับ ต้องรู้ทั่วอย่างนี้จริงๆ ในชีวิตจริงๆ ของแต่ละบุคคล จึงจะสามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงสติปัฏฐานไว้โดยละเอียด เพื่อเป็นหนทางที่จะละอภิชฌาและโทมนัส

การที่จะไปอยู่ป่า เป็นผู้ที่อยาก ไม่ใช่ในลาภ ยศ สรรเสริญก็จริง แต่เป็นผู้ที่ต้องการผลอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเปล่า แม้แต่ผลนั้นคือต้องการให้มีสติมาก ก็เป็นเครื่องกั้นไม่ให้ปัญญารู้นามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้เองซึ่งจะต้องรู้ และวิธีที่จะรู้ ถ้าสติไม่เจริญขึ้นในขณะนี้ เมื่อไรจะรู้ เพราะถ้าจะไปสู่ที่สงัด ในขณะนี้ก็ไม่รู้ แต่ที่จะรู้ในขณะนี้ได้ เพราะอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

ถ. ก็จริงอยู่ ถ้าขณะนี้สติเกิดขึ้นได้ พิจารณาเดี๋ยวนี้ได้ แต่บางสถานที่อยู่แล้วสติไม่เกิด และก็รู้ว่า สถานที่บางแห่งไปอยู่แล้วสติเกิด

สุ. รู้ว่าสถานที่บางแห่งสติไม่เกิด ใช่ไหม แต่ว่าขณะนั้นอยู่ที่นั่นเพราะ เหตุปัจจัย ใช่หรือไม่ใช่ เมื่ออยู่ที่นั่นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะไม่ให้อยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ เพราะว่าอยู่แล้ว ใช่ไหม

. แต่โอกาสที่จะปลีกไปจากที่นั้นได้ ก็ควรปลีกไป

สุ. ขณะนั้นอยู่แล้ว ใช่ไหม สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เป็นทางที่จะอบรมปัญญาให้รู้ทั่ว อย่าลืมคำว่า รู้ทั่ว

ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาถึงความละเอียดของการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ที่ว่าแม้ว่าจะระลึกชาติได้ เห็นว่าตายจากชาตินี้แล้วก็ไปเกิดชาตินั้น มีสภาพเปลี่ยนไปๆ แต่ละภพ แต่ละชาติ ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนยังเหนียวแน่น ยังอยู่เต็มบริบูรณ์ ยังไม่หมดไปแม้ว่าระลึกชาติได้ แต่การอบรมเจริญปัญญาที่จะละความเป็นตัวตน ต้องเป็นปัญญาที่คม ละเอียดจริงๆ จนสามารถที่จะดับความละเอียดของการที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ว่าจะระลึกชาติได้

เพราะฉะนั้น ให้เห็นความละเอียดของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งต้องอาศัยปัญญาที่ละเอียดจริงๆ เท่านั้น ที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนจนสนิท จนไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นหนทางเดียว คือ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั่วจริงๆ เมื่อทั่วจริงๆ แล้ว การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ ไม่กั้นการเจริญขึ้นของปัญญา แต่การที่คิดว่าบางสถานที่สติเกิดมาก ปัญญาเกิดมาก ความคิดอย่างนี้จะกั้นการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และก็กั้นความเจริญขึ้นของปัญญา

ยังจะเลือกสถานที่ที่จะกั้นการเจริญขึ้นของปัญญา หรือว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ทั่ว จนสามารถที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ว่าจะระลึกชาติได้

. เมื่อรู้อยู่แล้วว่า สถานที่บางแห่งอยู่แล้วสติปัฏฐานเกิดบ่อย จะว่ากั้นปัญญาได้อย่างไร เมื่อสติปัฏฐานเกิด ปัญญาก็เกิด จะกั้นปัญญาได้อย่างไร

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังไปจริงๆ จะทราบว่าติดหรือเปล่า

. ก่อนไปอาจจะมีความติดอยู่ เมื่อไปอยู่แล้วสติปัฏฐานเกิด ก็พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นปัญญาก็เจริญขึ้น ความติดภายหลังที่ สติปัฏฐานเกิด คงจะไม่มี

สุ. ที่ว่าปัญญาเจริญ น้อยหรือมาก

. แล้วแต่การพิจารณา

สุ. อาจจะเข้าใจว่ามากเหลือเกิน แต่อย่าลืมว่า การคิดที่จะไปอยู่ในสถานที่จำกัด รู้บางนามบางรูปจำกัด และเข้าใจว่ารู้มาก ถ้าเทียบกับการที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เข้าใจว่ารู้มากนั้น เมื่อเทียบแล้วก็คือรู้น้อย ไม่พอที่จะละกิเลสได้ เพราะไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ในคราวก่อนเป็นเรื่องความสันโดษของบรรพชิต ซึ่งก็ต้องมีความสันโดษของคฤหัสถ์ด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการอบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลาและดับกิเลส เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมยิ่งขึ้น สภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมที่เป็นอนัตตาก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสภาพธรรมนั้นๆ ที่จะขัดเกลากิเลส แม้ในเพศของคฤหัสถ์

การพิจารณาธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติได้จริงไม่คลาดเคลื่อน เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะสามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนการสะสมซึ่งมีมาในอดีตเนิ่นนานมาเป็นกัปๆ โดยการให้โลภะหมดไปทันที หรือโทสะหมดไปทันที หรือโมหะหมดไปทันทีได้ แต่อาศัยการฟังพระธรรมและพิจารณาจริงๆ กับสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏกับแต่ละบุคคล ไม่ใช่เป็นผู้ที่หลอกตัวเอง หรือว่าหวังผลจนกระทั่งลืมว่า ใจจริงๆ ที่สะสมมาเป็นอย่างไร

เช่น ในเรื่องของสันโดษ สันโดษที่จะพอใจในสิ่งที่มีจนกระทั่งสามารถละ ความพอใจ การติด การยึดในสิ่งต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสามารถไปสู่เพศบรรพชิต ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต้องมีความสันโดษพอสมควรจากชีวิตของคฤหัสถ์ก่อนที่จะไปสู่ความสันโดษในเพศของบรรพชิตได้อย่างแท้จริง และแม้เพศบรรพชิตก็ยังมีผู้ที่ศึกษาอบรมประพฤติปฏิบัติธรรมจนกระทั่งมีความสันโดษเพิ่มขึ้น จนบางท่านสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติโดยบรมสันโดษจริงๆ คือ ยิ่งกว่าสันโดษทั่วๆ ไป

เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน จะทราบว่า ความสันโดษนั้นจะต้องเป็นอัธยาศัย ไม่ใช่เพียงการต้องการไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดและคิดว่าเมื่ออยู่ในที่นั้นสามารถจะสันโดษได้ แต่แท้จริงแล้ว จิตใจยังเป็นผู้ที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกท่านต้องพิจารณาตามความเป็นจริง เทียบเคียงกับสันโดษของบรรพชิตว่า แม้ในชีวิตของฆราวาส ในชีวิตของคฤหัสถ์นี้ท่านเริ่มจะสันโดษด้วยปัญญาที่ได้ฟังธรรมและอบรมเจริญสติปัฏฐานบ้างแค่ไหน

สำหรับสันโดษของบรรพชิต ๑๒ อย่าง ซึ่งเป็นไปในจีวร ๓ บิณฑบาต ๓เสนาสนะ ๓ ยารักษาโรค ๓ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เปรียบเทียบกับสันโดษในชีวิตของท่านซึ่งเป็นคฤหัสถ์ว่า สามารถที่จะน้อมปฏิบัติตามได้เพียงใด

สำหรับสันโดษในจีวร ๓ คือ

๑. ยินดีในจีวรเท่าที่ได้มา

๒. ยินดีในจีวรตามกำลังของตน

๓. ยินดีในจีวรตามควร

นี่สำหรับบรรพชิต แต่สำหรับคฤหัสถ์ก็เปลี่ยนจากจีวรเป็นเรื่องของเครื่องแต่งตัว สำหรับบรรพชิต ยินดีในจีวรเท่าที่ได้มา จีวรที่บรรพชิตทั้งหลายครอง ต่างกัน โดยสี โดยคุณภาพ และโดยขนาด แต่ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ที่สันโดษ ไม่ว่าจะเป็นสีใดซึ่งเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นจีวรที่ประณีตหรือว่าจีวรที่หยาบ ท่านรับจีวรที่ได้และครองจีวรที่ได้โดยไม่ปรารถนาจีวรอื่นอีก และถึงแม้ว่าจะได้มา ท่านก็ไม่ยินดี เพราะว่าท่านมีแล้ว ท่านยินดีในสิ่งที่มีพอสำหรับจะใช้แล้ว เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะได้ ท่านก็ไม่รับ หรือเมื่อได้แล้วก็สละ ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น นี่เป็นบรรพชิต

สำหรับฆราวาส ก่อนที่จะไปสู่ป่าด้วยความหวัง หรือคิดเข้าใจว่า สติปัญญาจะเกิดมาก ก็ควรที่จะได้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า ในเรื่องของเครื่องแต่งตัว มีความรู้สึกลดน้อยลงบ้างหรือยัง บางท่านมีเครื่องแต่งตัวมากจริงๆ ถ้าหมุนเวียนเปลี่ยนไปใช้เป็นเดือน สองเดือน หรือสามเดือน ก็ยังไม่ทั่ว แต่ถ้าเริ่มมีความสันโดษเกิดขึ้นบ้างทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ฝืน เพราะว่าได้ศึกษาธรรมและมีความเข้าใจธรรม ท่านอาจจะเริ่มรู้สึกตัวว่า ที่มีอยู่มากเกินไป พร้อมที่จะสละให้บุคคลอื่นได้โดยง่าย หรือว่าเก็บไว้เพียงเท่าที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในโอกาสต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเริ่มที่จะยินดีพอใจตามที่ควร หรือตามที่ได้ หรือว่าตามที่มีอยู่

ผู้ที่ยังมีกิเลสทุกคนซึ่งยังไม่ใช่พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ยังมีความยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างมาก ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ก่อนที่จะได้ศึกษาธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว อบรมเจริญปัญญาบ้างแล้ว ก็ไม่ใช่ว่า จะฝืน เปลี่ยนไปทันที แต่ขณะใดที่เกิดความยินดีต้องการเกิดขึ้น ขณะนั้นถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญา สติระลึกรู้ลักษณะสภาพความยินดีในขณะนั้น ในลักษณะที่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เราได้ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้ที่แต่งตัวตามปกติเป็นผู้นุ่งดำห่มขาว นุ่งขาวใส่ดำ หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งบางท่านอาจจะพอใจอย่างนั้นเพียงบางกาลหรือบางโอกาส แต่ก็ยังไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ

การเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น ที่จะทำให้ปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏว่า แม้ขณะนั้นๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ต้องเป็นขั้นๆ สภาพธรรมตามความเป็นจริงจากชีวิตของคฤหัสถ์ที่เริ่มจะสันโดษก่อนจะถึงเพศของบรรพชิต และจากเพศของบรรพชิตก่อนจะถึงบรรพชิตที่สามารถจะสันโดษได้ครบถ้วน ทั้งในเรื่องของจีวร ในเรื่องของบิณฑบาต ในเรื่องของเสนาสนะ

สำหรับสันโดษประการที่ ๒ ของสันโดษในจีวร คือ ยินดีในจีวรตามกำลังของตน สำหรับผู้ที่เจ็บไข้ หรือผู้ชราแล้ว การห่มจีวรหนักย่อมลำบาก เพราะฉะนั้น ก็เปลี่ยนจีวรกับภิกษุที่ชอบพอกัน และแม้ในขณะที่ใช้จีวรที่เบาในขณะนั้นก็ยังเป็นผู้ที่สันโดษอยู่ เพราะว่าเป็นการยินดีในจีวรตามกำลังของตน เมื่อไม่สามารถครองจีวรที่หนักได้ ก็ครองจีวรที่เบาตามกำลัง ซึ่งขณะนั้นก็ยังเป็นผู้ที่สันโดษอยู่

สำหรับฆราวาส ก็ตามโอกาสของการใช้เครื่องนุ่งห่ม หน้าร้อน หน้าหนาว หรือยามเจ็บไข้ ก็ต้องมีเครื่องนุ่งห่มเพียงพอที่จะทำให้ร่างกายอบอุ่น นี่ก็เป็นเรื่องของความสันโดษซึ่งค่อยๆ น้อยลงได้ จากการที่จะต้องเลือก ต้องเป็นสีนั้น ต้องขนาดนั้น ต้องเป็นรูปร่างอย่างนั้น ก็อาจจะเริ่ม แล้วแต่จะเป็นอย่างไรก็ได้ ขอเพียงให้เหมาะ ให้ควรแก่การที่จะให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย

สำหรับความสันโดษในจีวรประการที่ ๓ คือ ยินดีในจีวรตามควร เพราะว่า บางท่านได้ของที่ประณีต หรือว่าได้จีวรจำนวนมากจากศรัทธาของชาวบ้าน แต่แม้กระนั้นท่านก็เป็นผู้พิจารณาที่จะบริโภคใช้สอยจีวรตามควรแก่ท่าน โดยพิจารณาว่า จีวรที่ประณีตนั้นสมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน เพราะฉะนั้น ท่านก็ถวายแก่พระเถระ ผู้บวชนานบ้าง หรือว่าเห็นสมควรแก่พระภิกษุพหูสูตผู้มีความรู้มาก ท่านก็ถวายแก่ภิกษุพหูสูตผู้มีความรู้มาก หรือเห็นว่าภิกษุใดเป็นไข้ สมควรที่จะได้จีวรที่ประณีต ท่านก็ไม่บริโภคใช้สอยเอง แต่ถวายจีวรที่สมควรแก่ภิกษุที่เป็นไข้ หรือเห็นว่าภิกษุใดเป็นผู้ที่มีลาภน้อย ขัดสน ก็ถวายจีวรนั้นแก่ภิกษุนั้น ผู้มีลาภน้อย ขัดสน

เปิด  227
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565