แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1067

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาวิญญาณขันธ์ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือนักเล่นกล พึงแสดงกลที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในกลพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดย แยบคาย เมื่อภิกษุเห็น เพ่ง พิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย วิญญาณนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในวิญญาณพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมี ญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ถ้าไม่ได้ฟังอุปมาเรื่องนักเล่นกล หรือลูกมือของนักเล่นกล จะทราบไหมว่า ขณะนี้วิญญาณ คือ จิต กำลังเล่นกล เพราะว่าเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วที่สุดยิ่งกว่านักเล่นกล จนกระทั่งไม่ประจักษ์ว่า ลักษณะของจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป และลักษณะของจิตประเภทอื่นก็เกิดขึ้นและดับไปๆ เพียงขณะเดียวๆ ทีละขณะ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

แต่เวลาที่เห็นนักเล่นกล เล่นกลเหมือนจริง เพราะไม่รู้ว่าความรวดเร็วนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉันใด ขณะนี้ที่จิตกำลังเป็นนักเล่นกล ก็เพราะว่าเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่ไม่รู้เห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ หรือทำให้เห็นเป็นวัตถุต่างๆ

ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ขันธวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า

อนึ่ง มายากลย่อมลวงมหาชนให้ถือเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่า นี้ทองบ้าง นี้เงินบ้าง นี้แก้วมุกดาบ้าง แม้วิญญาณก็ลวงมหาชนให้ถือเป็นดุจคนมา ดุจคนไป ดุจคนยืน ดุจคนนั่ง ด้วยจิตนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นคนนั่งอยู่ ให้ทราบว่า ขณะนี้วิญญาณขันธ์กำลังเล่นกลเช่นเดียวกับมายากล เพราะขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่มีจักขุวิญญาณชั่วขณะที่เสียงกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็นเป็นคนนั่ง ตามความเป็นจริง จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางจักขุทวารวิถีและดับไป มีภวังคจิตเกิดคั่น และมโนทวารวิถีก็ตรึกถึงสภาพที่ปรากฏทางตา เกิดเป็นความคิดหรือความรู้สึกว่า เห็นคนนั่ง แต่ในขณะที่กำลังได้ยิน แม้แต่รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาก็ไม่มีขณะที่โสตวิญญาณกำลังได้ยินเสียง

ขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนี้เอง พิสูจน์ธรรมว่า ขณะที่เฉพาะเสียงกำลังปรากฏจริงๆ ขณะนั้นไม่มีสีสันวัณณะปรากฏเลย เพราะรูปารมณ์ดับแล้ว ในขณะนี้เอง รูปารมณ์ทางตาดับ มโนทวารวิถีจิตซึ่งนึกถึงคนนั่งก็ดับ ในขณะที่โสตวิญญาณกำลังได้ยินเสียง ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเห็นสภาพของวิญญาณขันธ์ว่าเป็นเช่นเดียวกับมายากล

ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ให้รู้ว่า วิญญาณขันธ์ของทุกท่านเล่นกลอยู่เสมอ ทุกครั้งที่เห็นเป็นทองบ้าง เป็นเงินบ้าง แก้วมุกดาบ้าง หรือว่าเป็นดุจคนนั่งอยู่บ้าง เดินบ้าง ยืนบ้าง

นอกจากนั้น ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ขันธวิภังคนิทเทส วินิจฉัยขันธ์ ๕ โดยอุปมาว่า

ในขันธ์ ๕ นี้ อุปาทานขันธ์ คือ รูป มีอุปมาเหมือนโรงพยาบาล เพราะเป็นที่อยู่อาศัยด้วยอำนาจเป็นวัตถุ ทวาร และอารมณ์ของอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ อันมีอุปมาเหมือนคนไข้ อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา มีอุปมาเหมือนความไข้ เพราะเป็นตัวเบียดเบียน

ขณะนี้พิจารณาตามที่ร่างกาย รูปขันธ์ มีอุปมาเหมือนโรงพยาบาล และวิญญาณขันธ์ที่กำลังเกิดดับ นอกจากจะเป็นนักเล่นกลหรือมายากลแล้ว ยัง อุปมาเหมือนคนไข้ และเกิดร่วมกับเวทนาขันธ์ซึ่ง อุปมาเหมือนความไข้ เพราะเป็นตัวเบียดเบียน

มีใครทราบบ้างว่า เวทนาขันธ์เป็นสภาพที่เบียดเบียน ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็ยังเห็นสภาพความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เจ็บ ปวด เมื่อยว่า กำลังเป็นทุกข์ กำลังเบียดเบียน แต่สำหรับสุขเวทนา ก็เป็นตัวเบียดเบียนด้วย เพราะเป็นสภาพธรรมที่ทำให้ติด เมื่อติดแล้วไม่สุข เพราะว่าต้องดิ้นรนแสวงหาสุขที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสุขที่เกิดโดยอาศัยสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ

อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา มีอุปมาเหมือนสมุฏฐานของไข้ เพราะเป็น แดนเกิดเวทนาที่สัมปยุตต์ด้วยราคะ คือ โลภะ เป็นต้น ด้วยอำนาจกามสัญญา เป็นต้น นั่นเอง

ขณะนี้ที่กำลังจำทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นสมุฏฐานของความไข้ เพราะว่าทุกท่านกำลังจำสิ่งที่กำลังเห็น จำเป็นคนนั่ง จำแม้จนกระทั่งสีเขียว หรือ สีแดง เวลาที่ทางตาปรากฏเป็นสีเขียว จำสีเขียว แสวงหาสีเขียวหรือเปล่า เวลาที่จำเป็นสีแดง แสวงหาสีแดงหรือเปล่า เวลาที่จำเป็นสีอื่นๆ แสวงหาสีนั้นๆ หรือเปล่า ทุกท่านกำลังแสวงหาสีต่างๆ ทางตา เพราะฉะนั้น กามสัญญา สภาพที่จำสิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเองเป็นสมุฏฐานของความไข้ คือ เวทนา เพราะว่าเมื่อพอใจสีใด ก็แสวงหาสีนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ เวลาที่ไปซื้อของจะเห็นได้จริงๆ ว่า แสวงหาสี เนื่องจากว่ามีกามสัญญา คือ สภาพที่จำสี เพราะว่ากาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร มีอุปมาเหมือนการเสพของแสลง เพราะเป็นเหตุอำนวยความไข้ คือ เวทนา

ขอกล่าวถึงข้อความตอนท้ายของ เผณปิณฑสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยกล

ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้นๆ ก็การละธรรม ๓ อย่างอันพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาดังแผ่นดินปรารภกายนี้ทรงแสดงแล้ว ท่านทั้งหลายจงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละกายนี้เมื่อใด เมื่อนั้นกายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้ว ย่อมเป็นเหยื่อแห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอน ทับถมแผ่นดิน นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้ ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้

จบ สูตรที่ ๓

อย่าลืมความจริงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ท่านทั้งหลายจงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละกายนี้เมื่อใด เมื่อนั้นกายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้ว ย่อมเป็นเหยื่อแห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้

เพราะฉะนั้น ทุกท่านซึ่งกำลังมีรูปในขณะนี้ รอคอยเวลาที่จะถูกฝังลงไปในดินหรือรอเวลาที่รูปนี้จะมอดไหม้เหลือเพียงเถ้าถ่าน

รออยู่หรือเปล่า เพราะบางท่านมีความคิดและการกระทำเหมือนกับลืมไปว่า วันหนึ่งจะต้องตาย เพราะฉะนั้น ก็มักจะทำสิ่งซึ่งดูเหมือนลืมว่าจะต้องตาย แต่บางท่านก็มีความคิดและการกระทำซึ่งดูเหมือนไม่ลืมเลยว่าจะต้องตาย หรือว่าร่างกายนี้กำลังเพียงรอเวลาที่จะถูกฝังลงไปในดินเท่านั้นเอง

และที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับ ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังเป็นคนโง่ เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาสามารถรู้แจ้งในสภาพธรรมซึ่งหาสาระมิได้ ทางตาเป็นรูปที่ปรากฏให้เห็น ทางหูเป็นเสียง ทางจมูกเป็นกลิ่น ทางลิ้นเป็นรส ทางกายเป็นสิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจเป็นสภาพธรรมต่างๆ ที่เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง ตามความเป็นจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้

เวลาที่ตรัสเรื่องขันธ์ ไม่ใช่ว่าพ้นไปจากปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป แต่ข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องพิจารณา คือ ขันธ์ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าการที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ข้ามไปคอยเวลาอื่น หรือคอยโอกาสอื่น หรือว่ารอคอยนามธรรมและรูปธรรมอื่น แต่ปัญญาที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวันจนชินแต่ไม่เคยรู้ เช่น การเห็นมีจริงและชิน แต่ไม่เคยรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงและชิน แต่ไม่เคยรู้ โลภมูลจิตมีจริงและก็ชิน แต่ไม่เคยรู้ลักษณะของโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะดับกิเลสได้ ไม่ใช่รู้สิ่งที่ยังไม่ปรากฏที่อื่น แต่ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ทันที จึงจะตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงประพฤติดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้

ไม่ได้รอเวลาที่จะดับ ไม่ใช่ว่าต้องไปดับไฟที่อื่น แต่ในขณะนี้ที่กำลังไม่รู้ลักษณะของขันธ์ ซึ่งเป็นรูปขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ จะทราบว่า การศึกษาปริยัติธรรม เพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าปัญญาจะสามารถศึกษาและแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง และสะสมจนเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ฟังมาก ในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อเกื้อกูลให้สัมมาสติระลึกถูกต้อง และให้ปัญญาพิจารณาจนประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ไม่ว่าจะโดยการฟัง หรือการศึกษา พระอภิธรรม หรือพระสูตรก็ตาม

ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์ เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ยมกสูตร ข้อ ๒๐๕ – ข้อ ๒๐๗ ในครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่พระวิหารเชตวัน และได้กล่าวธรรมกับท่านพระยมกะ ข้อความมีว่า

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ดีละๆ ยมกะ ถ้าอย่างนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อหยั่งรู้ความข้อนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น ดูกร ท่านยมกะ เปรียบเหมือนคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขารักษาตัวกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่งประสงค์ความพินาศ ประสงค์ความไม่เป็นประโยชน์ ประสงค์ความไม่ปลอดภัย อยากจะปลงชีวิตเขาเสีย เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า คฤหบดีและบุตรคฤหบดีนี้เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการรักษาอย่างกวดขัน การที่จะอุกอาจปลงชีวิตนี้ ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่ายเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงใช้อุบายปลงชีวิต

บุรุษนั้นพึงเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอเป็นคนรับใช้ท่าน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นพึงรับบุรุษนั้นไว้ใช้ เขาพึงรับใช้เรียบร้อยดีทุกประการ คือ มีปกติตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นเชื่อเขาโดยความเป็นมิตร โดยความเป็นสหาย และถึงความไว้วางใจในเขา เมื่อใด บุรุษนั้นพึงคิดว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีไว้ใจเราดีแล้ว เมื่อนั้น บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอยู่ในที่ลับ พึงปลงชีวิตเสียด้วยสาตราอันคม

ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีโน้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอรับใช้ท่าน แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่ ในกาลใดบุรุษนั้นตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ แม้ในกาลนั้นเขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษผู้ฆ่านั้นว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่ และในกาลใดบุรุษนั้นรู้ว่าคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่ในที่ลับ จึงปลงชีวิตเสียด้วยสาตรา อันคม แม้ในกาลนั้นเขาเป็นผู้ฆ่านั่นเอง ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษนั้นว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่

เปิด  255
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565