แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1068

ทุกท่าน ขณะนี้มีผู้ที่กำลังฆ่าอยู่หรือเปล่า รู้จักไหมว่าเป็นใคร

ขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง ทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ซึ่งบางแห่งใช้คำว่า กิน กำลังถูกรูปกิน ถูกเวทนากิน ถูกสัญญากิน ถูกสังขารกิน ถูกวิญญาณกิน ด้วยความไม่รู้

เพราะฉะนั้น ให้ทราบตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ที่กำลังมีในขณะนี้ คือ ในขณะที่กำลังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นผู้ฆ่าจริงๆ ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรม ย่อมไม่รู้จักว่า ธรรมเหล่านี้เป็นผู้ฆ่า ซึ่งท่านพระยมกะก็รับคำท่านพระสารีบุตรว่า

อย่างนั้น ท่าน

ข้อความต่อไป

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ดูกร ท่านยมกะ ข้ออุปมานี้ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกันฯลฯ คือ ย่อมยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน

สำหรับผู้ที่เป็นสัตบุรุษ ก็ตรงกันข้าม คือ ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตัวตน หรือย่อมไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็นตนในรูป

โดยนัยของเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เช่นเดียวกัน

ซึ่งท่านพระยมกะได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า

ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้เช่นนั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าวพร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้ ก็แลจิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น เพราะได้ฟัง ธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร

จบ สูตรที่ ๓.

นี่คือผู้ที่พิจารณาสภาพธรรมในขณะที่กำลังฟังธรรม

. ในเรื่องนี้พระท่านฟังแล้วก็บรรลุ แต่ผมฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ เรื่องสักกายทิฏฐิ ๒๐ ผมฟังมาหลายครั้งแล้ว เห็นรูปโดยความเป็นตน หมายความว่าอย่างไร

สุ. เคยกล่าวถึงแล้ว ธรรมบางประการจะแจ่มแจ้งขึ้นเมื่อพิจารณาและอบรมเจริญสติปัฏฐาน มากกว่าที่จะเพียงอ่านพยัญชนะหรือฟังเพียงข้อความเท่านั้น เพราะการที่จะให้เข้าใจพระไตรปิฎกโดยตลอด บางครั้งก็เป็นไปไม่ได้ และการที่ติดไม่ได้ติดคำยาก แต่ติดในอรรถ ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริง ทุกท่านมีความรู้สึกอย่างนี้ แต่เวลาที่จะให้ชี้ว่าขณะไหนมีความรู้สึกอย่างนี้ ถ้าขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นกำลังเป็นความคิด หรือว่าความเห็นผิดอย่างใดอย่างหนึ่งในสักกายทิฏฐิ ๒๐

ปกติธรรมดามีใครบ้างที่จะคิดถึงเวทนาขันธ์ หรือสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือแม้แต่รูปขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ คิดถึงแต่สมมติบัญญัติ ไม่ได้คิดถึงรูปขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ หรือสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ที่จะให้เข้าใจว่า ถือรูปว่าเป็นตัวตน หรือมีตนในรูป มีรูปในตน ต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องในขณะที่กำลังมีรูปเป็นอารมณ์และไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่ามีเราอยู่ในรูป

ยังไม่ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า หญ้าในพระวิหารเชตวันเป็นแต่เพียงปฐวีธาตุ เมื่อกระทบสัมผัสแล้วก็แข็ง ฉันใด ปฐวีธาตุที่ทุกท่านกำลังมีอยู่ที่กาย ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน เมื่อกระทบสัมผัสก็แข็งเช่นเดียวกับหญ้าที่พระวิหารเชตวัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครนำหญ้าที่พระวิหารเชตวันไปเผา ไม่เดือดร้อน เพราะเป็น ปฐวีธาตุเท่านั้น ฉันใด เวลาที่กระทบสัมผัสส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นร่างกายหรือว่าเป็นรูปร่างกายของเรา มีความรู้สึกว่าเป็นเพียงปฐวีธาตุเท่านั้นหรือเปล่า เมื่อยังไม่เป็นอย่างนั้น มีเราอยู่ที่รูปแม้อ่อนหรือแข็งซึ่งกำลังกระทบสัมผัสหรือเปล่า หรือว่ายึดถือรูปซึ่งกำลังกระทบสัมผัสนั้นว่าเป็นเราหรือเปล่า ซึ่งข้อความเหล่านี้ก็ได้กล่าวถึงแล้ว

ธรรมบางประการเข้าใจไม่ได้จนกว่าจะพิสูจน์ เช่น รูป อย่างที่ว่าวันหนึ่งๆ ทุกท่านคิดถึงรูป หรือคิดถึงสมมติบัญญัติ เมื่อไม่ได้คิดถึงรูปจึงไม่เข้าใจว่า ทำไม สักกายทิฏฐิจึงมี ๒๐ ตามนัยของขันธ์ ๕ จำแนกออกเป็นขันธ์ละ ๔ ต่อเมื่อใดระลึกรู้ รูปขันธ์ แต่ยังไม่ได้หมดความยึดถือ ยังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของปฐวีธาตุว่า เป็นเพียงสภาพธรรมซึ่งเป็นปฐวีธาตุเท่านั้น ในขณะที่ยังไม่เป็นเพียงปฐวีธาตุ สังเกตความรู้สึกในขณะนั้นว่า รูปเป็นเรา ใช่ไหม ยังมีความรู้สึกว่า รูปเป็นเรา หรือว่า เราเป็นรูป หรือว่ามีรูปในเรา หรือว่ามีเราในรูป เพราะว่าในขณะที่พิจารณารูป ไม่ได้พิจารณานามขันธ์ เพราะฉะนั้น เราจึงอยู่ที่นามขันธ์

สำหรับเรื่องขันธ์ ๕ ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป

ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ปุณณมสูตร ได้กล่าวถึงขันธ์ ๕ ซึ่ง มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคารมาตุปราสาท ในพระวิหาร บุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ก็ในสมัยนั้นแล ในคืนวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้ว ประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะพึงทูลถามเหตุประการหนึ่งกะ พระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาสที่จะพยากรณ์ปัญหาแก่ ข้าพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร ภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงนั่ง ณ อาสนะของตน แล้วถามปัญหาที่เธอ มุ่งจำนงเถิด

ภิกษุนั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ อาสนะของตน ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ เหล่านี้ ใช่ไหม พระเจ้าข้า

ความคิดและการพิจารณาธรรมของคนในสมัยนี้ เหมือนอย่างครั้งนั้นหรือเปล่า ที่จะฟังธรรมและพิจารณาไตร่ตรองถึงความละเอียดว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ เหล่านี้ ใช่ไหม คำตอบว่าอย่างไร นี่เป็นเรื่องต้องคิด บางครั้งเป็นเรื่องดูเหมือนง่าย แต่ยาก แต่บางครั้งก็เริ่มจากง่ายไปหายาก เป็นการทดสอบความเข้าใจจริงๆ ของอรรถในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

การที่จะศึกษาพระอภิธรรมประกอบกันไปกับพระสูตรโดยความละเอียด จะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแจ่มแจ้งและโดยละเอียดด้วย และไม่หลงลืม ซึ่งพระอภิธรรมยังมีเรื่องที่จะต้องศึกษาพิจารณาอีกมาก นี่เป็นเพียงตอนต้นๆ โดยนัยของพระสูตรว่า จะมีการพิจารณาคำแต่ละคำเพื่อให้เข้าใจชัดเจนได้อย่างไร เพราะฉะนั้น คำตอบ คืออะไร เมื่อภิกษุได้ทูลถามอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้แหละ ภิกษุ

เพราะฉะนั้น ไม่มีขันธ์ ๖ ขันธ์ ๗ เพราะโดยจำนวนทรงแสดงไว้ไม่ยิ่งไม่หย่อน คือ ขันธ์ ๕ ทั้งนี้เป็นเพราะพระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ธรรมซึ่งมีส่วนเสมอกัน เข้าเป็นอันเดียวกัน คือ ธรรมที่เป็นรูปทั้งหมด เป็นรูปขันธ์ ความรู้สึกต่างๆ เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดดับแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนา หรือโทมนัสเวทนา เมื่อเป็นสภาพที่รู้สึก เป็นเวทนาเจตสิก ก็เป็น เวทนาขันธ์ สำหรับสัญญาก็โดยนัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่จำทางตา หรือ จำทางหู จำทางจมูก จำทางลิ้น จำทางกาย จำทางใจ ก็เป็นขันธ์เดียวกัน สังขารขันธ์ทั้งหลายก็สงเคราะห์โดยเป็นสังขารขันธ์ด้วยกัน วิญญาณขันธ์แต่ละชนิด แต่ละประเภท ก็สงเคราะห์เป็นวิญญาณขันธ์ด้วยกัน

เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครพูดถึงอุปาทานขันธ์ และกล่าวว่าเป็น ๖ บ้าง เป็น ๗ บ้าง ย่อมไม่ถูก เพราะว่าอุปาทานขันธ์นั้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕

ข้อความต่อไปมีว่า

ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

ดีแล้ว พระเจ้าข้า

แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระเจ้าข้า

เป็นคำถามหรือความคิดพิจารณาธรรมของคนสมัยนี้ก็ได้ เมื่อทราบว่า ธรรมทั้งหลายต้องมีเหตุมีปัจจัย เพราะฉะนั้น สำหรับอุปาทานขันธ์ ๕ มีอะไรเป็นมูลเหตุ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร ภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีฉันทะเป็นมูลเหตุ ฯลฯ

หมายความถึงโลภะ สภาพที่ติด ที่พอใจนั่นเอง

ภิกษุรูปนั้นกราบทูลถามต่อไปว่า

อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หรือว่าอุปาทานอื่น จากอุปาทานขันธ์ ๕ พระเจ้าข้า

ถ้าไม่พิจารณาคำถามของพระภิกษุในครั้งโน้น ก็ดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่า ท่านถามว่าอะไร แต่ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดและพิจารณาก็จะทราบว่า พระภิกษุ รูปนั้นกราบทูลถามว่า อุปาทาน คือ โลภะหรือฉันทราคะ ซึ่งเป็นมูลเหตุของอุปาทานขันธ์ ๕ โลภะนั่นเองเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรือว่าโลภะนั้นต่างหากจากอุปาทานขันธ์ ๕

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หามิได้ และอุปาทานชันธ์อื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็หามิได้ แต่ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นเป็นตัวอุปาทาน

โลภะไม่ได้พ้นจากขันธ์ และโลภะในขันธ์ ๕ เป็นตัวอุปาทาน เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หามิได้ เพราะว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นอุปาทาน เฉพาะโลภะเท่านั้นที่เป็นอุปาทาน ขันธ์มี ๕ จริง แต่เฉพาะโลภะซึ่งเป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ เป็นตัวอุปาทาน จะว่าอื่นจากขันธ์ ๕ ก็ไม่ได้ จะว่าขันธ์ ๕ ทั้งหมดเป็นอุปาทาน ก็ไม่ได้ เพราะว่าเฉพาะโลภะเท่านั้นที่เป็นอุปาทาน

ข้อความต่อไปมีว่า

ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของผู้มีพระภาคว่า

ดีแล้ว พระเจ้าข้า

แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ แตกต่างกันหรือ

ดูเป็นการสนทนาธรรม หรือเป็นปัญหาธรรมซึ่งเป็นธรรมดาๆ แต่คำตอบต้องคิด ต้องพิจารณา เพื่อให้ถูกต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ต่างกันภิกษุ

ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาลขอเราพึงมีรูปเช่นนี้ พึงมีเวทนาเช่นนี้ พึงมีสัญญาเช่นนี้ พึงมีสังขารเช่นนี้ พึงมีวิญญาณเช่นนี้ ดูกร ภิกษุ ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล

จริงไหม ความพอใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เวลานี้เป็นอย่างนี้ กำลังเป็นอย่างนี้ แต่ก็ยังมีความอยาก มีความปรารถนา มีความหวัง มีความต้องการอย่างอื่น ซึ่งแต่ละคนต่างกัน ลองถามดูก็ได้ว่า แต่ละท่านในขณะนี้ปรารถนาหรือต้องการอะไร จะเหมือนกัน หรือต่างกัน

ข้อความต่อไปมีว่า

ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

ดีแล้ว พระเจ้าข้า

แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ขันธ์ จึงชื่อว่าขันธ์

พระภิกษุในครั้งนั้น ท่านก็ปรารถนาที่จะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเพื่อความเข้าใจของท่านจริงๆ ว่า เพราะเหตุใดขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์ ทำไมไม่ทรงบัญญัติพยัญชนะอื่น แต่ทรงบัญญัติพยัญชนะว่าขันธ์

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่ารูปขันธ์

ไม่ว่าจะเป็นรูปประเภทหนึ่งประเภทใด ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ในที่ใกล้หรือในที่ไกล ทั้งหมดที่เป็นรูป นี้เรียกว่ารูปขันธ์

ข้อความต่อไป

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์

สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสังขารขันธ์

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์

ดูกร ภิกษุ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์

เพราะทรงตรัสรู้สภาพธรรมโดยละเอียดโดยทั่วจริงๆ จึงทรงบัญญัติได้ว่า รูปต่างกันโดยประเภทที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกล ใกล้ ตลอดไปจนกระทั่งถึงเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งมีประเภทต่างกันทุกขณะจิตที่เกิดขึ้น จิตก็ต่างกันเพราะประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ สังขารขันธ์ ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น สัญญาก็ต่างกัน เวทนาก็ต่างกัน และรูปขันธ์ก็ต่างกัน ซึ่งมีปรากฏให้เห็นอยู่

ซึ่งใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสธรรมเป็นกามาวจร มีข้อความว่า

เมื่อจะทรงแสดงธรรมที่นับเนื่องในภูมิระหว่างนี้ คือ ที่เป็นกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โดยความเป็นหมวด เป็นของว่างเปล่า เป็นปัจจัย และโดยสภาวะ จึงตรัสพระบาลีว่า ขันธ์ ดังนี้เป็นต้น

คือ ประมวลสภาพธรรมซึ่งมีมากมาย รูปขันธ์ก็มีต่างประเภทออกไป เวทนาขันธ์แม้มี ๕ ก็ต่างโดยชาติ โดยภูมิ โดยความหยาบ โดยความละเอียด โดยไกล โดยใกล้ โดยภายใน โดยภายนอก ทั้งสัญญา และสังขารที่เป็นเจตสิก ๕๐

เพราะฉะนั้น เมื่อมากอย่างนี้ จะแสดงโดยประมวล โดยประเภท ก็ต้องแสดงโดยความเป็นขันธ์ คือ โดยเป็นส่วนๆ หรือว่าโดยเป็นหมวด โดยเป็นกองของ สภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งประมวลเป็นรูปส่วนหนึ่ง เวทนาส่วนหนึ่ง สัญญาส่วนหนึ่ง สังขารส่วนหนึ่ง และวิญญาณส่วนหนึ่ง

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565