แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1073
สุ. อกุศลจิตเป็นเหตุ หรือนเหตุ
ผู้ฟัง นเหตุ
สุ. เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ผู้ฟัง สเหตุกะ
สุ. อกุศลจิตต้องมีเหตุที่เป็นอกุศล จิตนั้นจึงจะเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น อกุศลจิตจึงเป็นสเหตุกะ
ถ้าเป็นโมหมูลจิตก็มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหเจตสิกเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น โมหมูลจิตก็เป็นสเหตุกจิต
ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็ต้องมีเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกกับโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตก็เป็นสเหตุกจิต
ถ้าเป็นโลภมูลจิตก็ต้องมีเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกกับโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตก็เป็นสเหตุกจิต
เพราะฉะนั้น อกุศลจิตต้องเป็นสเหตุกจิต ประกอบด้วยเหตุที่ไม่ดี เป็นอกุศล ที่จะทำให้เกิดผล คือ วิบากข้างหน้า
จิตภูมิไหนมี ๒ ชาติ
ผู้ฟัง โลกุตตรจิตมี ๒ ชาติ คือ กุศลและวิบาก
สุ. มรรคจิต ๔ เป็นโลกุตตรกุศล ๔ ผลจิต ๔ เป็นโลกุตตรวิบาก ๔
จิตภูมิไหนมี ๓ ชาติ
ผู้ฟัง รูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมิ เพราะมีรูปาวจรกุศลจิต รูปาวจรวิบากจิต ซึ่งเป็นผล และรูปาวจรกิริยาจิตซึ่งไม่เป็นเหตุและไม่เป็นผล เป็นฌานจิตของ พระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์มีฌานจิตได้ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะไม่เป็นเหตุให้เกิดผล คือ รูปาวจรวิบาก
สำหรับอรูปาวจรภูมิก็เช่นเดียวกัน มี ๓ ชาติ คือ อรูปาวจรกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นเหตุให้เกิดอรูปาวจรวิบาก และสำหรับพระอรหันต์มีอรูปาวจรจิตซึ่งเป็นกิริยา เพราะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก
สุ. จิตภูมิไหน มี ๑ ชาติ
ผู้ฟัง ไม่มี
สุ. เหตุเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เจตสิกปรมัตถ์
สุ. เหตุเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์
สุ. นิพพานเป็นเหตุ หรือนเหตุ
ผู้ฟัง นิพพานเป็นนเหตุ
สุ. นิพพานเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ผู้ฟัง อเหตุกะ
สุ. อเหตุกจิตเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง วิญญาณขันธ์
สุ. นเหตุที่ไม่ใช่สังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง
ผู้ฟัง ได้แก่จิตและเจตสิกที่ไม่ใช่เหตุ
สุ. ถ้าพูดถึงขันธ์ ๕ นเหตุที่ไม่ใช่สังขารขันธ์ รูปขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์ เวทนาขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์
สังขารขันธ์ที่เป็นนเหตุ คือ ไม่ใช่เหตุ มีกี่ดวง
ผู้ฟัง ๔๖
สุ. สังขารขันธ์ ไม่ได้ถามถึงเจตสิกทั้งหมด เฉพาะสังขารขันธ์ที่เป็นนเหตุ มีกี่ดวง
ผู้ฟัง ๔๔
สุ. เพราะว่าเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ มี ๕๐ ดวง เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ดวง เจตสิก ๑ ดวงเป็นเวทนาขันธ์ คือ เวทนาเจตสิก เจตสิก ๑ ดวงเป็นสัญญาขันธ์ คือ สัญญาเจตสิก เจตสิก ๕๐ ดวง แต่ละดวงเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ในสังขารขันธ์ ๕๐ เป็นเหตุเพียง ๖ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ เจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด มี ๕๐ และเป็นเหตุเพียง ๖ เพราะฉะนั้น เจตสิกอื่นซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ๔๔ ดวง เป็นนเหตุ
ปรมัตถธรรมที่เป็นนเหตุเป็นขันธ์อะไรบ้าง
ผู้ฟัง เป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ที่ไม่ใช่เหตุ ๔๔ และวิญญาณขันธ์
สุ. ถูกต้อง รูปทั้งหมดเป็นนเหตุ เป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นนเหตุ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นนเหตุ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิก ๔๔ ดวง เป็นนเหตุ เป็นสังขารขันธ์ และจิตทั้งหมดเป็นนเหตุ เป็นวิญญาณขันธ์
รูปขันธ์เป็นเหตุ หรือนเหตุ
ผู้ฟัง นเหตุ
สุ. อเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ผู้ฟัง อเหตุกะ
สุ. อเหตุกะ หมายความว่า ไม่มีเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เจตสิกจะเกิดร่วมกับรูปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตเท่านั้นที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น รูปเป็นนเหตุ และเป็นอเหตุกะ
ศัพท์เหล่านี้ต้องเข้าใจให้ชัดเจน ไม่ลืม
โทสเจตสิกเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์
สุ. ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต เป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง อกุศลชาติ
สุ. ภูมิไหนไม่มีรูปขันธ์
ผู้ฟัง อรูปภูมิ
สุ. ต้องเป็นอรูปพรหมภูมิ
ภูมิไหนไม่มีนามขันธ์
ผู้ฟัง อสัญญสัตตาภูมิ
สุ. ภูมิที่ไม่มีนามขันธ์ มีภูมิเดียวซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิ คือ อสัญญสัตตาพรหม
ในคราวก่อนมีข้อความที่ได้กล่าวถึงแล้วใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ปุณณมสูตร ข้อ ๑๘๖ ซึ่งภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์ และพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่ารูปขันธ์
คือ รวมทั้งหมดเป็น ๑๑ ลักษณะ เรียกว่า รูปขันธ์
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ก็โดยนัยเดียวกัน ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว
ข้อความต่อไปใน ปุณณมสูตร มีว่า
ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ปรากฏ
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ทรงแสดงถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้จริงๆ ซึ่งสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นสภาพธรรมที่เกิด ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏ และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมที่ปรากฏโดยประเภทของขันธ์ ภิกษุรูปนั้นก็ชื่นชมอนุโมทนา และใคร่ที่จะทราบถึงความเป็นอนัตตาของขันธ์เหล่านั้น โดยได้กราบทูลต่อไปถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ขันธ์นั้นๆ ปรากฏ
ข้อความในพระสูตรตรงกับพระอภิธรรม ซึ่งจะต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นปรากฏ แม้แต่ รูปขันธ์ก็ต้องมีเหตุว่า อะไรเป็นเหตุให้รูปขันธ์ปรากฏ เวทนา ความรู้สึกในแต่ละครั้ง ในวันหนึ่งๆ มีอะไรเป็นเหตุให้เวทนานั้นเกิดขึ้นปรากฏ สัญญา ความจำสิ่งต่างๆ มีอะไรเป็นเหตุให้สัญญานั้นเกิดขึ้นปรากฏ สังขารขันธ์ ซึ่งเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง เป็นกุศลประเภทต่างๆ บ้าง มีอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏ และวิญญาณขันธ์ มีอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏ เพื่อที่จะได้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ
หลายท่านบอกว่า สติปัฏฐานไม่เกิด ถ้าไม่เป็นพหูสูต ก็ยากที่สติปัฏฐาน จะเกิด เพราะเพียงได้ยินได้ฟังว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น แต่ว่านามธรรมอะไรทางตาที่กำลังเห็น รูปธรรมอะไรทางตาที่กำลังปรากฏ จะต้องเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของธรรมที่สามารถจะพิสูจน์ได้ทั้ง ๖ ทาง คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ
ทางตา มหาภูตรูปไม่ได้ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีมหาภูตรูป สีสันวัณณะในขณะนี้ไม่ปรากฏเลย ถ้าเป็นอากาศธาตุ ไม่มีสีสันวัณณะปรากฏ แต่เพราะว่ามหาภูตรูปมีที่ใด สีสันวัณณะก็มีปรากฏในที่นั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะ มหาภูตรูปเป็นปัจจัย เสียงที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ ที่จะเห็นว่าเป็นอนัตตา ก็เพราะต้องมีมหาภูตรูปกระทบกันเป็นเหตุให้เสียงปรากฏ มิฉะนั้นจะไม่มีเสียง ปรากฏเลย
ขณะที่ได้กลิ่น ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในที่นั้น ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม กลิ่นก็ไม่มี รสก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ
สำหรับเวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง อทุกขมสุขบ้าง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ
ถ้าไม่กระทบ ไม่สัมผัส ไม่รู้อารมณ์ จะมีความรู้สึกในอารมณ์ที่กำลังปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดปรากฏเกิดขึ้น ให้ทราบว่า ผัสสะ ซึ่งเป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตในขณะนั้น เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกนั้นๆ ขึ้น
ถ้าผัสสะกระทบ เห็นรูปทางตา ความรู้สึกเป็นไปกับรูปทางตา ถ้าผัสสะกระทบเสียง ทำให้เสียงปรากฏทางหู และที่เสียงปรากฏจะไม่มีความรู้สึกใดๆ เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีกระทบต้องมีเวทนา คือ สภาพความรู้สึกเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ
ถ้าหลงลืมสติ ก็เป็นเราสุข เราทุกข์ ลืมว่า เพราะผัสสะกระทบอารมณ์นั้น เวทนา ความรู้สึกในอารมณ์นั้นจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ถ้ากระทบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่แช่มชื่นก็เกิด ถ้าไม่หลงลืมก็จะรู้ว่า ความรู้สึกไม่แช่มชื่น มีเหตุ คือ การกระทบกับอารมณ์ซึ่งไม่น่าพอใจเท่านั้นเอง และก็ดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะไปเปลี่ยนความรู้สึกไม่แช่มชื่นให้เป็นสุขเวทนาก็ไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามอารมณ์และกิเลสซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใด หรืออกุศลประเภทใด
สำหรับสัญญาขันธ์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ
เห็นสิ่งใดทางตา ก็จำในสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาที่เสียงปรากฏทางหู สัญญาเจตสิกจำเสียงที่ปรากฏทางหู เวลาที่กลิ่นปรากฏทางจมูก สัญญาเจตสิกก็จำกลิ่นนั้นทันที จะไม่ให้จำไม่ได้ จะมีอัตตาบอกว่าอย่าจำก็ไม่ได้ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีผัสสะซึ่งเป็นนามธรรมกระทบกับอารมณ์ใด ขณะนั้นก็มีสัญญาเจตสิกเกิดขึ้นจำอารมณ์นั้น
และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ
ท่านผู้ฟังจะมีความชอบในสิ่งที่เห็นทางตา เพราะขณะนั้นผัสสะกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นสิ่งนั้น โลภเจตสิกหรือโลภมูลจิตจึงเกิด ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ไม่พ้นไปจากเหตุและปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น
สำหรับวิญญาณขันธ์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นามรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ
หมายความว่า ในภูมิที่มีรูป เช่น ในภูมิมนุษย์ จิตที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเจตสิกและรูปด้วย
ถ้าไม่มีจักขุปสาทจะไม่มีการเห็น จักขุปสาทเห็นไม่ได้ก็จริง แต่ถ้าไม่มี จักขุปสาท จักขุวิญญาณก็เห็นไม่ได้ ทั้งๆ ที่จักขุปสาทไม่เห็นอะไร แต่ต้องมี จักขุปสาทจึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
บางท่านแม้ในครั้งนั้น ก็มีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเมื่อได้ฟังเรื่องของอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็เกิดความคิดซึ่งไม่ตรง
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงสำคัญสัตถุศาสน์ว่าเป็นคำสอนที่ควรให้คิดให้ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร
บางท่านก็อาจจะคิดอย่างนี้ แทนที่จะพิจารณาให้ตรงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ ถึงจะยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน แต่เพราะสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง ถ้าค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละลักษณะ วันหนึ่งจะต้องประจักษ์ในสภาพที่เป็นอนัตตาแท้ๆ ของธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ ควรจะคิดอย่างนี้ แต่บางท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
แทนที่จะคิดให้ถูกต้องว่า ควรอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเห็นความเป็นอนัตตา ก็กลับคิดว่าจะไม่ทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่มีใครบ้างที่จะไม่ทำอะไรได้ ในเมื่อต้องเห็น เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เห็นก็เห็น ทำกิจเห็นแล้ว เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ได้ยิน ก็ทำกิจได้ยินแล้ว เมื่อมีปัจจัยที่จะคิดนึกอย่างนั้น ก็คิดนึกอย่างนั้นแล้ว
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งหมด ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย แต่ปัญญาควรจะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ที่คิดว่าไม่ต้องทำอะไร แท้ที่จริงขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นอนัตตาที่เกิดขึ้นคิดอย่างนั้น และก็ดับไป