แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1074

บางท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องทำความเพียร อยู่เฉยๆ

ท่านผู้นั้นยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ได้รู้ลักษณะของวิริยเจตสิกว่า เกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คือ ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น และถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า เว้นจิตอีกบางดวงซึ่งเป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ เพียงพอใจในสิ่งที่เห็น ที่ปรากฏทางตา หรือมีความรู้สึกไม่ แช่มชื่นในขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู ยังไม่ทันอะไรเลยเพียงแต่เป็นความไม่พอใจ หรือความพอใจ ยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้กระทำ ยังไม่ได้คิดที่จะกระทำทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นวิริยเจตสิกก็เกิดขึ้นกระทำกิจนั้นๆ แล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะยับยั้งวิริยเจตสิกไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะวิริยเจตสิกเป็นสภาพที่ต้องเกิดกับจิตนั้นๆ เว้นจิตบางดวง

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมซึ่งจะเป็นพหูสูตจะเกื้อกูลให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตรงขึ้น จนกว่าสติปัฏฐานจะอบรมและเจริญขึ้นจนสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตรงตามที่ได้ศึกษา แต่ถ้าไม่ตรง ให้ทราบว่าผิด อย่าเข้าใจว่า เมื่อไม่ตรงก็ยังถูก ถ้าเข้าใจอย่างนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะว่าจะศึกษาทำไม ถ้าไม่สามารถรู้ให้ตรงตามลักษณะของ สภาพธรรมที่ทรงแสดงทุกประการ

สำหรับการศึกษาเรื่องของอกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ต่อไปจะขอกล่าวถึงธรรมที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เพื่อที่จะให้เห็นสภาพความเป็นอนัตตาของจิตแต่ละดวงด้วย ตามนัยของ อัฏฐสาลินี

ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาในพระไตรปิฎก หรือในอรรถกถา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นร่วมกัน เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของจิตที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะว่าโลภมูลจิตที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วมีอายุเพียง ๓ ขณะย่อย คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ

ขอกล่าวถึงจิตตุปปาท ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อรรถกถากัณฑ์ พรรณนาขยายความหมวดติกะ ข้อ ๑๓๘๕ ได้อธิบายความหมายของจิตตุปปาทว่า

ในพระบาลีนั้นมีอธิบายดังนี้ ชื่อว่าอุปปาทะ เพราะความหมายว่า ธรรมที่เกิดขึ้น ธรรมที่เกิดขึ้น คือ จิต ชื่อว่าจิตตุปปาท

ไม่ใช่ว่าจิตไม่เกิด เมื่อจิตเกิดจึงเป็นจิตตุปปาท

คำอธิบายต่อไปมีว่า

ก็คำว่า จิตตุปปาทนี้ เป็นหัวข้อแห่งเทศนาเท่านั้น เหมือนดังเมื่อพูดว่า พระราชาเสด็จมาแล้ว ดังนี้ ย่อมเป็นอันพูดถึงการมาแม้ของพวกอำมาตย์ เป็นต้น ทีเดียว ฉันใด เมื่อตรัสว่า จิตตุปปาท ดังนี้ ก็ย่อมเป็นอันตรัสถึงแม้ธรรมที่ สัมปยุตต์ด้วยจิตตุปปาท (หมายความถึงเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิต) เหล่านั้นทีเดียว เหมือนฉันนั้น เพราะฉะนั้น ด้วยศัพท์ว่า จิตตุปปาท ในที่ทุกแห่ง พึงทราบว่า ทรงถือเอาจิตพร้อมทั้งสัมปยุตตธรรม

คือ หมายถึงทั้งจิตและเจตสิก เพราะถึงแม้ว่านามธรรมที่เกิดร่วมกันมี ๒ คือ จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์ แต่เพราะจิตเป็นประธานจึงใช้คำว่า จิตตุปปาท แต่ ทุกแห่งที่ใช้คำว่า จิตตุปปาท พึงทราบว่า ทรงถือเอาจิตพร้อมทั้งสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เหมือนกับคำพูดที่ว่า พระราชาเสด็จมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่า เสด็จมาพระองค์เดียว แต่ต้องมีพวกอำมาตย์ติดตามมาด้วย

สำหรับเจตสิก ทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท หรือที่ใช้คำว่า ๕๒ ดวง

สำหรับจิต แบ่งออกโดยนัยของภูมิต่างๆ เป็น ๔ ภูมิ เป็นกามาวจรภูมิ ๑ เป็นรูปาวจรภูมิ ๑ เป็นอรูปาวจรภูมิ ๑ เป็นโลกุตตรภูมิ ๑

แต่สำหรับเจตสิกจำแนกออกเป็น ๓ ประเภท คือ อัญญสมานาเจตสิก อกุศลเจตสิก และโสภณเจตสิก

สำหรับอัญญสมานาเจตสิก หมายความถึงเจตสิกประเภทหนึ่ง มีทั้งหมด ๑๓ ดวง ซึ่งไม่มีสภาพเป็นกุศลหรืออกุศลเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเป็นกุศลก็ได้เมื่อเกิดกับกุศลจิต เป็นอกุศลก็ได้เมื่อเกิดกับอกุศลจิต เป็นวิบากก็ได้เมื่อเกิดร่วมกับวิบากจิต เป็นกิริยาก็ได้เมื่อเกิดร่วมกับกิริยาจิต

เพราะฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง เป็นเจตสิกที่มีสภาพเสมอกับธรรมทั้งหลายที่ตนเกิดร่วมด้วย ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว หรือว่าเป็นกุศลอย่างเดียว หรือว่าเป็นวิบากอย่างเดียว หรือว่าเป็นกิริยาอย่างเดียว

สำหรับอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ประเภท หรือ ๑๔ ดวง ซึ่งชื่อก็บอกชัดเจนว่า เป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นอกุศลเท่านั้น ถ้าเป็นอกุศลเจตสิก จะเป็นวิบากไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ ขณะใดที่เจตสิก ๑๔ ดวงนี้เกิดขึ้น ขณะนั้นจิตต้องเป็นอกุศล และ อัญญสมานาเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกนั้นก็ต้องเป็นอกุศลด้วย

สำหรับอกุศลเจตสิก ท่านผู้ฟังจะเห็นว่า มีเพียง ๑๔ ดวง ไม่มาก แต่เกิดบ่อย จนกระทั่งมีกำลัง กุศลไม่สามารถที่จะเกิดได้มากเท่า และถึงแม้กุศลจะมีโอกาสเกิดได้บ้างเพียงเล็กน้อย จิตก็จะตกไปสู่กระแสของอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดอีก ทั้งๆ ที่อกุศลเจตสิกมีเพียง ๑๔ ดวง

สำหรับเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือ โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง ซึ่งชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นโสภณะ เป็นจิตที่ดีงาม ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกุศลเจตสิก เพราะฉะนั้น โสภณเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีงามทั้งหมด คือ เกิดกับกุศลจิต กุศลวิบากจิต และ กิริยาจิต ซึ่งประกอบด้วยเหตุที่ดีงาม

เจตสิกทั้งหมด ๕๒ ดวง แบ่งออกเป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง และโสภณเจตสิก ๒๕ ดวง ซึ่งจะขอกล่าวถึงอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวงก่อน

สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง และเป็นปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง จึงชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณะ เพราะเกิดสาธารณะกับจิตทั้งหมดทุกดวง ซึ่งมี ๗ ดวงด้วยกัน สำหรับอีก ๖ ดวงนั้น เป็นปกิณณกเจตสิก คือ ประกอบกับจิตบางดวง และไม่ประกอบกับจิตบางดวง

สำหรับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง คือ ๑. ผัสสเจตสิก ๒. เวทนาเจตสิก ๓. สัญญาเจตสิก ๔. เจตนาเจตสิก ๕. เอกัคคตาเจตสิก ๖. ชีวิตินทริยเจตสิก ๗. มนสิการเจตสิก

ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในตำรา กำลังเห็นในขณะนี้เองจะขาดเจตสิก ๗ ดวงนี้ไม่ได้เลย เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของเห็นในขณะนี้ว่า ไม่ใช่มีแต่จิตซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ คือ การเห็น แต่ยังมีเจตสิก คือ สภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมด้วย ทุกครั้งที่จิตแต่ละดวงเกิดขึ้นต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้ เกิดร่วมด้วย

ซึ่งข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา พรรณนาความปริจเฉทที่ ๒ ได้แสดงลักษณะของเจตสิก ๔ ประการ คือ ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกดวงใดก็ตามที่เกิดขึ้น จะต้องมีลักษณะ ๔ ประการ และมีเหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงแสดงลักษณะ ๔ ประการของเจตสิก

ลักษณะ ๒ ประการแรก คือ

เอกุปฺปาทนิโรธ เป็นธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต และเป็นธรรมที่ดับพร้อมกับจิต

มีเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องแสดงว่าเกิดพร้อมจิต และยังต้องแสดงว่าดับพร้อมจิตด้วย จะแสดงว่าเป็นเพียงธรรมที่เกิดพร้อมจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่พอ เพราะรูปที่เกิดพร้อมจิตก็มี และรูปไม่ใช่เจตสิก เพราะฉะนั้น จึงต้องแสดงว่า เอกุปฺปาทนิโรธ ธรรมที่เกิดพร้อมจิตและต้องดับพร้อมจิตด้วย ซึ่งการเกิดพร้อมนี้ให้ทราบว่า จิตดวงหนึ่งๆ มี ๓ ขณะย่อย คือ ขณะที่เกิดเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ยังไม่ดับเป็นฐีติขณะ ขณะที่ดับเป็นภังคขณะ

เจตสิกเกิดพร้อมกับจิตในอุปาทขณะที่จิตเกิด ไม่ใช่ว่าในอุปาทขณะจิตเกิด และเจตสิกเกิดร่วมด้วยในฐีติขณะ หรือภังคขณะ แต่เมื่อแสดงว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมจิต ย่อมหมายความถึงเกิดพร้อมในขณะอุปาทขณะของจิต และดับพร้อมกัน คือ ในภังคขณะของจิต

รูปอาจจะเกิดพร้อมจิต แต่รูปไม่ใช่เจตสิก จึงไม่ได้ดับพร้อมจิต และรูปใด ก็ตามซึ่งเกิดก่อนจิต มีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ รูปนั้นอาจจะดับพร้อมจิตดวงหนึ่งดวงใด แต่รูปนั้นไม่ใช่เจตสิก เพราะฉะนั้น จึงต้องแสดงพยัญชนะว่า เจตสิกต้องมีลักษณะ ๔ ประการ ซึ่ง ๒ ประการแรก คือ

เอกุปฺปาทนิโรธ เป็นธรรมที่เกิดพร้อมจิตและต้องดับพร้อมจิตด้วย

แต่ว่ายังมีรูปบางรูปซึ่งเกิดดับพร้อมจิต ได้แก่ วิญญัติรูป เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่พอที่จะแสดงพยัญชนะเพียง เอกุปฺปาทนิโรธ ว่าเป็นลักษณะของเจตสิก ยังต้องมีลักษณะอีก ๒ ประการ คือ

เอกาลมฺพนวตฺถุ เป็นธรรมที่มีอารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิตด้วย

เพราะว่าแม้รูปจะเกิดพร้อมจิตและดับพร้อมจิต แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก นอกจากเกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิตแล้ว ยังต้องเป็นสภาพที่รู้อารมณ์เดียวกับจิตนั้นด้วย และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะต้องเกิดที่รูป รูปหนึ่งรูปใดเสมอ ซึ่งธรรมที่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้น ต้องเกิดที่รูปเดียวกับจิตนั้นด้วย

นี่เป็นลักษณะ ๔ ประการของเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดดับพร้อมกับจิตในขณะนี้ อย่างรวดเร็วเหลือเกิน นี่คือสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ

ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายเจตสิกธรรม แสดงเหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสผัสสเจตสิกเป็นอันดับแรกว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสผัสสะไว้เป็นอันดับแรก โดยเทศนาวาระ และโดยเป็นปัจจัยแก่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ถ้าไม่ตรัสผัสสะ จะตรัสเวทนาก่อนก็ได้ จะตรัสสัญญาก่อนก็ได้ หรือจะยกจิตขึ้นมาก่อนก็ได้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสผัสสะไว้เป็นอันดับแรกโดยเทศนาวาระ เพราะถึงแม้ว่าจิตและเจตสิกจะเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะและดับพร้อมกันใน ภังคขณะ แต่เพราะผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา จึงทรงยกธรรมซึ่งเป็นปัจจัยขึ้นเป็นอันดับแรก

ถ้าผัสสะไม่กระทบ ก็จะไม่เกิดความรู้สึกในสิ่งที่เห็นทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่กระทบจมูก รสที่กระทบลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย หรือแม้เรื่องที่นึกคิดทางใจ ก็ประกอบด้วยเวทนาเจตสิกต่างๆ ตามผัสสะที่กระทบอารมณ์ในขณะนั้น

ผัสสะเป็นปัจจัยแก่สัญญา โดยที่เมื่อผัสสะกระทบสิ่งใด สัญญาก็จำสิ่งนั้น ผัสสะเป็นปัจจัยแก่สังขาร คือ เมื่อผัสสะกระทบอารมณ์ใด ก็เกิดความยินดียินร้ายในอารมณ์นั้น ผัสสะเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ เพราะผัสสะกระทบอารมณ์ใด วิญญาณ คือ จิต ก็รู้อารมณ์นั้น

ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อุปมาผัสสะว่า

เมื่อพูดถึงปราสาท เสาต้องเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ทัพสัมภาระที่เหลือทั้งหลาย คือ ขื่อ ระแนง เชิงฝา ยอด กลอน จั่ว และอื่นๆ ทั้งหมดเนื่องด้วยเสา ตั้งอยู่บนเสา จริงอยู่ เพราะผัสสะนี่เป็นเช่นกับเสา สัมปยุตตธรรมนอกจากนั้นเป็นเช่นกับ ทัพสัมภาระ ฉะนั้น จึงตรัสผัสสะไว้เป็นอันดับแรก

ถ้าไม่มีเสา จะมีประตู หน้าต่าง อะไรๆ ได้ไหม ก็ไม่ได้

ผัสสะเป็นเจตสิกซึ่งกระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้น นำมาซึ่งสภาพธรรมอื่นๆ ทุกประการ เช่น เวทนา ความรู้สึก สัญญา ความจำ หรือสังขารขันธ์ทั้งหลาย และวิญญาณขันธ์ ซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้นๆ

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง พึงทราบว่า ไม่ควรแสวงหาถึงลำดับต้นและหลัง เพราะเหตุว่า สภาพธรรมซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

ในจิตดวงหนึ่งๆ ประกอบด้วยเจตสิกหลายดวง ซึ่งไม่น้อยกว่า ๗ ดวง บางดวงประกอบด้วยเจตสิก ๑๐ กว่าดวง บางดวงประกอบด้วยเจตสิก ๒๐ กว่าดวง บางดวงประกอบด้วยเจตสิก ๓๐ กว่าดวง แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งเกิดกับจิตนั้นและดับไปอย่างรวดเร็วว่า เจตสิกแต่ละดวงเป็นปัจจัยแก่เจตสิกอื่นๆ และแก่จิตโดยสถานใดหรือว่าโดยปัจจัยใด เป็นการแสดงถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ซึ่งมีอาการ มีลักษณะ มีกิจหน้าที่ ที่จะปรากฏให้รู้ได้ว่า ลักษณะของเจตสิกแต่ละลักษณะนั้นต่างกัน เป็นธรรมแต่ละประเภท เพราะฉะนั้น ไม่ควรแสวงหาถึงลำดับต้นและหลัง คือ ไม่ต้องคิดว่าอะไรเกิดก่อนอะไร เพราะ บางคนอาจจะคิดว่า ผัสสะเกิดก่อนและดับไปแล้ว เวทนาจึงเกิดขึ้น ซึ่งไม่ถูก เพราะว่าเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตใด ก็ดับพร้อมกับจิตนั้น

ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีต่อไปว่า

อนึ่ง พึงทราบว่า ไม่ควรแสวงหาถึงลำดับต้นและหลัง แต่ควรแสวงหาธรรมโดยความหมายของคำ ลักษณะ และรสะ เป็นต้น เท่านั้น

ในการที่จะรู้สภาพธรรมของเจตสิกซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่า เจตสิกดวงนั้น ประเภทนั้น มีลักษณะอย่างไร มีกิจคือรสะอย่างไร มีอาการที่ปรากฏอย่างไร และมีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายลักษณะของผัสสเจตสิกว่า

ที่ชื่อว่าผัสสะ เพราะกระทบอารมณ์

ไม่ว่าจะเป็นขณะไหน ภูมิไหน ชาติไหน ที่ไหนที่จิตเกิด ผัสสะเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์

จะไม่ชื่อผัสสะ ได้ไหม เปลี่ยนชื่อได้ไหม ลองคิด เปลี่ยนได้ไหม ได้

ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อ แต่ลักษณะของผัสสะก็คือสภาพที่กระทบอารมณ์ ไม่ใช่รูปกระทบรูป เพราะถ้ารูปกระทบรูป ไม่มีการรู้อารมณ์ แต่ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมซึ่งกระทบอารมณ์ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น แต่จิตไม่ใช่ผัสสเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่จิตจะเห็นได้ เพราะผัสสะกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเห็นจึงเกิดขึ้น

ขณะนี้บางท่านอาจจะได้ยินเสียง แต่บางท่านอาจจะกำลังคิดนึกเรื่องต่างๆ ถ้าผัสสเจตสิกไม่กระทบเสียง โสตวิญญาณ คือ จิตได้ยินเสียง ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียงปรากฏ ลักษณะของผัสสะ คือ ธรรมที่กระทบอารมณ์ เป็นนามธรรม เป็นสภาพที่กระทบ จิตจึงรู้อารมณ์นั้นได้

เปิด  249
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566