แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1076

กำลังบริโภคอาหาร มีรส เป็นกามคุณหนึ่งทางลิ้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา น่ารับประทาน เป็นกามคุณหนึ่งทางตา มีเสียงเพลง เป็นกามคุณหนึ่งทางหู มีกลิ่นน่ารับประทาน เป็นกามคุณหนึ่งทางจมูก ที่นั่งที่รับประทานก็สบาย เป็นกามคุณหนึ่งทางกาย นี่คือ เบญจกามคุณ ตามความเป็นจริง

ถ้าไม่รู้ความจริง จะละหรือจะดับกิเลสไม่ได้ เพราะยังยึดถือว่าเป็นเราที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมเรื่องอะไรก็ไม่พ้นจากสติปัฏฐานที่จะให้รู้สภาพธรรมและดับกิเลสได้ เพราะเมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี

. เราได้ยินบ่อยๆ ว่า พรหมมีปีติเป็นอาหาร แต่ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ปีติไม่ได้อยู่ในอาหารทั้ง ๔

สุ. บางทียกปีติ แต่ไม่ได้หมายความว่า พรหมปราศจากกรรม คือ มโนสัญเจตนาหาร ปีติเกิดลอยๆ ไม่เกิดร่วมกับฌานจิตที่เป็นกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ฌานกุศลมีหลายขั้น บางขั้นประกอบด้วยปีติ บางขั้นไม่ประกอบด้วยปีติ เช่น จตุตถฌานโดยปัญจกนัย ไม่ประกอบด้วยปีติ เพราะฉะนั้น สำหรับพรหม บางภูมิ มีปีติเป็นอาหาร บางภูมิไม่มีปีติเป็นอาหาร แต่ทุกภูมิต้องมีมโนสัญเจตนาหาร คือ กรรมเป็นอาหาร ที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ ยังไม่เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ ก็เพราะกรรมยังเป็นอาหารที่จะให้ดำรงอยู่

. มหาภูตรูป ๔ มีอะไรเป็นปัจจัย

สุ. มหาภูตรูป ๑ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๓ มหาภูตรูป ๒ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๒ มหาภูตรูป ๓ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๑

มหาภูตรูปมี ๔ คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑

ธาตุดินเป็นปัจจัยแก่ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ธาตุไฟเป็นปัจจัยแก่ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุดิน

ธาตุน้ำเป็นปัจจัยแก่ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม

ธาตุลมเป็นปัจจัยแก่ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ

นี่หมายความว่า มหาภูตรูป ๑ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๓

หรืออีกนัยหนึ่ง มหาภูตรูป ๒ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๒

หรืออีกนัยหนึ่ง มหาภูตรูป ๓ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๑ นั่นเอง

มีอะไรบ้างไหมที่เกิดขึ้นแล้ว สามารถจะแยกได้ว่า ไม่มีอะไรประกอบร่วมด้วยกับสภาพธรรมนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นโดยทางวิทยาศาสตร์ แยกออกจากกระทั่งไม่มีอะไรเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นในสิ่งนั้นได้ไหม เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย จะมีแต่ธาตุดินโดยไม่มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้

เมื่อกล่าวถึงมหาภูตรูป มหาภูตรูป ๑ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๓ เพราะว่าอาศัยกันเกิดขึ้นเหมือนกับธาตุอื่นๆ ทางวิทยาศาสตร์ ก็จะต้องมีธาตุอื่นเกิดร่วมด้วย ไม่สามารถจะมีอะไรเพียงอย่างเดียวที่ปรากฏลอยๆ ได้ ถูกต้องหรือเปล่า หรือไม่ถูก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อมกัน

เพราะฉะนั้น ธาตุดินก็เป็นปัจจัยให้เกิดธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แน่นอนที่สุด เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย แม้ว่าจะแยกย่อยออกไป ก็ยังต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดพร้อมกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นปกติ

ข้อความต่อไป ใน ปุตตมังสสูตร พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาลักษณะของ ผัสสเจตสิกว่า

ภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า แม่โคนมที่ ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ก็จะถูกพวกตัวสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ก็จะถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน หากลงไปยืนแช่น้ำอยู่ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน ถ้ายืนอาศัยอยู่ในที่ว่างก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะ กัดและจิกกิน เป็นอันว่าแม่โคนมตัวนั้นที่ไร้หนังหุ้ม จะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

ที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาผัสสะเหมือนแม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม เพราะว่า ขณะใดที่ผัสสะเกิดขึ้นกระทำกิจกระทบ จะเป็นปัจจัยให้เวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย รู้สึกในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบทันที พร้อมกันทันทีที่ผัสสะกระทบ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ท่านผู้ใดคิดว่า ตัวของท่านก็เหมือนแม่โคนมที่กำลังไม่มีหนังหุ้ม เพราะ ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจัยให้เวทนา คือ ความรู้สึกเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้จะไม่ทราบเลยว่า ขณะนี้สภาพของความรู้สึกเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าไม่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา จะไม่มีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นเพราะอาศัยการเห็น แต่เวลาที่มีความยินดียินร้ายเกิดขึ้นเพราะอาศัยการเห็น ก็เพราะผัสสะกระทบอารมณ์นั้น จึงเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น

ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นอนิฏฐารมณ์ ชีวิตประจำวันเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ยับยั้งไม่ได้ นอกจากว่าขณะนั้นสติระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งขณะนั้นจะทราบชัดทันทีว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ สามารถที่จะรู้สภาพธรรม ทำให้พ้นจากทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนา เพราะสติเกิดระลึกรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงอุปมาลักษณะของ สภาพธรรม เพื่อให้เห็นชัดจริงๆ ในลักษณะสภาพของผัสสะที่กระทบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยให้เวทนาต่างๆ เกิดขึ้น โดยเป็นอนัตตา ไม่สามารถที่จะยับยั้งเวทนาใดๆ ได้ เมื่อผัสสะกระทบกับอารมณ์นั้น ๆ

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมามโนสัญเจตนาหาร ซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิก ทุกท่านกำลังมีเจตนาเจตสิก เพราะว่าเกิดกับจิตทุกดวง กำลังเห็น จิตที่เห็นเป็นวิบากจิต มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะที่กำลังฟัง ขณะนี้ที่ได้ยิน ที่คิด ที่พิจารณาตาม ก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย พระผู้มีพระภาคทรงอุปมา เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เป็นมโนสัญเจตนาหาร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มโนสัญเจตนาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน ครั้งนั้น มีบุรุษคนหนึ่งอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เดินมา บุรุษสองคนมีกำลังจับเขาที่แขนข้างละคน คร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิงนั้น ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้ ก็จักต้องตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา ทั้งสามได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะจริงๆ ท่านผู้ฟังเคยรู้สึกว่า มีความตั้งใจจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เวลาที่เป็นตัวตนก็มีความรู้สึกว่าเป็นตัวท่านที่ตั้งใจ ต้องมีตัวตน สภาพที่ตั้งใจนั้นเป็นตัวท่านจริงๆ แต่ตามความเป็นจริง ลักษณะที่จงใจ ตั้งใจ เป็นสภาพปรมัตถธรรมที่มีจริง ต่างกับผัสสะซึ่งเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเจตสิกซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกเจตนาเจตสิก

เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ที่กำลังตั้งใจ ก็ต้องในขณะที่สติระลึกรู้ในลักษณะที่ตั้งใจ

ไม่ใช่ว่าเมื่อตั้งใจแล้ว ก็จะเป็นตัวตน ตั้งใจทำวิปัสสนา หรือว่าจะตั้งใจให้จิตสงบ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ว่า สภาพที่จงใจหรือสภาพที่ตั้งใจนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นก็มีลักษณะที่จงใจหรือตั้งใจและก็ดับไป ต่างกับลักษณะสภาพธรรมอื่น แต่ไม่ใช่เรา

ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะขณะที่กำลังจงใจหรือตั้งใจ เมื่อไรจะเห็นว่า ลักษณะที่ จงใจหรือตั้งใจนั้นเป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ จนกว่าจะละการที่ยึดสภาพที่จงใจว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน มิฉะนั้น พระผู้มีพระภาคคงจะไม่ตรัสว่า เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว ฯ

เพราะฉะนั้น จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเคยยึดว่าเป็นตัวตนใน วันหนึ่งๆ ตามปกติตามความเป็นจริงไม่ได้ แม้แต่สภาพที่จงใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่สติจะต้องระลึกจนกว่าจะละการยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

และที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่ แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน

มีใครอยากจะตกลงไปในที่นั้นบ้างไหม หลุมถ่านเพลิง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน คือ ขณะที่ทุกๆ ท่านกำลังนั่งอยู่ขณะนี้เอง แต่ไม่เคยรู้สึกถึงความร้อนของโลภะ ของโทสะ โดยเฉพาะของโมหะ ธรรมที่ ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่ขณะอื่น ไม่จำเป็นต้องมีหลุมจริงๆ มีถ่านเพลิงจริงๆ แต่ในขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและเกิดโลภะบ้าง โทสะบ้าง ขณะนั้นผู้ที่รู้แล้วจะเห็นว่า เป็นโทษ เป็นภัย เหมือนกับหลุมถ่านเพลิงที่ลึกมาก เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน

ถ้าเป็นสถานที่ คงไม่มีใครอยากไปสู่สถานที่นั้นเลย แต่ถ้าเป็นโลภะ คิดดูว่า อยากจะให้เกิดไหม ก็ยังชอบที่จะให้เกิด พอใจที่จะให้เกิด ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่เห็นเลยว่าเป็นหลุมถ่านเพลิง พร้อมที่จะตกไปอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่เห็นว่าเป็นสภาพที่ร้อนและให้โทษ

แต่สำหรับผู้ที่เป็นอริยสาวก เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว เป็นผู้ที่มีเจตนาปรารถนาตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมเพลิง เพราะเห็นว่าเป็นโทษ

สภาพธรรมซึ่งเป็นโทษ เป็นนามธรรม เห็นยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โลภะ ตัณหาทั้ง ๓ ได้แก่

กามตัณหา ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

ภวตัณหา ความพอใจในภพ หรือความพอใจซึ่งเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง

วิภวตัณหา ความยินดีพอใจในความเห็นว่าขาดสูญ

นี่คือ ตัณหาทั้ง ๓

เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในโทษของอกุศลทั้งหลาย และในโทษของภพภูมิต่างๆ

. เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่ใช่หรือ

สุ. เกิดกับจิตทุกดวง

. จะรู้ได้อย่างไร ในขณะที่เจตนาเจตสิกปรากฏ

สุ. ถ้าลักษณะของเจตนาเจตสิกไม่ปรากฏ อย่าพยายามที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่ไม่ปรากฏ จะต้องเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน อย่างเวลาที่ตั้งใจ หลายคนบอกว่า ต้องตั้งใจ ต้องมีเจตนา ต้องทำ ซึ่งลักษณะของ เจตนาเจตสิกปรากฏให้รู้ว่า เป็นความตั้งใจ เป็นความจงใจ แต่เพราะสติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ว่าแท้ที่จริงในขณะนั้นไม่ใช่เราสักนิดเดียว แต่กลับมีความเห็นผิดยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นเราต้องทำ หรือว่าเราต้องตั้งใจ

. เมื่อคืนมีไหว้พระจันทร์ มีขนมหลายอย่าง เห็นแล้วก็นึกถึงความอร่อย ทางตาไม่รู้ คิดถึงแต่รสชาติของอาหาร โลภะปรากฏขึ้นมาทางใจ รู้ได้ทันที แต่ไม่เห็นเจตนา เห็นทีไร คิดทีไร เป็นโลภะเกิดทางใจ

สุ. เห็นแล้วรู้สึกอร่อย ใช่ไหม และไม่อยากจะรับประทานหรือ

. ก็อยากจะรับประทาน

สุ. นั่นแหละ จงใจ หรือตั้งใจหรือเปล่า จะรับประทาน เป็นความจงใจที่จะทำ ที่จะรับประทาน เป็นความจงใจที่จะเก็บ จะทิ้ง เป็นความตั้งใจจงใจที่จะทิ้ง มีเจตนาแต่ละอย่าง

. แต่เจตนาไม่เห็น เห็นแต่โลภะ ความต้องการอยากจะกิน

สุ. ไม่ใช่ความต้องการเท่านั้น ยังมีความอยากจะรับประทาน ซึ่งเป็น ความจงใจหรือความตั้งใจ

. ขณะที่สติระลึก ขณะนั้นความอยากก็หายไป

สุ. ถ้าความอยากจะเกิดก็ย่อมเกิดได้ ใช่ไหม ถ้าสติระลึกแล้ว ความอยากก็ย่อมจะเกิดต่อไปอีกได้เมื่อมีเหตุปัจจัย ใช่ไหม

. ทำไมจะไม่เกิด เห็นอีก หลงลืมสติก็เกิดอีก เมื่อสติเกิดขึ้นก็ยับยั้งหายไปอีก หลายครั้ง หลายคราว เห็นทีไร ก็อร่อยทุกที

สุ. ทำไมสติไปยับยั้ง ทำไมสติไม่ระลึกรู้ว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

. ไม่ใช่สติยับยั้ง แต่เมื่อสติเกิดขึ้น ทางตาไม่รู้ แต่ใจไปนึกความอร่อยนั้น โลภะเกิดขึ้นแรงเหลือเกิน เห็นแต่โลภะครั้งแล้วครั้งเล่า เห็นแล้วก็หลงลืมสติ เห็นก็อร่อยแล้ว และสติก็เกิดอีก ลักษณะอย่างนี้ผมสงสัย ไม่เห็นเจตนาในโลภะ เห็นแต่โลภะ ความอยาก อร่อยเหลือเกิน

สุ. นอกจากขณะนั้นแล้ว ขณะอื่นๆ เห็นลักษณะของเจตนาบ้างไหม

. ขณะอื่นผมก็ไม่เห็น เห็นแต่ขณะนั้น เมื่อสติเกิดขึ้น ความอยาก หรือความต้องการหายไป จิตสงบทันที

สุ. เมื่อครู่นี้กำลังนั่งอยู่ และจะเดินมา รู้ลักษณะของความตั้งใจหรือจงใจที่จะเดินมาที่นี่หรือเปล่า

. ไม่รู้

สุ. เพราะหลงลืมสติ

เปิด  253
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565