แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1078
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียว หรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียน พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่ได้ครบถ้วนที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ใน กวฬีการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬีการาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้นย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป
ใครจะเป็นผู้เขียนภพชาติต่อไป และเวลาพูดถึงการเกิด ก็เฉยๆ แต่อย่าลืมว่า เมื่อมีการเกิดในที่นั้นย่อมมีชาติ ชรา มรณะต่อไป
ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า มีความโศก มีธุลี มีความ คับแค้น ฯ
ข้อความต่อไป โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสถึงผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร ความเพลิดเพลิน ความยินดี ความทะยานอยากในผัสสาหาร ในมโนสัญเจตนาหาร และในวิญญาณาหาร
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ ... โดยย่อหรือว่าโดยสรุป คือ ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่มี เพราะย่อมจะไม่มีการเกิด เมื่อไม่มีชาติ ย่อมไม่มีความชรา มรณะ โศกะ ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น ตลอดไปจนกระทั่งถึงถ้าไม่มีความยินดีในผัสสาหาร ใน มโนสัญเจตนาหาร และในวิญญาณาหาร
ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาอุปมาอีกครั้งหนึ่งว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรือนยอด [ปราสาท] หรือศาลา มีสองยอด หน้าต่างด้านทิศตะวันออก อันบุคคลเปิดไปทางเหนือหรือทางใต้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น แสงสว่างส่องเข้าไปทางหน้าต่าง จะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ฯ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า
ตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าฝาด้านตะวันตกไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ฯ
ภิกษุกราบทูลว่า
ที่แผ่นดิน พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแผ่นดินไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ฯ
ภิกษุกราบทูลว่า
ที่น้ำ พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ฯ
ภิกษุกราบทูลว่า
ไม่ตั้งอยู่เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากไม่มีอยู่ในกวฬีการาหารไซร้ ... ในผัสสาหารไซร้ ... ใน มโนสัญเจตนาหารไซร้ ... ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้นย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใดไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่า ไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น ฯ
จบ สูตรที่ ๔
ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาใจจริงๆ ของท่านว่า แม้ได้ฟังอย่างนี้ อยากจะไม่เกิดหรือเปล่า หรือว่ายังไม่ถึงเวลานั้น อย่างไรๆ ก็ยังอยากจะเกิดอยู่ ไม่ใช่ในภูมิมนุษย์ ก็ขอให้เป็นในสวรรค์ชั้นต่างๆ เพราะคงจะไม่อยากเกิดในอบายภูมิ ทั้งๆ ที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้ามีการเกิดย่อมจะมีชาติ ชรา มรณะ แต่ว่าในที่ใดที่ไม่มี การเกิดในที่นั้นย่อมไม่มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ชัดเจนอย่างนี้ แต่ความยินดี ความพอใจ ก็ยังอยากจะเกิดอีก แม้ว่าเกิดมาแล้วจะต้องมีชาติ ชรา มรณะ
เพราะฉะนั้น จะต้องฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ โดยละเอียดยิ่งขึ้น จนกว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะโดยทั่วจริงๆ
ต่อไปพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุที่ผัสสะเป็นปัจจัย โดยเป็นผัสสาหารใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อัสสุตวตาสูตร ที่ ๒ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผัสสเจตสิกเป็นเพียงเจตสิกประเภทหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่แม้กระนั้นอย่าคิดว่าไม่สำคัญ สภาพนามธรรมซึ่งเกิดดับกระทำกิจของตน สามารถเป็นปัจจัยตามลักษณะประเภทของนามธรรมนั้นๆ แม้ว่าผัสสะจะเป็นเพียงเจตสิกซึ่งกระทบกับอารมณ์ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นเหตุนำมาซึ่งธรรมเหล่านั้น
ข้อความใน อัสสุตวตาสูตร ที่ ๒ ข้อ ๒๓๗ – ข้อ ๒๓๙ มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมใส่ใจด้วยดีโดยแยบคายถึงปฏิจจสมุปบาทธรรมในร่างกายและจิตที่ตถาคตกล่าวมานั้นว่า เพราะเหตุดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนา เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนาจึงดับ จึงสงบไป
สุขเวทนาไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลยถ้าปราศจากผัสสะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่รู้สึกเป็นสุขให้ทราบว่า เพราะผัสสะกระทบอารมณ์นั้นเป็นปัจจัยให้สุขเวทนาเกิดขึ้น ซึ่งสุขเวทนาที่ทุกท่านปรารถนาก็ไม่เที่ยง มีอายุสั้นมาก คือ เพียงชั่วขณะที่จิตเกิด และดับ และก็ดับไปพร้อมกับผัสสะที่กระทบอารมณ์ที่ทำให้สุขเวทนาเกิดขึ้นเพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนาจึงดับ จึงสงบไป
สำหรับทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาก็โดยนัยเดียวกัน
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม้สองอันครูดสีกันจึงเกิดไออุ่น เกิดความร้อน แต่ถ้าแยกไม้ทั้งสองอันนั้นแหละออกเสียจากกัน ไออุ่นซึ่งเกิดจากการครูดสีกันนั้นก็ดับไป สงบไป แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นจึงดับ จึงสงบไป
สำหรับทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาก็โดยนัยเดียวกัน ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ข้อความในอรรถกถาซึ่งอุปมาไม่ว่าใน ปุตตมังสสูตร ก็ดี หรือว่าในเรื่องของไม้ ๒ อันครูดสีกัน ก็มาจากพระไตรปิฎกโดยตรงทั้งสิ้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในผัสสะ ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ
ท่านผู้ฟังยังไม่หน่ายเลยในผัสสะ ซึ่งวันหนึ่งจะหน่ายตามอริยสาวกผู้ได้สดับ และไม่ใช่ว่าจะหน่ายแต่เพียงอย่างเดียวเฉพาะผัสสะ หรือเฉพาะทุกขเวทนา แต่ย่อมหน่ายแม้ในธรรมทั้งหมดซึ่งเกิดดับ คือ แม้ในผัสสะ แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ
เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว และย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๒
ไม่มีอะไรเลยนอกจากฟัง และพิจารณา และสติระลึก ถ้าสติยังไม่ระลึกจะบังคับให้สติเกิดระลึกไม่ได้ นอกจากอาศัยปัจจัย คือ การฟัง ฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก จนกว่าสังขารขันธ์ คือ ความเข้าใจสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังแต่ละขณะจนเป็นอุปนิสสยปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด จะไม่รู้ได้ไหมว่ามีปัจจัยทำให้สติเกิด ไม่ใช่เพราะว่ามีความจงใจด้วยความเป็นตัวตนที่จะให้สติเกิด แต่ต้องมีปัจจัยแต่ละขณะในอดีตที่เคยฟัง เคยพิจารณา และย่อมเคยระลึกรู้มาบ้างเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สติเกิด สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ว่าขณะไหน
ถ. ความโกรธก็เป็นเจตสิก ผัสสะก็เป็นเจตสิก ผัสสะกระทบก่อน จึงโกรธหรือ
สุ. ต้องกล่าวถึงจิตแต่ละดวง เช่น ภวังคจิตก็มีผัสสะ แต่ในภวังคจิตนั้น ไม่มีโทสเจตสิกแน่นอน
ถ. ยังไม่ทันเห็นผัสสะว่า ตอนนี้เป็นผัสสะ หรือว่าโกรธเสียก่อนแล้วข้ามไป
สุ. ผัสสะกระทบอารมณ์ใด เป็นปัจจัยให้เวทนาเจตสิกเกิดรู้สึกในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบ ไม่ใช่อารมณ์หลังจากที่ผัสสะกระทบแล้ว หรือว่าไม่ใช่อารมณ์ก่อนที่ผัสสะนั้นจะกระทบ ผัสสะเป็นปัจจัยโดยทำให้ปัจจยุปบันธรรม คือ ธรรมซึ่งตนเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เกิดพร้อมกันกับผัสสะนั้น และดับพร้อมกันกับผัสสะนั้น
ถ. ผัสสะพอกระทบ เห็นท่าทางคนทำให้เกิดโทสะ อารมณ์หลังจากนั้น ...
สุ. เวลาที่เกิดโทสะ ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยให้โทมนัสเวทนา ความไม่แช่มชื่น เกิดร่วมกับผัสสะที่เกิดกับจิตดวงนั้น
ถ. เราต้องเห็นในขณะนั้น ไม่ใช่หลังจากนั้นใช่ไหม
สุ. ผัสสะเกิดกับจักขุวิญญาณแล้วดับ อย่างหนึ่ง ผัสสะเกิดกับสัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อแล้วดับ ก็เป็นวิบากจิตอีกดวงหนึ่ง และผัสสะดวงต่อไปก็เกิดกับ สันตีรณจิต เป็นผัสสะอีกดวงหนึ่ง ไม่ใช่ผัสสะดวงก่อน
ถ้ากล่าวอย่างนี้ ท่านผู้ฟังต้องเข้าใจถึงอนันตรปัจจัย นามธรรมที่เกิดขึ้นที่เป็นสังขารธรรม คือ ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนันตรปัจจัย คือ สามารถที่จะทำให้สภาพธรรมคือนามธรรมอื่นเกิดต่อทันทีเมื่อดับไป เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านมีผัสสะกระทบแล้วดับ และผัสสะกระทบอีกแล้วดับอีก และผัสสะก็กระทบอีกแล้วดับอีก ทีละขณะจิตต่อๆ ไป ก็เพราะทั้งจิตและเจตสิกที่เกิดเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จะหยุดยั้งการกระทบ หรือการเกิดขึ้นของผัสสะไม่ได้ ที่จะให้ผัสสะที่ดับแล้วหมดไปเลย ไม่มีผัสสะเกิดขึ้นกระทบอีก ไม่ได้ นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ซึ่งเมื่อดับไปแล้วทั้งจิตและเจตสิก คือ ทั้งผัสสเจตสิกด้วย ไม่เป็นอนันตรปัจจัยที่จะให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิด แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีใครสามารถจะยับยั้งการเกิดขึ้นของผัสสเจตสิกได้
ผัสสเจตสิกมีปัจจัยก็เกิด และก็ดับ ซึ่งการดับของผัสสเจตสิกดวงก่อนเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตและผัสสเจตสิกดวงต่อไปเกิดต่อ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย นี่คือลักษณะของแม้เป็นสภาพธรรมที่เพียงกระทบ แต่ก็เป็นปัจจัยให้ผัสสะดวงต่อไปเกิดสืบต่อ กระทบอารมณ์ต่อไปแต่ละขณะทันที
นี่แสดงให้เห็นว่า ผัสสะที่เกิดกับจิตดวงหนึ่ง ไม่ใช่ผัสสะเดียวกับผัสสะที่เกิดกับจิตดวงต่อไป เพราะฉะนั้น จึงหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ และควรจะทราบด้วยว่า ผัสสะซึ่งเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์นั้น ต่างกันเพราะเหตุใด ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เวทนาสูตร ข้อ ๓๓๙ - ข้อ ๓๔๐ มีว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ความต่างแห่งเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ ก็ความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ นี้เราเรียกว่า ความต่างแห่งธาตุ ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ความต่างแห่งเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะเป็นไฉน
ทรงอธิบายต่อไปว่า ที่ต่างกันนั้น คือ ต่างกันอย่างไร
จักขุสัมผัสบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุธาตุ จักขุสัมผัสสชาเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัสบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนธาตุ มโนสัมผัสสชาเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนสัมผัส ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ความต่างแห่งเวทนาบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งผัสสะ อย่างนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๔
ทั้งหมดเป็นธาตุ ไม่ใช่ของเรา พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสว่า เพราะจักขุของเรา แต่ที่ผัสสะต่างกัน เพราะความต่างกันแห่งธาตุ คือ จักขุธาตุเป็นปัจจัยให้กระทบกับ รูปารมณ์ โสตธาตุเป็นปัจจัยให้ผัสสะกระทบกับเสียง
เพราะฉะนั้น จะสลับหรือว่าจะเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอนัตตาของธาตุเหล่านี้ไม่ได้ เพราะว่าจักขุปสาทเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นรูปที่ใส ผ่องใส สามารถรับกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะกระทบเสียง แต่สำหรับโสตปสาทเป็นรูปที่ผ่องใส มีลักษณะที่เพียงกระทบกับเสียง ไม่สามารถที่จะกระทบธาตุอื่นได้เลย เพราะฉะนั้น ผัสสะจึงต่างกัน
เวลาที่ทางตากระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทำให้จักขุวิญญาณเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง แต่เวลาที่ผัสสเจตสิกกระทบกับเสียง ก็ทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง เป็นจิตแต่ละดวง เป็นผัสสะที่ต่างกันตามธาตุ คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ผัสสะอย่างเดียวกัน ในขณะที่เห็น ในขณะที่ ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า ที่ผัสสะต่างกันเพราะความต่างกันของธาตุ เช่น จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ เหล่านี้เป็นต้น
และสำหรับเวทนาก็ย่อมต่างกันตามผัสสะที่กระทบด้วย คือ เวทนาที่เกิดเพราะผัสสะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง เวทนาที่เกิดเพราะผัสสะกระทบกับเสียงทางหูก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวทนาที่ต่างๆ กันไป เพราะผัสสะที่กระทบอารมณ์ที่ต่างกัน