แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1083

ทั้งนามธรรมและรูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่ต่างกันก็จริง แต่ว่าอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปโดยละเอียด โดยสภาพของลักษณะของธรรมนั้นๆ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียดจะเห็นได้ว่า ขณะจิตหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้นจะมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น เหตุปัจจัย ที่เคยได้กล่าวถึงแล้ว ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง เป็นอกุศลเหตุ ๓ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ และโสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑

และไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะโลภเจตสิกเท่านั้น แต่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โลภเจตสิกที่เกิดเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย คือ เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น และทำให้อกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ทำให้ความเห็นผิด คือ ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ หรือทำให้ความสำคัญตน คือ มานะเกิดร่วมก็ได้ นอกจากนั้นเวลาที่โลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมเกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้น นามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วนั้น ถ้าได้ทราบถึงความละเอียดว่า สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นโดยอาศัยสภาพธรรมใดเป็นปัจจัยแล้ว จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า แม้จะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องอาศัยความละเอียดของปัจจัยหลายปัจจัย สภาพธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า จะต้องศึกษาปริยัติธรรมละเอียดสักแค่ไหนจึงจะปฏิบัติได้ ที่ว่าเป็นปริยัติธรรมที่ละเอียด ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย แต่อยู่ที่ทุกท่านในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง เพียงแต่ว่าท่านจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏที่ตัวท่านแต่ละบุคคลละเอียดแค่ไหน

โดยไม่ละเอียดก็ทราบว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เช่น กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เป็นต้น นี่โดยความ ไม่ละเอียด แต่แม้กระนั้นก็ยังยึดถือเห็น ยึดถือได้ยิน ยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหูว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ที่จะปฏิบัติธรรม ไม่ใช่รอให้เรียนจบ หรือว่าให้ละเอียดถึงขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ขณะใดที่ศึกษาเรื่องสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่เกิดขึ้นปรากฏ และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ตามที่เข้าใจแล้วว่า สภาพธรรมใดไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นสภาพของนามธรรมชนิดใด สภาพธรรมใดไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นสภาพของรูปธรรมประเภทใด

แต่ทุกท่านก็กล่าวว่า หลงลืมสติมาก ซึ่งก็เพราะการฟังหรือการเข้าใจเรื่องสภาพธรรมยังไม่ละเอียดพอ ยังไม่เป็นพหูสูต ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ตรึก พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่แจ่มแจ้ง ชัดเจนขึ้น เป็นสัญญาที่มั่นคง ทำให้ไม่หลงลืม และสติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ขาดการฟัง ขาดความเข้าใจในความละเอียดของ สภาพธรรม แม้สติจะเกิดบ้าง ปัญญาก็ยังไม่คมพอที่จะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

ทำอย่างไรปัญญาจึงจะคมขึ้น เพราะสติก็ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดบ่อยเท่ากับอวิชชา หรืออกุศลธรรมซึ่งสะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ทางเดียว คือ ฟัง พระธรรมโดยละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องปรุงประกอบเป็นสังขารขันธ์ เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมใด รูปธรรมใด ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นอนัตตาโดยละเอียดยิ่งขึ้นของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจะเกื้อกูลทำให้ปัญญาคมขึ้น เพราะรู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ตามที่ได้ยินได้ฟัง

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรที่จะศึกษาสภาพธรรมที่เป็นจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์โดยละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้จะกล่าวถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเพียงสภาพธรรมเดียว เช่น ผัสสเจตสิก ก็รวมไปถึงจิตทุกดวงได้ เพราะผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง และยังรวมไปถึงเจตสิกทุกดวงได้ เพราะ ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงและเกิดกับเจตสิกทุกดวง และยังรวมไปถึงรูปทุกชนิดได้ เพราะเมื่อผัสสะเกิดกับจิตและเจตสิกทุกดวง ก็เป็นปัจจัยให้รูปทุกชนิดเกิดขึ้นได้ด้วย

สำหรับปัจจัยที่ ๓ ต่อจากเหตุปัจจัยและอารัมมณปัจจัยที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ อธิปติปัจจัย สำหรับคำว่า อธิปติ หมายความถึงธรรมที่เป็นหัวหน้า เป็นธรรมที่ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นเป็นไปตามกำลังของตน

จิตกับเจตสิกแยกกันเกิดไม่ได้เลย เวลาที่จิตเกิดจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาที่เจตสิกเกิดก็มีจิตเกิดร่วมด้วย เพราะทั้งจิตและเจตสิกเป็นสังขารธรรม แต่โดยความละเอียดโดยการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงความเป็นปัจจัยของจิตและเจตสิกแต่ละประเภท โดยความเป็นสภาพที่เป็นหัวหน้าที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น

และสำหรับรูป ก็สามารถเป็นปัจจัยชักจูงให้สภาพธรรมอื่น คือ จิตและเจตสิกเกิดได้ถ้ารูปนั้นเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น เป็นที่พอใจ เป็นอารมณ์ที่ควรได้ไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่าไม่ควรดูหมิ่นด้วยอำนาจความเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนา นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้น สำหรับอธิปติปัจจัยแยกเป็น ๒ ปัจจัย คือ สหชาตาธิปติ และอารัมมณาธิปติ

สำหรับสหชาตาธิปติ คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ได้แก่ นามธรรม คือ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ จิต ๑ และวิมังสา คือ ปัญญาเจตสิก ๑

ชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะรู้ว่า แม้จิตเจตสิกจะเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่สภาพอื่นนอกจากฉันทเจตสิก นอกจากวิริยเจตสิก นอกจากจิต และนอกจาก ปัญญาเจตสิกแล้ว เป็นอธิบดีหรือเป็นอธิปติปัจจัยไม่ได้ นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องทราบ ซึ่งเหตุผลจะได้พิจารณาต่อไป

จิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ ในวันหนึ่งๆ โดยชาติ จิตที่เป็นกุศลก็มี อกุศล ก็มี วิบากก็มี กิริยาก็มี เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า เวลาที่เป็นวิบากจิต เป็นโลกียวิบาก ฉันทะซึ่งเกิดกับโลกียวิบาก หรือว่าวิริยะซึ่งเกิดกับโลกียวิบาก หรือปัญญาก็ตามซึ่งเกิดกับโลกียวิบาก ไม่เป็นอธิบดี คือ ไม่เป็นอธิปติปัจจัย ไม่เป็นใหญ่ ไม่เป็นหัวหน้า

ฟังดูเหมือนเรื่องอื่น แต่ให้ทราบว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะเหตุใด เพราะจิตที่เป็นชาติวิบาก ที่เป็นโลกียวิบากทั้งหมดทำอะไรไม่ได้ จะทำกุศลก็ไม่ได้ จะทำอกุศลกรรมใดๆ ก็ไม่ได้ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา ตั้งแต่ขณะปฏิสนธิ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนโดยมีกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากหรือกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิเกิดขึ้น ในภูมิมนุษย์เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิ ขณะนั้นทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ฉันทเจตสิกเกิดร่วมกับ มหาวิบากจิตซึ่งประกอบด้วยโสภณเหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด แต่ถึงแม้ว่าฉันทเจตสิกจะเกิดกับวิบากจิต วิริยเจตสิกจะเกิดกับวิบากจิต ทำกิจอะไรได้ไหมในชั่วขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดและดับ แม้ว่าจะเป็นมหาวิบาก เป็นผลของกุศลที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่พิกลพิการตั้งแต่กำเนิด แต่โดยสภาพ โดยชาติของจิตซึ่งเป็นวิบาก คือ เป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นผลที่สุกงอมของกรรมที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นและดับไป วิบากจิตทั้งหมดเป็นจิตที่ไม่มีกำลังโดยฐานะที่ไม่สามารถทำให้วิบากเกิดขึ้นได้ เพราะวิบากจิตเองเป็นผลของกรรมซึ่งสุกงอม เกิดขึ้นและก็ล่วงหล่นคือดับไป ไม่เป็นปัจจัยให้วิบากต่อๆ ไปเกิดได้ ไม่เหมือนกับกุศลจิตและอกุศลจิตซึ่งมีกำลัง

เพราะฉะนั้น วิบากจิตนอกจากทำกิจปฏิสนธิและก็ดับไป ปัญญาในขณะนั้นทำกิจอะไรไม่ได้ จะเป็นอธิปติ เป็นอธิบดี เป็นหัวหน้าอะไรก็ไม่ได้ เพราะเป็นเพียงชาติวิบาก เป็นผลของกรรม เกิดและก็ดับ เมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อ เป็นวิบากอีก เช่น ในขณะที่กำลังนอนหลับสนิทจะไม่ปรากฏว่า เจตสิกใดเป็นอธิปติหรือว่าเป็นหัวหน้าเลย เพราะเจตสิกทั้งหมดเป็นวิบากด้วยกัน พร้อมทั้งจิตก็เป็นวิบาก เกิดขึ้นเพราะความสุกงอมของกรรมทำให้วิบากจิตเกิดและก็ดับไป

วิบากเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากกำลัง ไม่มีกำลังอะไรเลย เป็นแต่เพียง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมโดยการปฏิสนธิ และเป็นภวังค์ ต่อจากนั้นก็เป็นการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การได้กลิ่นบ้าง การลิ้มรสบ้าง การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง แต่ปรารถนาวิบากกันมากเหลือเกินที่จะทำให้เป็นกุศลวิบาก โดยลืมว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นจิตประเภทที่ไม่มีกำลังอะไรเลย เพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์และก็ดับ

เพราะฉะนั้น โลกียวิบากทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต หรือว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ทั้งหมดเป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยไม่เป็น อธิปติปัจจัย ตามเหตุ ตามผล ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเข้าใจ ตัวท่านละเอียดขึ้นเมื่อได้ทราบกำลังของเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตแต่ละประเภท ที่จะเห็นความเป็นอนัตตา

สำหรับสหชาตาธิปติ ได้แก่ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ จิต ๑ และวิมังสา คือ ปัญญา ๑ ที่เกิดกับชวนจิต ๕๒ ประเภทเท่านั้น ที่จะเป็นอธิปติ มีกำลัง เป็นหัวหน้า เป็นปัจจัยที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งต้องในขณะที่เป็นชวนจิต และยังต้องเว้นจิตที่ปราศจากกำลังด้วย

เวลาที่โลภะเกิดขึ้น หรือว่ากิจการงานใดๆ ก็ตามที่กระทำสำเร็จลงไป ให้ทราบว่า ไม่ใช่สำเร็จด้วยวิบากจิต เพราะวิบากจิตเป็นเพียงผลของกรรมซึ่งเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และก็กิจเห็น กิจได้ยิน กิจได้กลิ่น กิจลิ้มรส กิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และกิจอื่น คือ สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรนกิจ ตทาลัมพนกิจ เท่านั้นเอง ที่เหลือทั้งหมดที่จะเป็นกรรมหนึ่งกรรมใด เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ให้ทราบว่า ไม่ใช่วิบากจิตซึ่งเป็นผล แต่เป็นตัวเหตุ

เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่เป็นชวนจิตซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างนั้นเอง สภาพธรรมที่เป็นฉันทะบ้าง หรือว่าเป็นวิริยะบ้าง เป็นจิตบ้าง เป็นวิมังสา คือ ปัญญาบ้าง เป็นอธิปติได้ หมายความว่า เป็นหัวหน้าที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นในขณะนั้น

ไม่ใช่เรื่องตำรา อย่าลืม เป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่จะสังเกต พิจารณาได้ว่า การกระทำของท่านในวันหนึ่งๆ เวลาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างนั้น เพราะสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี หรือไม่ปรากฏว่าเป็นอธิบดีก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอธิบดี ทุกครั้งที่ฉันทเจตสิกเกิดกับชวนจิต หรือว่าวิริยเจตสิกเกิดกับชวนจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าที่จะเป็นอธิบดีได้ต้องเกิดกับจิตที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น จิตที่ปราศจากกำลังที่เว้น มี ๓ ดวง คือ เว้นโมหมูลจิต ๒ ดวง กับหสิตุปปาทจิต จิตยิ้มของพระอรหันต์ ซึ่งไม่เกิดร่วมด้วยกับเจตสิกที่เป็นเหตุ

ท่านชอบอะไรบ้าง คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ท่านเองสามารถที่จะรู้ชีวิตประจำวันของท่านได้ว่า ท่านกำลังทำสิ่งใดด้วยความพอใจ ขณะนั้นฉันทะเป็นอธิบดี ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกุศล แม้อกุศล ท่านชอบเล่นอะไร ท่านชอบสนุกอะไร ท่านชอบอ่านอะไร ท่านชอบพูดคุยเรื่องอะไร

หรือว่าท่านอาศัยวิริยะในการทำอะไร การกระทำสิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะต้องมีความเพียรจริงๆ ไม่ได้เป็นไปด้วยฉันทะ ซึ่งในขณะนั้นจะทราบได้ว่า เพราะวิริยะเป็นอธิบดี

เพราะฉะนั้น ก็คือการระลึกรู้ลักษณะสภาพของกุศลจิตและอกุศลจิตของ แต่ละบุคคลนั้นเองว่า ในขณะไหนสภาพธรรมใดเป็นอธิปติปัจจัย ทั้งๆ ที่จิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน ก็ยังเห็นความต่างกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งสภาพธรรมหนึ่งก็เป็นอธิบดี บางครั้งก็ไม่เป็นอธิบดี

ยากไหม เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับแต่ละบุคคล ถ้าไม่รู้ ก็ไม่รู้เท่านั้นเอง คือ ไม่เห็นความเป็นอนัตตา แต่ถ้ารู้ ก็สามารถเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นที่จะรู้ว่า อกุศลจิตมีสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี หรือว่ากุศลจิตมีสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี

ถ้าท่านผู้ฟังเป็นช่างจัดดอกไม้ เวลาที่กำลังจัดดอกไม้ อะไรเป็นอธิปติ ทำในสิ่งที่ชอบ ทำด้วยความพอใจ ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ท่านที่ชอบทำอาหาร เวลาที่ท่านทำอาหาร ทำด้วยฉันทะ หรือว่าด้วยวิริยะ บางคนไม่ชอบ แต่จำเป็นที่จะต้องทำ หรือว่าจำเป็นที่จะต้องช่วย ขณะนั้นก็กำลังทำและต้องมีวิริยะด้วย ขณะนั้นจึงเห็นว่า วิริยะเป็นอธิปติ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565