แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1085

การศึกษาเรื่องปัจจัย เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรม แต่ว่าไม่จำเป็นจะต้องรอ ถ้าสามารถจะเข้าใจสิ่งใดได้ในชีวิตประจำวัน และเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะสภาพของปัจจัยต่างๆ จะทำให้คุ้นเคยกับสภาพของปัจจัย ๒๔ ซึ่ง จะทำให้สามารถรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

ต่อไปนี้คงจะเข้าใจแล้วว่า ขณะไหนเป็นอารัมมณปัจจัย และขณะไหนเกิดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยขึ้นก็ทราบว่า ขณะนั้น สิ่งนั้น สภาพนั้นกำลังเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตในขณะนั้นและก็ดับไป ไม่สามารถที่จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ตลอดไป เพราะจิตอื่นก็มีปัจจัยเกิดขึ้น

ท่านผู้ฟังชอบกุศลจิตใช่ไหม ชอบหรือไม่ชอบ ต้องหยั่งลงไปถึงใจจริงๆ เพราะบางทีฟังชื่อก็น่าชอบ กุศลจิต ดีงาม น่าที่จะปรารถนา ต้องการ พอใจ แต่ลึกลงไปจริงๆ จะชอบสักแค่ไหน โดยทั่วๆ ไป ทุกท่านปรารถนาที่จะมีจิตที่ดีงามขณะใด ขณะนั้นกุศลประเภทนั้นๆ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตก็ได้ หรือของ โลภมูลจิตก็ได้ โลภมูลจิตกล่าวได้เลยว่าหนีไม่พ้น แม้แต่อารมณ์เป็นกุศล ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการว่า อารมณ์ที่เป็นกุศลนั้นเป็นอารมณ์ของกุศลจิต หรือว่าเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต

ธรรมต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ถ้าไม่ตรงเพียงนิดเดียว หรือว่าเข้าใจผิด แทนที่กุศลจะเจริญ อกุศลเจริญแล้วโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะจึงจะสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังนึกถึง คิดถึงกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศล หรือว่าเป็นโลภมูลจิต

. บวชพระจะได้กุศลไหม

สุ. ใครได้

. คนที่บวชและพ่อแม่ด้วย จะได้กุศลไหม

สุ. กุศลจิตไม่ได้ยั่งยืนยาวนาน เกิดขึ้นและก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตดับและอกุศลจิตก็เกิดต่อ การที่จะบอกว่า ได้บุญไหม ต้องพิจารณาว่า ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นกุศล แต่กุศลจิตดับไปแล้ว อกุศลจิตก็เกิดได้ จะให้มีกุศลตลอดไปไม่ได้

. สร้างพระพุทธรูป เขาว่าไม่ได้อะไร ก็เลยไม่สร้าง อยากปรึกษาอาจารย์ในพระไตรปิฎกเขาว่าอย่างไร

สุ. บางท่านก็ถามว่า ทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้นจะเป็นบุญไหม ถ้าเป็นบุญก็จะทำ คล้ายๆ กับว่าอยากจะได้บุญโดยที่ไม่เข้าใจว่า บุญ คือ กุศลจิตเกิดขณะใดปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นคือบุญ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดว่า ได้ไหม เป็นบุญไหม จะได้บุญไหม

. สงสัยว่า จะสร้างไปทำไม ไม่ค่อยปีติกัน ไม่ได้กุศลแล้วจะสร้างทำไม

สุ. เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเรียนเรื่องกุศลจิตและอกุศลจิตอย่างละเอียด ถ้าต้องการบุญจริงๆ จะต้องรู้ว่ากุศลจิตต่างกับอกุศลจิต และขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล การศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นกุศล และอกุศลเป็นอกุศล บุญ คือ กุศลจิตเกิดขณะใดเป็นบุญขณะนั้น

. ใส่บาตรแก่พระสงฆ์ เขาว่าไม่ต้องใส่ก็ได้ จะทำอย่างไร ...

สุ. นี่เป็นตัวอย่างที่กว้างและไกล เพราะมีกุศลจิตเกิดบ้าง อกุศลจิตเกิดบ้าง สลับกันเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ที่จะให้รู้ชัดก็คือ รู้จิตของตนเองว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และจะตอบปัญหาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใส่บาตร หรือสร้างวัด สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หรืออะไรๆ ก็ตามแต่ ถ้ารู้ลักษณะของจิตจะตอบคำถามทั้งหมดได้ แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของจิตจะตอบได้อย่างไร ไม่ทราบว่า จิตของท่านผู้ถามหวังอะไร หรือต้องการอะไรหรือเปล่า เพราะโลภะนี้ไม่ห่างไกลเลย และหนียาก ยากที่จะพ้นได้ แม้แต่กุศลทั้งหลาย ไม่ว่ากุศลที่เป็นทาน หรือว่าเป็นศีล หรือว่าเป็นสมถภาวนาก็ตาม ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะได้

. ถือศีล ๕ ได้กุศลดี ถ้าบริสุทธิ์ แต่ถ้าขาดข้อหนึ่ง ก็ขาดหมดทั้ง ๕ ข้อ จริงไหม

สุ. แล้วแต่เจตนาที่จะวิรัติว่า วิรัติรวม หรือว่าวิรัติแยก แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ละเอียดเท่ากับการรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต หรือว่าขณะใดเป็นอกุศลจิต เริ่มจากทาน การให้ หวังอะไรไหม

. ฉันอายุ ๗๕ แล้ว ได้มาฟังจึงทำให้เข้าใจบ้าง แต่จำไม่ได้เลย จำยากจริงๆ จำที่อาจารย์พูดไม่ได้เลย จะทำอย่างไร ตายแล้วมิตกนรกหรือ

สุ. อย่าจำ แต่เข้าใจ พยายามฟัง พิจารณาให้เข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังจะเกื้อกูลให้เข้าใจขึ้นๆ แม้ว่าจะเข้าใจไม่หมด เข้าใจนิดหนึ่ง ต่อไปก็จะทำให้เข้าใจขึ้น

. ฉันไม่ค่อยสบาย จะมาไม่ไหวอยู่แล้ว ขึ้นรถไม่ไหวแล้ว มีอาการงง เป็นโรคประสาทอะไรอย่างนี้

สุ. แต่ฟังไหวใช่ไหม

. ฟังวิทยุอยู่กับบ้าน ลูกเขาเปิดก็ฟังกับเขา

สุ. ถ้าฟังไหว ก็ฟังต่อไป

เพราะฉะนั้น ปัญญาของคนอื่นจะแก้ไขอกุศลของแต่ละบุคคลหรือตัวท่านเองไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของท่านเองจริงๆ โดยเฉพาะการรู้ลักษณะของโลภะ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และเป็นสิ่งที่สำคัญ มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีวันที่จะรู้ว่านั่นคืออกุศลธรรม เพราะโลภะเป็นสภาพที่พอใจ ปรารถนายินดีในทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรมเท่านั้นที่ไม่เป็นปัจจัยของโลภะ

ฟังไปเรื่อยๆ เพราะมีผู้ฟังหลายท่านบอกว่า หลังจากฟังแล้ว ๗ ปี ก็เข้าใจขึ้นอีกๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ฟังไปเรื่อยๆ

ขออนุโมทนาที่สนใจอ่าน และสนใจฟัง ซึ่งต่อไปก็จะเข้าใจขึ้นอีกๆ แน่นอน แม้ว่าจะเป็นเพียงทีละน้อยๆ ก็ยังดี เพราะเป็นเรื่องซึ่งยากที่จะเข้าใจ น่าเห็นใจที่สุดที่จะเข้าใจลักษณะของจิต เจตสิก และรูป ที่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันโดยละเอียดจนกระทั่งเห็นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งจะค่อยๆ เข้าใจ และค่อยๆ พิจารณาขึ้น แม้แต่ในเรื่องของปัจจัย ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ยากที่สุด แต่แม้กระนั้นถ้าได้เข้าใจบ้างตามสมควรโดยที่ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของตัวเลข เพียงแต่ให้เข้าใจเป็นพื้นฐานก่อนก็จะเกื้อกูลให้เห็นว่า สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้ว่าจะเกิดดับอย่างรวดเร็วที่สุด ก็ยังมีความละเอียดของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดปรากฏ ซึ่งไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน

ผู้ฟัง ดิฉันสงสารคุณยายที่ถาม ดิฉันจะเล่าเรื่องให้ฟังสักเรื่อง เกี่ยวกับใจที่เป็นกุศล ดิฉันฟังเขาเล่ามาแต่เป็นความจริง

ที่บ้านนอกมีครอบครัวอยู่ ๒ ครอบครัว ครอบครัวหนึ่งนับถือศาสนาพุทธเป็นชาวนา อีกครอบครัวหนึ่งนับถือศาสนาอื่น เด็กในบ้านทั้งสองเป็นเพื่อนกัน เห็นเพื่อนอีกคนหนึ่งตื่นเช้าออกไปใส่บาตรพร้อมกับน้ำ ๑ แก้ว พอใส่เสร็จแล้วก็กรวดน้ำ ทำอย่างนี้ทุกวัน บังเอิญเด็กที่ใส่บาตรมีธุระไปกันทั้งครอบครัว พระก็มารับบาตร แต่ไม่มีคนใส่ เด็กเพื่อนบ้านเห็นพระมายืนคอยรับบาตร แต่ไม่มีใครใส่ เขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เขาจะทำอย่างไร แต่ด้วยจิตที่รักเพื่อน และคงจะเป็นจิตที่เป็นกุศลด้วย เพราะเป็นจิตที่คิดดี ก็เอาข้าวแกงมาใส่ และเขาก็กรวดน้ำ เขากรวดไม่เป็น ก็บอกว่า เพื่อนเขากรวดอย่างไร เขาก็ขออธิษฐานเหมือนเดิมอย่างนั้น เหมือนอย่างที่เพื่อนเขาอธิษฐาน วันนั้นผ่านไปจนกระทั่งค่ำ แม่เขากลับจากตลาด เขาก็ไม่กล้าเล่า เพราะว่าศาสนานี้ถ้าไปทำอย่างนี้ถือว่าผิด

แม่เขาตื่นขึ้นมาตอนดึก เขาเห็นแม่นั่งกินหมากอยู่ก็แปลกใจ ก็ถามว่า ทำไมแม่ไม่นอน แม่บอกว่า แม่ฝันแปลก ไม่เคยฝันถึงพ่อของเด็กตั้งแต่เสียไป แต่วันนี้ฝันว่าพ่อของเด็กมาถามว่า วันนี้ทำอะไรให้ฉันหรือ ฉันจึงมีความสุขสบายเหลือเกิน ตั้งแต่ตายมาไม่เคยมีความสบายอย่างนี้ ก็ตอบไปว่า ไม่ได้ทำอะไร ตื่นขึ้นมาก็เลยมานั่งกินหมากเพราะนอนไม่หลับ ลูกเลยตัดสินใจเล่าให้แม่ฟัง ถึงจะถูกดุก็ยอม ว่าวันนี้เขาใส่บาตรเพราะเพื่อนเขาเคยใส่ วันนี้เพื่อนเขาไม่อยู่ เลยใส่แทนให้ ทำอย่างที่เขาเคยทำ เสร็จแล้วก็กรวดน้ำอธิษฐาน ไม่รู้เขาอธิษฐานว่าอย่างไร ก็ตั้งใจว่า อธิษฐานอย่างเพื่อนเขานั่นแหละ ก็เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น ซึ่งดิฉันก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ นอกจาก เพราะว่าจิตเป็นกุศลอย่างเดียว ฉะนั้น ที่คุณยายข้องใจว่า ทำแล้วจะได้บุญหรือไม่ได้บุญ ถ้าใจเราเป็นกุศลแล้วทำเถอะ อย่าไปคิดเอาอะไร

. ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า โลภะนี้อะไรเป็นอารมณ์ได้หมด เว้นแต่อารมณ์ที่เป็นโลกุตตระ แต่ถ้าเป็นกุศล ก็ยังเป็นปัจจัยให้เป็นกุศลอีกต่อไปได้ใช่ไหม

สุ. กุศลจิตเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ เวลาที่นึกถึงกุศลแล้วเกิดปลาบปลื้มผ่องใสในกุศลที่ได้กระทำแล้ว ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตได้ แต่ถ้าทำกุศลแล้ว ต้องพิจารณาว่า ถ้าเกิดดีใจว่า เรา ตัวเราได้กระทำกุศลอย่างใหญ่สำเร็จลงไปแล้ว กุศลหรือไม่ในขณะนั้น

. เป็นโลภะ

สุ. มานะได้ไหม สำคัญตนได้ไหมว่า เราได้กระทำกุศลอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิตเป็นสิ่งที่สติสัมปชัญญะจะต้องระลึกรู้ในขณะนั้น จึงจะรู้ความต่างกัน เวลาที่ทำกุศลแล้วนึกถึงกุศล และเกิดเบิกบานผ่องใส ในกุศล ไม่ใช่ด้วยความสำคัญตน นี่ต่างกันใช่ไหม

. อารัมมณาธิปติ อารมณ์ที่หนักแน่นจริงๆ หมายความว่าอย่างไร

สุ. หมายความว่า ไม่ทิ้งอารมณ์นั้นเลย จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ลืมตามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วน ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส รับประทานอาหารทุกวันๆ ที่พอใจ โลภมูลจิตหรือไม่ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต ไม่ใช่ความรู้สึกที่ไม่แช่มชื่นแล้ว ขณะนั้นรับประทานด้วยโลภะ ทางกายที่กระทบสัมผัสก็กระทบสัมผัสสิ่งที่พอใจ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต หรือไม่ใช่กุศลจิต ก็เป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น โลภะเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ขณะใด ที่รู้สึกว่า ปรารถนาต้องการอารมณ์ใดบางอารมณ์ในวันนี้ อารมณ์นั้น ในขณะนั้น เป็นอารัมมณาธิปติ ไม่ใช่เป็นเพียงอารัมมณปัจจัย

. ที่อาจารย์กล่าวว่า เป็นธรรมที่ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควรทอดทิ้ง

สุ. คือ นิพพาน หรือโลกุตตรธรรม เพราะฉะนั้น อารัมมณาธิปติปัจจัยนี้ นอกจากกุศลจิตที่เป็นโลกียกุศลแล้ว โลกุตตรกุศลก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยเฉพาะแก่กุศลญาณสัมปยุตต์ หรือกิริยาจิตที่เป็น ญาณสัมปยุตต์เท่านั้น จะไม่เป็นปัจจัยแก่โลภมูลจิตเลย

คือ หลังจากที่บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว จะมีการพิจารณามรรคจิต ผลจิต และนิพพาน กิเลสที่ดับและกิเลสที่เหลือ ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่พิจารณาโลกุตตรจิต ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ที่พิจารณา โลกุตตรธรรม เพราะฉะนั้น ฝ่ายสูงสุดของอารัมมณาธิปติก็ได้แก่ โลกุตตรธรรม ซึ่งจะไม่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิตเลย โลภมูลจิตไม่มีทางที่จะมีโลกุตตรธรรมเป็นอารมณ์ แต่ว่าสำหรับกุศลอื่น คือ ทาน ศีล หรือสมถภาวนา ไม่ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศลทั้งหมด ก็ยังเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต ซึ่งเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ไม่ใช่อารมณ์ธรรมดาที่ผ่านไปวันหนึ่งๆ และก็เกิดโลภะ แต่ว่าเป็นอารมณ์ซึ่งมีกำลังชักจูงให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น

สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ให้ทราบว่า หมายความถึงอารมณ์ซึ่งไม่ควรทอดทิ้ง หรือเห็นว่าควรได้ ไม่ควรดูหมิ่น

เปิด  262
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566