แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1086

ในวันหนึ่งๆ ที่ท่านผู้ฟังเดินไปตามถนน หรือตามที่ต่างๆ โลภะเกิดแล้วแม้ว่าจะไม่รู้ตัว และไม่ใช่ว่าท่านจะปรารถนาไปทุกอารมณ์ที่เห็น แต่อารมณ์ใดก็ตามที่เกิดปรารถนาอย่างหนักแน่น ไม่ทอดทิ้ง คิดว่าควรจะได้ ควรจะมี ในขณะนั้นอารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

สำหรับกุศลทั้งหลาย เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลต่อไปอีกได้ อย่าลืมสำหรับผู้มีปัญญา กุศลทั้งหลายเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลต่อๆ ไปอีก เพราะฉะนั้น สำหรับกุศลทั้งหลายเป็นปัจจัยให้เกิดกามาวจรกุศลได้ และเป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตก็ได้

สำหรับโลภมูลจิต ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ เพราะลึกลงไปจริงๆ ทุกท่านยังปรารถนาโลภะอยู่ ยังชอบ ยังต้องการ ไม่ได้อยากให้หมดไป เร็วๆ นัก ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร สภาพธรรม คือ โลภมูลจิตก็เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าปรารถนาที่จะให้โลภมูลจิตประเภทใดเกิดขึ้น

สำหรับโลกียวิบากทั้งหมด เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อารัมมณาธิปติปัจจัยเป็นปัจจัยแก่โลภมูลจิตเป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะโยนิโสมนสิการ กุศลทั้งหลายก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่กุศลได้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงจึงสามารถรู้ได้ว่า ในขณะที่นึกถึงกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือเป็น กุศลจิตที่มีอารมณ์นั้น

และสำหรับรูปขันธ์ทั้งหมด เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

ถ้าไม่ศึกษาอย่างนี้ จะหลงคิดว่า ขณะที่กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้นเป็นกุศลได้ แต่ว่ารูปขันธ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายในชีวิตประจำวันตามปกติตามความเป็นจริง ให้ทราบว่า เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต

ท่านผู้ฟังที่ชอบสีสันวัณณะของเสื้อผ้า ของวัตถุเครื่องใช้ ของสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกระทั่งต้องไปแสวงหาซื้อมา ขณะนั้น อารมณ์นั้น รูปนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภะ ไม่ใช่เพียงแต่ผ่านไปเฉยๆ แต่ไม่ควรทอดทิ้ง เห็นไหมว่าเป็นที่ปรารถนาเพียงไร เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังที่ทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏ ทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสที่กระทบลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย ก็จะได้เห็นว่า รูปใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และรูปใดเป็นอารัมมณปัจจัย

สำหรับอารัมมณปัจจัย ก็ชอบ แต่ว่าได้ก็ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยไม่เป็นอย่างนั้น เพราะจะทำให้เกิดการขวนขวาย เกิดความปรารถนาอย่างหนักแน่นที่จะไม่ทอดทิ้งในอารมณ์นั้นไป นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมนั้นโดยบัญญัติศัพท์เพื่อที่จะให้รู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยโดยปัจจัยใด เมื่อเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ก็ไม่ใช้แต่เพียงคำว่า อารัมมณปัจจัย

. สรุปได้ว่า อธิปติปัจจัยมีองค์ธรรม ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา

สุ. สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย

. สงสัยว่า วิมังสาธิปติ เป็นไปในทางกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้หรือ

สุ. อกุศลไม่ได้ และสำหรับกุศลก็ต้องเว้นญาณวิปปยุตต์ด้วย

ถ. ถ้าอย่างนั้นก็เหลือ ๓ ที่เป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง

สุ. ใช่

ถ. เมื่อเปรียบเทียบกับอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ ไม่มีทางที่จะเป็นไปในอกุศล

สุ. ถูกต้อง และไม่เป็นไปในกุศลอื่นนอกจากในภาวนากุศล เพราะเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความสำเร็จที่เป็นความมั่นคงของความสงบ เป็นสมถภาวนา และความสำเร็จที่เป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เป็นวิปัสสนาภาวนา

ที่ว่ารูปขันธ์ทั้งหมดไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต ท่านผู้ฟังคิดว่าถูกต้องไหม

ถ. ก็น่าคิดอยู่ ทำไมเป็นอย่างนั้น ขณะที่รูปเป็นอารมณ์ทางตา และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่าเป็นเพียงรูปธรรม ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล ทำไมว่าเป็นกุศลจิตไม่ได้

สุ. เป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล นี่เป็นความละเอียดของสภาพธรรมซึ่งเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จะต้องพิจารณาจริงๆ

รูปธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตได้ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตได้ แต่รูปธรรมทั้งหมดไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต จริง หรือไม่จริง ธรรมต้องพิจารณา เห็นรูปเป็นประจำ หลังจากที่เห็นแล้ว เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เพราะรูปธรรมเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ ของอกุศลจิตได้ แต่รูปนั้นจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้

ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. นี่เป็นเหตุที่จะต้องพิจารณาธรรมจริงๆ เวลาที่เห็นพระพุทธรูปเกิด กุศลจิต พระพุทธรูปเป็นอารัมมณปัจจัยทำให้กุศลจิตเกิด แต่พระพุทธรูปไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต เพราะว่ารูปทั้งหมดไม่สามารถทำให้กุศลจิตงอกงามไพบูลย์ได้ มีรูปไหนบ้างที่จะทำให้กุศลจิตงอกงามไพบูลย์ ที่กุศลจิตจะงอกงามไพบูลย์ ก็เพราะการสะสมอบรมของกุศลจิตบ่อยๆ เนืองๆ แต่ไม่ใช่เพราะอาศัยรูปนั้นเป็นอารัมมณาธิปติให้กุศลจิตเกิด ที่กุศลจิตจะงอกงามไพบูลย์ขึ้น เพราะการสั่งสมของกุศลแต่ละขณะทำให้กุศลเจริญขึ้น

กุศลจะเจริญขึ้นเพราะรูปเป็นอธิปติปัจจัยไม่ได้ แต่เพราะปัจจัยอื่น เช่น สหชาตาธิปติ คือ เพราะฉันทะในกุศล หรือเพราะวิริยะในกุศล หรือเพราะปัญญา ในกุศล แต่ไม่ใช่เพราะรูปนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น

เวลาที่ท่านผู้ฟังนึกอยากจะทำบุญถวายบางสิ่งบางประการเป็นพิเศษ ลองพิจารณาว่า ขณะนั้นจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลได้ไหม ถ้าเห็นผ้าเนื้อดี จีวรที่เหมาะควรสำหรับการใช้สอยอย่างสบาย เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตคิดที่จะถวายแก่พระภิกษุได้ แต่ว่าจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลได้ไหม นี่คือชีวิตประจำวันแท้ๆ ที่จะต้องเข้าใจตามความเป็นจริงให้ถูกต้อง

ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ขณะใดไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นเป็นกุศล กำลัง จะบวชขณะนั้นมีโลภะ โทสะ โมหะไหม ต้องรู้ว่า มีโลภะ โทสะ โมหะไหม ไม่ใช่ คิดเอาเอง แต่จะต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ขณะจิตในขณะนั้นว่า มีโลภะ โทสะ โมหะไหม ควรที่จะสังเกต บางท่านถวายทานบางประการที่ประณีตเป็นที่พอใจในกุศล ขณะนั้นต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะจึงจะรู้ว่า เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต และที่กุศลจะเพิ่มพูนไพบูลย์ขึ้นไม่ใช่ว่าเพราะติด หรือว่ายินดีพอใจในรูปธรรมที่ปรากฏ แต่เพราะระลึกถึงกุศล อย่าลืม ระลึกถึงสภาพความผ่องใสของจิตด้วยโยนิโสมนสิการ จึงจะทำให้จิตเป็นกุศลเพิ่มพูนขึ้นได้

แต่ถ้าไปติดในทานนั้นโดยความที่เป็นวัตถุที่ประณีต หรือโดยความที่เป็นเรา ที่กระทำทานนั้น หรือว่าวัตถุทานนั้นเป็นของเรา ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่กุศลจิตแล้ว การอบรมเจริญปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของกุศลตามความเป็นจริงว่า กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิต กุศลจิตจึงจะเจริญขึ้นได้

ถ. ขอให้ช่วยขยายความที่ว่า รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

สุ. รูปธรรมเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตได้ แต่เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ ตามความเป็นจริง ทุกท่านทิ้งรูปได้ไหม ไม่ให้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ให้ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู หมดความสนใจใยดีในสิ่งที่สวยๆ งามๆ ทางตา ในเสียงที่เพราะๆ ในกลิ่นหอมๆ ในรสที่อร่อย ในโผฏฐัพพะ ที่เป็นสุข ทิ้งได้ไหม

ถ. บางครั้งก็ทิ้งได้

สุ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นรูปเหล่านั้นเป็นอารัมมณปัจจัย แต่เวลาที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้สังเกตดูว่า เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ซึ่งไม่ทิ้งอารมณ์นั้น ทิ้งได้เดี๋ยวเดียว ก็เป็นอารัมมณาธิปติใหม่อีกแล้ว

ถ. ทิ้งได้เดี๋ยวเดียว ขณะนั้นก็เป็นอารัมมณาธิปติแล้ว

สุ. ขณะที่ทิ้ง ไม่เป็นอารัมมณาธิปติ เป็นอารัมมณาธิปติเมื่อเวลาที่เป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ไม่ควรทอดทิ้ง แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ได้ปรารถนา ไม่ได้ต้องการ ไม่ได้ติด เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ถ้าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้ง จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโทสมูลจิต เพราะโทสมูลจิตไม่ปรารถนาอารมณ์นั้น

ถ. คำจำกัดความของอารัมมณาธิปติ หมายความว่าอย่างไร

สุ. เป็นธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง ไม่ควร ดูหมิ่น ด้วยอำนาจการเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนา นี่คือลักษณะของอารัมมณาธิปติปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

ชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นอย่างนี้ อารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้งทั้งหลาย ที่กำลังปรารถนาขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่เป็นแต่เพียงอารัมมณปัจจัยของโลภมูลจิตซึ่งเกิดอยู่บ่อยๆ เป็นประจำ แต่ว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว

ถ้าเป็นรูป รูปทั้งหมดที่ปรารถนา เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต บางท่านอาจจะบอกว่า ปรารถนาที่จะถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เกิดกุศลจิต ขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย ไม่มีกำลังโดยที่ว่าเมื่อเห็นรูปนั้นแล้ว กุศลจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ หรืองอกงามไพบูลย์

แต่ที่กุศลจะเจริญงอกงามไพบูลย์ ก็เพราะกุศลก่อนๆ ที่ได้กระทำแล้ว หรือเวลานึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้ว นึกถึงสภาพที่เป็นกุศลจิตที่ผ่องใสว่า ขณะที่ทำเป็นกุศลแท้ๆ ไม่ได้ปรารถนาสิ่งใดเลย ซึ่งในขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด แต่ไม่ใช่ไปนึกถึงวัตถุทานที่เป็นรูปและกุศลจะผ่องใสได้มากมาย

ขณะใดก็ตามที่นึกถึงวัตถุทานที่ประณีต สติสัมปชัญญะควรจะเกิดระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตหรือไม่ แม้แต่ในขณะที่กระทำทานกุศล ถ้าอารมณ์ประณีตกำลังปรากฏในขณะที่กำลังกระทำกุศล สติสัมปชัญญะก็ควรที่จะระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่รูปซึ่งประณีตกำลังเป็นอารมณ์นั้น เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต

นี่คือการที่จะอบรมเจริญกุศลแท้ๆ ยิ่งขึ้น คือ สามารถแยกรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นอกุศลได้ว่า ต่างกับขณะที่เป็นกุศล

แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะทราบไหมว่า ความพอใจในวัตถุทานเป็น โลภมูลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต เพราะใกล้ชิดกันมาก ถ้าไม่สังเกตจริงๆ ไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของโลภมูลจิตออกในขณะที่กำลังกระทำกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด

ถ้าอาหารที่จะถวายพระภิกษุมีรสอร่อย แยกได้ไหมว่า ขณะไหนเป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นอกุศลจิต หรือจะเหมารวมไปว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ถ้าเหมารวมว่า เป็นกุศลทั้งนั้น ผิดหรือถูก

เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดแม้แต่ในการพิจารณา เมื่อมีความเข้าใจที่จะให้ตรึกตรองพิจารณาเพิ่มขึ้น จึงเกื้อกูลอุปการะในขณะที่กระทำกุศลที่จะให้สติระลึกได้ว่าแม้ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ซึ่งสติสัมปชัญญะจะตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นอกุศลจิตก็เป็นอกุศลจิต เมื่อเป็น กุศลจิตก็เป็นกุศลจิต ไม่ใช่เรา อกุศลจิตก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา กุศลจิตก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา และการเข้าใจเรื่องของปัจจัย จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาละเอียดขึ้น

ชีวิตตามความเป็นจริงเห็นรูปทางตาเสมอ ได้ยินเสียงทางหูก็บ่อยๆ ได้กลิ่นทางจมูกอยู่เรื่อยๆ เมื่อกลิ่นกระทบกับจมูก ลิ้มรสก็นาน เช้า เที่ยง บ่าย เย็น หลายนาที และมีการกระทบสัมผัสอยู่บ่อยๆ ประโยชน์ คือ จะได้ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลหรืออกุศลเกิด ตามปกติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อกุศลเกิดแล้วๆ โดยความไม่รู้ แต่เมื่อได้ศึกษาโดยละเอียดจึงเริ่มเห็นโทษของอกุศลซึ่งเกิดบ่อยเหลือเกิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเป็นหนทางที่จะทำให้สติเริ่มระลึกรู้ตามความเป็นจริงเมื่อรู้ว่าอกุศลเป็นอกุศลและกุศลเป็นกุศล เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาเรื่องของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงให้ละเอียดขึ้น

การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่าจะต้องพิจารณาให้เข้าใจ สภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาจะไม่เห็นเลยว่า ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอย่างไร

บางท่านอาจจะคิดว่า เรื่องของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ เป็นเรื่องละเอียดเกินไป บางท่านเข้าใจอย่างนั้น แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น ก็ยากที่จะเห็นว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  262
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566