แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1100

สุ. สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ท่านผู้ฟังห่วงเรื่องปัญจทวารกับมโนทวารมาก ใช่ไหม

ถ. ใช่ ผมว่าสติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารไม่ได้

สุ. โดยคำบอกเล่า โดยการได้ยินได้ฟัง

ถ. ผมเข้าใจอย่างนั้นเอง

สุ. โดยอะไร

ถ. ทางปัญจทวารวิถีต้องมี…

สุ. ถ้าไม่ใช่โดยการบอกเล่า โดยการได้ยินได้ฟัง หรือโดยการศึกษา โดยการอ่าน จะโดยอะไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้น โดยขั้นการฟัง เช่น ในขณะนี้ได้ฟังว่า จิตเกิดดับ แต่ยังไม่ประจักษ์ในการเกิดขึ้นและดับไปของจิต ได้ฟังว่า จิตทาง ปัญจทวารเกิดขึ้นหลายขณะ มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีแรก รำพึงหรือนึกถึงอารมณ์ที่กระทบกับจักขุทวาร ดับไป จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ ดับไป สันตีรณจิตเกิดขึ้นพิจารณาอารมณ์ ดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นตัดสินอารมณ์ ดับไป ชวนจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้น ดับไป ชวนจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้น ดับไป ชวนจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้น ดับไป ชวนจิตดวงที่ ๔ เกิดขึ้น ดับไป ชวนจิตดวงที่ ๕ เกิดขึ้น ดับไป ชวนจิตดวงที่ ๖ เกิดขึ้น ดับไป ชวนจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้น ดับไป ตทาลัมพนจิตเกิดดับไป ๒ ขณะ และภวังคจิตเกิดคั่น จากนั้น มโนทวารวิถีแรกเกิดขึ้นรู้สีซึ่งจิตทางปัญจทวารที่ดับไปทั้งหมดรู้แล้วต่ออีกครั้งหนึ่ง แต่เวลานี้ยังไม่ได้ประจักษ์เลยว่า ทางปัญจทวารวิถีกับทางมโนทวารวิถีห่างกันแค่ไหน หรือว่าต่างกันแค่ไหน แต่โดยขั้นการศึกษาจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ เป็นอย่างนั้น

การอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งต้องเป็นตามลำดับขั้น ไม่ใช่ขั้นที่จะไปรู้ว่า ปัญจทวารวิถีดับ ภวังค์คั่น และมโนทวารวิถีเกิดต่อ เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาไม่ข้ามขั้น หรือว่าข้ามขั้นไม่ได้ เพราะแม้แต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอทุกวันๆ ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ชัดว่า ลักษณะของธาตุรู้ซึ่งใช้คำว่า นามธรรม เป็นสภาพที่น้อมไปรู้อารมณ์นั้น ต่างกับลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏอย่างไร ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่พยายามจะไปคิดถึงจิตทางปัญจทวารหรือมโนทวาร แต่ให้ทราบว่า ชวนวิถีจิตที่เกิดทางปัญจทวารหลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีปัจจัยที่ชวนวิถีจิตนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลโดยรวดเร็ว

ในขณะที่ทางตาเพียงเห็น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นขณะเดียวจริงๆ และดับไป สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อ สันตีรณะที่เกิดต่อ โวฏฐัพพนะที่เกิดต่อ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นสัมปฏิจฉันนะดับ สันตีรณะเกิดต่อ โวฏฐัพพนะเกิดต่อ แต่ที่จะรู้ ก็ตรงชวนวิถีจิต คือ ในขณะนั้นเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ หรือเป็นโมหะ นี่คือวิถีจิตทางปัญจทวารซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว และมีภวังค์คั่นอยู่ในระหว่างนี้ ก่อนที่ มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้สีซึ่งทางปัญจทวารวิถีรู้และดับไปก่อนแล้ว แต่เวลานี้เมื่อแยกไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ แต่ให้ทราบว่า ความรวดเร็วของจิต เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเกิดพอใจขึ้น ไม่สามารถที่จะแยกได้ว่า ความพอใจในขณะนั้นเป็นทางปัญจทวารวิถี หรือทางมโนทวารวิถี

ถ้าเห็นดอกไม้สวย จักขุวิญญาณต้องมีใช่ไหม จักขุทวารวิถีจิตทั้งหมดต้องเกิด และมีภวังค์กำลังคั่นอยู่ และมีมโนทวารวิถีซึ่งรู้สีนั้น และก็ยังมีภวังคจิตคั่น และมี มโนทวารวิถีที่รู้ว่าเป็นดอกไม้ชนิดไหน ลักษณะของความพอใจไม่ได้หยุดหรือขาดหายเป็นช่วงเป็นตอนให้เห็น ทั้งๆ ที่จักขุวิญญาณไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่ จิตเห็นเกิดขึ้น เพียงเห็น โลภเจตสิกไม่ได้เกิดกับจักขุวิญาณ แต่โลภเจตสิกเกิดกับชวนจิต คือ โลภมูลจิต ในขณะที่ทำกิจชวนะ ๗ ขณะ แต่ความพอใจไม่ปรากฏว่าหยุด หรือขาดเป็นห้วงเป็นตอน ยังปรากฏว่าเป็นความพอใจซึ่งสืบต่อตั้งแต่เห็นจนกระทั่งรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น จะแยกได้อย่างไร ก็ยังแยกไม่ได้

นี่โดยขั้นที่สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงว่า โลภชวนะทางปัญจทวารวิถีเป็นลักษณะที่พอใจ เมื่อภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถี ชวนวิถีจิตก็ยังเป็นความพอใจซึ่งสืบต่อเหมือนกับว่าความพอใจทางปัญจทวารวิถีและทางมโนทวารวิถีนั้นไม่ได้ขาดตอนเลย เพราะโลภมูลจิตเป็นสภาพที่ยินดีพอใจทางปัญจทวารวิถีอย่างไร เวลาที่เกิดทางมโนทวารวิถี โลภมูลจิตก็ยังคงเป็นสภาพของโลภมูลจิต คือ ยังเป็นสภาพที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภมูลจิตทางปัญจทวารวิถีกับทางมโนทวารวิถี ไม่ต่างกัน เมื่อไม่ต่างกันจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่เป็นโลภมูลจิตที่เป็นชวนวิถีทางปัญจทวาร หรือว่าเป็นโลภมูลจิตที่เป็นชวนวิถีทางมโนทวาร เพราะโลภมูลจิตสามารถจะเกิดทางปัญจทวารก็ได้ ทางมโนทวารก็ได้ ฉันใด ในขณะที่กุศลจิตเกิด เวลาที่เป็นไปในทาน เพราะมีการเห็นวัตถุทานต่างๆ และเกิดกุศลจิตขึ้น ทางตาก็มีมหากุศลทางปัญจทวารวิถี และก็มีมหากุศลทางมโนทวารวิถี ลักษณะของมหากุศลทาง ปัญจทวารวิถีและลักษณะของมหากุศลทางมโนทวารวิถีไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น จะไม่ให้ทางปัญจทวารวิถีมีมหากุศล ก็ไม่ได้ ใช่ไหม

และถ้าเป็นในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกายก็ตาม เวลาที่มหากุศลจิตเกิดทางมโนทวารแล้ว จะไม่ให้ลักษณะของมหากุศลจิตนั้นเกิดทาง ปัญจทวารได้อย่างไร เป็นการสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ทั้งอกุศลชวนะและกุศลชวนะจึงเกิดทางปัญจทวารวิถีได้

ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นทางปัญจทวารวิถีไม่ให้เกิด ให้เกิดเฉพาะทางมโนทวารวิถี เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาเจริญขึ้นก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า อกุศลและกุศลก็เกิดสืบต่อทั้งทางปัญจทวารวิถีและทางมโนทวารวิถี

ถ. คนที่รู้ความต่างกันของทางปัญจทวารกับทางมโนทวาร ลักษณะอย่างไหนที่เขาจะรู้ จะรู้ได้อย่างไรว่า นี่เป็นทางปัญจทวาร นี่เป็นทางมโนทวาร

สุ. เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ

ถ. จะต้องเป็นวิปัสสนาญาณ

สุ. ทางมโนทวาร ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ

ถ. ก็ยังคิดว่า สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารไม่ได้

สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารวิถีไม่ได้ ก็ทาง มโนทวารก็เกิด เร็วเหลือเกิน เวลานี้ทางมโนทวารวิถีดับ ทางปัญจทวารวิถีเกิดต่อ ทางมโนทวารวิถีเป็นสติปัฏฐานอีก ช่วงที่ปัญจทวารวิถีคั่น จะไม่ให้สติปัฏฐานเกิดหรือ

ถ. ช่วงปัญจทวารวิถีต้องมีอารมณ์เป็นปรมัตถ์

สุ. เป็นรูปเท่านั้น

ถ. ถ้าเป็นรูป สมมติว่าเป็นสี ก็ต้องรู้ว่าเป็นสี จะรู้ว่าเป็นรูปธรรม ก็เป็นคนละเรื่องกัน

สุ. กำลังมีสีเป็นอารมณ์ รู้ลักษณะของสีตามความเป็นจริง ในขณะนั้น ไม่มีตัวตน เพราะสีเท่านั้นกำลังปรากฏทางปัญจทวาร และปัญญาก็รู้ในลักษณะของเพียงสี หรือรูปารมณ์ที่ปรากฏ นั่นรู้ถูกไหม แต่เวลานี้ไม่รู้

ถ. รู้ว่าเพียงสี ไม่ใช่รู้สี

สุ. มีสีเป็นอารมณ์ และรู้ในลักษณะของสี เพราะฉะนั้น สีนั้นจะเป็นคน เป็นวัตถุ หรือสิ่งของใดๆ ไม่ได้ เป็นลักษณะของสีที่ปรากฏกับปัญญาที่เกิดทาง ปัญจทวารวิถี

ถ. หมายความว่า ปัญญาต้องมีอารมณ์เดียวกับจิต จิตรู้ว่าเป็นสี

สุ. เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะไม่ให้ปัญจทวารวิถีจิตเกิดได้ไหม เพราะถ้าเข้าใจว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญาทางมโนทวารวิถีเท่านั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะห้ามทางปัญจทวารวิถีว่า ไม่ให้เกิด ได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. เมื่อห้ามไม่ได้ เมื่อทางปัญจทวารวิถีเกิด จะห้ามชวนวิถีทางปัญจทวารได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. เมื่อห้ามไม่ได้ ขณะที่ทางมโนทวารเป็นมหากุศล เป็นสติปัฏฐาน จะห้ามทางปัญจทวารว่า ไม่ให้เป็นมหากุศล ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น กุศลจิตจึงเกิดทางปัญจทวารวิถีจิตด้วย

ถ. ผมห้ามไม่ได้ แต่ปัจจัยอาจจะทำให้เป็นอกุศลเกิดได้

สุ. นี่คือเรื่องของปัจจัยที่แสดงไว้โดยละเอียดว่า ทางปัญจทวารวิถี เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้มหากุศลจิต ๑ ใน ๘ ดวง หรืออกุศลจิต ๑ ใน ๑๒ ดวงเกิดขึ้นทำชวนกิจ นี่คืออนันตรปัจจัย

ถ. อาจารย์กล่าวว่า สติปัฏฐานกำลังเกิดทางมโนทวาร และทาง ปัญจทวารก็แทรกได้

สุ. ขณะนี้ทางตา ยังแยกไม่ได้ ถ้าความพอใจเกิดขึ้นทางตา ทางมโนทวารก็เป็นลักษณะของโลภชวนวิถี ถ้าทางตาเห็นและไม่พอใจเป็นโทสมูลจิต มโนทวารวิถี ชวนะก็เป็นโทสมูลจิต และเวลาที่ทางมโนทวารวิถีเป็นโทสมูลจิต ทางปัญจทวารวิถีก็ยังคงเป็นความไม่แช่มชื่นในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น วิถีจิตที่เป็นชวนะทางมโนทวารและทางปัญจทวารก็เป็นไปตามอารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อโทสมูลจิตทางมโนทวารเกิดแล้ว ทางปัญจทวารจะไม่มีโทสมูลจิต หรือไม่ใช่ว่าเมื่อมหากุศลจิตทางมโนทวารเกิดแล้ว ทางปัญจทวารจะไม่ให้เป็นมหากุศลจิต

ถ. ขณะที่สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารวิถีได้ ขณะนั้นต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ มีสีเป็นอารมณ์ ขณะนั้นปัญญาก็ต้องรู้สี

สุ. ทางปัญจทวาร จะต้องรู้รูปที่กำลังปรากฏเท่านั้น

ถ. ถ้าเป็นลักษณะของสี ที่ว่าเป็นอนิจจังก็ไม่ใช่สี เพราะว่าเป็นลักษณะที่คิด

สุ. อะไรเป็นอนิจจัง ถ้าสีไม่ใช่อนิจจัง

ถ. ถูกที่ว่าสีเป็นอนิจจัง แต่ลักษณะของสี กับตัวสีเหมือนกันหรือ

สุ. ทำไมล่ะ เสียงเป็นอนิจจังไหม เป็น เหมือนกันไหม วิเสสลักษณะเป็นเสียง สามัญลักษณะเป็นความเกิดดับ

ถ. หมายความว่า ทางปัญจทวารก็มีสามัญลักษณะเป็นอารมณ์ได้หรือ

สุ. พูดถึงขั้นไหน

ถ. ขั้นที่กำลังเห็นเท่านั้น ไม่ต้องถึงขั้นวิปัสสนาญาณ

สุ. วิปัสสนาญาณต้องเป็นทางมโนทวารวิถีเท่านั้น และขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด จะไม่ให้ทางปัญจทวารวิถีเป็นมหากุศลไม่ได้

ในขณะนี้มโนทวารวิถีไม่ปรากฏ ที่ว่ามโนทวารวิถีไม่ปรากฏ ทุกท่านลองคิดดู ทางตาก็ยังเห็น เพราะฉะนั้น จะชื่อว่ามโนทวารวิถีปรากฏหรือยัง ในเมื่อทาง จักขุทวารวิถียังไม่ดับ ยังไม่ปรากฏว่าดับในขณะนี้ ทางตายังไม่ปรากฏว่าดับ แต่ ทางใจก็คิดไปได้หลายคำ หลายเรื่อง ซึ่งความจริงคิดทีละคำ แต่ไม่เคยปรากฏว่า คิดทีละคำ เพราะคิดทีไรเป็นเรื่องราวทุกที แสดงให้เห็นว่า วิถีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ทางตา ที่ว่ามโนทวารวิถีไม่ปรากฏ เพราะทางตายังไม่ปรากฏว่า ดับ ทั้งๆ ที่ทางใจ คือ มโนทวารวิถี ก็คิดไป แต่เวลาที่มโนทวารวิถีปรากฏ ทางตาจะยังคงปรากฏไม่ได้ นี่คือการปรากฏลักษณะของมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นการประจักษ์

มโนทวารวิถีที่เป็นวิปัสสนาญาณ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณกับขณะที่กำลังเจริญสติปัฏฐานจึงต่างกัน เพราะขณะที่กำลังเริ่มเจริญสติปัฏฐาน สภาพธรรมปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันเหมือนเดิมทุกประการ และสติเริ่มเกิด ระลึกได้ที่ลักษณะของรูปบางรูป หรือว่านามบางนาม และโดยไม่นานด้วย ระลึกได้นิดเดียวก็หมดไปอีกแล้ว ยังไม่ทันที่จะรู้ชัดว่า ลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรมอย่างไร จึงต้องอาศัยการระลึกเนืองๆ บ่อยๆ เป็นอนุสสติ จนกว่าจะชำนาญ ไม่ใช่ชาติเดียว ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๑๐ ชาติ ๑๐๐ ชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ แต่เป็นกัปๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องจะท้อถอย แต่เป็นเรื่องให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ถ้าเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีด้วยพระปัญญาเป็นอธิบดี แต่ถ้าด้วยสัทธาก็ ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้าด้วยพระวิริยะก็ ๑๖ อสงไขยแสนกัป ไม่นับชาติที่เริ่มตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดงโดยละเอียดถึงจิตแต่ละชนิด แต่ละประเภทที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้เอง นี่คือขณะที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน

แต่ขณะที่สภาพธรรมปรากฏเป็นการประจักษ์แจ้ง ลักษณะของมโนทวารซึ่งขณะนี้ไม่ปรากฏจะปรากฏ และมโนทวารในขณะนั้นจะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทาง ปัญจทวารซึ่งเป็นรูปธรรม และรู้ลักษณะที่ต่างกันของรูปธรรมที่ปรากฏทางปัญจทวารและมโนทวาร ไม่ใช่อยู่เฉยๆ โดยที่ว่ามโนทวารเกิดขึ้น และไม่มีสภาพธรรมปรากฏ แต่ในขณะนั้นเอง มโนทวารเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เคยปรากฏทาง ปัญจทวารตามปกติ ซึ่งลักษณะของวิปัสสนาญาณนั้นเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมทางมโนทวาร ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นมโนทวารแล้วก็เฉยไม่มีอะไรปรากฏ ยังมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เสียงก็ปรากฏ ซึ่งขณะนี้เสียงปรากฏทาง โสตทวาร และปรากฏทางมโนทวารด้วย แต่มโนทวารที่รู้เสียงไม่ปรากฏ เพราะทางตายังไม่ปรากฏว่าดับไปเลย

ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ มโนทวารวิถีรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏตามปกติทาง ปัญจทวาร แต่ลักษณะของมโนทวารปรากฏ นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้น จะไม่ให้ทางปัญจทวารเป็นมหากุศลจิตไม่ได้ เพราะเป็นการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วตามปกติในขณะนี้

เรื่องของการศึกษา เป็นเรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันละเอียดขึ้น เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเครื่องปรุงแต่งให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และสามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่าในมรรควิถีคำว่า บริกรรมนั้น หมายความถึงขณะที่ปรุงแต่งมรรคจิตและผลจิต ซึ่งถ้าไม่อาศัยการฟัง และการอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมประกอบกับการที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ไม่มีทางที่ปัญญาจะคมที่จะสามารถดับการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและประจักษ์แจ้งในการ เกิดดับได้ หรือถึงแม้จะประจักษ์แจ้งในการเกิดดับแล้ว การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนก็ยังไม่หมดเป็นสมุจเฉท ถ้ายังไม่ใช่โลกุตตรจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ นี่แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นเหนียวแน่นของกิเลสซึ่งมีมาก

ถ. ที่ผมถาม เพราะบางครั้งผมเจริญสติปัฏฐาน ยากเหลือเกินที่จะระลึกทันทีที่จะให้มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แค่สติปัฏฐานเท่านั้น ไม่ใช่ประจักษ์ หรืออะไร เมื่อเป็นอย่างนั้นผมจึงเข้าใจว่า ทางปัญจทวาร สติปัฏฐานเกิดไม่ได้แน่ๆ โดยทฤษฎีแล้ว ทางปัญจทวารต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

สุ. สติปัฏฐานไม่ได้มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์หรือ

ถ. มี

สุ. เพราะฉะนั้น ต่างกันอย่างไร

ถ. สติปัฏฐานต้องเป็นลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

สุ. ทางปัญจทวารก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ จะต่างกันอย่างไร

ถ. ทางปัญจทวารก็เป็นลักษณะเหมือนกัน

สุ. ปัญจทวารมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ สติปัฏฐานก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ จะต่างกันอย่างไร ไม่ต่างกันเลย

ถ. อย่างสี ลักษณะของสีเป็นโลกสว่าง ถ้าเกิดสติปัฏฐานรู้ในขณะนั้น ก็เป็นโลกสว่างเหมือนกันหรือ

สุ. แน่นอน จะเปลี่ยนได้อย่างไร

ถ. ก็เหมือนกับไม่มีสติปัฏฐาน

สุ. เหมือนกัน เสียงที่ปรากฏทางปัญจทวารเป็นของจริง เป็น ปรมัตถอารมณ์ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่กบ ไม่ใช่แมว เป็นเสียง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ รู้ลักษณะที่ไม่ใช่กบ ไม่ใช่แมว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงสภาพธรรม ชนิดหนึ่ง

ถ. และไม่ยึดถือ

สุ. และรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพที่รู้เสียง เป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ปรากฏและก็หมดไป กบอยู่ที่ไหน เสียงดับไปแล้ว กบอยู่ที่ไหน

ถ. อยู่ที่ใจ

สุ. นึกใช่ไหม และดับไหม

ถ. ดับ

สุ. มีกบอีกไหม

ถ. มีอีกก็ได้

สุ. แล้วแต่ว่าจะยึดถือต่อไปหรือเปล่า

เปิด  245
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566