แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1094

นามธรรมเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ารู้เพียงชื่อว่าเป็นนามธรรม รู้เพียงชื่อว่า นามธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ ทั้งๆ ที่ลักษณะของนามธรรมก็เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อยู่เรื่อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ที่จะให้รู้จริงๆ ว่า สภาพรู้ต่างกับรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ก็จะต้องอาศัยการระลึกได้ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก นอกจากนี้มีหนทางอื่นไหม

ถ้าอยากจะหาทางลัด หรือทางเร็ว ก็ลองพิจารณาดูว่า ยังจะมีหนทางอื่นอีกไหม นอกจากหนทางนี้ซึ่งเป็นหนทางเดียว คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและศึกษา คือ พิจารณา จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด แต่ทั้งๆ ที่มีจิตเกิดดับตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงบัดนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นจิตที่รู้

สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย หมายความถึงสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของจิต อารมณ์ที่มีกำลัง ที่ประทับใจ ที่ทำให้จิตพอใจและแสวงหา หรือปรารถนาอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น

นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งตั้งแต่ลืมตาตื่นยังไม่ทราบเลยว่า โลภะส่วนใหญ่ที่เกิดนั้นดับ เพราะฉะนั้น จะมากสักเท่าไรในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แต่เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต บางท่านก็กล่าวว่า ท่านไม่มีโลภะ เพราะอารมณ์ของโลภะที่ไม่มีกำลังนั้นไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ขณะใดก็ตามที่ท่านเกิดความรู้สึกว่า ท่านมีความพอใจ มีความอยากได้ มีความต้องการ ในขณะนั้นให้ทราบว่า อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ทำให้จิตประทับใจ หรือว่าพึงพอใจ หรือว่าปรารถนาในอารมณ์นั้น ซึ่งวันหนึ่งๆ มีแต่โลภะทั้งนั้นก็ยังไม่รู้ จนกว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่พอใจอย่างยิ่งจึงจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

เพราะฉะนั้น การรู้เรื่องสภาพของจิตใจในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ทรงแสดงเรื่องของปัจจัย ก็เป็นเรื่องที่รู้ยาก เพราะโลภะมีหลายระดับ มีหลายขั้น โลภะบางๆ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นโลภะ จนกว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่ปรารถนาที่ต้องการอย่างยิ่งจึงจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ

สำหรับโลภมูลจิต มีมากในวันหนึ่งๆ จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้รู้เรื่องของโลภะมากๆ ว่า โลภะนั้นปรารถนาในอารมณ์ใดบ้าง มิฉะนั้นจะไม่สามารถละโลภะได้เลย

สำหรับอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่พอใจอย่างยิ่งที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย โดยนัยของจิต ได้แก่ จิต ๘๔ ดวง เว้นจิตเพียง ๕ ดวง คือ โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง

นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะให้เห็นว่า โลภะเกิดมากเพียงใด มีท่านผู้ใดต้องการ โทสมูลจิตบ้าง ไม่มี เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตจึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย มีท่านผู้ใดต้องการโมหมูลจิตบ้าง ก็ไม่มีอีก เพราะฉะนั้น โมหมูลจิตไม่เป็นอธิปติปัจจัย มีใครต้องการทุกขกายวิญญาณ คือ ความไม่สบายกาย ความป่วยไข้ ความปวดเมื่อย ความทุกข์ต่างๆ ทางกาย ก็ไม่มีใครปรารถนาอีก เพราะฉะนั้น สำหรับ โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง ไม่เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย

และสำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น ไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะอย่างเดียว ในชีวิตประจำวันบางท่านฝักใฝ่ในกุศล เพราะฉะนั้น มหากุศลจิต ๘ ก็เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ หรือว่าให้เกิดโลภะก็ได้

ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังยังไม่ได้อบรมเจริญสมถะ ความสงบ จนกระทั่งฌานจิตเกิด ยังไม่มีรูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศล เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังก็จะมีกุศลบ้างหรืออกุศลบ้าง ขณะใดที่ท่านปรารถนาพอใจในกุศล ขณะนั้นกุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตซึ่งมีกุศลเป็นอารมณ์ จะเป็นมหากุศล หรือเป็นอกุศล

นี่เป็นความละเอียด มิฉะนั้นท่านผู้ฟังจะไม่ทราบเลยว่า จิตของท่านในขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล

ทุกท่านเคยให้ทาน เคยคิดถึงทานที่ให้แล้วไหม ตามความเป็นจริง ขณะนี้กำลังพูดถึงเรื่องปัจจัยที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เคยใช่ไหม ในขณะที่ระลึกถึงทานที่ให้แล้วทราบไหมว่า จิตที่กำลังคิดถึงทานที่ได้กระทำแล้วนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

การอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละอกุศล แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล หรือขณะใดเป็นอกุศล ย่อมละอกุศลไม่ได้ การฟังธรรมเพื่อให้เกิดความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริงเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อดับอกุศล เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้จริงๆ ว่า จิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้านึกถึงทานแล้วมีความสำคัญตน ในขณะนั้นเป็นอกุศล มีความรู้สึกว่า เป็นทานของเรา หรือว่าเราสามารถที่จะกระทำทานได้อย่างประณีต ในขณะนั้นให้ทราบว่า แม้คิดถึงทานกุศลที่ได้กระทำแล้ว แต่จิตที่มีกุศลนั้นเป็นอารมณ์ก็ยังเป็น โลภมูลจิตได้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะขัดเกลาได้ไหมในขณะนั้น

กำลังพอใจในกุศลของตนที่ได้กระทำแล้ว สติไม่ได้ระลึกจึงไม่รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นโลภมูลจิต ประกอบด้วยความสำคัญตน ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือในศีลก็ตาม

ท่านที่เป็นผู้รักษาศีล มีความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ที่มีศีล คนอื่นเป็นผู้ที่ทุศีล ในขณะนั้นแม้ระลึกถึงศีลของตน โลภมูลจิตก็เกิดได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภมูลจิตเป็นเรื่องซึ่งมากจริงๆ และถ้าไม่รู้ในความละเอียดของโลภมูลจิตจะไม่ทราบเลยว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลที่ควรละ เพราะถึงแม้ว่าจะนึกถึงกุศลประเภทต่างๆ จิตที่นึกถึงกุศลประเภทนั้นๆ ก็ยังเป็นอกุศลได้

สำหรับโลกียกุศลทั้งหมด เป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ และเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลก็ได้ หรือของโลภมูลจิตก็ได้ แต่สำหรับโลกุตตรกุศล ไม่สามารถเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลได้

ท่านผู้ฟังเคยสังเกตชีวิตประจำวันของท่านไหมว่า อะไรเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นสิ่งที่ท่านพอใจอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้ฟังเรื่องของอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้วท่านบอกว่า ท่านไม่มีอารัมมณาธิปติปัจจัยที่เป็นกุศลเลย ท่านมีกุศลจริง เกิดและดับไปแล้ว และเวลาที่ระลึกถึงกุศลนั้นๆ ก็เฉยๆ ไม่เป็นเหตุให้เกิดกุศลที่ผ่องใสขึ้น แต่สำหรับทางฝ่ายอกุศล ท่านมีอารัมมณาธิปติปัจจัยทั้งนั้น เพราะท่านเป็นผู้ที่ชอบดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ ชอบดูหนัง ชอบสนุกสนานรื่นเริง เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของท่านผู้นั้น อารัมมณาธิปติปัจจัยของท่านเป็นอกุศล แต่ว่ากุศลไม่ได้เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของท่านเลย

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ คือ ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ สิ่งที่ท่านติดและพอใจนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ซึ่งถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะได้ละคลายทางฝ่ายอกุศล

สำหรับรูปทั้งหมด รูปที่ดีเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่โลภมูลจิต รูปที่ดีเป็นปัจจัยแก่กุศลจิตได้ แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้แก่กุศลจิต ลองคิดดู ในชีวิตประจำวันว่า จริงไหม นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่พิจารณาจะไม่ทราบว่า จิตของท่านเป็นกุศลหรืออกุศลในขณะที่มีรูปนั้นๆ เป็นอารมณ์

ทุกท่านชอบรูปที่ดี เป็นโลภะ หรือเป็นกุศลในขณะนั้น เป็นโลภมูลจิต

แต่เวลาที่มีรูปที่ดี และสละรูปนั้นให้บุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะท่านไม่ได้ติดในรูปนั้น เพราะฉะนั้น รูปที่ดีเป็นรูปที่มีกำลัง ทำให้เกิดความต้องการ ทำให้เกิดการแสวงหาได้ รูปที่ดีจึงเป็นที่ปรารถนา เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่เวลาที่ท่านจะสละรูปนั้น ในขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น รูปที่ดีทั้งหมดไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศล

นี่คือชีวิตประจำวันเหมือนกัน ไม่ว่ารูปใดก็ตามที่ท่านแสวงหาทางตา หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นให้ทราบว่า จิตที่กำลังแสวงหาหรือต้องการจะเป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นอกุศล

ท่านผู้ฟังไม่เคยคิดหรือว่า จะเป็นกุศลบ้างหรือเปล่าสำหรับความพอใจในรูป หรือการแสวงหา การต้องการในรูป อย่างเช่น พระพุทธรูป หรือพระเครื่องก็ตาม เป็นรูป เป็นวัตถุ ขณะนั้นท่านคิดว่า เป็นกุศล หรือว่าเป็นโลภมูลจิต ถ้าเกิดความต้องการแสวงหาขึ้น เคยพิจารณาไหม ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่ทราบ คิดว่า จิตในขณะนั้นเป็นกุศลอีกแล้ว ทั้งๆ ที่สภาพธรรมที่แท้จริงเป็นอกุศล เมื่อไม่เข้าใจความละเอียด ไม่ตรวจสอบกับเรื่องของปัจจัยจะไม่ทราบเลยว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้นไม่ใช่กุศล เป็นอกุศล

ถ้าเห็นพระพุทธรูป ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ในขณะนั้นเป็นกุศลแน่นอน เพราะรูปเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่รูปไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

การดับกิเลสนี้ยากไหม ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น อารัมมณปัจจัย หมายความถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก โดยเป็นสิ่งที่จิตและเจตสิกรู้ในขณะนั้น แต่สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย หมายความถึงเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง

ถ. ทำไมเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ แต่แก่กุศลจิตไม่ได้

สุ. เวลาที่มีรูปเป็นอารมณ์และกุศลจิตเกิด จะมีการสละวัตถุนั้นเพื่อคนอื่น เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น จะมีการให้ มีการสละออก ไม่ใช่มีการติด ในขณะนั้นเป็นกุศลจิต

ตามปกติธรรมดา ทุกท่านปรารถนารูป เป็นโลภมูลจิตส่วนใหญ่ แต่ขณะใดก็ตามซึ่งเห็นประโยชน์ของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นและสละวัตถุนั้นให้ ในขณะนั้นจึงเป็นกุศล แต่ถ้าในขณะใดที่พอใจหรือติด ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศล คือ ต้องรู้ก่อนว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นอารมณ์ที่ดี ที่พอใจอย่างยิ่ง ขณะนั้นอารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติทำให้จิตพอใจอย่างหนักแน่น มีความต้องการ มีการแสวงหา

ถ้าเป็นโลภะธรรมดาๆ ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วนจริงๆ แต่ยังไม่รู้สึกว่ามีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ยังไม่รู้ตัวเองว่ามีโลภะ จนกว่าสิ่งที่เป็นอารมณ์นั้นจะเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง อย่างหนักแน่น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ทำให้มีการแสวงหา หรือว่าการติด ซึ่งในวันหนึ่งๆ อารมณ์อย่างนี้มีมากไหม อารมณ์ของโลภะมีอยู่เรื่อยๆ แต่บางอารมณ์เท่านั้นที่เป็นอารัมมณาธิปติ ของโลภมูลจิต

ถ. ของกุศลไม่มีเลยหรือ

สุ. เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ติดในวัตถุ หรือในรูปนั้น สามารถที่จะสละสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นได้ ในขณะนั้นจึงเป็นกุศล แต่เพราะสละไม่ได้จึงเป็นอารัมมณาธิปติของอกุศล คือ ของโลภะ

ถ. อารมณ์ที่เป็นอธิปติมากๆ บางครั้งก็สละได้

สุ. ขณะใดที่สละ ขณะนั้นเป็นกุศล มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ แต่อารัมมณาธิปติหมายความว่า เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง

ถ. ก็เป็นอารมณ์ให้แก่จิตทั้ง ๒ ฝ่ายได้ ฝ่ายหนึ่งเห็นแก่ประโยชน์สุขของคนอื่นก็ให้ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งคงจะเป็นสิ่งที่น่าหวงแหน ต้องเก็บไว้ หวงแหนเก็บไว้ แสวงหาเก็บไว้ ก็เป็นอารมณ์แก่ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต ทำไมจึงว่า เป็นอธิปติทางกุศลไม่ได้ เป็นได้เฉพาะอกุศลที่เป็นโลภะเท่านั้น

สุ. เวลาที่สละให้ หมายความว่า ไม่มีความผูกพัน หรืออารมณ์นั้นไม่มีกำลังอย่างหนักแน่นที่จะให้ติดข้องอีกต่อไปจึงสละได้ ขณะนั้นเป็นอารมณ์ของกุศลจิตที่สละ แต่ขณะใดที่ต้องการ แสวงหา พอใจอย่างหนักแน่น ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอกุศลแน่นอน

ถ. ท่านพระพาหิยะได้ฟังเพื่อนเก่าของท่านมาเตือนว่า เวลานี้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก ทำให้ท่านมีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ต้องการพบพระพุทธเจ้า และต้องการฟังพระธรรม การแสวงหาของท่านพระพาหิยะนั้นเป็นอกุศลหรือไม่

สุ. แสวงหารูป หรือว่าแสวงหาธรรม

ถ. ก็ทั้ง ๒ อย่าง ธรรม เสียงของพระผู้มีพระภาคก็เป็นรูป

สุ. อยากจะได้ยินเสียงที่ไพเราะ หรือว่าอยากจะฟังพระธรรม

ถ. ขณะนั้นต้องการฟังพระธรรมมากกว่า

สุ. ขณะนั้นเป็นกุศล

ถ. แต่เป็นการแสวงหาเหมือนกัน

สุ. แสวงหากุศล ไม่ใช่แสวงหารูป

ถ. หมายความว่า ถ้าแสวงหากุศล จิตก็เป็นกุศล

สุ. แน่นอน

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เมื่อกล่าวโดยนัยของจิตปรมัตถ์ ได้แก่ จิตทั้งหมด ๘๔ ดวง เว้นจิต ๕ ดวง คือ เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๑ ดวง และทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง ถ้ากล่าวโดย นัยของเจตสิกปรมัถต์ เว้นเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตและโมหมูลจิต ไม่เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย ถ้ากล่าวโดยนัยของรูปปรมัตถ์ รูปทั้งหมดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของเฉพาะโลภมูลจิตได้

ถ้ากล่าวโดยนัยของนิพพาน นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแน่นอน เพราะเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น เป็นที่พอใจของโลกุตตรจิต และมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ แต่นิพพาน หรือโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวง ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจึงควรที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอารมณ์ของโลภะ และอะไรเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต เพราะในวันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดน้อยกว่าโลภมูลจิตมาก

สำหรับโทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี หรือว่าทุกขกายวิญญาณก็ดี ไม่เป็นที่ปรารถนา จึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

และสำหรับรูป ทุกท่านพอใจแสวงหาอยู่เสมอ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปใดซึ่งเป็นที่พอใจ ขณะนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย พอใจอย่างหนักแน่น ไม่ใช่เฉยๆ เพราะตั้งแต่ตื่นมาโลภะนับไม่ถ้วน ซึ่งยังไม่ปรากฏว่า ปรารถนา หรือพอใจ หรือแสวงหาสิ่งใดเป็นพิเศษ แต่ขณะใดที่รู้สึกว่า ต้องการสิ่งใด พอใจสิ่งใด แสวงหาสิ่งใดเป็นพิเศษ ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และควรที่จะทราบด้วยว่า เมื่อเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตเท่านั้น สำหรับรูป

เปิด  226
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566